เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
แค็กตัส พืชดึกดำบรรพ์ปลูกให้งามได้
   
ปัญหา :
 
 
    ผมสนใจปลูกแค็กตัสไว้ดูเล่นยามว่าง ตอนที่ซื้อมาจากร้านก็สวยงามดี แต่เมื่อปลูกไปสักระยะหนึ่งกลับไม่งาม จึงขอเรียนถามว่าผมจะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะปลูกแค็กตัสได้งามเหมือนกับซื้อมาใหม่ๆ และแค็กตัสปัจจุบันนี้มีกี่ชนิด หรือสายพันธุ์
วิธีแก้ไข :
 
    แค็กตัส หรือ กระบองเพชร เป็นพืชที่มีลำต้นอวบน้ำ ผิวเคลือบมัน ส่วนใบมีการปรับเปลี่ยนไปเป็นแหลม เพื่อให้ลดกระบวนการคายน้ำลง เนื่องจากวิวัฒนาการเริ่มต้นขึ้นในเขตทะเลทราย แต่ในทางตรงกันข้ามแค็กตัสกลับมีดอกสีสดใสสวยงามและบอบบาง จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่า ต้นตระกูลของแค็กตัสกำเนิดขึ้นมานานกว่า 125 ล้านปีก่อน แรกเริ่มเดิมทีการพัฒนาของแค็กตัสไม่แตกต่างกับพืชอื่นๆ ต่อมาสภาพอากาศในแหล่งกำเนิดเกิดการเปลี่ยนแปลงไป คือมีปริมาณน้ำฝนน้อยลง สภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณตอนกลางและตอนใต้ของทวีปอเมริกา จากนั้นมีการแพร่เข้าไปยังทวีปแอฟริกาและประเทศอินเดีย แค็กตัสมีการปรับตัวเพื่อให้เผ่าพันธุ์อยู่รอด ในสภาพแวดล้อมใหม่ ทำให้ต้องเก็บน้ำไว้ในลำต้นจนอวบน้ำ และมีผิวเคลือบมันใบพัฒนาเป็นหนามแหลมเพื่อลดพื้นที่การคายน้ำให้น้อยลง ต่อมามีผู้นำเข้าไปปลูกในทวีปยุโรป ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะนำเข้ามาปลูกนานกว่า 30 ปี ในช่วงแรกมีปลูกอยู่เพียง ใบเสมา และโบตั๋น เท่านั้น ปัจจุบันนักพฤกษศาสตร์จัดกลุ่มแค็กตัสไว้เป็น 8 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มเพอเรสเกีย เป็นแค็กตัสที่ยังคงมีใบจริงปรากฏให้เห็น เช่น กุหลาบพุกาม และกุหลาบเมาะลำเลิง 2. กลุ่มโอพุนเทีย เป็นแค็กตัสที่มีใบขนาดเล็ก และเมล็ดมีปีก ลำต้นสูง 50-150 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว เหลือง ส้ม แดง และม่วง 3. กลุ่มซีรีอุส เป็นแค็กตัสที่ไม่มีใบ ลำต้นทรงกระบอก มีสันหรือกลีบมากมาย มีขนยาวปกคลุม ลำต้นสีขาวหรือเทา ดอกมีสีขาวและเหลือง 4. กลุ่มเอคินอฟซิส มีลำต้นเดี่ยวหรือแตกเป็นกลุ่มก็มี รูปร่างกลมแป้น มีสันหรือกลีบเตี้ยๆ หนามยาว 1 เซนติเมตร สีน้ำตาลแดง มีดอกสีแดงหรือชมพู ผลรูปไข่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร แค็กตัสกลุ่มนี้ต้องการน้ำในช่วงฤดูร้อน พบมากที่ตอนเหนือของอาร์เจนตินา และภาคใต้ของบราซิล 5. กลุ่มไฮโดรซีรีอุส มีรูปทรงอ่อน ผอม เก้งก้าง และมีการแตกกิ่งห้อยย้อยลง ยาวที่สุดถึง 2 เมตร นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายรูปทรง ทั้งอ้วนกลม ทรงกระบอกหรือทรงเหลี่ยมก็มี ดอกเกิดที่บริเวณตุ่มหนาม บางครั้งเกิดขึ้นพร้อมกันหลายดอก บางชนิดอาจมีขนแข็งสั้นหรือมีขนคล้ายเส้นผม ดอกมีสีขาว เหลือง ม่วงและชมพู ชอบดินอุดมสมบูรณ์ ความชื้นในบรรยากาศสูง และชอบร่มเงา 6. กลุ่มนีโอโพเทอเรีย ทรงต้นค่อนข้างเล็ก ลักษณะกลมแป้น หรือทรงกระบอก มีสันชัดเจน 12-15 สันเรียงเวียนเป็นเกลียว ตุ่มหนามนุ่มไม่แข็ง ส่วนหนามเส้นกลางแข็งและคม ดอกทรงกรวย มีสีเหลือง ส้ม และแดง ผลกลมรี พบมากในประเทศโบลิเวีย ทวีปอเมริกาใต้ 7. กลุ่มเมโลแค็กตัส ขึ้นเป็นต้นเดี่ยว ทรงต้นกลมแป้น มีสัน 10-25 สัน เมื่ออายุมากขึ้นจะแตกกิ่งก้านสาขา ลำต้นมีสีเขียวหรือสีเขียวอมน้ำตาล มีหนามแตกเป็นกลุ่ม 5-20 อัน มีหนามกลางแหลมคม มีดอกสีขาว ทรงกรวย ดอกมักบานในเวลากลางคืน ออกดอกที่ส่วนยอดของต้น ผลเล็กสีขาวครีม พบมากที่ประเทศบราซิล โบลิเวีย และปารากวัย และ 8. กลุ่มอีคิโนแค็กตัส ลำต้นทรงกระบอก อาจขึ้นเป็นต้นเดี่ยวหรือกลุ่ม ต้นมีความสูง 1.8 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางสูงสุดประมาณ 1 เมตร ลำต้นมี 8-50 สัน ผิวสีเขียวอมฟ้า ผิวของต้นแข็งแรงทนต่อแสงแดดจ้าได้ดี ส่วนยอดบนสุดมีปุยสีขาวขึ้นปกคลุม ตุ่มหนามลักษณะอยู่ห่างกัน หนามยาวมากกว่า 5 เซนติเมตร ดอกจะออกบนส่วนยอดที่มีปุ๋ยปรากฏอยู่ ดอกส่วนใหญ่สีเหลือง อาจมีม่วงและชมพู ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6.25 เซนติเมตร ชอบขึ้นตามโขดหินหรือใกล้พุ่มไม้ พบมากในภาคเหนือของประเทศเม็กซิโก วิธีเลี้ยงแค็กตัสให้ได้ผลดีนั้น คุณควรทำความเข้าใจความต้องการของแค็กตัสก่อนเป็นอันดับแรก แม้ว่าแค็กตัสเกือบทุกสายพันธุ์สามารถทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้เป็นอย่างดีก็ตาม แต่หากขาดน้ำอย่างรุนแรง แม้ว่าไม่ถึงกับตายแต่แค็กตัสจะชะงักการเจริญเติบโต แต่หากให้น้ำมากเกินไปก็จะทำให้เน่าตายได้ ดังนั้น การให้น้ำพอชื้นระวังอย่าให้แฉะ การพรางแสงแดดด้วยซาแรน ให้แค็กตัสได้รับแสงเพียง 70-80 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้แค็กตัสเจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งเพิ่มสีให้กับต้นและหนามดีขึ้น นอกจากนี้ ควรทำหลังคาพลาสติคกันฝนให้อีกชั้น เพื่อป้องกันปัญหาการเน่าของแค็กตัสลง อุณหภูมิที่พอเหมาะกับการเลี้ยงแค็กตัส อยู่ระหว่าง 27-32 องศาเซลเซียส เครื่องปลูก สำหรับแค็กตัส ต้องโปร่งระบายน้ำได้ดี และเก็บความชุ่มชื้นได้ดีเช่นเดียวกัน ปัจจุบันมีผู้นิยมใช้วัสดุปลูกที่มีส่วนผสมของดินร่วน ทรายหยาบ ถ่านป่นละเอียด ใบไม้ผุหรือปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 2 3 1 และ 1 ส่วน ตามลำดับ หากผสมด้วยซีโอไลต์เล็กน้อย จะช่วยเพิ่มความร่วนซุย และเก็บความชื้นในดินดีขึ้น โดยเฉพาะหากมีการใส่ปุ๋ยเคมีร่วมด้วยซีโอไลต์จะช่วยดูดซับปุ๋ยไว้และปลดปล่อยให้เป็นประโยชน์กับต้นแค็กตัสอย่างช้าๆ หากต้องการให้ต้นแค็กตัสสมบูรณ์สวยงามควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1 ช้อนชา ต่อกระถาง โรยรอบกระถางห่างอย่าให้ส้มผัสรากหรือต้น แล้วรดน้ำตาม ให้ใส่ปุ๋ยอัตราเดิมทุก 3-4 เดือน การขยายพันธุ์แค็กตัส ทำได้หลายวิธีคือ ได้จากการเพาะเมล็ด เลือกเมล็ดที่สุกแก่เต็มที่ นำมาผึ่งลมจนแห้ง นำลงเพาะในกระบะที่มีวัสดุเพาะที่สะอาด เก็บความชื้นและระบายน้ำได้ดี เช่น ขี้เถ้าแกลบ การตัดแยก ให้ตัดแยกส่วนของลำต้น กิ่ง หรือหัวย่อยด้วยมีดคมและสะอาด ผึ่งส่วนที่ตัดแยกออก ผึ่งลมชั่วระยะหนึ่ง ไม่ควรเกิน 3 ชั่วโมง แล้วนำรอยตัดจุ่มลงในน้ำยาเร่งราก ก่อนนำไปปักชำลงในวัสดุปลูกที่สะอาด เก็บความชื้นและระบายน้ำได้ดี ใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ รากจะงอกออกจากส่วนที่ตัดแยกออกมา เปลี่ยนปลูกลงในกระถางที่เตรียมไว้ได้ตามต้องการ การต่อยอด นำยอดพันธุ์แค็กตัสพันธุ์ที่มีสีสดใสวางติดลงบนต้นตอที่มีระบบรากแข็งแรง เช่น โบตั๋น หรือใบเสมาก็ได้ วิธีต่อยอด โดยการเฉือนตัดแต่งต้นตอด้วยมีดที่คมและสะอาด ให้ผิวหน้าเรียบเสมอกัน มีความสูงเหนือดินในกระถาง 6-8 เซนติเมตร ต้นตอที่มี 3 สัน หรือแฉก ให้ตัดลบมุมให้ลาดเอียงออก ด้านนอกทำมุม 45 องศา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขังที่แผล นำยอดต้นพันธุ์ที่มีสีสันสดใสเฉือนรอยแผลที่จะต่อให้เรียบและไม่ช้ำ วางทับลงบนศูนย์กลางรอยแผลของต้นตอพันธุ์ให้แผลแนบสนิทกัน ผูกรั้งด้วยด้ายเย็บผ้า ตรึงพอแน่น ใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ แผลจะเชื่อมประสานกันจึงตัดด้ายออก นำต้นแค็กตัสเก็บในโรงเรือนป้องกันน้ำฝน หลังพักฟื้นแล้วนำไปประดับบ้านหรือส่งจำหน่ายต่อไป แมลงศัตรูที่พบเสมอ คือเพลี้ยแป้ง ซึ่งเป็นแมลงชนิดหนึ่ง มีปุยสีขาวคล้ายสำลีปกคลุมทั่วตัว มักอาศัยอยู่รอบฐานต่ำหนาม ซอกหนาม โคนต้นเหนือผิวดินเล็กน้อย การระบาดรุนแรงมีผลทำให้ต้นแค็กตัสชะงักการเจริญเติบโต วิธีป้องกันและกำจัด ควรนำต้นตอพันธุ์และยอดพันธุ์จากแหล่งที่ไม่มีการเข้าทำลายจากเพลี้ยชนิดดังกล่าว เมื่อพบการระบาดในระยะแรกให้ใช้มือจับทำลาย หากมีการระบาดรุนแรงให้ใช้โอเมทโธเอท 50 เปอร์เซ็นต์ เอส แอล อัตรา 30 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นให้ทั่วทุกส่วน 2 ครั้ง เว้นระยะห่างกัน 2 สัปดาห์ การระบาดของเพลี้ยแป้งจะหมดไป ส่วนโรคระบาดที่พบอยู่เสมอ ได้แก่ โรครากเน่าและต้นเน่า โรคที่เกิดการระบาดขึ้นได้เนื่องจากวัสดุปลูกไม่สะอาดและระบายน้ำไม่ดี ทำให้เกิดอาการรากเน่าได้ง่าย วิธีป้องกันกำจัด ให้เลือกวัสดุปลูกที่สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็นอับและต้องระบายน้ำได้ดี โดยใช้ส่วนผสมตามที่แนะนำไว้ข้างต้น อาการเน่าของต้นแค็กตัสอาจเกิดขึ้นจากการถูกกระแทก แมลงกัดทำลายหรือเม็ดฝนตกกระแทกอย่างรุนแรง วิธีป้องกันกำจัด ควรลดปริมาณการให้น้ำลง ระหว่างการเคลื่อนย้ายกระถางปลูกระวังอย่าให้ต้นแค็กตัสเกิดรอยแผล และประการสำคัญ ควรทำหลังคาพลาสติคโค้งกันฝนตกกระแทกต้นแค็กตัสโดยตรง หากทำได้ตามข้อแนะนำ การเกิดโรครากเน่าและต้นเน่าไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนครับ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
คลองเจ็ด
อำเภอ / เขต :
คลองหลวง
จังหวัด :
ปทุมธานี
รหัสไปรษณีย์ :
12120
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 18 ฉบับที่ 385
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM