เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
น้อยหน่าพันธุ์สีครั่ง
   
ปัญหา :
 
 
ขับรถผ่านไปแถบจังหวัดนครปฐมเชื่อมต่อจังหวัดสุพรรณบุรี เคยพบน้อยหน่าพันธุ์หนึ่งมีผิวเปลือกสีม่วงอมชมพู สอบถามผู้อาวุโสได้รับคำตอบว่า เป็นน้อยหน่ามีชื่อเรียกว่า พันธุ์สีครั่ง หรือพันธุ์ฝ้ายครั่ง อยากทราบว่า ลักษณะอื่นๆ เป็นอย่างไร และมีแหล่งจำหน่ายพันธุ์อยู่ที่ไหน ขอคำตอบด้วยครับ
วิธีแก้ไข :
 
น้อยหน่า เป็นไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกากลาง ที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้ง น้อยหน่ามีการนำเข้ามาปลูกที่ประเทศไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยนักเดินเรือชาวโปรตุเกส ชื่อของน้อยหน่าเชื่อว่าเพี้ยนมาจาก คำว่า อะโนน่า ซึ่งเป็นชื่อเรียกในแถบอเมริกากลาง ถือเป็นถิ่นกำเนิดของน้อยหน่าที่กล่าวมาแล้วข้างต้น น้อยหน่าทั้งหมดมีอยู่มากกว่า 50 ชนิด แต่ในปัจจุบันมีเพียง 5 ชนิดเท่านั้น ที่ปลูกเป็นการค้า

ชนิดแรก มีชื่อเรียกว่า ชิริโมย่า เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 700 เมตร ลักษณะเด่นคือมีใบขนาดใหญ่กว่าน้อยหน่าบ้านเราเล็กน้อย มีปลูกกันอยู่ในประเทศอินเดีย เกาะฮาวาย ออสเตรเลีย ชิลี แอฟริกาใต้และอิสราเอล ชิริโมย่า มีลำต้นสูง 3-8 เมตร มีพุ่มกว้างจัดเป็นไม้ผลขนาดใหญ่ ด้านใต้ไปมีขนนุ่มขึ้นอย่างหนาแน่น ใบเขียวเข้ม ผลเป็นรูปหัวใจ ผิวเปลือกยุบตัวลงคล้ายกดด้วยนิ้วมือตลอดผล ผลสีเขียวอมเหลือง เนื้อสีขาว เนื้อผลหลุดล่อนจากเมล็ดได้ง่าย เมล็ดรูปไข่สีน้ำตาลหรือดำ

ชนิดที่สอง ทุเรียนเทศ หรือทุเรียนน้ำ มีปลูกกันอยู่ในภาคใต้ของไทย นอกจากนี้ ยังพบได้ในประเทศอินเดีย พม่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ทุเรียนเทศเป็นน้อยหน่าที่มีผลขนาดใหญ่ ลำต้นขนาดกลาง ใบเขียวไม่ผลัดใบ ผิวใบด้านบนเลื่อมมัน ส่วนผิวด้านล่างมีสีน้ำตาลแดงหรือสีสนิมเหล็ก ใบมีรูปไข่ ส่วนปลายจะป่องกว้างกว่าโคนใบ ดอกมีขนาดใหญ่ อวบน้ำ กลีบดอกสีเหลือง ผลมีลักษณะคล้ายผลขนุน ผิวสีเขียวเมื่อสุกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมน้ำตาลอ่อน มีหนามชนิดอวบน้ำ เนื้อสีขาว รสหวานอมเปรี้ยว เหมาะสำหรับทำน้ำผลไม้

ชนิดที่สาม น้อยโหน่ง เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดีอีกชนิดหนึ่ง น้อยโหน่งมีขนาดลำต้นสูง 5-8 เมตร กิ่งอ่อนมีขนขึ้นปกคลุมหนาแน่น แต่ในกิ่งแก่กลับไม่มีขน ใบเป็นรูปหอก ไม่มีขน ออกดอกเป็นกลุ่ม ตามกิ่งที่เป็นหนุ่มสาว กลีบดอกมีสีเขียวมะกอก ผลมีขนาดใหญ่กว่าผลน้อยหน่า เนื้อบาง น้อยโหน่งยังมีผู้ปลูกอยู่ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากน้อยโหน่งมีระบบรากที่แข็งแรงจึงเหมาะสำหรับใช้เป็นต้นตอสำหรับเสียบยอดเพื่อการขยายพันธุ์

ชนิดที่สี่ อิลามา เป็นน้อยหน่าชนิดที่คนทั่วไปรู้จักกันน้อยที่สุด ปลูกกันมากในประเทศเม็กซิโก และนิคารากัว น้อยหน่าชนิดนี้มีขนาดเล็ก ลำต้นมีเปลือกสีน้ำตาลอมเทา ใบบางส่วนปลายกลมมน เนื้อผลมีรสชาติดีสีครีมหรือชมพูอ่อน เมล็ดแข็งเรียบสีน้ำตาล วิธีผลิตให้ได้เนื้อผลที่มีคุณภาพสูง จำเป็นต้องปลูกในแหล่งที่มีดินภูเขาไฟที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารพืช

และชนิดสุดท้ายคือ น้อยหน่า นิยมปลูกกันมากในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง ส่วนในประเทศไทยมีปลูกกันอยู่สองสายพันธุ์

สายพันธุ์แรก เรียกว่า พันธุ์พื้นเมือง หรือพันธุ์ฝ้าย และยังแบ่งได้อีกสองพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์พื้นเมืองผลสีเขียว หรือฝ้ายเขียว มีลำต้นกลม เปลือกสีน้ำตาล แตกพุ่มออกด้านข้างมากกว่าความสูง ผลมีขนาดใหญ่ รูปหัวใจ ผลยาวเฉลี่ย 6.7 เซนติเมตร และกว้าง 6.8 เซนติเมตร เฉลี่ยน้ำหนักผล 183.2 กรัม ผลแก่มีสีเขียวอ่อน ร่องกลีบเมล็ดหรือร่องตาตื้นสีขาวนวล เมื่อผลสุกมักร่วงจากขั้วผล เนื้อผลหยาบเป็นเม็ดทราย กลิ่นหอมรสหวานจัด เนื้อยุ่ย เปลือกไม่ล่อน เมล็ดแก่สีน้ำตาล ในหนึ่งผลมีเมล็ดเฉลี่ย 50 เมล็ด และพันธุ์พื้นเมืองอีกสายพันธุ์หนึ่งที่เป็นคำถามในปักษ์นี้ คือ น้อยหน่าฝ้ายครั่ง หรือน้อยหน่าสีครั่ง น้อยหน่าสายพันธุ์นี้ ผลเมื่อสุกแก่จะมีสีม่วงอมชมพู ลักษณะของลำต้นกลมสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านปานกลางไม่มากเกินไป ใบมีรูปไข่ ปลายใบมีทั้งแหลมและป้าน สีเขียวคล้ำ ความยาวเฉลี่ยของใบประมาณ 10 เซนติเมตร และกว้าง 4-5 เซนติเมตร ทรงผลเมื่อสุกแก่มีลักษณะคล้ายรูปหัวใจ และมีขนาดเล็กกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ผลวัดตามความสูงหรือความยาว ประมาณ 5-6 เซนติเมตร และวัดตามแนวกว้างได้ 5-6 เซนติเมตร เท่ากัน ผลมีผิวสีม่วงตามร่องตามีสีชมพู ดูสวยงามมีเสน่ห์ ผลสุกจะอ่อนและนุ่มเมื่อสัมผัสด้วยมือ เปลือกไม่ล่อน เนื้อผลสีขาว ยุ่ย รสหวาน กลิ่นหอม เมล็ดเล็กสีดำ เมื่อนำไปเพาะกล้า ต้นกล้าที่ได้จึงมีขนาดเล็กและบอบบางกว่าสายพันธุ์อื่น และอัตราการตายค่อนข้างสูง จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านพืชสวน ทำให้ทราบว่าน้อยหน่าพันธุ์ฝ้ายครั่งพันธุ์นี้ปัจจุบันเริ่มเป็นไม้ผลที่ค่อนข้างหายาก และมีแนวโน้มว่าอาจจะสูญพันธุ์ได้ในเวลาอันใกล้นี้ สำหรับแหล่งจำหน่ายพันธุ์ตรวจสอบแล้วยังไม่พบ หากมองในแง่วิชาการแล้ว น้อยหน่าสายพันธุ์นี้อาจจะมีคุณค่าทางโภชนาการแตกต่างจากน้อยหน่าสายพันธุ์อื่นๆ ก็น่าจะเป็นไปได้ ขอฝากนักปรับปรุงพันธุ์พืชไว้ด้วยครับ น้อยหน่าที่สำคัญอีกสายพันธุ์ที่สองคือ น้อยหน่าหนัง หรือน้อยหน่าญวน น้อยหน่าสายพันธุ์นี้นำเข้ามาจากประเทศเวียดนาม เมื่อปี พ.ศ. 2475 โดยหมอสอนศาสนาเป็นผู้นำมาปลูกแห่งแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี น้อยหน่าหนังยังแบ่งออกได้สองชนิดคือ น้อยหน่าหนังเขียว และน้อยหน่าหนังทอง น้อยหน่าหนังเขียว มีลำต้นกลม ใบเป็นรูปไข่ และรูปหอกก็พบว่ามีเช่นเดียวกัน ผิวใบด้านบนมีสีเขียวเข้มกว่าใบด้านล่าง ใบขาวเฉลี่ย 11 เซนติเมตร และกว้าง 5 เซนติเมตร ผลสุกแก่มีสีเขียวนวล ตาผลกว้าง ร่องตาตื้น เนื้อผลสีขาว ละเอียด เปลือกล่อนออกจากเนื้อเป็นแผ่น เนื้อเหนียว หนา มีกลิ่นหอม รสหวาน เมล็ดแก่มีผิวสีดำมันวาว ในหนึ่งผลมีเมล็ดเฉลี่ย 41 เมล็ด และอีกสายพันธุ์หนึ่งคือ น้อยหน่าหนังสีทอง เกิดจากการผ่าเหล่า จากน้อยหน่าหนังเขียว รูปทรงต้นและใบเหมือนกับน้อยหน่าหนังเขียว ส่วนที่แตกต่างกันเพียงมีปลายใบแหลมและสีอมเหลืองมากกว่า ผลสุกแก่จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเขียวอมเหลือง ร่องตาตื้น น้ำหนักผลเฉลี่ยประมาณ 160 กรัม ต่อผล เนื้อผลขาวละเอียด เนื้อหนา กลิ่นหอม รสหวาน ในหนึ่งผลมี 41 เมล็ด ข้อด้อยคือ ติดผลน้อยกว่าน้อยหน่าหนังเขียว เป็นที่น่าเสียดาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพืชนี้ งานวิจัยเด่นและก้าวหน้าจึงไม่มี การพัฒนาพันธุ์น้อยหน่าในประเทศไทยที่ผ่านมาในอดีตนับเป็นฝีมือของเกษตรกรไทยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ผมหวังว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยอาจหันกลับมาสนใจพืชชนิดนี้ และปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น รูปร่าง รสชาติ และการยืดอายุการวางจำหน่ายในตลาดให้ยาวนานขึ้นกว่าปัจจุบัน
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
แขวงเสนานิคม
อำเภอ / เขต :
เขตจตุจักร
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
10900
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 19 ฉบับที่ 395
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM