เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
วิธีปลูกลิ้นจี่และส้มโอที่ให้ผลดี
   
ปัญหา :
 
 
    ผมได้ติดตามอ่านนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านเป็นประจำ เพราะได้รับประโยชน์มาก ปัจจุบันผมปลูกลิ้นจี่และส้มโอไว้จำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้ผลเนื่องจากมีศัตรูเข้าทำลายอยู่เสมอ ผมจึงขอเรียนถามว่า ควรจะปฏิบัติการอย่างไรตั้งแต่การปลูกและการดูแลจนถึงระยะให้ผล
วิธีแก้ไข :
 
    ลิ้นจี่ เจริญเติบโตและติดดอกออกผลได้ดี ในแหล่งที่มีอากาศร้อนชื้นในฤดูร้อน และมีอากาศเย็นแห้งในฤดูหนาว ดินต้องเป็นดินร่วนเหนียว ระบายน้ำได้ดี มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางจนถึงสูง ปริมาณฝนเฉลี่ย 1,400 มิลลิเมตร ต่อปี แหล่งที่ปลูกลิ้นจี่ได้ดี คือที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ พันธุ์ที่ปลูกได้ดีที่ภาคกลางมีหลายพันธุ์ คือ พันธุ์ค่อม หรือ หอมลำเจียก เป็นพันธุ์ที่มีทรงพุ่มค่อนข้างกลม ใบแคบเรียวปลายใบแหลม ตอนกลางป่อง ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ผลมีขนาดใหญ่กลม สีแดงเข้ม เปลือกกรอบบาง เนื้อหนา รสหวาน เนื้อแห้งสีขาวขุ่น ติดผลง่าย พันธุ์สาแหรกทอง มีลักษณะใบยาวรี ขอบใบบิดเป็นคลื่น มีสีเขียวอ่อน เส้นกลางใบสีเหลือง ขนาดผลปานกลางรูปคล้ายหัวใจ รสหวานอมฝาดเล็กน้อย ผลสุกเปลือกมีสีชมพูอมเหลือง มีร่องระหว่างหนามเป็นทางยาวคล้ายสาแหรก และ พันธุ์กะโหลกใบยาว ใบมีรูปร่างใหญ่ยาวขอบใบเรียบ สีเขียวปนน้ำตาลเป็นมัน ผลมีขนาดใหญ่ หนามห่าง เปลือกสีน้ำหมากแห้ง เนื้อหนา รสหวานอมเปรี้ยว ติดผลง่ายและให้ผลสม่ำเสมอ ส่วนพันธุ์ที่ปลูกได้ดีในภาคเหนือ คือ พันธุ์ฮงฮวย ยอดอ่อนมีสีเขียวอมแดงซีด ทรงพุ่มเป็นรูปไข่ ต้นค่อนข้างสูง ผลมีรูปทรงยาวรีคล้ายรูปไข่ เปลือกสีแดงอมชมพู รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ให้ผลดกอย่างสม่ำเสมอ ข้อด้อยของพันธุ์คือ มีเมล็ดค่อนข้างใหญ่ พันธุ์โอวเฮียะ ง่ามกิ่งเป็นมุมแคบ ยอดอ่อนมีสีแดงเข้ม ลักษณะผลคล้ายรูปหัวใจ รสหวาน เนื้อหนา เปลือกสีแดงคล้ำ เปลือกเปราะ เมล็ดเล็ก ข้อเสีย กิ่งฉีก และหักง่าย และ พันธุ์กิมเจง มีทรงพุ่มเตี้ย เจริญเติบโตช้า ข้อของกิ่งสั้น ใบสั้นแคบ ยอดใบอ่อนมีสีแดงอมชมพู ผลค่อนข้างกลม การติดผลต้องการอากาศหนาวจัด พันธุ์นี้จึงเป็นพันธุ์ที่ติดผลยาก การขยายพันธุ์ นิยมใช้วิธีตอนกิ่ง การเตรียมพื้นที่ปลูก เลือกพื้นที่ไม่มีน้ำท่วมขัง หากจำเป็นต้องปลูกในที่ลุ่มต้องขุดยกร่องให้สูงกว่าระดับน้ำปกติอย่างน้อย 1 เมตร ระยะปลูกที่นิยมใช้กันคือ 12x12 เมตร ขุดหลุมลึกและกว้าง 50 เซนติเมตร เท่ากัน ตากดินทิ้งไว้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ รองก้นหลุมด้วยฟางข้าวหรือเศษหญ้าแห้ง ย่ำให้แน่นเหลือพื้นที่ว่างในหลุมไว้ประมาณครึ่งหนึ่งของหลุมที่เตรียมได้ ผสมดินกับปุ๋ยคอกเก่าอัตรา 2 ปุ้งกี๋ ต่อต้น คลุกเคล้าให้เข้ากัน เกลี่ยกลับลงหลุมพูนดินให้เป็นรูปหลังเต่า หากดินเหนียวจัดควรใส่ปูนขาว และต้องคลุกเคล้ากับดิน อัตรา 4-5 กระป๋องนม ต่อหลุม เปิดปากหลุม ฉีกถุงที่ชำกิ่งตอนไว้ออกเบา ๆ อย่าให้ดินหลุดออกจนรากขาด วางลงบนหลุมอย่างบรรจง กลบดินอัดหรือกลบพอแน่น ปักหลักไม้ผูกเชือกยึดกิ่งพันธุ์ให้มั่นคง ป้องกันต้นหักโค่นเมื่อมีลมพัดแรง รดน้ำพอชุ่ม ในช่วงอากาศร้อนต้องพรางแสงแดดด้วยทางมะพร้าว หรือวัสดุอื่น ๆ ที่หาได้สะดวก ลิ้นจี่ระหว่างอายุ 1-3 ปี ควรใส่ปุ๋ยคอกเก่าต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝนของทุกปี อัตรา 2-3 ปุ้งกี๋ ต่อต้น พร้อมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 4 ช้อนโต๊ะ ต่อต้น จะทำให้ต้นลิ้นจี่เจริญเติบโตดีขึ้น แต่ถ้าหากต้นลิ้นจี่ของคุณสมบูรณ์ดีให้ใส่ปุ๋ยคอกเพียงอย่างเดียวก็พอ เมื่อย่างเข้าปีที่ 4 จะเริ่มติดดอกและผล ระยะนี้ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ต้นฤดูฝน และปลายฤดูฝน จะช่วยให้ลิ้นจี่ติดผลดกและมีรสหวานขึ้น หมั่นกำจัดวัชพืชออกจากบริเวณทรงพุ่มให้สะอาดอยู่เสมอ โดยธรรมชาติลิ้นจี่จะเริ่มออกดอกหลังจากได้รับอากาศหนาวนาน 4-6 สัปดาห์ ซึ่งตรงกับช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ และเก็บผลได้ในเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนมิถุนายน ส่วนภาคกลางจะให้ผลก่อน ภาคเหนือประมาณ 1 เดือน การห่อผล ควรห่อทั้งช่อขณะที่ผลเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงเรื่อ ๆ ด้วยถุงกระดาษหรือถุงพลาสติกที่เจาะก้นถุงป้องกันน้ำขัง ซึ่งอาจทำให้ผลเน่าเสียหายได้ การเก็บผล เก็บเกี่ยวผลลิ้นจี่ได้หลังจากห่อผลแล้ว 20-25 วัน ระยะนี้ผลลิ้นจี่จะมีสีแดงเข้ม หรือบางพันธุ์มีสีแดงอมชมพู ชาวสวนเรียกว่า ร่องขาด ช่วงเวลาเก็บผลดีที่สุดอยู่ระหว่างเวลา 09.00-10.00 นาฬิกา ระยะนี้น้ำค้างที่เกาะอยู่ตามใบและกิ่งก้านแห้งพอดี ใช้กรรไกรตัดทั้งช่อพร้อมถุงที่ห่อไว้ จากนั้นแกะถุงออก บรรจุลงในภาชนะที่โปร่งและระบายอากาศได้ดี ก่อนนำออกจำหน่าย การแต่งกิ่ง หลังเก็บเกี่ยวผลแล้วตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ลมพัดผ่านและแสงแดดส่องเข้าภายในทรงพุ่มได้ นอกจากนี้ ต้องยึดกิ่งป้องกันการฉีกขาดของกิ่งในบางพันธุ์ อาจใช้โซ่ขนาดเล็กโยงแต่ละกิ่งรั้งกันไว้ในลักษณะที่สมดุล จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงได้ ศัตรูสำคัญที่พบการระบาดในลิ้นจี่ คือหนอนเจาะขั้วผลที่แมลงวางไข่ไว้ที่บริเวณฐานรองดอกของลิ้นจี่ หลังการผสมเกสรแล้ว ต่อมามีการพัฒนาจนสร้างผนังขึ้นหุ้มไข่แมลงไว้ภายใน ต่อมาไข่ฟักออกเป็นตัวอ่อนกัดกินเนื้อในของลิ้นจี่ ทำให้เกิดความเสียหายขายไม่ได้ราคา วิธีป้องกันกำจัด ให้ฉีดพ่นด้วยไซฟลูทริน 5% อีซี อัตรา 5 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ 2-3 ครั้ง ทุก 7-10 วัน จะทำให้การระบาดของหนอนเจาะขั้วลิ้นจี่หมดไปในที่สุด ส้มโอ เจริญเติบโตให้ผลได้ดีในดินเหนียว ดินทราย และดินร่วนปนทราย แต่ต้องระบายน้ำได้ดี ถ้าต้องการให้ส้มโอมีคุณภาพสูง ควรเป็นดินโปร่ง ร่วนซุย มีปริมาณอินทรียวัตถุสูง มีความเป็นกรด-ด่าง ที่ 5.5-6.0 ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,500 มิลลิเมตร ต่อปี อุณหภูมิระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส การขยายพันธุ์ นิยมการตอนมากที่สุด พันธุ์ส้มโอ ที่ปลูกกันมากในปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์ขาวพวง มีขนาดผลโตปานกลาง ผลกลมทรงสูง มีจุก ก้นเว้า ผิวผลเรียบ สีเขียวอมเหลือง ต่อมน้ำมันค่อนข้างใหญ่และห่างกัน เปลือกหนาปานกลาง แต่ละผลมี 12-14 กลีบ เนื้อหรือกุ้งมีสีขาวอมเหลือง มีปริมาณน้ำมาก แต่ไม่ถึงกับแฉะ รสหวานอมเปรี้ยว มีเมล็ดน้อย เนื่องจากมีลักษณะผลสวย ชาวจีนจึงนิยมใช้เป็นเครื่องไหว้พระจันทร์ พันธุ์ขาวทองดี หรือทองดี ผลมีขนาดใหญ่ปานปลาง ทรงผลกลมแป้น ขั้วผลมีจุกเล็กน้อย ผิวเรียบสีเขียวเข้ม ต่อมน้ำมันมีขนาดเล็กละเอียดอยู่ชิดกัน เปลือกค่อนข้างบาง เปลือกด้านในมีสีชมพูอ่อน ในหนึ่งผลจะมีกลีบประมาณ 14-16 กลีบ เยื่อหุ้มกลีบมีสีชมพูอ่อนเช่นเดียวกัน เนื้อหรือกุ้งมีสีชมพู นิ่ม และฉ่ำน้ำ มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เมล็ดเล็ก และ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง มีผลค่อนข้างใหญ่ ทรงผลกลมและสูง ไม่มีจุก ก้นผลเรียบ ต่อมน้ำมันมีขนาดใหญ่และห่างกัน ผิวเปลือกสีเขียวเข้ม เปลือกค่อนข้างหนา ในหนึ่งผลมี 11-12 กลีบ เนื้อมีสีขาวอมเหลือง ขนาดกุ้งค่อนข้างใหญ่เบียดกันแน่น มีน้ำมากแต่ไม่แฉะ รสหวานอมเปรี้ยว เมล็ดมีขนาดใหญ่แต่มีจำนวนน้อย เป็นพันธุ์หนึ่งที่เป็นที่นิยมของตลาด การปลูกส้มโอ แบ่งตามสภาพพื้นที่ ในที่ลุ่มดินเหนียว ระบายน้ำยาก ต้องยกร่องให้เป็นแปลง หน้ากว้าง 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร และลึก 1 เมตร ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ ร่องน้ำนอกจากใช้ระบายน้ำออกจากแปลงในช่วงฤดูฝนแล้วยังใช้เก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย ในสภาพที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง ไม่จำเป็นต้องยกร่องปลูก ปรับพื้นที่ให้เรียบ กำจัดวัชพืชออกให้หมด แล้วไถดะไถแปรให้ดินซุย ดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ให้หว่านพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบ 2 รุ่น จะทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้น วิธีปลูก ใช้ระยะปลูก 6x6 หรือ 8x8 เมตร ก็ได้ การเตรียมหลุมปลูกใช้วิธีเดียวกับการปลูกไม้ผลอื่น ๆ การกักน้ำเพื่อเร่งการออกดอก และให้ออกดอกอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งต้น ให้ทำได้ในระยะที่ต้นส้มโอมีอายุ 3-4 ปี ขึ้นไป คือระยะเริ่มให้ดอกผล ในสภาพที่ลุ่มสามารถบังคับน้ำได้ ให้สูบน้ำออกจากร่องเป็นเวลา 10-30 วัน จะมีผลทำให้ส้มโอเริ่มเฉา ใบเริ่มห่อ จากนั้นจึงสูบน้ำเข้าในร่องสวน ต้นส้มโอจะดูดน้ำขึ้นหล่อเลี้ยงลำต้นอย่างรวดเร็ว ภายในไม่กี่วันจะแตกใบอ่อน ปรากฏให้เห็นอีกประมาณ 30-60 วัน ต้นส้มโอจะเริ่มออกดอก ใช้เวลา 8 เดือน ผลจึงแก่เต็มที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทั่วไป ผลผลิตส้มโอมีวางจำหน่ายในเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนกันยายน ต้นที่ติดผลดกเกินไปควรปลิดผลทิ้งบ้าง ส้มโอที่ปลูกในที่ลุ่มผลผลิตเริ่มลดลงเมื่อมีอายุ 10 ปีขึ้นไป การเก็บเกี่ยว ผลส้มโอที่อยู่ไม่สูงเกินไปให้ตัดด้วยกรรไกรที่คม หากอยู่ตำแหน่งที่สูงให้เก็บเกี่ยวด้วยกรรไกรด้ามยาวที่มีถุงผ้ารองรับ ผลจะไม่ช้ำ ศัตรูสำคัญของส้มโอ คือ หนอนชอนใบ เป็นหนอนผีเสื้อชนิดหนึ่ง เข้าทำลายเฉพาะใบอ่อน ใบที่ถูกทำลายพบมีรอยวกวนสีขาววาว ผิวใบเป็นฝ้าขาวแห้ง ตัวหนอนจะเลือกกินส่วนเนื้อภายในของใบอ่อน ใบจะบิดม้วนงอ การเจริญเติบโตหยุดชะงัก ต่อมาเชื้อโรคอื่น ๆ เข้าซ้ำเติม เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคขี้กลาก หรือ แคงเกอร์ การป้องกันกำจัด กรณีที่ระบาดไม่รุนแรงให้เด็ดใบเผาทำลายอย่าให้เหลือเป็นแหล่งอาหารและแพร่กระจายของแมลง ในกรณีที่มีการระบาดรุนแรง ให้ฉีดพ่นด้วยไดเมทโธเอท ในระยะแตกใบอ่อน ตามอัตราแนะนำ 2-3 ครั้ง ทุก ๆ 7-10 วัน การระบาดของแมลงจะหมดไป โรคที่พบการระบาดรุนแรงในส้มโอ คือ โรคยางไหล เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง มักเข้าทางรอยแผลที่เกิดจากแมลงทำลาย หรือเกิดการเสียดสีกันของกิ่งส้มโอ ขณะที่ลมพัดรุนแรง อาการที่พบครั้งแรกมีแผลขนาดเล็ก สีน้ำตาล ต่อมาขนาดแผลจะขยายใหญ่ขึ้นและมียางสีน้ำตาลไหลออกจากแผล เป็นจำนวนมากจนรอบกิ่ง หรือมีรอยเกาะเหนียวตามกิ่งและลำต้น ใบเริ่มเหลืองและหลุดร่วง ยอดแห้งและต้นจะตายในที่สุด การป้องกันกำจัด เมื่อพบเกิดบาดแผลระยะแรกให้ใช้มีดคมเฉือนเปลือกส่วนที่เกิดโรคออกจนหมด และทารอยแผลพร้อมราด ฟอสเอทธีล อีล ตามอัตราแนะนำ ระวังอย่าให้น้ำท่วมขังในแปลงปลูก ต้องเร่งระบายน้ำออกจากแปลงโดยเร็ว หากมีน้ำท่วมต้นส้มที่ตายจากการเกิดโรคให้ตัดเผาทำลายทิ้งไป โรคใบแก้ว โรคนี้เกิดได้จากสองสาเหตุคือ เกิดจากการขาดธาตุอาหาร หรือเกิดจากการเข้าทำลายของ เชื้อมายโคพลาสมา อาการที่พบมักเกิดกับต้นส้มโอที่มีอายุ 2-3 ปีขึ้นไป ระยะแรกขนาดของใบจะเล็กลง ปลายใบเรียวแหลมมีสีเหลือง ใบแก่มีสีเหลืองเป็นจ้ำ หากเกิดอาการรุนแรงจะทำให้ผลร่วงต้นทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว วิธีป้องกันกำจัด ไม่ควรปล่อยให้ต้นส้มโอติดผลดกมากเกินไป ต้องปลิดผลทิ้งไปบ้าง หลังเก็บผลผลิต ควรตัดแต่งกิ่งที่แห้งเป็นโรค และกิ่งที่ไม่ให้ผลเผาทำลายทิ้งไป พร้อมกับใส่ปุ๋ยคอกเก่า อัตราต้นละ 2-3 ปุ้งกี๋ ในต้นฤดูฝน การนำกิ่งพันธุ์มาปลูกต้องแน่ใจว่าได้จากแหล่งที่ปลอดโรค ขณะส้มแตกใบอ่อนแนะนำให้ฉีดพ่นด้วย ไดเมทโธเอท 40% อีซี อัตรา 40 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง ทุก 7-10 วัน ป้องกันแมลงที่เป็นพาหะนำโรค หากต้นที่แสดงอาการอย่างรุนแรงให้โค่นและเผาทำลาย อย่าให้เป็นแหล่งสะสมโรคต่อไป หากคุณปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น คุณจะสามารถผลิตส้มโอได้คุณภาพดีตามต้องการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
3
ตำบล / แขวง :
หญ้าแพรก
อำเภอ / เขต :
เมือง
จังหวัด :
สมุทรสาคร
รหัสไปรษณีย์ :
74000
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 15 ฉบับที่ 310
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM