เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
วิธีเลี้ยงปลาหมอไทยและปลาดุกบิ๊กอุย
   
ปัญหา :
 
 
    ผมมีความสนใจจะเลี้ยงปลาหมอไทย และปลาดุกบิ๊กอุย จีงเขียนจดหมายมาขอคำปรึกษาว่าควรปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้การเลี้ยงปลาทั้งสองชนิดประสบความสำเร็จได้ดี ส่วนเรื่องตลาดนั้นไม่มีปัญหา
วิธีแก้ไข :
 
    ปลาหมอไทย พบได้มากตามแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป ปลาหมอไทยเป็นปลาที่มีความสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดี มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ปลาสะเด็ด ภาคเหนือเรียก ปลาเข็ง และภาคใต้เรียกว่า ปลาอีแกปูยู ปลาชนิดนี้มีลำตัวค่อนข้างแบนสีน้ำตาลดำ ส่วนท้องมีสีขาวหรือเหลืองอ่อน ลำตัวมีเกล็ดแข็ง กระพุ้งแก้มเป็นหนามหยักแหลมและคมใช้สำหรับการปีนป่าย ส่วนโคนหางมีจุดกลมดำ ปลาเพศเมียเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดใหญ่กว่าปลาเพศผู้ แหล่งเหมาะที่จะเลี้ยงปลาหมอไทย ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ขนาดบ่อเลี้ยงที่นิยมปฏิบัติกันมีตั้งแต่ 2 งาน จนถึง 3 ไร่ เตรียมบ่อ ให้ลึก 1.20-1.50 เมตร ดินที่เป็นกรดให้หว่านปูนขาวอัตรา 100-200 กิโลกรัม ต่อไร่ ขณะดินยังชื้น ตากบ่อฆ่าเชื้อโรคเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ กำจัดศัตรูของปลาหมอไทยออกจากบ่อจนหมด ไม่ว่าจะเป็นปลาช่อน กบ งู และปลาชนิดกินเนื้ออื่น ๆ แล้วสูบน้ำเข้าในบ่อระดับลึก 60-100 เซนติเมตร ล้อมบ่อด้วยตาข่ายไนลอนสีฟ้าป้องกันปลาหนีออกจากบ่อ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตก การเลี้ยงปลาหมอไทย ทำได้สองวิธี วิธีแรก ปล่อยปลาขนาดลำตัวยาว 2-3 เซนติเมตร อัตราหนาแน่น 50 ตัว ต่อตารางเมตร เวลาปล่อยปลาที่เหมาะสมคือช่วงเช้าหรือเย็น รักษาระดับน้ำลึก 60 เซนติเมตร เลี้ยงจนมีอายุครบ 1 เดือน จึงเพิ่มระดับลึก 1.0-1.20 เมตร วิธีที่สอง คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ อัตราเพศผู้ต่อเพศเมีย 1:1 นำลงปล่อยในกระชังที่แช่อยู่ในบ่อเลี้ยงปลา ในพื้นที่บ่อขนาด 1 ไร่ ใช้พ่อ-แม่พันธุ์ 40 คู่ เมื่อปลาวางไข่แล้วจึงนำพ่อแม่พันธุ์ออกจากบ่อเลี้ยง ครบ 4 วัน ลูกปลาจะฟักออกเป็นตัว จึงให้อาหารผงสำเร็จรูป หรือใช้รำละเอียด ผสมปลาป่น อัตรา 1 : 1 หว่านให้กินเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์ ต่อจากนั้นใช้อาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงปลาดุกเล็ก หรืออาจใช้ปลาสดบดแทนก็ได้ เมื่อปลามีอายุ 3 เดือน จึงใช้อาหารเม็ดเลี้ยงปลาดุกใหญ่หว่านให้ทั่วบ่อ วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ปริมาณอาหารที่ใช้เลี้ยงไม่เกิน 3-5 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักปลา การให้อาหารในปริมาณมากเกินความจำเป็น นอกจากจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นแล้วยังทำให้น้ำในบ่อเน่าเสียเร็วขึ้นด้วย หลังจากปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงในบ่อเป็นเวลา 1 เดือน ให้ถ่ายน้ำออกจากบ่อเลี้ยง 1-2 ครั้ง ต่อเดือน ด้วยวิธีถ่ายน้ำออก 1 ใน 3 ของบ่อ ขนาดปลาที่ตลาดต้องการ เมื่อมีอายุ 4-5 เดือน วิธีจับปลาโดยการระบายน้ำออกจากบ่อให้เหลือน้อยลงแล้วลากอวนและใช้สวิงตักขึ้นแยกขนาดก่อนจำหน่ายต่อไป ราคาซื้อขายปลาหมอไทยที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช แบ่งได้ 3 ขนาด ปลาขนาดเล็ก 20 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคา 15-20 บาท ปลาขนาดกลาง 7-20 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคา 25-30 บาท และ ปลาขนาดใหญ่ 6-10 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคา 55-60 บาท เนื่องจากปลาหมอไทยเป็นปลาที่มีน้ำอดน้ำทนดี จึงไม่พบโรคระบาดรุนแรง ปลาดุกบิ๊กอุย เป็นปลาลูกผสมปลาดุกเทศที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกากับปลาดุกอุย โดยใช้ปลาดุกอุยเพศเมียและปลาดุกเทศเป็นเพศผู้ ลูกที่ได้ระยะแรกเรียกว่า ปลาดุกอุย-เทศ แต่ต่อมานิยมเรียกว่า บิ๊กอุย วิธีเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย เลี้ยงได้ทั้งในบ่อซีเมนต์และในบ่อดิน แต่ปัจจุบันนิยมเลี้ยงในบ่อดินเนื่องจากต้นทุนต่ำ การเตรียมบ่อ ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเลี้ยงปลาหมอไทย ปล่อยลูกปลาขนาด 2-3 เซนติเมตร อัตรา 40-100 ตัว ต่อตารางเมตร วันแรกที่ปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหาร วันรุ่งขึ้นให้อาหารปลาเล็กคลุกและปั้นเป็นก้อน หว่านทั่วบ่อโดยเฉพาะบริเวณขอบบ่อ เมื่อลูกปลามีขนาด 5-7 เซนติเมตร ฝึกให้กินอาหารเม็ด เลี้ยงจนได้ขนาด 15 เซนติเมตร ให้อาหารที่มีส่วนผสมของปลาเป็ดบดผสมกับรำข้าว ในอัตรา 9 : 1 และเสริมด้วยเศษขนมปัง เส้นหมี่และเศษอาหารอื่น ๆ แทนอาหารสำเร็จก็ได้ แต่ควรระวังน้ำเสียง่ายเมื่อใช้อาหารเสริมที่กล่าวมา จึงต้องระบายน้ำออกจากบ่อหลังจากใช้อาหารประเภทนี้มาเป็นเวลา 1 เดือน ด้วยวิธีถ่ายน้ำออกคราวละ 20 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำในบ่อเพาะเลี้ยง ทุก ๆ 3-5 วัน และต้องรักษาระดับน้ำไว้ที่ 1.00-1.20 เมตร ปริมาณอาหารที่ให้ใช้อัตราเดียวกับปลาอื่น ๆ คือ ระหว่าง 3-5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลา โรคของปลาดุกบิ๊กอุย ที่พบเสมอเกิดจากสาเหตุสำคัญคือ 1. เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีอาการตกเลือด มีแผลตามลำตัว ครีบกร่อน ตาขุ่น กกหูบวม ท้องบวมและกินอาหารได้น้อยลง 2. เกิดจากพยาธิภายนอก พบว่ามีเมือกตามลำตัวมาก มีแผลตามลำตัว ครีบเปื่อย พบมีจุดสีขาวตามลำตัวและว่ายน้ำทุรนทุราย 3. อาหารที่ให้ขาดคุณภาพ เช่น ขาดวิตามิน ซี กะโหลกจะร้าว ลำตัวคดและกินอาหารได้น้อยลง 4. คุณภาพน้ำในบ่อไม่ดี ปลาจะว่ายน้ำขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ลำตัวซีด ไม่กินอาหาร ท้องบวมและมีแผลตามลำตัว วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ การรักษาคุณภาพน้ำในบ่อให้สะอาดอยู่เสมอ โรคระบาดต่าง ๆ จะไม่เกิดขึ้น หากพบการระบาดของโรคที่รุนแรง ให้ติดต่อที่สถานีประมง ใกล้บ้านได้ตลอดเวลา
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
เก้าเลี้ยว
จังหวัด :
นครสวรรค์
รหัสไปรษณีย์ :
60230
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 15 ฉบับที่ 306
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM