เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เพราะเหตุใด เกษตรกรไทยยังยากจน
   
ปัญหา :
 
 
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีการส่งออกสินค้าเกษตร นำเงินตราเข้าประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี แต่ด้วยเพราะเหตุใด เกษตรกรไทยจึงยังคงยากจนอยู่เหมือนเดิม หรืออาจจะแย่ลงกว่าในอดีต ผมขอรบกวนคุณหมอเกษตร โปรดวิเคราะห์ให้ด้วยครับว่าเกิดจากอะไร และถือโอกาสขอบคุณมาใน จ.ม. ฉบับนี้ ขออวยพรให้คุณหมอเกษตรและผู้ร่วมงานจงประสบแต่ความสุข มีสุขภาพแข็งแรง อยู่คู่กับนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านตลอดไป
วิธีแก้ไข :
 
ปัญหาการเกษตร นั้นเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้เกษตรกรยังคงยากจน ตามที่คุณวรวิทย์กล่าวมาข้างต้น ปัจจัยแรก นับว่าสำคัญมาก คือเมื่อนำสถิติของปริมาณน้ำฝนของประเทศไทยในรอบ 90 ปี มาวิเคราะห์โดยละเอียด พบว่าในทุกๆ 10 ปี จะเกิดสภาวะแห้งแล้งถึง 4 ปี แล้งพอทนได้ 2 ปี และแล้งอย่างรุนแรง 2 ปี หากเกิดติดต่อกัน 2-3 ปี จะเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง สมัยก่อนถึงกับกินเผือกกินมันหรือขุยไผ่แทนข้าว ตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่เคยเล่าให้ฟัง จากนั้นน้ำท่วมอีก 3 ปี จะมีฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลเป็นปกติเพียง 3 ปีเท่านั้น เมื่อนำสถิติของการเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ่มาเปรียบเทียบกัน ผลปรากฏว่าทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นตรงกันเกือบทุกประการ ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่คุณสมพร อิศรานุรักษ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการปลูกพืช กรมวิชาการเกษตร สรุปไว้คือ ปีใดมีพายุดีเพรสชั่นพัดเข้าสู่ประเทศไทย 3 ลูก ปีนั้นการเพาะปลูกจะอุดมสมบูรณ์ดี แต่หากน้อยกว่า 3 ลูก ปีนั้นจะแห้งแล้ง และหากปีใดมากกว่า 3 ลูก จะเกิดน้ำท่วมเสียหาย ดังนั้น ในทุกๆ รอบ 10 ปี การเกษตรจะได้ผลดีเพียง 3 ปี นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าปัญหาเกิดขึ้นมาช้านานแล้ว ท่านที่มีอายุเกิน 50 ปี ขึ้นไป คงพอจะจำได้ว่า ในปี 2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นในแถบที่ลุ่มภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครเมืองหลวงของประเทศ ในคราวนั้นมีผลทำให้ข้าวพันธุ์ดีสูญพันธุ์ไปเลยก็มี นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าประเทศเราแม้จะมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ แต่ยังเกิดปรากฏการณ์น้ำท่วมทำความเสียหายรุนแรงมาแล้ว ยิ่งในปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ลดลง อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ส่งผลให้แสงแดดแผดเผาน้ำทะเลให้กลายเป็นไอลอยขึ้นสู่บรรยากาศมากขึ้น ทำให้ปริมาณฝนตกมากขึ้นตามไปด้วย ปัจจัยที่สอง ประเทศไทยยังขาดข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรที่เกษตรกรจะค้นหาได้ ทำให้การผลิตสินค้าเกษตรยังปฏิบัติเหมือนเดิมสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ทั้งนี้ มีการยอมรับกันโดยทั่วไปหรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศก็ตาม ต่างชื่นชมความสามารถของเกษตรกรไทยว่ามีความสามารถในการผลิตสูงไม่แพ้ชาติอื่น หรืออาจเหนือกว่าด้วยซ้ำไป แต่เมื่อขาดข้อมูลจึงเปรียบเสมือนกับการเดินเรือที่ไม่มีเข็มทิศหรือเรด้า ทำให้การเดินทางไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมายปลายทาง ขอยกตัวอย่างประเทศอิสราเอล ที่ประสบความสำเร็จในการส่งออกสินค้าเกษตร และอุปกรณ์สนับสนุนการผลิตด้านการเกษตร ที่นั่นมีสถาบันเพื่อการส่งออก ทำหน้าที่หาข้อมูลความต้องการสินค้าจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ทำให้เป้าหมายการผลิตสินค้าเป็นที่ต้องการของลูกค้า ผมขออนุญาตเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับอิสราเอลอีกบางแง่มุม คือผมมีโอกาสเดินทางไปอิสราเอลมาแล้วครั้งหนึ่ง สังเกตพบว่าแรงงานในฟาร์มส่วนใหญ่เป็นคนไทย ผมสอบถามเจ้าของฟาร์มได้รับคำตอบว่า คนไทยทำงานเก่ง ฝีมือดี แถมดื่มเหล้าเก่งอีกด้วย ขอยอมรับว่าระบบข้อมูลข่าวสารของเราจำเป็นต้องปรับปรุงอีกมาก ปัจจัยที่สาม ประชากรประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศมีอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้น จะเห็นว่าจำนวนคน 60 คน ผลิตสินค้าเกษตรหรืออาหารหล่อเลี้ยงคน 40 คน สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือปริมาณผลิตเกินความต้องการของผู้บริโภคอย่างแน่นอน นั่นหมายถึง ต้องอาศัยการส่งออกส่วนเกินเพียงประการเดียว ผู้ซื้อจึงจะสามารถกดราคาได้ตามความต้องการ ปีใดที่ส่งสินค้าออกได้มาก ไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือมันสำปะหลังก็ตาม ปีนั้นนับว่าโชคดี ที่โชคดีนั้นเนื่องจากประเทศคู่แข่งอาจเกิดปัญหาสภาวะฝนแล้งหรือน้ำท่วม จนไม่สามารถผลิตสินค้าส่งออกพอเพียงที่แข่งขันกับเราได้นั่นเอง ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่พัฒนาแล้วจะคงจำนวนเกษตรกรไว้ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น ทำให้การบริหารจัดการของรัฐง่ายขึ้น และปัจจัยที่สี่ เกษตรกรไม่นิยมรวมตัวเป็นองค์กร โดยเฉพาะสหกรณ์ที่สามารถระดมทุน การสร้างพลังในการต่อรอง การใช้อุปกรณ์การเกษตรราคาแพงร่วมกันเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตลง มีการประชุมระดมความคิดและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารได้ดีกว่า การไม่รวมกลุ่มที่เป็นปึกแผ่น ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่การจัดการเรื่องสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จอยู่ในระดับต่ำ จึงมีผลทำให้เกษตรกรไทยไม่มีพลังต่อรองราคาผลผลิตมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบัน หากรัฐบาลเข้ามาอุ้มชูไม่ว่าจะเป็นวิธีการจำนำผลผลิตหรือการแทรกแซงราคา ผลตามมาก็มักล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ในที่สุดหากพร้อมรับกระแสรับสั่งแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในไร่นา ปัญหาความยากจนของเกษตรกรย่อมบรรเทาลงได้ในที่สุด

ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
19
ตำบล / แขวง :
คูคต
อำเภอ / เขต :
ลำลูกกา
จังหวัด :
ปทุมธานี
รหัสไปรษณีย์ :
12130
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 404
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM