เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
บรอมีเลียดส์ ปลูกให้งามได้ หากรู้ใจ
   
ปัญหา :
 
 
ซื้อบรอมีเลียดส์จากตลาดต้นไม้มาปลูก แต่เมื่อนำกลับมาปลูกที่บ้านระยะหนึ่ง ต้นกลับไม่งาม เป็นไปตามที่เคยทราบกันมาก่อน ผมจึงขอถามว่าจะปลูกและดูแลอย่างไร ต้นบรอมีเลียดส์จะงามเหมือนกับที่วางจำหน่ายในตลาดต้นไม้ทั่วไป ขอบคุณ

วิธีแก้ไข :
 
บรอมีเลียดส์ หรือ สับปะรดสี ลักษณะเด่นของบรอมีเลียดส์คือ ส่วนใหญ่จะมีลำต้นสั้น ใบเรียงวนรอบแกนจากซ้ายไปขวา ใบประดับมีสีฉูดฉาด โดยเฉพาะในระยะกำลังออกดอก บางสายพันธุ์ใบอาจมีลวดลายสวยงาม ทั้งนี้ บรอมีเลียดส์ชนิดใบบางเจริญเติบโตได้ดีในที่ร่ม ส่วนชนิดใบหนาและขอบมีหนามเจริญเติบโตได้ดีในที่มีแสงแดดจ้า ทั้งนี้ รูปร่างใบมีทั้งกว้าง แคบ และบางสายพันธุ์อาจจะมีลักษณะเป็นเส้นขนาดเล็กก็มี ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกแทงออกที่ส่วนยอด ดอกประกอบด้วยชั้นของกลีบเลี้ยงและกลีบดอกชนิดละ 3 กลีบ เกสรเพศผู้เรียงตัวเป็น 2 วง วงละ 3 อัน ส่วนเพศเมียมีรังไข่ 3 พู บรอมีเลียดส์ส่วนใหญ่เป็นต้นกะเทย ดอกจะบานจากโคนช่อดอกไปยังส่วนปลาย ผลและเมล็ดของบรอมีเลียดส์ ผลเป็นชนิดเนื้อนุ่ม สีฉูดฉาด ในหนึ่งผลมีหลายเมล็ด ขนาดเล็ก รูปร่างกลมรี ถิ่นที่พบบรอมีเลียดส์มากที่สุดคือ ในประเทศเม็กซิโก บราซิล ชิลี เปรู โคลัมเบีย และคอสตาริกา นอกจากนี้ ยังพบการกระจายตัวอยู่บ้างในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา และภาคใต้ของประเทศอาร์เจนตินา ปัจจุบันสำรวจพบว่ามีบรอมีเลียดส์อยู่ประมาณ 2,000 ชนิด ในปี พ.ศ. 2236 ชาวยุโรปเป็นผู้นำบรอมีเลียดส์จากป่าแถบอเมริกาใต้ไปปลูกเป็นไม้ประดับในบ้านเรือน ส่วนในประเทศไทยมีการบันทึกไว้ว่า มีการปลูกสับปะรดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2223 เป็นต้นมา ส่วนบรอมีเลียดส์หรือสับปะรดสี มีการนำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับเมื่อไม่นานมานี้เอง วิธีปลูกบรอมีเลียดส์ให้งาม ต้องรู้จักนิสัยของพืชชนิดนี้ก่อนเป็นเบื้องต้น โดยธรรมชาติแล้ว บรอมีเลียดส์ส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดอยู่บนภูเขาเขตร้อน จึงชอบอากาศเย็นและชื้น การนำพืชชนิดนี้มาปลูกในประเทศไทยจำเป็นต้องพรางแสงให้เหลือเพียง 40-60 เปอร์เซ็นต์ และรักษาอุณหภูมิในโรงเรือนไว้ที่ 24-32 องศาเซลเซียส และถ้าอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างกลางวันกับกลางคืน ประมาณ 4 องศาเซลเซียส จะช่วยกระตุ้นให้บรอมีเลียดส์มีสีของใบสดใสและฉูดฉาดยิ่งขึ้น

วัสดุปลูก ควรเป็นวัสดุปลูกที่ระบายน้ำได้ดีและเก็บรักษาความชื้นไว้ได้อย่างพอเพียง ไม่เป็นพิษกับพืชและสลายตัวช้า โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมใช้ส่วนผสมจากทรายหยาบ ปุ๋ยอินทรีย์ และใบก้ามปูผุ ในอัตราส่วน 3:1:1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน และควรเติมกาบมะพร้าวสับขนาดเล็กอีกครึ่งส่วน ภาชนะปลูกควรใช้กระถางดินเผา เนื่องจากมีน้ำหนักทำให้กระถางล้มยาก ระบายน้ำและอากาศได้ดีกว่ากระถางพลาสติค ให้เลือกขนาดกระถางที่พอเหมาะกับขนาดต้นบรอมีเลียดส์ ตัวอย่างเช่น ต้นสูง 30 เซนติเมตร ควรปลูกในกระถางขนาดมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 เซนติเมตร ไม่ควรปลูกต้นบรอมีเลียดส์ลงดินในกระถางลึกเกินไป โดยให้โคนใบอยู่ในระดับผิวดินก็พอ ต้องการบำรุงต้นให้สมบูรณ์แข็งแรง ด้วยการใส่ปุ๋ย สูตร 14-14-14 หรือ 15-15-15 อัตรา 1/4 ช้อนชา ต่อกระถาง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 เซนติเมตร หรือ 6 นิ้ว โรยรอบโคนต้นและรดน้ำตาม ใส่อัตราเดียวกันทุก 3-4 เดือน ระวังอย่าให้เม็ดปุ๋ยสัมผัสกับส่วนใดส่วนหนึ่งของบรอมีเลียดส์ เพราะจะทำให้ส่วนที่สัมผัสเน่าเสียหาย

วิธีขยายพันธุ์ ทำได้ทั้งวิธีแยกหน่อและเพาะเมล็ด

โรคสำคัญที่พบเสมอ เช่น โรครากเน่า เกิดจากดินปลูกอัดแน่นมากเกินไป ทำให้ระบายน้ำได้ไม่ดี วิธีแก้ไข โดยการปรับปรุงดินให้ร่วนซุยด้วยการเพิ่มอินทรียวัตถุหรือใช้ซีโอไลต์คลุกเคล้าลงดินในกระถาง ส่วนแมลงศัตรูที่พบเสมอ เช่น เพลี้ยแป้ง ที่เป็นแมลงชนิดหนึ่ง มีผงสีขาวคล้ายแป้งห่อหุ้มลำตัวไว้ ดูดกินน้ำเลี้ยงที่บริเวณซอกใบ ทำให้บรอมีเลียดส์เจริญเติบโตไม่เป็นปกติ แก้ไขด้วยวิธีใช้มือจับทำลายทิ้งไป หากพบว่าเกิดการระบาดรุนแรงให้ใช้คลอไพริฟอส 20 เปอร์เซ็นต์ อีซี หรือเมทิดาไทออน 40 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา 30 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่น 2 ครั้ง ทุก 7 วัน การระบาดของเพลี้ยแป้งจะหมดไปในที่สุด หมั่นดูแลให้ต้นสมบูรณ์แข็งแรง คุณจะได้ต้นบรอมีเลียดส์ที่สวยงามตามต้องการ

ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
บ้านช่างหล่อ
อำเภอ / เขต :
บางกอกน้อย
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
10700
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 405
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM