เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ทุเรียนพันธุ์ใหม่กลิ่นฉุนน้อยลง
   
ปัญหา :
 
 
กรมวิชาการเกษตรประสบความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนพันธุ์ใหม่ไร้กลิ่น เนื้อแน่น รสชาติดีจริงหรือไม่ ประวัติมีมาเป็นอย่างไร และจะหาซื้อพันธุ์ได้จากแหล่งใด โปรดแนะนำ
วิธีแก้ไข :
 
ทุเรียนพันธุ์ใหม่ เป็นผลงานของกรมวิชาการเกษตร รวม 3 พันธุ์ คือ พันธุ์จันทบุรี 1 จันทบุรี 2 และจันทบุรี 3 มี ดร.ทรงพล สมศรี เป็นหัวหน้าคณะวิจัย เริ่มผสมพันธุ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา สถานที่ทำการวิจัยคงหนีไม่พ้น ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เป้าหมายของการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์เบา เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต้นฤดู เป็นการกระจายช่วงการผลิตให้ยาวนานขึ้น ประการสำคัญคือ ให้ได้พันธุ์ลูกผสมที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด กลุ่มใหม่ที่มีกลิ่นฉุนน้อยลงและมีผลผลิตสูงขึ้นกว่าพันธุ์ที่มีอยู่ การปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีผสมข้ามพันธุ์แบบสลับพ่อแม่ จำนวน 55 คู่ โดยใช้แม่พันธุ์ดี ได้แก่ พันธุ์ชะนี ก้านยาว หมอนทอง กระดุมทอง อีหนัก ทองย้อยฉัตร และชมพูศรี ส่วนพ่อพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ชะนี ก้านยาว หมอนทอง กบพิกุลทอง กบสุวรรณ กบตาขำ พวงมณี อีลีบ กระดุมทอง นกหยิบ กะเทย ชมพูศรี ย่ำมะหวาด ฝอยทอง กบหน้าศาล และกบแม่เฒ่า เมื่อจับคู่กันครบ 55 คู่ ผสมพันธุ์ติดผล ได้เมล็ดลูกผสมช่วงแรก 17,840 เมล็ด จากนั้นนำไปเพาะเมล็ด คัดเลือกลักษณะต้นกล้าที่สมบูรณ์ไว้ 2,743 ต้น ปลูกลงแปลง ใช้ระยะ 3x8 เมตร ส่วนต้นกล้าอีก 333 ต้น เมื่อมีอายุ 8 เดือน นำไปทาบกิ่งบนต้นชะนีที่ให้ผลผลิตแล้ว ในปี พ.ศ. 2542-2544 ต้นทุเรียนเริ่มให้ผลผลิต นำผลทุเรียนสุก จำนวน 1,089 ผล มาคัดเลือก เน้นลักษณะเด่น 5 ลักษณะ ได้แก่ น้ำหนักผล ความหนาของเนื้อผล เปอร์เซ็นต์เนื้อผลต่อน้ำหนักผลทั้งหมด รสชาติและเปอร์เซ็นต์เมล็ดลีบ ในที่สุดคัดเลือกได้ 3 สายพันธุ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2549 กรมวิชาการเกษตรได้พิจารณารับรองพันธุ์ให้เป็นพันธุ์แนะนำ คือ

จันทบุรี 1 เป็นลูกผสมระหว่างแม่ชะนี พ่อหมอนทอง ลักษณะเด่น เป็นทุเรียนพันธุ์อายุเบา มีอายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 104 วัน หลังดอกบาน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน พูด้านนอกผลค่อนข้างสมบูรณ์ ความยาวของก้าน 9.2 เซนติเมตร น้ำหนักผลเฉลี่ย 3.2 กิโลกรัม เปลือกหนา 1.8 เซนติเมตร เนื้อหนา 0.9 เซนติเมตร น้ำหนักเนื้อผล 21.8 เปอร์เซ็นต์ เนื้อสีเหลืองสวย รสชาติดี หวานมัน เนื้อค่อนข้างละเอียด กลิ่นอ่อน เนื้อคงสภาพได้นาน ไม่เละง่าย หลังปลิงหรือปลายขั้วร่วงหล่น

จันทบุรี 2 มีชะนีเป็นแม่ พวงมณีเป็นพ่อ อายุเก็บเกี่ยว 95 วัน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน มีผลค่อนข้างเล็ก น้ำหนักเฉลี่ย 1.9 กิโลกรัม เปลือกหนาเฉลี่ย 2.3 เซนติเมตร เนื้อหนา 0.9 เซนติเมตร น้ำหนักเนื้อต่อผล 15.9 เปอร์เซ็นต์ เนื้อสีเหลืองเข้ม รสชาติดี หวานมัน เนื้อเหนียวละเอียด และมีกลิ่นอ่อน และ

จันทบุรี 3 เป็นลูกของแม่ก้านยาวและพ่อชะนี อายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 97 วัน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูของการออกสู่ตลาดของทุเรียน ลักษณะผลค่อนข้างกลม พูภายนอกสมบูรณ์ ความยาวของก้านเฉลี่ย 8.6 เซนติเมตร น้ำหนักผลเฉลี่ย 3.3 กิโลกรัม เปลือกหนา 2.2 เซนติเมตร เนื้อหนา 1.1 เซนติเมตร น้ำหนักเนื้อต่อผล เฉลี่ย 21.8 เปอร์เซ็นต์ เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียดและเหนียว รสชาติดี หวานมัน และมีกลิ่นอ่อน

ทั้งนี้ คณะทำงานยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า แหล่งปลูกที่เหมาะสมกับทุเรียนทั้ง 3 พันธุ์ข้างต้น คือ จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด หรือแหล่งที่มีสภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกับ 3 จังหวัดภาคตะวันออกที่กล่าวมา และข้อควรระวังอย่างยิ่งคือ โรครากเน่าของทุเรียน ดังนั้น การจัดการภายในสวน จำเป็นต้องมีระบบระบายน้ำในแปลงที่ดี ไม่ให้มีน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก มีการตัดแต่งกิ่งให้ลมพัดและแสงส่องผ่านเข้าในทรงพุ่มได้ ปรับลดการใช้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูงในช่วงมีฝนตกชุก จะช่วยป้องกันเกิดโรคนี้ได้ดีที่สุด สำหรับกิ่งพันธุ์นั้นขอให้ใจเย็นสักนิดครับ เพราะปัจจุบันอยู่ระหว่างการเร่งขยายพันธุ์อย่างเต็มที่

เพียงมีข่าวว่าประเทศไทยปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนพันธุ์ใหม่ที่มีกลิ่นอ่อนเท่านั้น ชั่วไม่กี่สัปดาห์ มี มร.โธมัส ฟูลเลอร์ นักข่าวชาวสหรัฐอเมริกาบินตรงมาสัมภาษณ์ ดร.ทรงพล สมศรี นำข้อมูลลงตีพิมพ์ในหนังสือในสหรัฐอเมริกาทันที ดังนั้น พอจะอนุมานได้ว่า ทุเรียนกลิ่นอ่อนจะเป็นตัวแทรกเข้าตลาดผลไม้ของสหรัฐอเมริกาได้อย่างแน่นอน ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่ ดร.ทรงพล สมศรี สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-0583 ต่อ 121 ในวันและเวลาทำการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
บางแวก
อำเภอ / เขต :
ภาษีเจริญ
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
10160
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 407
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM