เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เทคนิคการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ให้ได้คุณภาพ
   
ปัญหา :
 
 
    ผมมีความสนใจที่จะปลูกสตรอว์เบอร์รี่ไว้รับประทานบางส่วน หากสามารถผลิตได้มากก็จะส่งจำหน่ายในตลาด ผมเคยปลูกไว้บ้าง ที่จังหวัดเชียงราย แต่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจังจึงยังไม่ได้คุณภาพดีเท่าที่ควร ผมจึงขอคำแนะนำจากคุณหมอเกษตรว่า ผมควรจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้สตรอว์เบอร์รี่ที่ผลิตได้มีคุณภาพสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด
วิธีแก้ไข :
 
    สตรอว์เบอร์รี่ เป็นไม้ข้ามปี แต่เกษตรกรนิยมปลูกเพียงฤดูเดียวแล้วรื้อแปลงปลูกใหม่ทุกปี ลักษณะทั่วไป เป็นไม้พุ่มเตี้ยมีกิ่งก้านสูงไม่เกิน 8 นิ้ว ทรงพุ่มกว้างอยู่ระหว่าง 8-12 นิ้ว รากหยั่งลึกลงดินประมาณ 12 นิ้ว ลำต้นแท้จะมีความสูงเพียง 1 นิ้วเท่านั้น ส่วนอื่น ๆ ที่มองเห็นจะเป็นใบและกิ่งก้าน ใบสตรอว์เบอร์รี่ประกอบด้วย 3 ใบย่อย ขอบใบหยัก ดอกจะพัฒนามาจากตาที่โคนใบ ออกดอกเป็นช่อ กลีบดอกมีสีขาวหรือสีชมพูเกสรตัวผู้มีสีเหลือง ส่วนของเกสรตัวเมียไม่มีสีและเรียงตัวอยู่บนฐานรองดอก ต่อมาฐานรองดอกจะพัฒนาเป็นเนื้อผล ส่วนเมล็ดจะติดอยู่กับผิวด้านนอกของผล ลักษณะผลของสตรอว์เบอร์รี่มีหลายรูปทรง อาจมีรูปทรงกลม กลมแป้น กลมปลายแหลมหรือทรงยาวเป็นลิ่มก็มี ผลอ่อนมีสีเขียวและจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อผลแก่ จุดเด่นของผลสตรอว์เบอร์รี่คือมีรสเปรี้ยวอมหวาน กลิ่นหอมน่ารับประทาน ดินที่ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ได้ดีต้องเป็นดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรด-ด่าง ระหว่าง 5.5-6.5 ต้องการความหนาวเย็นที่อุณหภูมิ 13-15 องศาเซลเซียส พันธุ์สตรอว์เบอร์รี่มีหลายชนิดคือ ประเภทต้องการอุณหภูมิต่ำและแสงแดดน้อยกว่าวันละ 12 ชั่วโมง เช่น พันธุ์พระราชทานเบอร์ 16 เบอร์ 35 เบอร์ 70 และ เนียวโฮ ประเภทต้องการอากาศเย็นแต่ต้องได้รับแสงมากกว่าวันละ 12 ชั่วโมง ได้แก่ พันธุ์ เจนีวา และบิวตี้ อีกประเภทหนึ่งต้องการอากาศเย็นและไม่จำกัดว่าจะได้รับแสงมากกว่า หรือน้อยกว่าวันละ 12 ชั่วโมง ก็สามารถให้ดอกผลได้ เช่น พันธุ์เซลวา ทริบิวตี้ และทริสตาร์ การขยายพันธุ์ ปัจจุบันนิยมใช้วิธีแยก ไหล ที่เกิดจากต้นแม่จากซอกก้านใบ การปลูกมีวัตถุประสงค์สองประการคือ เพื่อเก็บผลผลิต และ การปลูกเพื่อผลิตไหลไว้ขยายพันธุ์ ช่วงปลูกที่ดีที่สุดอยู่ระหว่างเดือนกันยายนไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม การเตรียมดินปลูก ด้วยการไถดะ ไถแปร ผึ่งดินไว้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงย่อยดินเก็บซากวัชพืชออกจนสะอาด หากดินเป็นกรดให้ใส่ปูนขาวอัตรา 60-80 กิโลกรัม ต่อไร่ พร้อมใส่ปุ๋ยคอกเก่าอัตรา 1.5-2.0 ตัน ต่อไร่ คลุกเคล้าลงดินให้ทั่ว ยกร่องกว้าง 50-75 เซนติเมตร ผิวแปลงสูงขึ้น 20-30 เซนติเมตร ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ เว้นช่องทางเดินของแต่ละร่องปลูกประมาณ 30 เซนติเมตร ปรับผิวร่องให้ส่วนกลางเป็นรูปหลังเต่าตามแนวยาวป้องกันน้ำขังเมื่อมีการให้น้ำ การคลุมแปลง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดินช่วยควบคุมวัชพืช และป้องกันผลสตรอว์เบอร์รี่สัมผัสกับผิวดิน ทำให้ผลสะอาดสวยงาม ปัจจุบันนิยมคลุมแปลงด้วยพลาสติกสีเทาหรือสีดำ หรือบางรายอาจใช้ใบตองตึงที่หาได้ง่ายในจังหวัดภาคเหนือโดยทำเป็นตับเช่นเดียวกับตับหญ้าคา เนื่องจากนำมาใช้ได้สะดวก วิธีปลูก หลังจากเตรียมร่องเรียบร้อยแล้ว ปูทับด้วยวัสดุคลุมดิน กลบทับชายขอบวัสดุคลุมดินทุกด้านด้วยดินให้ตึง ขุดหลุมผ่านทะลุพลาสติก ใช้ระยะปลูก 25x30 หรือ 30x40 เซนติเมตร ดังนั้น ใน 1 ไร่ จะใช้ไหลหรือต้นอ่อนที่เกิดบนไหล 8,000 ต้น นำไหลปลูกลงดินตามช่องที่เปิดไว้ หันรอยแผลที่แยกจากต้นแม่เข้าในแปลง เพื่อให้ผลสตรอว์เบอร์รี่ออกผลหันออกนอกแปลง หรือร่อง ผลจะได้รับแสงแดดเต็มที่สีจึงจะสวยงาม การปลูกต้นอ่อนให้รอยต่อของต้นกับรากอยู่ระดับเดียวกับดินผิวร่อง กลบดินพอแน่นไหลละหนึ่งหลุม การผลิตไหล หรือต้นอ่อนที่เกิดบนไหล ในเดือนพฤษภาคม นำต้นแม่พันธุ์ดี ให้ผลผลิตสูง ปราศจากโรค ให้ไหลมากและแข็งแรง การเตรียมแปลงปลูกเช่นเดียวกับแปลงปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต นำต้นแม่ปลูกลงตอนกลางของแปลง รดน้ำพอชุ่ม บำรุงต้นแม่ให้สมบูรณ์จนแตกกอได้ 4-5 ต้น เมื่อมีอายุ 3 เดือน หรือในเดือนกรกฎาคม ต้นแม่จะเริ่มสร้างไหลเหมือนไหลบัวและสร้างต้นอ่อนและแทงราก นำถุงเพาะชำสีดำขนาด 3x5 นิ้ว ที่บรรจุดินผสม ประกอบด้วยดินร่วน 3 ส่วน ปุ๋ยคอกเก่า 0.5 ส่วน และขี้เถ้าแกลบอีก 1 ส่วน รองรับต้นอ่อนที่พัฒนาขึ้นบนไหล ให้ส่วนของรากสัมผัสกับดินผสมในถุง ใช้ไม้ไผ่หรือลวดโลหะ หักงอจนเป็นตะขอปักยึดต้นอ่อนฝังตัวลงดินให้ถุงรดน้ำให้ชุ่ม ปล่อยไว้จนรากเติบโตดีประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน จึงตัดไหลให้ขาดห่างจากต้นแม่ประมาณ 3 เซนติเมตร ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งตัดให้ชิดกับต้นอ่อน เฉลี่ยต้นแม่ 1 ต้นจะให้ต้นอ่อนเพียง 40-60 ต้น การคัดเลือกไหลที่ได้คุณภาพก่อนนำไปปลูก ต้องมีระบบรากที่สมบูรณ์ มีใบรวมอย่างน้อย 3 ใบ และมีอายุพอเหมาะ หรือต้นอ่อนที่เกิดขึ้นบนเส้นไหลที่ห่างจากต้นแม่ ต้นที่ 2-5 เมื่อได้ต้นไหลพอเพียงแล้วจึงนำไปปลูกในแปลงปลูกที่เตรียมไว้ หลังปลูกได้ 1 เดือน ต้นอ่อนจะเริ่มสร้างไหลไปจนถึงเดือนธันวาคม ให้ตัดไหลออกจนหมด พร้อมทาปูนขาวหรือปูนแดงป้องกันการเข้าทำลายของโรค ไหลดังกล่าวไม่ควรนำไปใช้ปลูก ระยะแรกควรให้น้ำทุกวัน ปัจจุบันให้น้ำแบบวิธีน้ำหยด เนื่องจากเป็นการประหยัดน้ำและป้องกันการเปียกแฉะของใบ จะทำให้เกิดการระบาดของโรคได้ ข้อควรระวังไม่ควรให้น้ำมากเกินไปเพราะมีผลทำให้คุณภาพของสตรอว์เบอร์รี่ต่ำลง การใส่ปุ๋ย ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ หลังปลูกลงดินแล้ว 20 วัน ต้องใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 9-24-24 อัตรา 20-25 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือประมาณ 5-10 กรัม ต่อต้น ระยะที่เริ่มให้ผลใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 12-12-17+2 อัตราเดียวกัน ด้วยวิธีโรยรอบต้น แต่ระวังอย่าให้ปุ๋ยสัมผัสกับลำต้นหรือใบสตรอรอว์เบอร์รี่ พร้อมกลบดินทับและให้น้ำตามทันที หมั่นตัดแต่งใบและแขนงที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไปหรือนำไปทำปุ๋ยหมักไว้บำรุงดินก็ได้ เหลือหน่อหรือแขนงไว้ 6-8 แขนง สตรอว์เบอร์รี่เริ่มแทงช่อดอกในเดือนพฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนมกราคม ไปจนถึงต้นเดือนมีนาคม เวลาเก็บผลผลิตได้ดีคือ ตอนเช้าก่อนได้รับแสงแดดจ้า เลือกเก็บผลแก่โดยใช้กรรไกตัดขั้วผล ระวังอย่าให้ผลช้ำ การบรรจุในภาชนะไม่ควรทับกันหลายชั้นผลจะช้ำและเน่าเสียหายได้ ลักษณะผลสตรอว์เบอร์รี่ที่ตลาดต้องการ ผลต้องสะอาดมีสีสด เนื้อแน่น ผิวเป็นมัน ทรงผลไม่บิดเบี้ยว เนื้อมีรสเปรี้ยวอมหวาน กลิ่นหอม การเรียงตัวของเมล็ดที่ผิวเปลือกเรียงตัวเป็นระเบียบ ขนาดผล ควรมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร ระยะเก็บเกี่ยวที่ดีที่สุดคือ ระยะผลมีสีแดงเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ โรคสำคัญของสตรอว์เบอร์รี่ โรคแอนแทรกโนส เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง มักเกิดการระบาดในสภาพที่มีอากาศร้อนชื้น อาการเริ่มแรกมีแผลขนาดเล็ก สีม่วงแดงเป็นรูปวงรี ต่อมาแผลจะบุ๋มลึกลงการระบาดเกิดขึ้นทั้งที่ใบ ผล และที่ไหล อาการรุนแรงใบจะเริ่มเหี่ยวเฉา และร่วงโรยอย่างรวดเร็ว วิธีป้องกันกำจัด ไม่ควรนำพันธุ์จากแหล่งที่เคยมีโรคชนิดนี้ระบาดมาก่อน และต้องลดการใช้ปุ๋ยเคมีโดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจนลงจากอัตราปกติ หากเกิดการระบาดรุนแรงจึงใช้สารเคมี ตามความเหมาะสม แมลงศัตรูสำคัญคือ ไรสองจุด เป็นแมลงขนาดเล็ก เข้าดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใต้ใบ ระยะต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ผิวด้านบนมีจุดด่างสีขาวแล้วลุกลามเป็นบริเวณกว้าง ทำให้สีใบเหลืองซีด และร่วง การเจริญเติบโตหยุดชะงัก ต้นแคระแกร็น ผลผลิตต่ำลง วิธีป้องกันกำจัด ให้หมั่นทำความสะอาดแปลงปลูกให้สะอาดอยู่เสมอ ห้ามปลูกพืชตระกูลหอม กระเทียมไว้ใกล้เคียงเพราะจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของไรสองจุด ในกรณีที่เกิดการระบาดรุนแรง จึงใช้สารเคมีฉีดพ่นตามความเหมาะสม การจัดการและดูแลรักษาได้ตามคำแนะนำข้างต้นคุณก็จะได้ผลผลิตของสตรอว์เบอร์รี่ที่ได้คุณภาพตามต้องการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
จรเข้บัว
อำเภอ / เขต :
รามอินทรา
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 15 ฉบับที่ 311
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM