เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เทคนิคการผลิตกาแฟอาราบิก้าให้ได้คุณภาพดี
   
ปัญหา :
 
 
    ผมสนใจอยากปลูกกาแฟอาราบิก้าเพื่อผลิตเมล็ดให้ได้คุณภาพนั้นต้องปฏิบัติอย่างไร ตั้งแต่ปลูก ดูแลรักษา จนถึงเก็บเกี่ยวและแปรรูป ขอคำแนะนำด้วยครับ
วิธีแก้ไข :
 
    แหล่งปลูกกาแฟอาราบิก้า ที่ดี ควรปลูกบนที่สูง เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 700 เมตรขึ้นไป ดินต้องอุดมสมบูรณ์ หน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร มีความเป็นกรดด่าง 5.5-6.5 ระบายน้ำได้ดี อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 15-25 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,500 มิลลิเมตร ต่อปี การกระจายตัว 5-8 เดือน ความชื้นสัมพัทธ์ในบรรยากาศประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ลาดเอียงไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์ที่แนะนำในปัจจุบัน ได้แก่ คาดิมอร์ ซีไอเอฟซี 7963-13-28 ลักษณะเด่นคือ ทนต่อโรคราสนิมได้ดี ให้ผลผลิตสูง ทรงต้นเตี้ย ข้อสั้น ให้ผลผลิตค่อนข้างสูงและสม่ำเสมอ

วิธีปลูก แนะนำให้ปลูกภายใต้ร่มเงาของไม้ยืนต้นอื่นๆ เช่น ท้อ บ๊วย และมะคาเดเมียนัต ใช้ระยะ 2x2 เมตร คัดเลือกต้นกล้าที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคและแมลงศัตรูระบาด มีอายุ 8-12 เดือน หรือมีใบจริง 4-5 คู่ ขุดหลุมปลูกขนาดกว้างและลึก 30 เซนติเมตรเท่ากัน คลุกดินที่ขุดจากหลุมกับปุ๋ยคอกเก่าอัตรา 5-8 กิโลกรัม ต่อหลุม ให้เข้ากัน รองก้นหลุมด้วยเศษหญ้าแห้ง อัดพอแน่น ปริมาณ 1 ใน 3 ของหลุม พร้อมกับใส่หินฟอสเฟต อัตรา 100 กรัม ต่อหลุม เกลี่ยดินกลับลงหลุม เปิดพื้นที่ไว้ขนาดเท่าถุงเพาะชำต้นกล้า ตัดหรือฉีกถุงเพาะชำ นำต้นกล้าออก ระวังอย่าให้รากขาด บรรจงวางลงตอนกลางหลุม กลบดินพอแน่นให้เป็นรูปหลังเต่า และรดน้ำตาม ปักไม้ค้ำผูกเชือกให้แน่น ป้องกันลมพัดหักล้ม ครบ 2 เดือน ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กรัม ต่อต้น ด้วยวิธีโรยรอบต้น พร้อมรดน้ำตาม หมั่นกำจัดวัชพืชออกจากแปลงปลูกป้องกันการแย่งน้ำและอาหารจากต้นกาแฟ

การตัดแต่งกิ่ง เมื่อต้นกาแฟมีความสูง 90 เซนติเมตร ตัดให้ต้นต่ำลงเหลือความสูงเพียง 53 เซนติเมตร รักษากิ่งไว้เพียง 2 กิ่ง บังคับให้ทั้งสองกิ่งตั้งขึ้นลักษณะคล้ายด้ามหนังสติ๊ก ปล่อยให้กิ่งรองแตกจากกิ่งหลักอีก 3-5 คู่ ระยะต่อมาอีกไม่นานจะเริ่มให้ผล กิ่งหลักทั้งสองจะให้ผลผลิตได้นาน 2-4 ปี จากนั้นปล่อยให้แตกกิ่งใหม่จากโคนต้นใกล้พื้นดิน อีก 2 กิ่ง เลี้ยงให้สมบูรณ์แล้วถึงตัดกิ่งหลักสองกิ่งเดิมทิ้งไป กิ่งใหม่สองกิ่งจะให้ผลผลิตได้อีก 2-4 ปี เมื่อต้นกาแฟเริ่มโทรมจึงให้รื้อแปลงปลูกใหม่ หลังตัดแต่งกิ่งให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 200-250 กรัม ต่อต้น และระยะติดผลให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 14-14-21 อย่างใดอย่างหนึ่งอัตรา 200 กรัม ต่อต้น จะช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของเมล็ดกาแฟให้ดีขึ้น ระยะฝนทิ้งช่วงควรให้น้ำเป็นครั้งคราว กาแฟจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังออกดอกแล้ว ประมาณ 6 เดือน

การเก็บเกี่ยวผลผลิต เริ่มเก็บผลไม้ เมื่อพบว่า ผลมีสีแดง หากจะให้แน่ใจควรบีบผลกาแฟด้วยมือ ผลที่สุกเปลือกจะแตกง่าย เมล็ดหลุดออกจากเนื้อปรากฏให้เห็น เนื่องจากธรรมชาติของต้นกาแฟผลจะสุกไม่พร้อมกัน การเก็บผลกาแฟต้องเก็บ 2-4 ครั้ง จึงจะหมดรุ่น

วิธีการแปรรูป ทำได้ 2 วิธี วิธีแรก การผลิตเมล็ดกาแฟวิธีเปียก วิธีนี้ผลิตสารกาแฟได้คุณภาพสูงกว่าวิธีตากแห้ง ให้นำผลกาแฟสุกเข้าเครื่องปอกเปลือกไฟฟ้า คล้ายเครื่องกะเทาะเปลือกข้าวซาตาเกะ หลังจากปอกเปลือกแล้วเมล็ดยังมีเมือกเกาะติดอยู่ จึงนำไปแช่ในบ่อซีเมนต์ ขนาด 2x3x1 เมตร และหมักไว้ 2-3 วัน ตักใส่ตะกร้าหวายหรือพลาสติค ลงแช่และกวนเมล็ดในน้ำ ล้างด้วยน้ำสะอาดอีกหลายครั้ง ในที่สุดเมือกหลุดออกจนหมด นำขึ้นผึ่งให้สะเด็ดน้ำแล้วตากลงบนแคร่ไม้ไผ่ หรือตาข่ายพลาสติค เกลี่ยให้หนาไม่เกิน 10 เซนติเมตร หมั่นกลับกองวันละ 2-4 ครั้ง ตากแดด 7-10 วัน เมล็ดจะเหลือความชื้น 13 เปอร์เซ็นต์ บรรจุลงในกระสอบป่านหรือถุงตาข่ายไนล่อนสีฟ้า เมล็ดกาแฟที่ได้เรียกว่า กาแฟกะลา นำไปสีกะลาด้วยเครื่องสีอีกครั้งจะได้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ เรียกว่า กาแฟเขียว หรือ สารกาแฟ

การผลิตเมล็ดกาแฟแห้ง นำเมล็ดกาแฟที่เก็บเกี่ยวจากต้น ตากแดดจัดบนเสื่อลำแพนหรือตาข่ายไนล่อนสีฟ้าเป็นเวลา 15-20 วัน หมั่นเกลี่ยวันละ 2-4 ครั้ง เมื่อแห้งดีแล้วบรรจุในกระสอบที่สะอาด การผลิตเมล็ดกาแฟวิธีนี้จะได้เมล็ดกาแฟคุณภาพต่ำกว่าวิธีหมักเปียก

ศัตรูสำคัญของกาแฟ ประเภทแมลง ได้แก่ หนอนเจาะลำต้นกาแฟ แมลงศัตรูชนิดนี้เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง พบการระบาดรุนแรงกับต้นกาแฟเมื่อมีอายุ 5 ปีขึ้นไป โดยเพศเมียจะวางไข่ลงบนลำต้นที่ยังไม่แก่เกินไป เมื่อฟักออกเป็นตัวจะเจาะเข้าไปดูดกินน้ำเลี้ยงที่บริเวณท่อน้ำท่ออาหาร ทำให้การส่งน้ำและอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ไม่ได้ ต้นกาแฟจะเหี่ยวเฉาตายในที่สุด
วิธีป้องกันกำจัด หมั่นกำจัดวัชพืชรอบแปลงให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อพบรอยเจาะกิ่งหรือลำต้นใหม่ๆ ให้ตัดกิ่งเผาทำลายทิ้งไป หากพบเริ่มมีการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วย ซูมิไธออน 50 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา 40 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม และต้องเลิกใช้สารเคมีก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย 1 เดือน

โรคสำคัญที่พบการระบาดในกาแฟอยู่เสมอ คือ โรคราสนิม เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราชนิดหนึ่ง ระบาดได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของต้นกาแฟ อาการเริ่มพบจะปรากฏจุดสีเหลืองขนาดเล็ก ต่อมาขยายใหญ่ขึ้น สีของแผลเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีส้ม และปรากฏมีผงสีส้มที่เป็นสปอร์ของเชื้อราสำหรับใช้ขยายพันธุ์คล้ายกับเมล็ดพืช การระบาดรุนแรงจะทำให้ใบร่วงหล่นโกร๋นทั้งต้น วิธีป้องกันกำจัด แนะนำให้ใช้พันธุ์ต้านทานโรค เช่น พันธุ์คาดิมอร์ ซีไอเอฟซี 7960, 7961, 7962 และ 7963 หากพบการระบาดเกิดขึ้น ให้ใช้บอร์โด มิกซ์เจอร์ 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือคูปราวิท 85 เปอร์เซ็นต์ อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บเท่ากัน ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม การระบาดของโรคจะหมดไปในที่สุด และ โรคเน่าคอดิน เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราอีกชนิดหนึ่ง มักระบาดรุนแรงกับกาแฟในระยะกล้าอายุระหว่าง 1-3 เดือนแรก เนื่องจากแปลงเพาะกล้าระบายน้ำได้ไม่ดีหรือเพาะกล้าในแปลงซ้ำกันหลายครั้ง อาการที่พบเชื้อโรคจะเข้าทำลายบริเวณโคนต้นเหนือผิวดินเล็กน้อย แผลมีสีน้ำตาลในระยะแรก ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีดำและเหี่ยวตายในที่สุด วิธีป้องกันกำจัด ไม่ควรเพาะกล้าด้วยวัสดุเพาะที่ใช้แล้วหรือห้ามเพาะเมล็ดในแปลงเดิมซ้ำกันหลายครั้ง วัสดุเพาะต้องระบายน้ำได้ดี หากพบการระบาดในระยะแรกให้ถอนและเผาทำลาย แล้วฉีดพ่นด้วยแมนโคเซบในอัตราแนะนำ และต้องงดใช้สารเคมีก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อยเป็นเวลา 15 วัน

มาตรฐานการแบ่งเกรดเมล็ดกาแฟหรือปัจจุบันเรียกสารกาแฟ แบ่งได้เป็น 3 เกรด

1. เกรด A ขนาดเมล็ดมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 5.5 มิลลิเมตรขึ้นไป มีสีเขียวอมฟ้า เมล็ดแตกหักและไม่สมบูรณ์ปะปนไม่เกินร้อยละ 13 เมล็ดเสีย มีเชื้อรา และสีผิดปกติไม่เกินร้อยละ 1.5 และความชื้นไม่เกินร้อยละ 13

2. เกรด X ส่วนประกอบอื่นๆ เช่นเดียวกับเกรด A แต่สีสวยน้อยกว่า

3. เกรด Y เมล็ดขนาดเล็กกว่า 5.5 มิลลิเมตร มีสิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 0.5 และมีความชื้นไม่เกินร้อยละ 13

การเก็บรักษาเมล็ดกาแฟ ให้บรรจุในกระสอบป่านที่สะอาดและใหม่ ปราศจากกลิ่นอื่นๆ ปะปนอยู่ และไม่บรรจุจนเต็มกระสอบ ผูกปากกระสอบให้มีที่ว่างไว้เล็กน้อย ผูกแผ่นป้าย ระบุเกรดสารกาแฟ วันที่บรรจุ แหล่งผลิต และน้ำหนัก เก็บในโกดังที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ห้องไม่ร้อนเกินไปและไม่อับชื้น วางกระสอบบนแท่นหรือแคร่สูงจากพื้น 15 เซนติเมตร ห่างจากผนังและหลังคา 0.5-1.0 เมตร

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จตุจักร กทม. 10900
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
หมู่ 7
ตำบล / แขวง :
แม่ระมาด
อำเภอ / เขต :
แม่ระมาด
จังหวัด :
ตาก
รหัสไปรษณีย์ :
63140
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 18 ฉบับที่ 390
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM