เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
กล้วยไม้สกุลซิมบิเดียม
   
ปัญหา :
 
 
มีโอกาสไปชมงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้แวะไปที่การจัดสวนญี่ปุ่นในอาคาร ผมประทับใจกล้วยไม้ที่เขานำมาจัดสวน สวยมาก แต่น่าเสียดายที่มีเวลาน้อย อ่านคำอธิบายทราบว่าเป็นกล้วยไม้สกุลซัมบิเดียม จึงขอเรียนถามว่า ไม้สกุลนี้มีความเป็นมาอย่างไร และจะปลูกในบ้านเราได้หรือไม่ ขอคำอธิบายด้วยครับ
วิธีแก้ไข :
 
กล้วยไม้สกุลซิมบิเดียม ชื่อนี้ตั้งขึ้นโดยนักพฤกษ์ศาสตร์ชาวสวีเดน มร.ปีเตอร์ โอลอฟ สวาร์ท ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2342 ชื่อนี้มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก มีความหมายว่า รูปทรงของกลีบปากกล้วยไม้คล้ายกับรูปร่างของเรือ กล้วยไม้สกุลนี้ในเมืองไทยเรียกว่าสกุล กะเรกะร่อน การตั้งชื่อไม่น่าพิสมัยเอาเสียเลย กล้วยไม้สกุลนี้พบได้ตั้งแต่ประเทศอินเดีย จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลียตอนเหนือ อินโดนีเซียและไทย ปัจจุบันมีบันทึกไว้ว่า ซิมบิเดียมทั่วโลกพบแล้ว 45 ชนิด จำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ชอบขึ้นเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ กินซากพืชเน่าสลายตัวแล้วเป็นอาหาร ดอกมีขนาดเล็ก สีสันไม่สะดุดตา ช่อดอกให้ย้อยต่ำลง ใบหนาและแข็ง ชอบอากาศร้อนชื้น เช่น กะเรกะร่อนเขา หรือกะเรกะร่อนปากแดง พบมากที่แคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย ในประเทศไทยกระจายอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ เลย นครราชสีมา และจันทบุรี กลุ่มที่สอง กลุ่มนี้เจริญเติบโตอยู่ตามพื้นดิน หรือเรียกว่ากล้วยไม้ดิน ลักษณะเด่นคือ มีดอกขนาดใหญ่ สีสันสะดุดตา ช่อดอกตั้งตรง ใบเรียวยาว และบางกว่ากลุ่มแรก เจริญเติบโตได้ดีในเขตอากาศอบอุ่นถึงหนาวเย็น หรือบนดอยสูง ทั้งนี้มีนักปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้จากประเทศญี่ปุ่น ยุโรป และไต้หวัน นำไปพัฒนาได้พันธุ์ใหม่ๆ เพื่อใช้ปลูกเป็นไม้ตัดดอกและไม้กระถาง ส่งออกจำหน่ายไปต่างประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสัน กลุ่มนี้ที่พบในประเทศไทย เช่น สำเภางาม กระจายอยู่ทั่วที่จังหวัดน่าน พิษณุโลก และเลย

กล้วยไม้ซิมบิเดียม ในกลุ่มที่ให้ดอกขนาดใหญ่ สวยงาม และอายุการใช้งานได้นาน 6 สัปดาห์ ไปจนถึง 3 เดือน จัดอยู่ในประเภทกล้วยไม้ดิน ลักษณะเด่นคือ กลีบดอกชั้นนอกและชั้นในมีขนาดใกล้เคียงกันและสีสันเดียวกัน กลีบดอกด้านนอกส่วนบนจะโน้มมาด้านหน้า ส่วนปากด้านหน้าโค้งลงคล้ายลิ้นมนุษย์ และปลายของปากมักมีแต้มสีสดใสเป็นเส้นหรือจุด ทำให้สะดุดตา ลักษณะทั่วไปของกล้วยไม้สกุลซิมบิเดียมมีขนาดของลำต้นแตกต่างกันไปตามชนิดของกล้วยไม้ดังกล่าว บางชนิดมีลำต้นอ้วนป้อม ขนาดเท่ากำปั้นของมนุษย์ บางชนิดรูปร่างผอมบาง และส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้ชนิดที่ไม่ทิ้งใบ มีสีเขียวตลอดปี ใบยาวตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ไปจนถึง 90 เซนติเมตร ในหนึ่งต้นมีใบเฉลี่ย 8-16 ใบ ความสูงจากระดับดินถึงปลายช่อดอก 50-100 เซนติเมตร การเจริญเติบโตของกล้วยไม้สกุลซิมบิเดียมแตกต่างกันแบ่งได้ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก จะให้ดอกขณะลำต้นยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ ระยะการเจริญเติบโตอยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนมีนาคม การพัฒนาช่อดอกอยู่ระหว่างเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนกันยายน และจะให้ดอกในฤดูหนาวของทุกปี กลุ่มที่สอง กลุ่มนี้จะเริ่มให้ดอกเมื่อการเจริญเติบโตทางลำต้นสมบูรณ์เต็มที่แล้ว การพัฒนาของดอกอยู่ในฤดูร้อน และดอกจะบานในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น เช่นเดียวกับกลุ่มแรก ประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงในการพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้สกุลซิมบิเดียมคือ ญี่ปุ่นและไต้หวัน จะปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ในโรงเรือนที่ปรับอุณหภูมิได้โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิในเวลากลางคืนรักษาไว้ที่ 13-14 องศาเซลเซียส ส่วนเวลากลางวันรักษาไว้ที่ 25-28 องศาเซลเซียส พร้อมให้ความชื้นในบรรยากาศไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และให้มีการหมุนเวียนอากาศได้ดี ส่วนการปลูกเลี้ยงในประเทศไทยนั้น ควรปลูกในที่มีระดับสูงจากน้ำทะเลปานกลาง ไม่น้อยกว่า 600 เมตรขึ้นไป การขยายพันธุ์ซิมบิเดียมทำได้ทั้งวิธีเพาะเมล็ด แยกหน่อ และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สำหรับมือสมัครเล่นหรือเจ้าของฟาร์มขนาดเล็กนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีแยกหน่อเมื่อต้นแม่มีอายุ 2-3 ปีขึ้นไป ในระยะที่ดอกโรยแล้วและกำลังจะเจริญเติบโตสร้างความสมบูรณ์รอบใหม่ คืออยู่ระหว่างเดือนมีนาคมไปถึงเดือนเมษายน ด้วยใช้มีดคมและสะอาด ตัดแยกให้ขาดออกจากกัน แล้วทาหรือราดด้วยยาฆ่าเชื้อป้องกันเชื้อโรคเข้าทำลายที่บริเวณรอยแผล แล้วลุกลามต่อไปทั่วทั้งต้น นำต้นหรือหน่อที่แยกได้ ปลูกลงในกระถางที่มีวัสดุปลูก เช่น ใบไม้ผุหรือพีทมอสส์ที่สะอาดปราศจากโรคและแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ปักไม้ไผ่ลงในวัสดุเพาะ ผูกต้นหรือหน่อป้องกันต้นล้มหรือโอนเอนตกจากกระถาง เก็บในโรงเรือน รักษาระดับความชื้นในบรรยากาศที่ 50 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ต้นกล้วยไม้ด้วยการใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 หรือ 21-21-21 สลับกับ สูตร 30-20-10 อัตราครึ่งช้อนชา ต่อกระถาง ด้วยวิธีโรยรอบต้น ทุก 2-3 เดือน แต่ระวังอย่าให้เม็ดปุ๋ยสัมผัสกับส่วนใดส่วนหนึ่งของกล้วยไม้ พร้อมรดน้ำตาม หากเห็นว่าต้นสมบูรณ์ดีให้เว้นการใส่ปุ๋ยบ้างก็ได้ และให้เสริมด้วยกระดูกป่น อัตรา 2 ช้อนชา ต่อกระถางในเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม พร้อมรดน้ำตาม ปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น คุณจะได้ต้นกล้วยไม้สกุลซิมบิเดียมที่สมบูรณ์สวยงามสมใจ

ซิมบิเดียม ที่นำมาแสดงในอาคาร งานมหกรรมพืชสวนโลกของประเทศญี่ปุ่นนั้น ดำเนินการโดยบริษัท คาวาโน เมอร์โคลน์ จำกัด (มหาชน) มีแหล่งผลิตอยู่ที่จังหวัดโทกุชิมา เกาะชิโกกุ โดยเริ่มพัฒนาพันธุ์เมื่อ 30 ปีก่อน ด้วยิวิธีผสมพันธุ์จนได้พันธุ์ดีตามต้องการแล้ว จึงขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยนำเนื้อเยื่อเจริญส่วนปลายยอดต้นกล้วยไม้เพาะเลี้ยงด้วยอาหารวุ้นในขวดเป็นเวลา 1-2 ปี จากนั้นนำมาปลูกในกระถางที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 เซนติเมตร ด้วยวัสดุเพาะที่กล่าวมาแล้วอีก 1 ปี และถ่ายลงกระถางขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 24 เซนติเมตร อีก 1-2 ปี จึงจะให้ดอก รวมเวลาจากเริ่มเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจนออกดอกใช้เวลา 3-5 ปี สายพันธุ์ต่างๆ ได้รับรางวัลมาจากงานพืชสวนโลกครั้งก่อนที่เนเธอร์แลนด์และที่เชียงใหม่มาแล้วเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ส่วนสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดที่กำลังโด่งดังอยู่ในปัจจุบัน มีชื่อว่า แมรี่ลอเรนซิน ลักษณะเด่นมีกลีบดอกด้านนอกสีขาวอมชมพู และมีปากสีแดง อีกทั้งให้ดอกเก่ง มีอายุยืนยาว เมื่อนำไปประดับในแจกัน และเมื่อเลี้ยงในกระถางนำไปประดับในอาคาร ดอกจะอยู่ได้นานถึง 3 เดือน ปัจจุบัน บริษัท คาวาโน เมริโคลน์ จำกัด (มหาชน) พัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ อยู่ในมือไม่น้อยกว่า 500 สายพันธุ์ และครองตลาดซิมบิเดียมในตลาดโลกประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนิยมใช้ภายในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปจำหน่ายยังสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และบราซิล เมื่อปี พ.ศ. 2547 ที่ผ่านมา ได้ไปตั้งฐานการผลิตอยู่ในประเทศจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องของบริษัทมีการนำดอกกล้วยไม้ที่ได้ไปผลิตชา ไวน์ สบู่ แชมพูสระผม ยาปลูกผม และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอื่นๆ อีกมากมายหลายชนิด นับว่าเป็นรูปแบบที่น่าสนใจไม่น้อย


ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
หมู่ 5
ตำบล / แขวง :
ทุ่งครุ
อำเภอ / เขต :
ราษฎร์บูรณะ
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
10140
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 401
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM