เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
อะโกลนีมา
   
ปัญหา :
 
 
ซื้อต้นอะโกลนีมาจากตลาดนัดแห่งหนึ่ง ตอนซื้อมาใหม่ๆ ก็สวยงามสมบูรณ์ดี แต่เมื่อปลูกไปแล้ว 2-3 เดือนต่อมา ต้นไม้กลับไม่สวยงามเหมือนเดิม ผมควรจะดูแลอย่างไร จึงจะได้ไม้สวยงามสมใจ นอกจากนี้ ยังสับสนในเรื่องชื่อการเรียกขาน พบว่ามีหลายชื่อ โปรดช่วยไขข้อข้องใจให้ด้วย
วิธีแก้ไข :
 
อะโกลนีมา (Aglaonema) เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับหน้าวัว บอนสี ว่านเสน่ห์จันทร์และพลูฉีก โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป อะโกลนีมา เขียวหมื่นปี โพธิ์บัลลังก์ ช้างเผือก โพธิสัตว์ หรือริ้วเงินริ้วทองล้วนเป็นพืชเดียวกัน อะโกลนีมามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 มีการนำไปปลูกยังประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งในปี 2500 พันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงให้ผิดแผกจากพ่อแม่เดิม เริ่มปรากฏโฉมและมีการวางจำหน่ายเป็นธุรกิจในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา อะโกลนีมา ซึ่งเป็นภาษากรีก มีความหมายว่า แสงสว่างแห่งเส้นใย นำมาจากลักษณะเป็นใยสีขาว สว่างสดใสคล้ายด้ายสีขาวนั่นเอง ลักษณะทั่วไปของอะโกลนีมาจัดอยู่ในประเภทพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ระบบรากเป็นชนิดรากฝอย แผ่กระจายใต้ผิวดินในระดับตื้นๆ ลำต้นตั้งตรง ข้อถี่ แตกใบออกจากส่วนยอดของลำต้นคราวละใบ ใบมีลักษณะยาวเรียวคล้ายใบพาย บางสายพันธุ์มีใบป้อมคล้ายใบโพธิ์ พื้นใบสีเขียวอ่อนไปจนถึงสีเขียวเข้ม ไปจนถึงสีเหลือง แดง และส้ม มีลายประหรือริ้วสีต่างๆ สดใสสวยงาม พันธุ์ที่มีใบสีแดงสดใสมากเท่าไรราคาก็จะแพงตามไปด้วย รากสามารถแตกออกได้ทุกข้อของลำต้น อะโกลนีมาจะออกดอกเมื่ออายุ 18-20 เดือน ก่อนออกดอกให้สังเกตที่ใบธง ซึ่งเป็นใบเกิดใหม่ล่าสุด ห่อหุ้ม หรือเรียกว่ากาบหุ้มดอกหรือกาบหุ้มปลี ช่อดอกหรือปลีมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก เกสรตัวผู้อยู่ส่วนบน เกสรตัวเมียจะอยู่ส่วนล่าง เมื่อผสมเกสรแล้วจะพัฒนาต่อไปเป็นผล จากสีเขียวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และสีแดงในที่สุด อะโกลนีมาเจริญเติบโตได้ดีในร่มเงาที่มีแสงสว่างเพียง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ระวังอย่าให้แสงสว่างส่องเข้าหาต้นเพียงด้านเดียว เพราะจะทำให้ลำต้นและใบโน้มเข้าหาแสง ทรงต้นไม่สวยงาม การให้แสงอย่างพอเหมาะส่งผลให้ใบสีสวยสดใสและแผ่กางออกรอบต้น ไม่ชูตั้งขึ้นทำให้เกิดการบดบังความงามของสีสันของผิวใบด้านบน ดินปลูกอะโกลนีมา นิยมใช้ส่วนผสมของดินร่วน ทรายหยาบ กาบมะพร้าวสับ และปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 2:0.5:1:0.5 คลุกเคล้าให้เข้ากัน ในกรณีต้องการให้ต้นไม้เจริญเติบโตดีขึ้น ควรใส่ปุ๋ยสูตร 10-10-10 หรือ 15-15-15 หากใช้ปุ๋ยละลายช้าจะยิ่งได้ผลดี โดยใช้อัตรากระถางละ 1 ช้อนชา 2-3 เดือนละ 1 ครั้ง และควรระวังอย่าให้ปุ๋ยอัตราสูงมาก เพราะจะทำให้ต้นไม้สมบูรณ์เกินไป ส่งผลให้ทรงต้นไม่สวยเป็นธรรมชาติ

การขยายพันธุ์ ทำได้หลายวิธี การแยกหน่อ ทำได้ง่ายและรวดเร็ว คัดเลือกต้นที่สมบูรณ์ แยกหน่อที่มีใบแล้วอย่างน้อย 3 ใบ ด้วยมีดที่คมและสะอาด ให้มีรากติดมาด้วย ทาแผลด้วยปูนแดง ผึ่งไว้จนปูนแดงแห้ง นำปลูกลงในกระถางที่ใส่ดินปลูกไว้ก่อน นำเก็บในโรงเรือนเพาะชำ การชำยอด วิธีนี้เหมาะสำหรับต้นที่สูงเกินความสวยงาม วัตถุประสงค์เพื่อแต่งลำต้นให้สูงพองาม ทาแผลทั้งที่ต้นตอและส่วนที่ถูกตัดออก ลิดใบทิ้งให้เหลือเพียง 4-5 ใบ นำไปปักชำลงในวัสดุเพาะ เช่น ขี้เถ้าแกลบ หรือเส้นใยมะพร้าว หรือดินผสมชนิดใดชนิดหนึ่ง หมั่นรดน้ำให้ชุ่ม ใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ รากใหม่จะแทงออกมาให้เห็น แล้วจึงนำลงปลูกในกระถางต่อไป การชำข้อและต้น วิธีนี้ในอดีตเซียนเรียกว่า การหั่น ทำง่ายได้ปริมาณมาก คัดต้นที่สมบูรณ์แข็งแรงและลำต้นสูง ตัดให้เหลือโคนไว้ประมาณ 10 เซนติเมตร ตัดลำต้นและยอดที่ตัดไว้ออกเป็นท่อน แช่ในน้ำยากันเชื้อรา นำขึ้นผึ่ง ทารอยแผลด้วยปูนแดง เมื่อปูนแห้งนำไปชำในวัสดุเพาะชำ กลบตื้นๆ หมั่นรดน้ำให้ชุ่ม ใช้เวลา 45-60 วัน รากจะงอกออกจากบริเวณข้อ เลี้ยงไว้ให้มีใบ 2-3 ใบ จึงนำปลูกลงในกระถาง และวิธีผสมเกสร วัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ลูกผสมพันธุ์ใหม่ๆ เลือกต้นที่กำลังให้ดอกที่เกสรเพศผู้และเพศเมียสมบูรณ์พร้อมผสมเกสรได้ แกะกาบหุ้มเกสรออกทั้งหมด ตัดส่วนของเกสรเพศผู้ ลักษณะกลมคล้ายดอกธูปฤๅษี แยกออกจากเกสรเพศเมีย ใช้พู่กันป้ายละอองเกสรเพศผู้ที่เตรียมไว้ ป้ายลงบนเกสรเพศเมียต้นอื่นที่ตัดแยกเกสรเพศผู้ออกแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผสมตัวเอง อีก 2-3 สัปดาห์ เริ่มสังเกตเห็นเมล็ดที่เติบโตขึ้น มีสีเขียวเข้ม และพัฒนาต่อไปเป็นผลที่สมบูรณ์ในหนึ่งช่อดอกจะให้ผลขนาดเท่าผลกาแฟ 6-10 ผล เป็นกระจุก ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และสีแดงตามลำดับ นำผลแก่เต็มที่ชำลงในวัสดุเพาะชำ รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ ใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ เมล็ดจะงอกเป็นต้นอ่อน ลูกที่ได้จะมีลักษณะแตกต่างกันไป ตามทฤษฎีของเมลเดล คัดเลือกต้นที่มีลักษณะเด่นและสวยงามไว้ เมื่อคัดเลือกได้แล้ว เตรียมขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายต่อไป เพื่อเป็นการป้องกันละเมิดสิทธิ์ ควรจดสิทธิบัตรไว้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ก่อนเป็นการดีที่สุด
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
บางบอน
อำเภอ / เขต :
บางบอน
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
10150
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 19 ฉบับที่ 395
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM