เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
อะโวกาโดผลไม้มีคุณค่าแต่ถูกลืม
   
ปัญหา :
 
 
ผมทราบว่าอะโวกาโดมีการนำมาปลูกในเมืองไทยมานานแล้ว แต่เพราะเหตุใดจึงไม่เป็นที่นิยมบริโภคกัน และขอเรียนถามว่า มีวิธีปลูก ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวอย่างไร พันธุ์ที่เหมาะสมกับบ้านเรามีพันธุ์อะไรบ้าง
วิธีแก้ไข :
 
อะโวกาโด มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเม็กซิโก เจริญเติบโตได้ดีทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ปัจจุบันมีปลูกกันมากในประเทศอิสราเอล สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ประเทศที่ผลิตเป็นการค้า ได้แก่ แอฟริกาใต้ เคนยา และไอเวอรีโคสต์ อะโวกาโดเป็นต้นไม้มีใบสีเขียวตลอดปี ขนาดลำต้นใหญ่แตกกิ่งก้านสาขา ต้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดสูง 18 เมตร และมีบางพันธุ์ที่สูงเพียง 5-7 เมตร อะโวกาโดเป็นไม้เนื้ออ่อน กิ่งฉีกขาดง่าย ต้องการดินอุดมสมบูรณ์ ปลูกได้ดีเกือบทุกแห่งในประเทศไทย แต่ต้องระวังไม่ให้น้ำท่วมขัง เพราะจะเกิดโรครากเน่าได้ง่าย ปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสมอย่างน้อยปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 มิลลิเมตร และไม่ต้องการแหล่งปลูกที่มีอากาศร้อนจนเกินไป

วิธีปลูก ใช้ต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ด อายุ 8-10 เดือน หรือเสียบยอด ปลูกในแปลง ระยะปลูก 8x8 เมตร เตรียมหลุมปลูก ให้ขุดหลุมลึกและกว้าง 50 เซนติเมตรเท่ากัน รองก้นหลุมด้วยฟางข้าวหรือหญ้าแห้งปริมาณครึ่งหลุม อัดให้แน่น คลุกผสมดินที่ขุดจากหลุมกับปุ๋ยคอกเก่า อัตราหลุมละ 1-2 ปุ้งกี๋ ใส่หินฟอสเฟตลงหลุม อัตรา 1 กระป๋องนม ลงในหลุมพร้อมเกลี่ยดินกลบ นำต้นกล้าที่ฉีกถุงเพาะกล้าออก ระวังอย่าให้รากกระทบกระเทือนรุนแรง วางลงตอนกลางหลุม กลบดินพูนโคนให้เป็นหลังเต่าป้องกันน้ำท่วมขังขณะรดน้ำหรือฝนตกหนัก ปักหลักผูกติดกับลำต้นอะโวกาโดป้องกันลมโยก รดน้ำพอชุ่ม ครบ 1 เดือน ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 200 กรัม ต่อต้น โรยรอบโคนต้นและรดน้ำตาม ให้ปุ๋ยอัตราเดียวกันอีกทุก 3 เดือน หากเห็นว่าต้นอะโวกาโดสมบูรณ์ดีให้เว้นบ้างก็ได้ และควรใส่ปุ๋ยคอกเก่าอัตราครึ่งปุ้งกี๋ต่อต้น ปีละ 2 ครั้ง ต้นและปลายฤดูฝน ย่างเข้าปีที่สอง ใส่ปุ๋ยสูตรเดิม อัตรา 300 กรัม ต่อต้น 2-3 ครั้ง ต่อปี ย่างเข้าปีที่สาม ในปลายฤดูฝน ใส่ปุ๋ย สูตร 12-42-12 อัตรา 400 กรัม ต่อต้น พร้อมรดน้ำตาม ควรตัดแต่งกิ่งให้มีทรงพุ่มสมดุล โปร่ง ให้แสงส่องเข้าภายในทรงพุ่มได้ อะโวกาโดจะเริ่มออกดอกในเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ หลังออกดอกและผสมเกสรแล้ว จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายใน 6-7 เดือน หรือ 9-10 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ปลูก ในประเทศไทยนิยมปลูกอะโวกาโดอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพดีเลิศ ได้แก่ พันธุ์แฮส และเฟอร์เออเต้ กลุ่มที่สอง เป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพดี ได้แก่ พันธุ์รีด ฮอฟกินส์ และเฮเยส อะโวกาโดออกดอกที่ปลายกิ่งอ่อน เป็นช่อดอกเดี่ยวมีสีขาวและเขียวอมขาว การออกดอกแต่ละรุ่นเป็นจำนวนมากแต่จะติดผลเพียง 1 ผล ต่อดอกย่อย 5,000 ดอก รูปทรงของผลอะโวกาโดมีทั้งทรงกลมและผลยาว สีเขียวเข้ม เขียวอมเหลือง หรือผิวสีม่วงก็มี ผิวมีทั้งขรุขระและเรียบเป็นมัน น้ำหนักผลมีตั้งแต่ 90 กรัม ไปจนถึง 1 กิโลกรัม เมื่อผ่าผลดูภายในจะพบว่า มีเปลือกหุ้มเมล็ด 2 ชั้น เมล็ดกลมขนาดเท่ากับผลหมาก สีน้ำตาลอ่อน เนื้อผลมีสีเหลืองนวลเกือบทุกพันธุ์

ประโยชน์ของเนื้ออะโวกาโด ใช้รับประทานเนื้อสด เป็นส่วนประกอบของสลัดผัก ไอศครีม ทำสบู่และเครื่องสำอาง

คุณค่าทางโภชนาการของเนื้ออะโวกาโด ใน 100 กรัม ประกอบด้วย น้ำ 84-86 เปอร์เซ็นต์ ให้พลังงาน 78-92 แคลอรี โปรตีน 0.9-1.0 กรัม ไขมัน แป้งน้ำตาล เยื่อใย และเถ้า 5.8-7.6 , 7.0-7.1, 1.0-1.2 และ 0.6 กรัม แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก โซเดียม โพแทสเซียม ไทอามีน ไรโบเฟลวิล และไนอะซิน ประมาณ 11-18, 23-27, 0.8-0.9, 1.2, 250-307, 0.4, 0.06-0.07 และ 1.0-1.3 มิลลิกรัม ตามลำดับ และวิตามิน เอ 75-135 หน่วย สาเหตุที่อะโวกาโดไม่เป็นที่นิยมบริโภค แม้จะนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยนานกว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม ผมได้สอบถามผู้รู้หลายท่านและได้บทสรุปว่า ประเทศไทยของเรานั้นมีผลไม้อยู่หลากหลายชนิด จึงมีทางเลือกการบริโภคผลไม้อีกมากมาย ทั้งนี้คนไทยนิยมบริโภคผลไม้ที่มีรสหวาน กลิ่นหอมนุ่มนวล ซึ่งรสชาติและกลิ่นของอะโวกาโดไม่ได้อยู่ในความประทับใจของคนไทยเลย ในโอกาสต่อไปเมื่อท่านผู้อ่านได้รับทราบแล้วว่า เนื้ออะโวกาโดมีคุณค่าทางโภชนาการสูง หากจะหันมาปลูกไว้เพื่อบริโภคก็น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากปลูกง่ายและโรคแมลงศัตรูมีน้อย สิ่งแรกผมขอเชิญชวนให้ภาคราชการคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น ปรับปรุงพันธุ์ให้มีรสชาติถูกรสนิยมของคนไทย แล้วจึงรณรงค์ให้คนไทยหันมาบริโภคอะโวกาโดกันอย่างต่อเนื่อง ตราบนั้นอาจจะทำให้อะโวกาโดเป็นผลไม้วางอยู่ในตลาดของประเทศไทยได้อย่างแน่นอนครับ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
หมู่ 8
ตำบล / แขวง :
ชากโดน
อำเภอ / เขต :
แกลง
จังหวัด :
ระยอง
รหัสไปรษณีย์ :
21110
ภาค :
ภาคตะวันออก
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 18 ฉบับที่ 391
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM