เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
วิธีปลูกกล้วยไข่ให้ได้ผลดี
   
ปัญหา :
 
 
    ผมมีความประสงค์จะปลูกกล้วยไข่ในบริเวณสวนหลังบ้าน แต่ไม่ทราบวิธีปลูกและการบำรุงรักษาให้เจริญเติบโตดีว่าจะต้องทำอย่างไร และกล้วยไข่มีศัตรูอะไรบ้าง รวมทั้งวิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้องอีกด้วย
วิธีแก้ไข :
 
    กล้วยไข่ นิยมปลูกในที่ราบ แต่ไม่นิยมปลูกแบบยกร่องจีน ดินควรเป็นดินร่วนซุยค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ และไม่ควรปลูกในที่โล่งมากเกินไป เนื่องจากลมพัดแรงทำให้ต้นโค่นล้ม หรือหักครึ่งต้นในระยะตกเครือ ฤดูปลูกที่ดีที่สุดคือระหว่างต้นฤดูฝน ปลายเดือนเมษายน ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม การปลูก ด้วยวิธีไถดะไถแปรทั้งแปลง ตากดินไว้ 5-7 วัน ขุดหลุมลึกและกว้าง 50 เซนติเมตร คลุกดินที่ขุดขึ้นจากหลุมกับปุ๋ยคอกเก่า รองก้นหลุมด้วยใบไม้หรือฟางข้าวแห้ง เกลี่ยดินที่ผสมไว้กลับลงหลุมวางหน่อกล้วยลงหากต้องการให้ต้นกล้วยตกเครือในทิศทางเดียวกัน ให้หันรอยแผลที่ตัดแยกจากต้นแม่ไปทิศทางเดียวกัน กลบหน่อกล้วยให้ลึกประมาณ 25-30 เซนติเมตร กลบดินเหยียบอัดพอแน่น พูนกลบดินให้สูงเหนือผิวดินเป็นรูปหลังเต่าป้องกันน้ำขังและขณะรดน้ำหรือฝนตกชุก ในระยะฝนทิ้งช่วงควรให้น้ำเป็นครั้งคราว การเจริญเติบโตของกล้วยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก นับจากเริ่มปลูกจนต้นกล้วยตั้งตัวได้ ระยะนี้ต้นกล้วยต้องการน้ำและอาหารมาก ซึ่งจะมีผลต่อการให้ผลผลิตกล้วย ระยะที่ 2 เริ่มจากหลังการตั้งตัวจนถึงก่อนการตกเครือเล็กน้อย อาหารส่วนใหญ่จะนำไปผลิตหน่ออ่อน ระยะที่ 3 จากระยะตกเครือไปจนถึงผลแก่ จะเห็นว่าต้นกล้วยต้องมีการสะสมอาหารไว้ในปริมาณสูงตลอดทั้ง 3 ระยะจึงจะให้ผลดี การใส่ปุ๋ย ดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์จำเป็นต้องให้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วย ครั้งแรกใส่หลังจากตั้งตัวแล้ว 1 เดือน ด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตราครึ่งกิโลกรัม ต่อต้น และใส่อีกครั้งในระยะตกเครือด้วยปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 14-14-21 อัตรา ครึ่งกิโลกรัม ถึงหนึ่งกิโลกรัม ต่อต้น ตลอดระยะการปลูกต้องหมั่นกำจัดวัชพืชด้วยเครื่องตัดหญ้าเป็นวิธีดีที่สุด ส่วนวิธีขุดสับจะมีผลเสียคือเป็นการทำลายระบบรากของต้นกล้วย การตัดแต่งหน่อกล้วย กล้วยเริ่มแทงหน่อเมื่อมีอายุ 5-6 เดือน ให้เลือกหน่อไว้เพียง 2 หน่อเพื่อทดแทนต้นแม่โดยเลือกหน่อที่อยู่คนละด้านของต้นแม่ เนื่องจากมีระบบรากที่แข็งแรง การตัดแต่งกิ่งและใบ แนะนำให้ตัดใบที่แห้งและใบที่เป็นโรคทิ้งไปให้เหลือเก็บไว้ในระยะเครือจวนแก่เพียง 4-5 ใบ ก็พอ การค้ำต้น เมื่อเครือเริ่มมีน้ำหนักมาก ป้องกันลมพัดโยกจนหักพับลงด้วยไม้ไผ่หรือไม้เนื้ออ่อนก็ได้ ในขณะเดียวกันต้องปลูกไม้กันลมไว้ด้วยจะยิ่งดี กล้วยจะเริ่มให้ปลีเมื่อมีอายุ 8-12 เดือน นับจากวันปลูก สังเกตการออกปลีจะเห็นมี ใบธง จะมีขนาดเล็กกว่าใบทั่วไปและตั้งตรง ก้านปลีเริ่มยืดยาวออก ปลีมีน้ำหนักมากขึ้นจึงโน้มห้อยลง ปลีจะเริ่มบานให้เห็นดอก ไล่เวียนจากโคนมายังปลาย เมื่อได้รับการผสมเกสร ดอกจะพัฒนาเป็นผลกล้วย รวมระยะเวลาการบานใช้เวลา 10-15 วัน จากนั้นให้ตัดปลีที่ยังไม่บานออก ในแต่ละเครือจะมีหวีสมบูรณ์อยู่ประมาณ 5-6 หวี และหนึ่งหวีมีประมาณ 10-16 ลูก เฉลี่ยแล้วในหนึ่งเครือจะมีผลกล้วย 70 ผล โดยประมาณ การเก็บเกี่ยว ตัดเครือเมื่อครบ 90 วัน หลังจากปลีกล้วยแทงออกจากปลีโผล่พ้นยอด ให้เก็บไม้ค้ำออกจนหมดแปลง ตัดเครือด้วยมีดคม นำปลายเครือตั้งขึ้นให้โคนอยู่ด้านล่าง ควรปฏิบัติอย่างนุ่มนวลอย่าให้กล้วยช้ำ ปล่อยให้ยางไหลออกไม่ไปเปอะเปื้อนผลกล้วย เมื่อน้ำยางแห้งจึงเคลื่อนย้ายเข้าเก็บในโรงเรือน ก่อนส่งขายหรือมีผู้รับซื้อมาซื้อถึงที่ โรคที่สำคัญ คือโรคตายพราย เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราชนิดหนึ่ง ระยะที่ระบาดรุนแรงมักเกิดขึ้นกับต้นกล้วยที่มีอายุ 4-5 เดือน อาการที่พบ ก้านใบแก่จะมีสีเหลือง ต่อมาขยายตัวอย่างรวดเร็วจนเหลืองทั่วไป ใบอ่อนมีอาการเหลืองไหม้ หรือตายนึ่งบิดเป็นคลื่น ใบจะหักพับบริเวณโคนก้านใบ กล้วยที่ติดเครือแล้วจะเหี่ยว ผลลีบเล็กไม่สม่ำเสมอ แก่ก่อนกำหนด เนื้อฟ่ามซีด หากตัดขวางที่ลำต้นจะพบเนื้อในของกาบใบบางส่วนเป็นสีน้ำตาลแดง และอาจมีเส้นใยของเชื้อราปรากฏให้เห็น การป้องกันกำจัด เลือกพื้นที่ปลูกอย่าให้น้ำขังแฉะเพราะจะทำให้ต้นกล้วยอ่อนแอเกิดโรคได้ง่าย ในดินที่เป็นกรดต้องใส่ปูนขาวเพื่อลดความเป็นกรดของดินลง ต้นที่เป็นโรคควรตัดและเผาทำลายทิ้งไป ระยะที่เกิดโรคต้องลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลง สิ่งสำคัญต้องคัดเลือกหน่อพันธุ์จากแหล่งที่ไม่มีโรคชนิดนี้ระบาดมาก่อน แมลงศัตรูที่สำคัญ คือด้วงงวงไชเหง้า ระยะตัวหนอนจะทำลายเหง้ากล้วยอย่างรุนแรง หากเหง้ากล้วย 1 ต้นมีหนอน 5 ตัวจะทำให้ต้นกล้วยตายลงในที่สุด แมลงตัวเต็มวัยเป็นด้วงงวงชนิดหนึ่ง วิธีป้องกันและกำจัด หมั่นทำความสะอาดในแปลงปลูกกล้วยโดยเฉพาะกาบและใบที่เน่าเปื่อย ต้องกำจัดให้หมดเพราะจะเป็นที่วางไข่ของแมลงชนิดนี้ เมื่อพบการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วย เฮ็พตาคลอ ตามอัตราแนะนำราดลงบริเวณโคนต้น การระบาดจะหมดไป
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
4
ตำบล / แขวง :
ชัยฤทธิ์
อำเภอ / เขต :
ไชโย
จังหวัด :
อ่างทอง
รหัสไปรษณีย์ :
14140
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 15 ฉบับที่ 307
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM