เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ต้องการปลูกมะละกอให้งาม
   
ปัญหา :
 
 
    ดิฉันขอเรียนถามเกี่ยวกับวิธีการปลูกมะละกอโดยละเอียดว่า มีพันธุ์อะไรบ้างที่ควรปลูก วิธีการปลูกและดูแลจนสามารถเก็บผลผลิตได้ ที่ดินที่ดิฉันจะปลูกค่อนข้างแห้งแล้งควรปฏิบัติอย่างไรบ้างคะ
วิธีแก้ไข :
 
    พันธุ์แขกดำ นิยมปลูกกันมากที่สุดเนื่องจากให้ผลผลิตสูง มีผลขนาดปานกลาง ทรงกระบอก ส่วนหัวและปลายของผลมีขนาดใกล้เคียงกัน ผิวเปลือกเขียวเข้ม เนื้อแน่น ช่องว่างภายในผลแคบ ผลดิบเนื้อจะกรอบ ผลสุกจะมีสีแดงเข้ม แต่บางสายพันธุ์อาจมีเนื้อสีเหลืองส้ม เช่น พันธุ์แขกดำท่าพระ จึงใช้บริโภคได้ทั้งผลสดและผลสุก พันธุ์โกโก้ มีลักษณะผลค่อนข้างยาว ส่วนปลายผลโป่งออกมองเห็นได้ชัด ผิวเกลี้ยงเป็นมัน ผิวเปลือกสีอ่อนกว่าพันธุ์แขกดำ มีเนื้อแน่นและหนาเมื่อสุกเนื้อจะมีสีแดงอมชมพู รสหวาน แต่ข้อเสียคือช่องภายในผลกว้างกว่าพันธุ์แขกดำ ลักษณะประจำพันธุ์ที่แตกต่างจากพันธุ์อื่น ๆ คือ ที่ลำต้น และก้านใบ จะมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงม่วงเข้ม พันธุ์แขกนวล นิยมปลูกมากที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ผลมีรูปทรงกระบอก ขนาดปานกลาง ผิวสีเปลือกจะอ่อนกว่าพันธุ์แขกดำและมีสีนวลชัดเจน ผลสุกมีเนื้อสีแดงส้ม นิยมปลูกเพื่อส่งโรงงานแปรรูป พันธุ์สายน้ำผึ้ง ผลมีลักษณะยาวและแคบ หัวแหลม ปลายแหลม ปลายผลจะมีขนาดใหญ่กว่าส่วนหัวเล็กน้อย เนื้อผลสุกมีสีส้มปนเหลือง รสหวาน เนื้อไม่แน่น เหมาะสำหรับรับประทานผลสุก พันธุ์ปากช่อง เป็นพันธุ์ที่ให้ผลขนาดเล็กจนถึงปานกลาง ผลกลม เนื้อมีสีส้มเมื่อสุก เนื้อหนา รสหวาน และเนื้อไม่เละ พันธุ์พิจิตร 1 ผลสุกมีเนื้อสีเหลือง เหมาะสำหรับทำฟรุต ค็อกเทล ส่วนผลดิบจะให้ สารปาเปน ในน้ำยางสูง สารชนิดนี้ใช้สำหรับหมักเนื้อสัตว์ทำให้เนื้อนุ่มน่ารับประทาน ต้นมะละกอมี 3 เพศ 1. ต้นเพศเมีย มีแต่ดอกตัวเมีย ออกดอกเดี่ยวติดกับลำต้น หรือออกเป็นกลุ่ม ลักษณะของดอกมีขนาดใหญ่ ก้านดอกสั้น ต้องอาศัยเกสรตัวผู้จากต้นอื่นในการผสมพันธุ์ ผลมีลักษณะกลม ผลใหญ่ เนื้อบาง 2. ต้นเพศผู้ มีก้านช่อยาว แทงออกจากซอกใบ ต้นประเภทนี้จะไม่ให้ผล วิธีแก้ไขบำรุงต้นให้แข็งแรงแล้วตัดยอดทิ้งให้เหลือใบไว้เพียง 1-2 ใบ ยอดที่แตกออกมาใหม่จะกลายเป็นต้นกะเทย หรือต้นตัวเมียได้ 3. ต้นกะเทย เป็นประเภทที่มีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียในต้นเดียวกัน นอกจากนี้ต้นกะเทยยังแบ่งย่อยออกได้อีก 3 ชนิด คือ ดอกสมบูรณ์เพศแบบอีลองกาต้า ผลที่ได้จะมีรูปร่างยาวติดเมล็ดน้อย เนื้อหนา จึงเป็นที่นิยมของตลาด ดอกสมบูรณ์เพศแบบแทนเดรีย ผลมะละกอจะมีร่องลึก ไม่เป็นที่นิยมของตลาด และอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า ดอกสมบูรณ์เพศแบบอินเทอร์มีเดียต ผลมะละกอที่ได้จะบิดเบี้ยว จึงไม่เป็นที่ต้องการของตลาดเช่นเดียวกัน วิธีคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ คัดเลือกจากต้นที่มีลักษณะดี จากต้นกะเทย ลักษณะผลยาวได้สัดส่วน ให้ผลดก ผลไม่บิดเบี้ยว ไม่มีการทำลายของโรคและแมลง ต้องเลือกผลที่แก่จัด นำผลที่ได้ผ่าตามความยาว นำเมล็ดล้างเอาเมือกหุ้มเมล็ดออกจนสะอาด ผึ่งลมให้แห้ง ก่อนนำไปเพาะกล้า เตรียมดินที่มีส่วนผสมของดินร่วน 3 ส่วน ทรายหยาบ 1 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน และปุ๋ยคอกเก่า 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน บรรจุดินลงในถุงเพาะชำ ขนาด 5x8 นิ้ว ที่มีรูระบายน้ำรอบถุง หยอดเมล็ดลงถุง ถุงละ 3 เมล็ด กลบดินผสมบาง ๆ รดน้ำให้ชุ่ม เก็บในเรือนเพาะชำ เมล็ดจะงอกภายใน 10-14 วัน เมื่อมีใบจริง 2-3 ใบ ถอนให้เหลือไว้เพียง 1 ต้น ระยะนี้ควรละลายปุ๋ย สูตร 21-21-21 อัตรา 2 ช้อนแกง ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ผสมสารจับใบฉีดพ่นทุก ๆ 7 วัน จะทำให้ต้นกล้าแข็งแรงขึ้นจนมีอายุ 60 วัน นำปลูกลงในแปลงปลูกได้ การเตรียมแปลงปลูก ที่ลุ่มต้องยกร่อง ที่มีสันร่องกว้าง 3.5-4.0 เมตร มีร่องน้ำกว้างและลึก 1 เมตร ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ปลูก 2 แถว ใช้ระยะ 2.5x3.0 เมตร ที่ดินไม่ต้องยกร่อง เตรียมดินด้วยการไถดะและไถแปร ทำให้ดินโปร่งและซุย จากนั้นวางแนวปลูกใช้ระยะ 3x4 หรือ 3x3 เมตร การเตรียมแปลงปลูกทั้งในที่ลุ่มและที่ดอนทำได้ด้วยวิธีเดียวกัน ขุดหลุมกว้างและลึก 30 เซนติเมตร หรือ 50 เซนติเมตร เท่ากัน นำดินที่ขุดจากหลุม นำปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 1 ปุ้งกี๋ หินฟอสเฟต 100 กรัม และปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ สูตร 16-16-16 อัตรา 20 กรัม คลุกเคล้าให้เข้ากันดี อาจรองก้นหลุมด้วยเศษหญ้าแห้งหรือฟางข้าว เพื่อช่วยเก็บความชื้นในดิน และเมื่อสลายตัวจะปลดปล่อยธาตุอาหารให้กับต้นมะละกออีกด้วย เกลี่ยดินที่ผสมกันไว้กลับลงหลุมปลูกพูนดินให้เป็นหลังเต่า เปิดหลุมพอวางต้นกล้าที่นำออกจากถุงเพาะกล้า ระหว่างตัดหรือฉีกถุงเพาะกล้าระวังอย่าให้รากฉีกขาดเพราะจะทำให้กล้าเฉา และเชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่ายขึ้น ฤดูปลูกที่ดีที่สุดควรปลูกต้นฤดูฝนระหว่าง ปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม กลบดินโคนต้นกล้า กดหรือเหยียบพอแน่น ปักหลักไม้ไผ่ผูกเชือกรัดต้นกล้า ป้องกันหักล้มเมื่อมีลมพัดโชกแรง รดน้ำพอชุ่ม มะละกอเป็นพืชที่ต้องการน้ำ จึงต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะระยะติดผลหากขาดน้ำจะทำให้ผลหลุดร่วงได้ การใส่ปุ๋ย เมื่อครบ 1 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยยูเรีย หรือแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ปี๊บ รดที่บริเวณโคนต้นมะละกอได้ 2-3 ต้น และให้ปฏิบัติเช่นเดียวกันอีกทุก ๆ เดือน จะทำให้ต้นมะละกอเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ในระยะออกดอกติดผลให้ใช้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตรา 1 ช้อนโต๊ะ ต่อต้น โรยรอบต้นแล้วรดน้ำตามทันที หมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกมะละกอให้สะอาดอยู่เสมอ ครบ 5 เดือน มะละกอจะเริ่มติดดอก หลังผสมเกสรแล้วใช้เวลาอีก 3-4 เดือน ผลจะแก่เก็บเกี่ยวได้ การเก็บเพื่อรับประทานผลสุกแก่ต้องรอให้ผลโตเต็มที่ บริเวณปลายผลมีสีเหลืองแต้มสีแดงปรากฏให้เห็น เก็บผลระยะนี้จะอยู่ได้นาน 3-5 วัน ต้นมะละกอที่สมบูรณ์เป็นปกติจะทยอยแตกใบอ่อน ออกดอก และติดผล เป็นระยะ ๆ เมื่อออกดอกและติดผลรุ่นแรก ประมาณ 20-30 ผล จากนั้นจะทิ้งช่วงไประยะหนึ่ง แล้วจึงเริ่มให้ผลใหม่อีก 2 รุ่น แต่ละรุ่นเกษตรกรจะเรียกตามลำดับว่า คอที่ 1 คอที่ 2 และคอที่ 3 ตามลำดับ หลังเก็บผล คอที่ 3 หมดแล้ว ควรรื้อสวนเก่าทิ้ง เนื่องจากรุ่นต่อไปจะให้ผลผลิตต่ำลง และไม่ควรปลูกมะละกอซ้ำที่เดิม ต้องปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อตัดวงจรการระบาดของโรคและแมลงศัตรู โรคศัตรู สำคัญของมะละกอ คือ โรคใบด่างหรือใบจุดวงแหวน เกิดจากเชื้อไวรัส อาการของโรคที่พบใบยอดแสดงอาการซีดเหลือง เส้นใบหยาบและหนาขึ้น เมื่อการระบาดรุนแรงใบจะมีขนาดเล็กลง บิดเบี้ยว ผิดรูปร่าง อาการที่ผลมีจุดวงกลมช้ำและฉ่ำน้ำทำให้ผลผลิตต่ำลง วิธีป้องกันและกำจัด ควรหลีกเลี่ยงปลูกมะละกอในบริเวณที่มีโรคระบาด ห้ามปลูกพืชตระกูลแตงและพริกแซมในแปลงปลูกมะละกอ เนื่องจากพืชทั้งสองจะเป็นแหล่งอาศัยของเพลี้ยอ่อนที่เป็นพาหะนำโรค เมื่อพบการระบาดให้ตัดต้นดังกล่าวเผาทำลายพร้อมขุดโคนออกทำลายเช่นเดียวกัน แล้วโรยปูนขาวฆ่าเชื้อและห้ามปลูกต้นใหม่ซ้ำที่เดิม ระวังอย่าใช้มีดหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ตัดต้นที่เป็นโรคไปสัมผัสกับมะละกอต้นอื่น ๆ เพราะจะสามารถถ่ายทอดเชื้อโรคได้ เมื่อพบเพลี้ยอ่อนเข้าทำลายให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีตามคำแนะนำตามฉลาก จะทำให้การระบาดของโรคลดความรุนแรงลง แมลงศัตรูที่พบระบาดอยู่เสมอ เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวแคบและยาว สีเหลืองซีด ตัวโตเต็มวัยจะมีปีกบินไปยังแหล่งปลูกอื่น ๆ ได้ การระบาดของแมลงชนิดนี้พบว่า ใต้ผิวใบจะแห้งโดยเฉพาะเส้นกลางใบและขอบใบ มักเข้าระบาดในช่วงฤดูแล้งหรือระยะที่ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน วิธีป้องกันกำจัด หากพบการระบาดไม่รุนแรงให้ฉีดพ่นน้ำแรง ๆ การระบาดจะหมดไปในที่สุด แต่เมื่อเกิดการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีตามความจำเป็น ในเขตแห้งแล้งการปลูกมะละกอมักไม่ได้ผล การแก้ปัญหาควรขุดบ่อเก็บกักน้ำไว้ให้พอเพียงตลอดฤดูเพาะปลูก จะเป็นวิธีแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุดครับ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
3
ตำบล / แขวง :
ศรีนาวา
อำเภอ / เขต :
เมือง
จังหวัด :
นครนายก
รหัสไปรษณีย์ :
26000
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 15 ฉบับที่ 309
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM