เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
การเพาะเห็ดโคนน้อยอีกสักครั้งเถอะ
   
ปัญหา :
 
 
    ผมมีความสนใจจะเพาะเห็ดโคนน้อย เพราะได้ข่าวว่ามีรสชาติคล้ายคลึงกับเห็ดโคนที่ได้จากธรรมชาติ จึงขอเรียนถามว่ามีขั้นตอนและวิธีการเพาะอย่างไร ที่จะให้ผลดีและหากต้องการเชื้อพันธุ์ดีจะติดต่อหาซื้อได้จากแหล่งใดได้บ้าง
วิธีแก้ไข :
 
    เห็ดโคนน้อย หรือ เห็ดถั่ว ปัจจุบันมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เห็ดโคนเพาะ ซึ่งทั้งนี้ เห็ดโคนน้อย เป็นเห็ดคนละชนิดกับ เห็ดโคน หรือ เห็ดปลวก ปัจจุบันยังเพาะไม่ได้ เนื่องจากวงจรชีวิตบางช่วงเห็ดชนิดนี้ต้องอาศัยความช่วยเหลือของปลวก โดยปลวกจะนำสปอร์เป็นหน่วยขยายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กมาก ปลูกในรังให้ลูกอ่อนกิน ส่วนที่เหลือจึงพัฒนาเป็นดอกเห็ดแทงทะลุผิวดินขึ้นมาเมื่อได้รับความชื้นในฤดูฝน ดังนั้น จะเห็นว่าเห็ดโคนมักพบอยู่ใกล้กับจอมปลวก หรือแหล่งที่มีปลวกชุกชุม จนชาวบ้านนิยมเรียกว่า เห็ดปลวก ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เห็ดโคนน้อย หรือ เห็ดถั่ว เป็นคนละชนิดกับ เห็ดโคน หรือ เห็ดปลวก เห็ดโคนน้อย หรือ เห็ดถั่ว มักพบเห็นมีการเจริญเติบโตบนซากต้นถั่วไม่ว่าจะเป็นถั่วเขียว หรือถั่วเหลืองก็ตาม คนทางภาคเหนือจึงเรียกว่าเห็ดถั่ว เนื่องจากเป็นเห็ดที่มีรสชาติดีคล้ายเห็ดโคน แต่มีขนาดเล็กกว่ามากจึงเรียกว่า เห็ดโคนน้อย ทำให้เกิดการสับสนในหมู่ผู้สนใจการเพาะเห็ดทั่วไป วิธีเพาะเห็ดโคนน้อยทำได้ง่ายและให้ผลผลิตค่อนข้างดี วัสดุเพาะใช้ได้ทั้งต้นถั่วแห้ง ฟางข้าว ผักตบชวาแห้ง ต้นกล้วย เปลือกมันสำปะหลัง ซากทะลายปาล์มน้ำมัน กาบมะพร้าว ชานอ้อย ขี้ฝ้ายและไส้นุ่น สามารถเพาะได้ตลอดทั้งปี เก็บผลผลิตได้ภายใน 5-6 วัน ข้อด้อย ของเห็ดโคนน้อย คือเก็บได้ไม่นาน จึงต้องถนอมด้วยการลวกน้ำร้อนก่อนเก็บรักษาในห้องเย็นต่อไป หรือนำไปแปรรูป หรือบริโภค นอกจากนี้ ดอกเห็ดมีขนาดเล็กทำให้เสียเวลาและแรงงานในการเก็บดอกเห็ด ขั้นตอนการเพาะ วัสดุเพาะ ใช้วัสดุเหลือใช้จากการเกษตรหลายชนิดที่กล่าวมาแล้ว เช่น ฟางข้าว ต้นถั่วชนิดต่าง ๆ ผักตบชวา เปลือกมันสำปะหลัง ต้นกล้วยหรือใบตองแห้ง หรือซากทะลายปาล์มน้ำมันก็ใช้ทำวัสดุเพาะได้ มัดวัสดุเพาะให้เป็นฟ่อนขนาดน้ำหนักประมาณ 3-5 กิโลกรัม นำมัดวัสดุเพาะอัดลงในไม้แบบหรือกระบะ กว้างและสูง 30 เซนติเมตร เท่ากัน ยาว 40-50 เซนติเมตร ให้ด้านฐานกว้างกว่าด้านบนเล็กน้อย เปิดด้านฐานและด้านบน เช่นเดียวกับแบบแม่พิมพ์การปั้นอิฐที่ใช้ในการก่อสร้าง ขึ้นเหยียบบนกองวัสดุเพาะในแบบให้แน่น แล้วถอดแบบออก วางแบบทำเช่นเดิมอีก 10-12 กอง แต่ละกองห่างกัน 25 เซนติเมตร หากต้องการให้ดอกเห็ดสะอาด ควรปูพื้นด้วยพลาสติกใสตามแนวยาวของกองเห็ด การทำอาหารเสริม ที่มีส่วนประกอบของ ปุ๋ยยูเรีย หรือปุ๋ยน้ำตาลทราย 2 กิโลกรัม กากส่าเหล้า 1 กิโลกรัม กากน้ำตาล 1 ลิตร ปูนโดโลไมต์หรือปูนขาว 1 กิโลกรัม และดีเกลือ 0.1 กิโลกรัม ต้มในน้ำ 100 ลิตร คนให้เข้ากันต้มในภาชนะ อาจใช้ถังน้ำมันขนาดความจุ 200 ลิตร ผ่าครึ่งที่อุณหภูมิ 75-80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 20-30 นาที ตักอาหารเสริมขณะยังร้อนอยู่ ราดลงบนวัสดุเพาะเห็ดอย่างทั่วถึงเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้เห็ด ความร้อนที่มีอยู่จะช่วยฆ่าเชื้อโรคบางชนิดในวัสดุเพาะได้อีกด้วย ทิ้งไว้จนเย็นอุณหภูมิลดลงเป็นปกติ เนื่องจากเชื้อเห็ดมีราคาแพงจำเป็นต้องขยายปริมาณเชื้อให้มากขึ้นก่อนนำไปเพาะเห็ดด้วยการนำฟางข้าวสับ หรือผักตบชวาสับอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจผสมกันก็ได้ ปริมาณ 100 กิโลกรัม นำเชื้อเห็ดที่เพาะในขวดที่มีเมล็ดข้าวฟ่างเป็นอาหาร จำนวน 10-20 ขวด คลุกกับฟางข้าวหรือผักตบชวาที่เตรียมไว้ให้เข้ากันรดน้ำพอชุ่ม ระวังอย่าให้แฉะเกินไป เกลี่ยกองให้สูงไม่เกิน 12 เซนติเมตร คลุมด้วยพลาสติกใสและปิดทับด้วยกระสอบป่านอีกชั้นหนึ่ง บ่มไว้เป็นเวลา 3-4 วัน ครบกำหนดนำเชื้อขยายไปใช้ได้ ด้วยการอัดเชื้อขยายลงในกลางกองวัสดุเพาะ อัตรากองละ 1 กำมือ แล้วโรยเชื้อขยายบาง ๆ รอบกองอีกทีหนึ่ง เพื่อรักษาอุณหภูมิในกองเพาะเห็ดไว้ที่ 35-45 องศาเซลเซียส จึงคลุมด้วยพลาสติกใสให้มิดแบบอุโมงค์มีไม้ไผ่หรือลวดโค้งเป็นโครงของอุโมงค์ ทับชายพลาสติกด้วยดินหรือวัสดุมีน้ำหนักอื่น ๆ ตลอดแนว พร้อมกับพรางแสงแดดด้วยฟางข้าวหรือตับหญ้าแฝกอย่างใดอย่างหนึ่ง เส้นใบของเชื้อเห็ดจะแพร่กระจายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 4-5 วัน สามารถขยายได้ทั่วทั้งกองวัสดุเพาะและให้ดอกได้อีกภายในไม่กี่วัน เห็ดจะให้ดอกได้เป็นเวลานานถึง 30 วัน ระหว่างเห็ดให้ดอก หากวัสดุเพาะแห้งเกินไปให้โชยน้ำข้าวกองเพาะเห็ด แต่ควรระวังอย่าให้น้ำสัมผัสกับดอกเห็ด เพราะดอกเห็ดจะเน่าเสียหาย ในกรณีที่อุณหภูมิในอุโมงค์สูงเกินไป ให้เปิดพลาสติกใสด้านใดด้านหนึ่งออกเพื่อระบายความร้อน รักษาอุณหภูมิไว้ที่ 35-45 องศาเซลเซียส แล้วปิดพลาสติกไว้ในตำแหน่งเดิม การเก็บดอกเห็ด เห็ดโคนน้อยจะให้ดอกในตอนเย็น การเก็บเกี่ยวจึงเก็บได้เฉพาะตอนเย็นเท่านั้น หากเก็บช้าไปแม้แต่เก็บในตอนค่ำดอกจะบานและจะเปื่อยยุ่ยและยุบตัวนำไปประกอบอาหารไม่ได้ การเก็บให้จับที่ฐานดอก บิดไปทางซ้ายและขวา ดอกเห็ดจะหลุดออกมา ดอกที่ออกเป็นกลุ่มควรเก็บออกให้หมดพร้อมกัน นำมาลวกด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 95-100 องศาเซลเซียส หากเติมด้วยกรดน้ำส้มเข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ ดอกเห็ดจะมีสีขาวและกรอบน่ารับประทานยิ่งขึ้น และเก็บในอุณหภูมิ 8-10 องศาเซลเซียส เพื่อถนอมไว้ได้อีกหลายวัน แหล่งพันธุ์ ติดต่อสอบถามที่ ศูนย์ไบโอเทคฯ เลขที่ 19/7 หมู่ 11 ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 โทร. (02) 908-3010-3 ในวันและเวลาราชการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
คลองสาม
อำเภอ / เขต :
คลองหลวง
จังหวัด :
ปทุมธานี
รหัสไปรษณีย์ :
12120
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 15 ฉบับที่ 311
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM