เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เทคนิคการเพาะเลี้ยงปลาหมอไทยให้ได้ผลดี
   
ปัญหา :
 
 
    ผมสนใจจะเลี้ยง ปลาหมอไทย เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว เพราะมองเห็นว่าเนื้อปลามีรสชาติดี ตลาดต้องการ แต่ผมยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาชนิดนี้ จึงขอเรียนถามคุณหมอเกษตรว่าจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร เพื่อการเพาะเลี้ยงปลาหมอไทยให้ได้ผลดี
วิธีแก้ไข :
 
    ปลาหมอไทย พบเห็นทั่วไปในแหล่งน้ำจืดทุกภูมิภาคของประเทศ นอกจากนี้ ยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อยอีกด้วย ปลาหมอไทยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ปลาสะเด็ด ภาคเหนือเรียกว่า ปลาเข็ง ภาคใต้เรียกว่า ปลาอีแกปูยู โดยรวมแล้วมักเรียกว่า ปลาหมอไทย มีลำตัวค่อนข้างแบน สีน้ำตาลดำ หรือน้ำตาลคล้ำ ส่วนท้องสีขาวหรือเหลืองอ่อน ลำตัวมีเกล็ดแข็ง กระพุ้งแก้มเป็นหนามหยัก และแหลมคม ใช้เป็นอวัยวะสำหรับปีนป่ายได้ดี ส่วนโคนหางมีจุดกลมดำ เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ ในฤดูวางไข่ปลาเพศเมียท้องจะอูมเป่งมองเห็นชัดเจน สถานที่เหมาะสำหรับเลี้ยงปลาหมอไทย ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำลำคลองหรือระบบน้ำชลประทานก็ตาม ดินที่ใช้ทำบ่อ เนื้อดินต้องเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทราย สามารถเก็บกักน้ำได้ไม่น้อยกว่า 4-6 เดือน ในรอบหนึ่งปี การเตรียมบ่อ ให้ปฏิบัติวิธีเดียวกับการเตรียมบ่อเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน หรือปลาน้ำจืดอื่น ๆ คือขุดบ่อขนาด 1 งานไปจนถึง 2 ไร่ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลึก 1 เมตร 50 เซนติเมตร นำดินจากก้นบ่อเสริมคันให้แน่นหนา ปรับความเป็นกรดของดินด้วยปูนขาว อัตรา 60-100 กิโลกรัม ต่อไร่ ขณะดินยังชื้นอยู่จากนั้นจึงสูบน้ำเข้าบ่อ วิธีป้องกันไม่ให้ศัตรูของปลาเข้ามากินลูกปลาที่ปล่อยลงในบ่อ ให้ใช้ไนลอนสีฟ้าผูกรัดปลายท่อสูบน้ำด้านใดด้านหนึ่งจึงจะปลอดภัย เพิ่มระดับน้ำให้ลึก 0.8-1 เมตร ขังน้ำไว้ประมาณสองสัปดาห์เพื่อให้ฤทธิ์ของปูนหมดไป หากเป็นบ่อเก่าให้สูบน้ำออกจนแห้งหลังจากจับปลารุ่นก่อนไปแล้ว หว่านปูนขาวอัตราเดียวกันกับการใส่ลงในบ่อที่ขุดขึ้นใหม่ เก็บวัชพืชออกจากบ่อจนสะอาดพร้อมกำจัดศัตรูปลาออกอย่าให้มีเหลืออยู่ในบ่อปลา ตากบ่อไว้นาน 2-3 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วจึงสูบน้ำเข้าบ่อระดับลึก 0.8-1 เมตร เนื่องจากปลาหมอไทยปีนป่ายเก่ง จำเป็นต้องล้อมบ่อด้วยตาข่ายไนลอนสีฟ้าให้รอบ ในระยะแรกต้องใส่ปุ๋ยคอกลงในบ่อเพื่อให้เกิดแพลงก์ตอนที่เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งเป็นอาหารของปลาอย่างดี ด้วยการหว่านปุ๋ยคอก อัตรา 80-100 กิโลกรัม ต่อขนาดบ่อ 1 ไร่ ต่อมาไม่ช้าน้ำจะเกิดสีเขียว แล้วปล่อยลูกปลาขนาดลำตัวยาว 2-3 เซนติเมตร อัตรา 50 ตัว ต่อตารางเมตร การปล่อยลูกปลาจากถุงพลาสติกอัดออกซิเจน ควรปล่อยให้ช่วงเช้าหรือเย็น ให้นำถุงปลาแช่น้ำในบ่อเลี้ยงปลาไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อปรับอุณหภูมิของน้ำในถุงกับน้ำในบ่อใกล้เคียงกัน แล้วจึงเปิดปากถุงปล่อยลูกปลาออกอย่างช้า ๆ โอกาสรอดตายจะสูงกว่า ปล่อยลูกปลาออกจากถุงบรรจุลงน้ำทันที ในกรณีบริเวณที่หาพ่อแม่พันธุ์ได้ง่ายแนะนำให้เพาะขยายพันธุ์ด้วยตนเอง ด้วยวิธีนำปลาเพศผู้และเพศเมียที่เป็นหนุ่มและสาวเต็มที่ลงผสมพันธุ์กันในกระชัง แช่ในน้ำลึก 30-50 เซนติเมตร ขนาดบรรจุพ่อแม่พันธุ์ได้ 10-20 คู่ พร้อมพลางแสงด้วยซาแรนสีดำหรือทางมะพร้าวอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเห็นปลาวางไข่หมดแล้วให้แยกพ่อแม่พันธุ์ ลูกปลาจะฟักออกเป็นตัวภายใน 4 วัน ปล่อยไว้ 1 วัน จึงเริ่มให้อาหารสำเร็จรูปชนิดผง หรือรำละเอียดผสมปลาป่น อัตรา 1 ต่อ 1 ให้กินเป็นเวลานาน 3-4 สัปดาห์ ต่อจากนั้นให้เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงปลาดุกเล็กพิเศษ หรือปลาสดสับละเอียด เมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นจึงใช้อาหารปลาดุกเต็มวัยเลี้ยงต่อไป ปริมาณอาหารที่ให้ควรอยู่ระหว่าง 3-5 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัวปลา 2 เวลาเช้าและเย็น ให้หมั่นสังเกตอยู่เสมอ หากพบว่าปลากินอาหารเหลือมากต้องลดปริมาณลงบ้าง เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังทำให้น้ำในบ่อเน่าเสียอีกด้วย การรักษาความสะอาดน้ำในบ่อ ให้ถ่ายน้ำออกคราวละ 1 ใน 3 ของบ่อ เดือนละ 1-2 ครั้ง และให้สูบน้ำเข้าบ่อจนอยู่ในระดับปกติ ระยะเวลาการเลี้ยง จนสามารถจำหน่าย หรือบริโภคได้ภายในเวลา 4-5 เดือน หลังจากนำลูกปลาปล่อยลงในบ่อ ให้สูบน้ำออกจากบ่อ ที่มีระดับน้ำลึกไม่เกิน 50 เซนติเมตร และลากอวนจากริมบ่อด้านหนึ่งไปยังริมบ่ออีกด้านหนึ่ง จากนั้นใช้สวิงจับปลาใส่ลงในตะกร้า นำมาคัดขนาดเมื่อจับจนหมดบ่อจึงสูบน้ำออกจากบ่อ ลอกเลนและตากบ่อเพื่อฆ่าเชื้อโรค ก่อนใช้บ่อเลี้ยงปลาในรุ่นต่อไป โรคที่พบการระบาดในปลาหมอไทยคือ โรคจุดขาว เกิดจากเชื้อโปรโตซัวชนิดที่กินเซลล์ผิวหนังปลาเป็นอาหาร อาการมักพบว่า ปลามีจุดสีขาวขุ่นขนาดเท่าหัวเข็มหมุด กระจายอยู่ตามลำตัวและครีบ ทำให้ปลาผอมกินอาหารได้น้อย และไม่สมบูรณ์ วิธีป้องกัน ด้วยการรักษาความสะอาดน้ำในบ่อจะเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด แนวโน้มการเลี้ยงปลาหมอไทย ปัจจุบัน มีผู้นิยมบริโภคปลาชนิดนี้มากขึ้นตามลำดับ ตลาดส่งออกที่สำคัญคือประเทศมาเลเซีย ต้องการรายละเอียดอื่น ๆ สอบถามได้ที่ สำนักงานประมงอำเภอ หรือสำนักงานประมงจังหวัด ใกล้บ้านได้ ในวันและเวลาราชการครับ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
บ้านโป่ง
จังหวัด :
ราชบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 มกราคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 16 ฉบับที่ 326
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM