เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
พลิกดินลูกรัง ปลูกมะยงชิดใหญ่กว่าไข่เป็ด ที่พิจิตร
   
ปัญหา :
 
 
วิธีแก้ไข :
 
ในรอบ 1 ปี จะมีเพียงเดือนมีนาคมเดือนเดียวที่คนไทยได้มีโอกาสลิ้มลองรสชาติของมะยงชิดและมะปรางหวาน โดยภายในสวนที่ปลูกไม้ผลชนิดนี้ ทุกต้นจะเหลืองอร่ามด้วยผลผลิตที่ห้อยระย้าเป็นพวง โดยขนาดลูกของมะยงชิดนั้นจะใหญ่กว่าไข่ไก่ และจะถูกเก็บเกี่ยวส่งจำหน่ายให้กับพ่อค้าก่อนกระจายออกไปสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ

ในทุกวันนี้ปริมาณผลผลิตมะยงชิดและมะปรางหวานนั้น ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศด้วยซ้ำ การเปิดตลาดต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ต้องรอเวลาอีกพอสมควร

ด้วยเสน่ห์แห่งผลไม้ดังกล่าว ประกอบกับยังเป็นผลไม้ที่มีอนาคตอีกยาวไกล หลายคนจึงสนใจและปรับเปลี่ยนกิจกรรมการปลูกพืชมาสู่การปลูกมะยงชิดและมะปรางหวาน

"ตอนนี้ก็กะว่าจะต้องขยายพื้นที่ปลูกออกไปอีก เพราะตลาดยังต้องการมาก"

คุณสมพร ยอดจันทร์ เกษตรกรหญิงแห่งจังหวัดพิจิตร โดยสวนตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 60 หมู่ที่ 1 ตำบลวังทับไทร กิ่งอำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร โทร. (056) 606-192 เป็นคนหนึ่งที่ได้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชมาสู่การปลูกมะปรางหวานและมะยงชิด ซึ่งให้มุมมองต่อผลไม้ในกลุ่มนี้ว่า ยังมีอนาคตอีกยาวไกล ในปี 2537 จึงได้ตัดสินใจซื้อกิ่งพันธุ์มะยงชิดและมะปรางหวานมาลงปลูกโดยแซมลงในแปลงมะม่วง

วันนี้ ในพื้นที่ 50 ไร่ ที่เธอได้ทำการเกษตรสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว มะปรางหวานและมะยงชิดกว่า 1,000 ต้น กำลังผลิดอกออกผลให้เก็บเกี่ยวสู่ตลาดได้แล้ว

"แต่เดิมนั้นเราทำพืชไร่มาก่อน ปลูกข้าวโพด ปลูกมันสำปะหลัง แต่มีปัญหาว่าดินจืดลง ผลผลิตได้ไม่คุ้มกับการลงทุน เลยเปลี่ยนมาเป็นมะม่วง ปลูกมะม่วงเพชรบ้านลาด น้ำดอกไม้สีทอง ฟ้าลั่น แต่ก็เจอภาวะเรื่องราคา เพราะมีคนปลูกกันมาก พอถึงฤดูราคาก็ตก"

ในวันนี้ สำหรับสวนมะม่วงที่ทำอยู่ คุณสมพรได้ให้ความสำคัญกับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพียงอย่างเดียว ด้วยเป็นสายพันธุ์ที่สามารถส่งออกต่างประเทศ จึงทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องราคา แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ เรื่องของคุณภาพ ที่มะม่วงทุกลูกต้องได้คุณภาพในการส่งออก

"มะม่วงน้ำดอกไม้ เกรดหนึ่งเลย ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 55 บาท"

"มะม่วงเราไม่ได้ทำให้ออกก่อนนอกฤดูนานนัก เพราะมีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ ที่มีน้อยและไม่เพียงพอ"

พื้นที่สวนของคุณสมพรนั้น ปัญหาเรื่องน้ำจึงเป็นปัญหาใหญ่ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สูงมีสภาพเป็นดินลูกรังด้วย ซึ่งสิ่งที่สามารถทำได้คือ ต้องขุดเจาะบ่อบาดาลที่ความลึกประมาณ 60 เมตร ดึงน้ำขึ้นมาใช้หล่อเลี้ยงไม้ผลที่ปลูก

"ตอนนี้ก็ลงทุนวางสปริงเกลอร์ไว้ทั่วสวนแล้ว เปิดน้ำให้เป็นแปลงๆ ทำให้ปัญหาลดลงไปมาก"

ดังนั้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจะสุกและสามารถเก็บเกี่ยวได้ และต่อมาในเดือนมีนาคม เจ้าของสวนก็จะต้องระดมคนงานมาช่วยกันเก็บมะยงชิดและมะปรางหวานบรรจุลงรังเพื่อส่งให้กับพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อถึงในสวน

"ถ้าเป็นมะยงชิด ที่เราคัด ราคาส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท ขนาดลูกประมาณ 15-16 ลูก ต่อกิโลกรัม ส่วนแบบคละขนาดราคาอยู่ที่ประมาณ 100 บาท"

เมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา ที่สวนของคุณสมพรสามารถเก็บมะยงชิดจำหน่ายได้มากกว่า 3 ตัน

"มะยงชิด ต้องอาศัยเวลา กว่าจะเก็บผลผลิตได้บ้างก็ประมาณ 6 ปี"

คุณสมพรบอกอีกว่า สำหรับพื้นที่ปลูกมะยงชิดในปัจจุบันนี้ ส่วนมากมีสภาพเป็นดินลูกรัง ทำให้การเก็บกักความชื้นไม่ค่อยดี

"ตอนแรกเราก็ไม่แน่ใจหรอกว่า ปลูกแล้วจะได้ผลหรือเปล่า เพราะเป็นดินลูกรัง แต่อาศัยสังเกตว่า มะปราง มะยงชิด โตขึ้นทุกปี ก็เลยทำให้มีกำลังใจ"

กำลังใจที่มีเมื่อเห็นมะยงชิด มะปรางหวานสามารถขึ้นได้ในพื้นที่ดินลูกรัง จึงทำให้คุณสมพรลงทุนซื้อกิ่งพันธุ์มาปลูกอย่างต่อเนื่อง โดยราคากิ่งพันธุ์มะยงชิดพันธุ์ไข่ไก่ที่นำมาปลูกนั้นอยู่ที่กิ่งละ 150 บาท ระยะปลูกระหว่างต้นประมาณ 6 เมตร ซึ่งในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้กิ่งพันธุ์ประมาณ 45 กิ่ง

"ในสวนจะมีต้นมะยงชิดมากกว่ามะปรางหวาน เพราะหากิ่งพันธุ์ได้ง่ายกว่า"

เมื่อถามถึงการจัดการดูแลมะยงชิดและมะปรางหวาน คุณสมพรบอกว่า ในช่วงที่ยังไม่ให้ผลผลิต การดูแลไม่ค่อยมีมากนัก มีเพียงการให้น้ำ ให้ปุ๋ยบ้างในช่วงปีแรกที่ปลูก เพื่อให้มะยงชิดและมะปรางหวานตั้งตัวได้ ซึ่งด้วยการที่ปลูกแซมในสวนมะม่วง ดังนั้น เมื่อจัดการดูแลมะม่วง มะยงชิดและมะปรางหวานก็จะได้รับไปด้วย และในวันนี้เมื่อมะยงชิดและมะปรางหวานเริ่มให้ผลผลิตแล้ว มะม่วงที่มีอยู่เดิมจึงเริ่มถูกตัดโค่นลงเพื่อให้มะยงชิดและมะปรางหวานสามารถเติบโตได้เต็มที่

"เป็นไม้ผลที่ปลูกง่ายนะ เสียอย่างเดียวโตช้า เราต้องใจเย็นๆ รอเวลา"

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ต้นมะยงชิด มะปรางหวาน เติบโตขึ้น และเริ่มติดผล การจัดการดูแลจะมีมากขึ้นในช่วงต้นแตกใบอ่อนและติดผล

ในช่วงที่มะยงชิดติดลูกและมีขนาดเล็ก ในช่วงนี้สิ่งที่ต้องการดูแลคือ การให้น้ำ ซึ่งคุณสมพรบอกว่าให้น้ำค่อนข้างถี่ อาจเป็น 3 วันครั้ง แต่เมื่อลูกเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น จะเลื่อนการให้น้ำออกไปเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

"เราจะเปิดน้ำรดตั้งแต่ 8 โมงเช้า ไปจนถึง 5 โมงเย็น เพราะดินของเราเป็นดินลูกรังจะเก็บน้ำไม่ดี จึงต้องให้น้ำมากกว่าปกติ"

ส่วนการให้ปุ๋ย คุณสมพรบอกว่า จะมีการให้ปุ๋ยคอกประมาณปีละ 1 ครั้ง ต้นหนึ่งประมาณครึ่งถุง ซึ่งคุณสมพรบอกว่า จะไม่ค่อยให้ปุ๋ยมากนัก เพราะถ้าให้มากเกินไป ต้นมะยงชิดจะมีแต่ใบ นอกจากนี้ ในช่วงที่ติดลูกจะมีการเสริมการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบให้ด้วย

"ปุ๋ยทางใบเราจะให้ในช่วงที่เริ่มติดลูกเล็กอยู่ 2 สัปดาห์ ฉีดครั้งหนึ่ง แต่เมื่อลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นก็จะหยุดการให้ปุ๋ยทางใบ"

สิ่งที่สำคัญอีกประการคือ การคุมเรื่องเพลี้ยไฟ เพราะจะเป็นศัตรูที่เข้ามาทำให้เกิดปัญหาที่ผลมะยงชิด

"ถ้าเพลี้ยไฟเข้า ผิวจะลายไม่สวย ขายไม่ได้ราคา ซึ่งต้องคุมให้ได้ และอีกช่วงที่ต้องระวังคือ ช่วงที่แตกใบอ่อน ต้องคุมให้ได้ อย่าให้มีแมลงมากัดกินใบ ซึ่งจะทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ให้ผลผลิตไม่ดี"

"เรื่องจัดการดูแลไม่ค่อยมีมากนัก จะดูแลมากๆ ก็แค่ช่วงแตกใบอ่อนกับช่วงติดผลเท่านั้น หลังจากนั้นก็มีเรื่องตัดแต่งกิ่งบ้าง หลังจากที่เก็บผลหมดแล้ว"
คุณสมพร กล่าวในที่สุด

นี่คือ อีกเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่ก้าวมาสู่การเป็นเจ้าของสวนมะยงชิดและมะปรางหวาน ซึ่งผู้สนใจอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือหาข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับมะยงชิด มะม่วง สามารถร่วมเดินทางไปกับคณะเกษตรสัญจร ของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านและเส้นทางเศรษฐีได้ตามรายละเอียดในโฆษณา ซึ่งคุณสมพรบอกว่า จะให้ข้อมูลกันแบบไม่ปิดบังและที่สำคัญจะให้เลือกซื้อเลือกหามะยงชิดกันได้อย่างเต็มที่เลยทีเดียว

ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
พิจิตร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 402
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM