เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
กระเจียว ไม้ตัดดอกสดสวย
   
ปัญหา :
 
 
    ผมต้องการปลูกกระเจียวไว้ประดับบ้าน จะมีวิธีดูแลอย่างไร ให้ออกดอกได้สวยงามและสมบูรณ์ อีกหนึ่งคำถามอยากทราบว่า กระเจียว กับปทุมมา แตกต่างกันอย่างไร
วิธีแก้ไข :
 
    กระเจียว และปทุมมา จัดอยู่ในวงศ์ขิง เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีเหง้าใต้ดินช่วยเก็บสะสมน้ำและอาหาร มีการกระจายตัวอยู่ในทวีปออสเตรเลีย อินโดนีเซีย แอฟริกา ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านพบได้ในทุ่งหญ้า ป่าละเมาะหรือในป่าชื้น ต้นแท้อยู่ใต้ดิน ทำหน้าที่เก็บน้ำและอาหาร ส่วนที่เห็นเป็นลำต้นนั้นเกิดจากกาบใบที่ห่อตัวแน่น ส่วนใบแผ่ออกคล้ายใบกล้วยหรือใบตอง แผ่นใบมีทั้งแคบ กว้าง และกลม พืชในวงศ์ขิง แบ่งออกได้ 2 สกุล หรือ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กระเจียว ลักษณะเด่นของพืชกลุ่มนี้ จะไม่มีสีม่วงแดงที่เกิดจากสารแอนโธไซยานิน แต้มส่วนปลายกลีบดอกหรือกลีบประดับ แต่จะมีสีขาวหรือเหลืองปรากฏเด่นชัด ช่อดอกเกิดจากเหง้าและแทงออกด้านข้างของต้นเทียม กระเจียวแตกกอน้อย ในหนึ่งกอให้ดอก 1-3 ดอก และลักษณะเหง้าใต้ดินคล้ายขิง ข่า กลุ่มที่สอง คือปทุมมา จะมีสีม่วงแดงแต้มที่ปลายของกลีบดอก หรือกลีบประดับ ช่อดอกชูเด่นอยู่เหนือต้นเทียมเด่นเป็นสง่าชวนมอง รูปทรงช่อดอกคล้ายดอกบัว มีก้านกลมแข็งแรง ปทุมมาหนึ่งกอให้ดอก 2-6 ดอก เหง้าใต้ดินมีลักษณะเป็นตุ้ม 5-12 อัน ต่อต้น การปลูกกระเจียว ให้ได้ผลดี การปลูกกระเจียวนิยมปลูกในแปลงเพื่อตัดดอก เนื่องจากทรงต้นไม่สวยงามจึงไม่เหมาะสำหรับนำมาเลี้ยงในกระถางสำหรับโชว์ความสวยงาม กระเจียวปรับตัวในสภาพป่าที่มีร่มเงามานาน จึงมีใบบางมองเห็นเส้นใบชัดเจน ดังนั้น กระเจียวจึงมีความต้องการแสงแดดน้อยกว่าปทุมมา การพรางแสง 30-50 เปอร์เซ็นต์ จะช่วยให้การออกดอกสมบูรณ์ขึ้น การเตรียมดิน ให้เลือกแปลงปลูกเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ไถดะและไถแปรในต้นฤดูฝน เก็บวัชพืชในแปลงให้สะอาด หว่านปูนขาวลงดิน อัตรา 500-800 กิโลกรัม ต่อไร่ พร้อมตากดินและไถกลบ ดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ แนะนำให้ใส่ปุ๋ยคอกเก่าหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 800-1,200 กิโลกรัม ต่อไร่ ไถกลบอีกครั้งและเกลี่ยดิน ยกร่องกว้าง 1.2-1.5 เมตร ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ นำหัวพันธุ์ที่สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลง ใช้ระยะปลูก 30x30 เซนติเมตร เปิดหลุมตื้นๆ กลบหัวพันธุ์ให้มิด พร้อมรดน้ำตาม พรางแสงด้วยซาแรนสีดำ ฤดูปลูกที่เหมาะสมคือต้นฤดูฝน ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม เมื่อได้รับความชื้นในดิน ต้นอ่อนและรากจะออกจากหัวหรือเหง้าอย่างรวดเร็ว อายุครบ 1 เดือน ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 1 ช้อนชา ต่อต้น พร้อมพรวนกลบดินและรดน้ำตาม หมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงให้สะอาด เพื่อไม่ให้วัชพืชแย่งอาหารกระเจียวในแปลง อีกทั้งไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของโรคและแมลง น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในระยะฝนทิ้งช่วง ต้องให้น้ำเป็นครั้งคราว และคลุมแปลงด้วยฟางข้าวแห้งที่สะอาด การขยายพันธุ์นิยมกันในปัจจุบันคือ การแยกเหง้า กระเจียวหนนึ่งกอจะมีหลายต้น ในหนึ่งต้นจะให้เหง้า 2-3 หัว เมื่อต้นให้ดอกแล้วเหง้าจึงเริ่มสะสมอาหารเพื่อเป็นหลักประกันว่า สามารถนำไปขยายพันธุ์ได้ในฤดูต่อไป กระเจียวจะเริ่มออกดอกตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนกันยายน จากนั้นต้นเริ่มเหี่ยวแห้งและยุบตัว จึงขุดเหง้าแยกออกจากกันในหนึ่งกอจะให้เง้าได้ 2-3 เหง้า นำมาทำความสะอาด ชุบน้ำยาฆ่าเชื้อราแล้วผึ่งให้แห้ง ศัตรูที่สำคัญของกระเจียวคือ โรคหัวเน่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง เชื้อโรจจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีสมบัติเป็นด่าง และสามารถพักตัวอยู่ในดินได้นานหลายปี อาการเริ่มแรกพบว่าใบแก่ที่อยู่ต่ำจะม้วนตัวเป็นหลอดคล้ายอาการขาดน้ำ โคนต้นของหน่อที่เกิดใหม่จะเน่าและช้ำแล้วลุกลามต่อไปยังใบส่วนบนของต้น ต่อมาต้นจะหักพับลงและแห้งตายในที่สุด หากขุดเหง้าขึ้นมา พบว่ารากสะสมอาหารจะดำคล้ำ มีกลิ่นเหม็นรุนแรง เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายไปกับหัวพันธุ์ที่อยู่ใกล้เคียง เศษพืชในแปลง ดินและน้ำก็เป็นตัวกลางช่วยแพร่กระจายเชื้อโรคได้ดีอีกทางหนึ่ง เชื้อชนิดนี้หากผู้นำเข้าตรวจพบว่า ติดมากับหัวพันธุ์ ผู้นำเข้าจะสั่งระงับการนำเข้าหัวพันธุ์จากประเทศไทยทันที เหตุการณ์ดังกล่าวมักเกิดขึ้นอยู่เสมอ ช่วงที่พบการระบาดรุนแรง คือช่วงที่มีฝนตกชุก ดินมีความชื้นสูง อากาศร้อนอบอ้าว การระบาดจะรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อมีการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอย วิธีป้องกันกำจัดโรค เลือกพื้นที่ปลูกไม่เคยปลูก พืชตระกูลมะเขือ ขิง ข่า ทานตะวัน ยาสูบ มะเขือเทศ มันฝั่ง มะแว้ง และผักโขมมาก่อน เมื่อเลือกแปลงปลูกได้แล้ว ให้ไถดะและตากดินไว้อย่างน้อยเป็นเวลา 1 เดือน นำหัวพันธุ์ที่ปราศจากเชื้อโรคปลูกลงในแปลง และให้ถอนต้นที่เริ่มแสดงอาการของโรคเผาทำลายทิ้ง และโรยปูนหรือราดคลอรอกซ์เข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ ลงบนหลุมปลูกที่เป็นโรค ระหว่างการกำจัดวัชพืชต้องระวังอย่าให้เกิดบาดแผลฉีกขาดของต้นกระเจียว หรือหัวใต้ดิน เพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้โดยง่าย หลังเก็บเกี่ยวหัวพันธุ์แล้ว ให้เก็บเศษเหลือของพืชเผาทำลายทิ้ง ป้องกันการแพร่กระจายของโรค และปลูกพืชหมุนเวียนโดยใช้พืชตระกูลธัญพืช เช่น ข้าว ข้าวโพด และข้าวฟ่าง อย่างน้อย 3 รุ่น ก่อนนำกระเจียวกลับมาปลูกในแปลงเดิมอีก เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงศัตรูสำคัญชนิดหนึ่ง การระบาดรุนแรง ตั้งแต่เริ่มสร้างหัวพันธุ์หรือเหง้า ตัวกลางที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดคือ มด ผลของการระบาดจะทำให้หัวพันธุ์ไม่พัฒนา ต่อมาจะฝ่อและใช้ขยายพันธุ์ไม่ได้ นำส่งขายก็ไม่ได้ราคา การป้องกันกำจัด คัดเลือกหัวพันธุ์จากแหล่งที่ไม่มีเพลี้ยแป้งระบาดมาก่อน นำหัวพันธุ์แช่ในมาลาไธออน 85 เปอร์เซ็นต์ อีซี ผสมน้ำ 1 ปี๊บ เป็นเวลา 10 นาที และผึ่งให้แห้งก่อนนำไปปลูกลงในแปลง หากพบว่ามีมดจำนวนมากให้ใช้ไวท์ออยล์ อัตรา 200 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นให้ทั่วแปลง เมื่อไม่พบการระบาดของแมลงแล้วให้เลิกใช้สารเคมีทันที ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม คือเมื่อกลีบประดับบาน 4-6 กลีบ ให้แหวกกาบในออก จนเกือบถึงพื้น แล้วจึงตัดก้านดอก วัตถุประสงค์เพื่อให้ก้านดอกยาวที่สุด รวบรวมดอกได้ตามจำนวนแล้ว ห่อดอกด้วยพลาสติคใสทุกดอก บรรจุลงในกล่องหรือภาชนะขนส่ง ซ้อนทับกันไม่เกิน 3 ชั้น หากต้องการเก็บไว้ก่อนส่งตลาด ให้เก็บในตู้หรือห้องที่ควบคุมอุณหภูมิได้ที่ 15 องศาเซลเซียส การเก็บเกี่ยวหัวพันธุ์ ใช้น้ำสะอาดรดแปลงพอชุ่ม เพื่อให้ดินนุ่ม ใช้เสียมขุดเบาๆ นำหัวพันธุ์ขึ้นจากดิน คัดแยก ล้างให้สะอาด จุ่มหัวพันธุ์ลงในโซเดียมไฮโปคลอไรด์หรือคลอรอกซ์ 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 10 นาที จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคหัวเน่าได้เป็นอย่างดี
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
7
ตำบล / แขวง :
บ้านนา
อำเภอ / เขต :
จะนะ
จังหวัด :
สงขลา
รหัสไปรษณีย์ :
90130
ภาค :
ภาคใต้
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 18 ฉบับที่ 385
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM