เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เทคนิคการผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพ
   
ปัญหา :
 
 
    ผมเป็นชาวสวนทุเรียนมือใหม่ แต่มีความประสงค์ต้องการผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพดี เพราะทำให้ขายได้ราคา จึงขอเรียนถามคุณหมอเกษตร ทองกวาว ว่าผมต้องดูแลรักษาอย่างไร ผมหวังว่าคงจะได้รับคำแนะนำที่ให้ประโยชน์กับผมเองและผู้อ่านเป็นอย่างดี
วิธีแก้ไข :
 
    ปัจจุบันแมลงช่วยผสมเกสรทุเรียน มีปริมาณลดน้อยลง เนื่องจากเกษตรกรมีการใช้สารเคมีกันมากขึ้น ทำให้การติดผลของทุเรียนลดลง การช่วยผสมเกสรโดยใช้ละอองเกสรทุเรียนต่างพันธุ์มีผลทำให้การติดผลของทุเรียนดียิ่งขึ้น การพัฒนาของผล คุณภาพของเนื้อและสีของเนื้อสวยขึ้น การตัดแต่งผล เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถเพิ่มคุณภาพผลผลิตของทุเรียนได้ดี เริ่มจาก การตัดแต่งผลครั้งที่ 1 คือตัดแต่งผลที่บิดเบี้ยว ผลขนาดเล็ก และผลที่ติดล่าช้าที่สุดในรุ่น การตัดแต่งต้องทำให้เสร็จเรียบร้อยภายหลังทุเรียนออกดอกแล้ว 4 สัปดาห์ การตัดแต่งแบบไว้ผลเดี่ยว โดยธรรมชาติแล้วทุเรียนจะออกดอกตามกิ่งและที่ลำต้น ลักษณะเดียวกับต้นมะไฟ ลองกอง และลางสาด การไว้ผลเดี่ยวให้ตัดแต่งผลให้ห่างกัน 30 เซนติเมตร ข้อดีของวิธีนี้คือ สามารถลดการเข้าทำลายจากโรคแมลงได้ดีกว่าวิธีอื่น การตัดแต่งแบบไว้ผลเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-3 ผล แต่ละกลุ่มให้ห่างกัน 30 เซนติเมตร เท่ากัน ข้อเสียที่พบคือ เนื่องจากอยู่เป็นกระจุก ทำให้การควบคุมโรคและแมลงยากขึ้น และ การตัดแต่งเรียงเป็นแถวตามแนวยาวของกิ่ง แบบไว้ผลเดี่ยว แต่ละผลห่างกัน 30 เซนติเมตร วิธีนี้สะดวกในการควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ดี การตัดแต่งผลครั้งที่ 2 ให้ตัดแต่งผลหลังจากดอกบานแล้ว 5-8 สัปดาห์ โดยตัดแต่งผลที่บิดเบี้ยวหรือมีขนาดเล็ก และผลที่มีหนามสีแดงออกให้หมด การตัดแต่งระยะนี้จะทำให้พูของผลทุเรียนมีขนาดใหญ่ขึ้น การตัดแต่งผลครั้งที่ 3 เมื่อผลมีอายุ 9-10 สัปดาห์ ให้ตัดแต่งผลก้นจีบ หัวแหลม และผลที่อยู่ในตำแหน่งไม่เหมาะสม ข้อดีของตัดแต่งผลครั้งนี้ มีผลทำให้รูปทรงและขนาดของผลสม่ำเสมอกัน การใส่ปุ๋ย เพื่อเพิ่มการผลิตแป้งและน้ำตาล ป้อนให้ผลได้ดีขึ้น ด้วยปุ๋ยสูตร 12-12-17+2 อัตราครึ่งกิโลกรัม ต่อต้น โรยรอบทรงพุ่มพร้อมให้น้ำตาม เลข 2 หมายถึง แมกนีเซียม ในระยะที่ผลมีอายุ 5-6 สัปดาห์ และใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-50 อัตรา 300 กรัม ต่อต้น ด้วยวิธีหว่านรอบทรงพุ่มและรดน้ำตาม การให้ปุ๋ยสูตรดังกล่าวในระยะที่ผลมีอายุ 7-8 เดือน จะช่วยให้สีเนื้อผลสวยงามและการสุกแก่เร็วขึ้น วิธีควบคุมไม่ให้ต้นทุเรียนแตกใบอ่อน ในระยะที่ผลมีอายุ 3-8 สัปดาห์ ให้ฉีดพ่นโพแทสเซียมไนเตรตอัตรา 150-300 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ 1-2 ครั้ง ทั่วทรงพุ่ม ในปีที่มีผลทิ้งช่วงหลังติดผลเป็นเวลานาน ให้ฉีดพ่นบำรุงต้นด้วย สูตรทางด่วน ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลกลูโคส กรดฮิวมิก และปุ๋ยเกล็ดสูตร 15-30-15 อัตรา 600 กรัม 20 ซีซี และ 60 กรัม พร้อมกับสารกำจัดเชื้อรา ละลายในน้ำสะอาด 1 ปี๊บ เติมสารจับใบตามอัตราแนะนำ ฉีดพ่นที่ใบตามทรงพุ่มพอชุ่ม 1-2 ครั้ง จะทำให้ต้นทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดียิ่งขึ้น การโยงกิ่งทุเรียน ให้ผูกโยงกิ่งทุเรียนเมื่อผลมีอายุ 5-6 สัปดาห์ ด้วยเชือกที่เหนียวและคงทน ผูกส่วนปลายของกิ่งให้ผลอยู่ระหว่างต้นกับตำแหน่งผูกเชือก รั้งยกระดับขึ้นเล็กน้อย เปลือยเชือกอีกด้านหนึ่งผูกรั้งกับลำต้น แต่ก็ปล่อยให้กิ่งเคลื่อนไหวได้ตามปกติ จะช่วยทำให้กิ่งหักหรือฉีกเสียหายน้อยลง การเก็บเกี่ยวผลทุเรียน ผลที่เหมาะกับการเก็บเกี่ยวให้สังเกตที่ก้านผลที่แข็งและมีสีเข้มขึ้น เมื่อลูบด้วยมือจะสากมือ ปลายหนามแห้ง สีน้ำตาล ร่องน้ำห่างมากขึ้น เมื่อบีบปลายหนามรั้งเข้าหากันจะยืดหยุ่นเป็นสปริง หรือพบว่ารอยแยกระหว่างพูปรากฏขึ้น หรือการนับอายุ เช่น พันธุ์ชะนี อายุเก็บเกี่ยว 100-105 วัน และหมอนทอง อายุเก็บเกี่ยว 125-130 วัน ทุเรียนที่แก่เต็มที่แล้วให้ใช้มีดคมและสะอาดตัดขั้วผล แล้วโยนให้อีกคนใช้กระสอบป่านคอยสะบัดรับผลทุเรียนนำมารวบรวม เก็บในโรงเรือนหรือส่งจำหน่าย โรคแมลงที่สำคัญ ได้แก่ โรครากเน่า โคนเน่า มักเกิดในปีที่มีฝนตกชุก ความชื้นในบรรยากาศสูง เกิดเชื้อราไฟทอปทอร่า อาการของโรคที่พบ ใบทุเรียนจะไม่เป็นมัน ใบล่างเริ่มเป็นจุดประสีเหลือง และหลุดร่วง ต่อมาผิวเปลือกของลำต้นและกิ่งคล้ายมีคราบน้ำเกาะอยู่ และมีรอยแตกเกิดขึ้น มีน้ำยางไหลตามมา ต่อมาจะลุกลามลงไปยังระบบราก ทำให้รากเน่าและต้นทุเรียนจะแห้งตายในเวลาต่อมา วิธีป้องกันกำจัด ในระยะที่ฝนตกชุกให้ระบายน้ำออกจากแปลงอย่างรวดเร็ว หากมีการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยเมตาแลกซิลดับเบิ้ลยูพี 25 เปอร์เซ็นต์ อัตรา 50-60 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ราดลงบนพื้นดิน รอบทรงพุ่ม 1-2 ครั้ง และไม่ควรใช้ซ้ำอีก เพราะเชื้อโรคจะดื้อสารเคมี จนไม่สามารถใช้ควบคุมโรคได้ต่อไป และแมลงศัตรูที่พบระบาดอยู่เสมอคือ หนอนเจาะผลทุเรียน หนอนชนิดนี้เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง ตัวเต็มวัยเพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมียเล็กน้อย ขณะกางปีกออกวัดได้ 2.3 เซนติเมตร ลำตัวและปีกสีเหลือง มีจุดประสีดำ กระจายทั่วทั้งปีกและลำตัว เพศเมียหลังผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่ไว้ที่ผลทุเรียน ตั้งแต่ผลมีอายุ 2 เดือน ไปจนถึงผลแก่ หลังวางไข่ 4 วัน จะฟักออกเป็นตัว ต่อมาเพิ่มขนาดลำตัวยาว 1.5-1.8 เซนติเมตร แล้วจึงเจาะเข้าไปในผลทุเรียน ระยะที่เป็นตัวหนอนรวมเวลา 12-13 วัน จากนั้นจะเจาะออกมาจากผลและเข้าดักแด้อยู่ระหว่างหนามของผลทุเรียนเป็นเวลา 7-9 วัน เมื่อเป็นตัวเต็มวัยเพศผู้มีอายุไข 10-18 วัน ส่วนเพศเมียมีอายุไข 14-18 วัน ผลการเข้ากัดกินผลทุเรียน ทำให้ผลทุเรียนเสียหายขายไม่ได้ราคา วิธีป้องกันกำจัด หมั่นออกตรวจสวนทุเรียน หากพบว่าหนอนเจาะเข้าในผลให้ตัดเผาเพื่อทำลาย และเมื่อพบว่าอาจเกิดการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยแลมบ์ดาไซฮาโลทริน 5 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ หรือคลอร์ไพรีฟอส 40 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตราเดียวกัน ฉีดพ่นให้ทั่วที่ผลและใบ และควรเลิกใช้สารเคมีก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย 30 วัน การดูแลสวนอย่างสม่ำเสมอ คุณก็จะเป็นผู้ผลิตทุเรียนที่ได้คุณภาพสูงคนหนึ่ง
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
หน้าเมือง
อำเภอ / เขต :
เมือง
จังหวัด :
ปราจีนบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
25000
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 18 ฉบับที่ 388
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM