เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
สายหยุด พรหมศิริ กับอาชีพเลี้ยงปลากะพง แบบอย่างที่ดี ที่บางปะกง
   
ปัญหา :
 
 
เอ่ยชื่อ คุณป้าสายหยุด พรหมศิริ ผู้คนที่อาศัยอยู่ริมน้ำบางปะกงใกล้กับปากอ่าวทะเล คงรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ด้วยว่าคุณป้าสายหยุดเป็นคนพื้นที่นี้ และยึดอาชีพเลี้ยงปลาริมแม่น้ำมายาวนานกว่า 20 ปี มิหนำซ้ำยังพัฒนาตนเองเป็นแม่ค้าคนกลางรับซื้อผลผลิตปลาจากชาวบ้านส่งขายภัตตาคาร ร้านอาหาร และตลาดสดทั่วๆ ไปด้วย

เป็นแม่ค้าที่ใจดี ยามลูกฟาร์มเดือดร้อนเรื่องเงินทุน คุณป้าสายหยุดก็ให้กู้ โดยไม่คิดดอกเบี้ย แถมยังบอกเคล็ดลับการเลี้ยงปลากะพงให้โตเร็ว และปลอดโรคด้วย โดยนำประสบการณ์ที่สะสมมายาวนานมาเผยแพร่

เป็นเกษตรกรที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ โดยการพัฒนาการเลี้ยงตลอด จนเป็นแหล่งดูงานของผู้คนย่านนี้และนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของกรมประมงด้วย

มิแปลกที่ในปีนี้ คุณป้าสายหยุด พรหมศิริ จึงถูกคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย

ความสำเร็จของคุณป้าสายหยุด มีคุณลุงเบิ้ม พรหมศิริ อยู่เบื้องหลังคอยให้คำปรึกษาแนะนำ และลูกๆ อีก 2 คน ที่กำลังเรียนปริญญาโทคอยให้กำลังใจ

คุณป้าสายหยุดมีบ้านพักอยู่ติดแม่น้ำบางปะกง ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โทร. (038) 573-251,(081) 829-0502 ฐานะยากจน เดิมยึดอาชีพออกเรือหากุ้ง หอย ปู ปลา ตามชายฝั่งกับคุณลุงเบิ้ม

" ช่วงไหนพายุเข้าหรือมีเวลาว่างก็นำกุ้งมาแปรรูปทำกะปิขายด้วย ซึ่งช่วงนั้นราคารับซื้อถูกมาก เพียงกิโลกรัมละ 3-4 บาท เท่านั้น แต่เราก็ยังทำ เพราะว่าไม่รู้จะยึดอาชีพอะไรดี ความรู้หรือการศึกษาก็เพียงชั้นประถมปีที่ 4 เท่านั้น แถมไปไหนมาไหนไม่ถูกด้วย เนื่องจากวีถีชีวิตส่วนใหญ่อยู่บ้านนอก มีความชำนาญด้านทางน้ำมากกว่าบนบก" คุณป้าสายหยุด กล่าว

คุณป้าสายหยุดและคุณลุงเบิ้มอดทนทำอาชีพประมงชายฝั่งและทำกะปิขายมาระยะหนึ่งก็เลิก ด้วยเหตุผลสัตว์น้ำมีปริมาณลดน้อยลง ประกอบกับคุณลุงเบิ้มมีสุขภาพร่างกายที่ไม่ค่อยดีด้วย

" เราเลิกอาชีพประมงชายฝั่ง เมื่อปี 2529 ตอนนั้นมีเงินเก็บสะสมไว้ประมาณ 100,000 บาทเศษ เท่านั้น และไม่กล้าที่จะไปลงทุนทำอะไรเลย เพราะว่าต้องการเก็บเงินให้ลูกๆ เรียนหนังสือ วันหนึ่งนึกได้ว่าถ้าเราไม่ลงทุน เงินเก็บสะสมไว้จะค่อยลดน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีรายจ่ายทุกวัน ฉันเลยทดลองเลี้ยงปลากะพงในกระชังดู โดยครั้งแรกเลี้ยง 4 กระชัง เท่านั้น ปรากฏว่าเมื่อจับปลาออกไปจำหน่ายได้กำไรมาก จึงมีกำลังใจที่จะขยายกระชังเลี้ยงปลาไปเรื่อยๆ" คุณป้าสายหยุด กล่าว

ปัจจุบันนี้ คุณป้าสายหยุดมีกระชังเลี้ยงปลากะพงอยู่ประมาณ 60 กระชัง ซึ่งสามารถจับผลผลิตปลาขายส่งตลาดได้วันละ 600-700 กิโลกรัม เลยทีเดียว

" เมื่อปี 2529 เราขายปลาได้กิโลกรัมละ 69 บาท ในขณะที่อาหารหรือปลาเหยื่อราคา 3 บาท ต่อกิโลกรัม เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ 8-9 บาท ต่อกิโลกรัม แม้ว่าราคารับซื้อผลผลิตปลาจะสูงถึง 100 บาท ก็ตาม แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว กำไรยังสู้ช่วงแรกๆ ไม่ได้เลย" คุณป้าสายหยุด เล่าย้อนถึงผลตอบแทนที่ได้รับ

อย่างไรก็ตาม คุณป้าสายหยุดสามารถแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการจับปลาเป็นขายแทนปลาตาย ซึ่งราคาซื้อในช่วงนี้สูงถึงกิโลกรัมละ 130 บาท และถ้าขับรถไปส่งสินค้าเองราคาขึ้น 150 บาท เลยทีเดียว

" ตอนนี้เรามีผู้รับซื้ออยู่เกือบ 50 ราย มีทั้งในตลาดสด และร้านอาหารทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทุกๆ วัน ต้องจับปลาส่งขายวันละ 1-2 ตัน ถ้าของเราไม่มีหรือมีน้อยก็ซื้อมาจากเพื่อนบ้านหรือสมาชิก ซึ่งมีอยู่เกือบ 40 ราย ทีเดียว"

คุณป้าสายหยุด มีรถยนต์กระบะเอง พร้อมติดตั้งเครื่องออกซิเจนและถังน้ำเต็มท้ายกระบะ ทั้งนี้เพื่อไว้บรรทุกปลาตัวเองและเพื่อนบ้านส่งขายตามร้านอาหารหรือตลาดทั่วๆ ไป

" เรามีการบริการ 2 อย่าง คือจะเดินทางมาซื้อปลาเอง หรือให้เราไปส่งเองก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ซื้อ นอกจากนี้ ที่นี่เรายังรักษาคำพูดด้วย สมมุติว่า ผู้ซื้อต้องการซื้อปลา 200 กิโลกรัมต่อวัน หากเรารับปากแล้ว ต้องจัดการให้ได้ หากทำไม่ได้ เท่ากับไม่รักษาคำพูด ต่อไปตลาดหรือผู้ซื้อจะหมดศรัทธาในตัวเรา เพราะฉะนั้นแล้วหากฉันพูดหรือรับปากแล้ว ต้องทำให้สำเร็จ"

ไม่แปลกที่ตลาดรับซื้อติดต่อเข้ามาตลอดเลย และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

" หากสินค้าเราไม่มี เราก็ติดต่อเพื่อนสมาชิก หักค่าน้ำมันและค่าใช้จ่ายอื่นๆ แล้ว ได้เงินเข้ากระเป๋าเพียงกิโลกรัมละ 2-3 บาท เอง แต่ต้องทำอาชีพนี้ เพราะว่าจะเป็นตัวกลางช่วยเหลือด้านการตลาดให้กับชาวบ้าน ถ้าปล่อยให้พวกเขา เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาเข้าใจเรื่องการตลาดเหมือนกับเราหรือเปล่า ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดความเสียหายตามมาอย่างคาดไม่ถึง" คุณป้าสายหยุด กล่าว

อย่างไรก็ตาม คุณป้าสายหยุด ไม่ได้บังคับใคร หากคนไหนมีความสามารถก็จะสนับสนุนอย่างเต็มที่เลยทีเดียว

" ตอนนี้มีคนเลี้ยงปลาเยอะ แต่คนทำเรื่องการตลาดมีน้อย เราต้องช่วยต่อไป แต่ถ้าวันไหนใครมีความพร้อม และมองตลาดได้ดี เราก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ โดยไม่ปิดปังข้อมูลอะไรเลย"

คุณป้าสายหยุด เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาว่า เมื่อก่อนบริเวณนี้ไม่มีใครรู้จักหรือเลี้ยงปลาในกระชังเลย เราเป็นคนแรกที่กล้าเลี้ยงปลา และเป็นคนแรกที่เดินหาตลาดรับซื้อเอง

" ช่วงแรกลำบากมาก เพราะว่ายังไม่มีความรู้เรื่องวิธีการเลี้ยง ต้องคอยสังเกตการกินอาหาร และความเป็นอยู่ของปลาในกระชัง เมื่อเลี้ยงประสบความสำเร็จ ก็มีปัญหาด้านตลาดรับซื้ออีก เนื่องจากพวกพ่อค้าแม่ค้าไม่รู้ว่าเราเลี้ยงปลากะพงอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้นไม่มีใครเข้ามารับซื้อเลย ฉันต้องเดินทางไปหาแม่ค้าเอง ซึ่งช่วงนั้นไปที่ตลาดสดจังหวัดสมุทรปราการ ปรากฏว่า เขารับซื้อหมด กลับบ้านดีใจมาก ว่าเราสามารถทำได้ พร้อมกับบอกเพื่อนๆ และญาติๆ ให้หันมาเลี้ยงปลาในกระชังดีกว่า" คุณป้าสายหยุด กล่าว

ที่ตรงนี้เป็นที่ดั้งเดิมของพ่อแบ่งให้ลูก ได้คนละ 2 งาน เลี้ยงปลาออกไปเรื่อย ที่บ้านสร้าง อำเภอพนมสารคาม มี 39 ไร่ เลี้ยงปลา เข้าไปข้างในซอยอีก 1 ไร่ และที่ห้องเช่าอีก 1 ไร่ ที่นี่ไร่ละ 6 ล้านบาท ที่พนมฯ ไร่ละไม่กี่หมื่น ให้เขาเช่าทำนา ตอนนี้อายุ 58 คุณลุง 61 ชื่อคุณลุงเบิ้ม อยู่บ้านเลขที่ 40/3 เมื่อก่อน พ.ศ. 2529 รายได้จากการทำกะปิดีมาก เดือนนึงได้เงินเป็นแสน

สำหรับวิธีการเลี้ยงปลากะพงของคุณป้าสายหยุดนั้น เริ่มตั้งแต่การเตรียมการทำกระชัง ที่นี่ส่วนใหญ่จะออกแบบโครงสร้างด้วยเหล็ก เนื่องจากแข็งแรงและมีอายุใช้งานนานเกือบ 7 ปี ซึ่งมีขนาดกว้าง 5 เมตร และยาว 5 เมตร ลึก 2 เมตร

ใช้โฟมเป็นทุ่นรับน้ำหนักของกระชัง ซึ่งคุณป้าสายหยุดจะซื้อตาข่ายเขียวมาหุ้มโฟมทั้งหมด เพื่อต้องการยืดอายุของทุ่นให้ยาวนานเกือบ 5 ปี เลยทีเดียว

" หากเราไม่หุ้มโฟมไว้ พวกปู หอย มากัดแทะวันละเล็กน้อย มันก็ค่อยๆ เปื่อยไปทีละนิด ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง นอกจากนี้ หากเราใช้ตาข่ายเขียวหุ้มไว้ โอกาสที่โฟมจะกลายเป็นขยะในน้ำก็มีน้อยลงด้วย เพราะว่าเมื่อหมดอายุเราสามารถนำขึ้นฝั่งได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทีเดียว โดยไม่เป็นมลพิษหรือขยะทางน้ำอะไรเลย"

ตัวกระชังทำด้วยอวน หากเป็นกระชังที่ใช้เลี้ยงลูกปลา จะใช้ตาอวน ขนาด 6 หุน ถ้าเป็นปลาใหญ่หรือขนาด 5 นิ้ว ขึ้นไป ใช้อวนตา 4 เซนติเมตร

" เมื่อปลาใหญ่ขึ้น เราไปใช้ตาอวนเล็ก ขี้ปลาหรือเศษอาหารที่เหลือ มันไม่สามารถเล็ดลอดออกไปได้ ในขณะที่น้ำจากภายนอกก็ไหลเข้ามาไม่สะดวก ดังนั้น โอกาสที่ปลาเป็นโรคหรือสุขภาพอ่อนแอ ก็มีสูงขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่ดี ทำให้ปลาเกิดความเครียด และปัญหาด้านสุขภาพก็ตามมา" คุณป้าสายหยุด กล่าว

ทุกๆ กระชัง จะปูด้วยแผ่นไม้เนื้อแข็ง ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการเดินให้อาหารปลาและจับปลาไปขายด้วย

ป้าสายหยุด จะซื้อลูกปลา ขนาด 3 นิ้ว จากโรงเพาะฟัก แถวๆ จังหวัดฉะเชิงเทรา ในราคา 6 สลึง ต่อตัว นำมาปล่อยเลี้ยงประมาณ 10,000 ตัว ต่อกระชัง โดยเลี้ยงให้กินอาหารปลาเป็ดบดละเอียดทุกวัน

1 เดือน ผ่านไป ปลาก็เจริญเติบโต ส่วนใหญ่ได้ขนาด 5 นิ้ว คุณป้าสายหยุดก็นำไปเลี้ยงในกระชังที่ขนาดตาอวน 4 เซนติเมตร ส่วนตัวไม่ถึงไซซ์ดังกล่าวก็จะเลี้ยงไว้กระชังเดิมต่อไป

ปลา ขนาด 5 นิ้ว จะปล่อยเลี้ยงในอัตราหนาแน่น 3,500 ตัว ต่อกระชัง ซึ่งคุณป้าสายหยุดบอกว่า เป็นปริมาณที่เหมาะสม

" เราจะให้กินอาหารทุกวัน ยกเว้นช่วงที่สภาพน้ำไม่ปกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝนที่ฝนตกเยอะ ทางชลประทานระบายน้ำออกมา ซึ่งจะนำเอาสารพิษมาด้วย ทำให้ปลาเกิดความเครียด และไม่ยอมกินอาหาร"

" อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้หากปลาไม่ยอมกินอาหารเราจะมีวิธีการแก้ปัญหา โดยการนำท่อออกซิเจนนำมาติดตั้งในกระชัง ปลาก็หายเครียด และยอมกินอาหารเหมือนเดิม" คุณป้าสายหยุด กล่าว

ย่างเข้าเดือนที่ 6 คุณป้าสายหยุดจะสั่งคนงานให้คัดเลือกปลาและแยกเลี้ยงอีกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อให้ปลาแต่ละกระชังมีขนาดเท่าๆ กัน

แม้ว่าเราคัดเลือกไปแล้ว เมื่อตอนเลี้ยงได้ 1 เดือน แต่ย่างเข้าเดือนที่ 6 ต้องคัดเลือกอีกครั้ง ไม่เช่นนั้นเมื่อเราจับปลาขายหรืออายุได้ 8-9 เดือน ปลาจะแตกไซซ์กันมาก และบางตัวมีน้ำหนักเกิน 1 กิโลกรัม ขึ้นไป ซึ่งตลาดไม่ค่อยต้องการ และให้ราคารับซื้อต่ำด้วย ดังนั้น เราจำเป็นต้องคัดเลือกปลาอีกครั้ง ปลาใหญ่ก็นำไปเลี้ยงอีกกระชังหนึ่ง ปลาเล็กก็เก็บไว้ในกระชังเดิม" คุณป้าสายหยุด กล่าว

โดยส่วนใหญ่คุณป้าสายหยุดจะใช้ระยะเวลาเลี้ยงปลานานถึง 9 เดือน จากนั้นก็จะทยอยจับปลาขายเกือบทุกๆ วัน

" ตอนนี้เราเลี้ยงปลาอยู่ประมาณ 60 กระชัง ทั้งปลาเล็กและใหญ่ ซึ่งต้องใช้เงินในการซื้อปลาเป็ดมาเป็นอาหารไม่ต่ำ 20,000 บาท ต่อวัน เพราะว่าในแต่ละวันใช้อาหารประมาณ 2.5 ตัน เลยทีเดียว"

คุณป้าสายหยุด บอกว่า เหตุผลที่เราสามารถเลี้ยงปลาได้มาก 60 กระชัง เพราะว่ามีเงินเก็บสะสมไว้ และส่วนหนึ่งมาจากเงินหมุนเวียนที่ขายผลผลิตปลาแต่ละวันไม่ต่ำ 600 กิโลกรัม ด้วย

" อาชีพเลี้ยงปลานี้ก็มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน เพราะว่ามันอยู่ในน้ำ และไม่รู้ว่าสภาพน้ำในแต่ละวันเป็นอย่างไรบ้าง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีปลาตายมากอย่างกับจังหวัดอ่างทองเลย คิดว่าที่นี่คงมีสภาพแวดล้อมหรือน้ำดีกว่า อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ประมาท พยายามจัดเวรยามเฝ้าดูอยู่ตลอด หากเห็นว่าผิดปกติ ทั้งสีน้ำและตัวปลา เราจะนำออกซิเจนไปใส่ไว้ในกระชัง ถ้ายังไม่หาย เราจะมีเครื่องปั๊มน้ำสวมหัวฉีดน้ำดับเพลิง พ่นบริเวณกระชัง เพื่อให้น้ำหมุนเวียน ก็สามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เหมือนกัน แต่ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวน้อย เนื่องจากสภาพน้ำโดยรวมยังถือว่าดีอยู่" คุณป้าสายหยุด กล่าวทิ้งท้ายถึงแนวทางป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น

นี่คือ อีกหนึ่งตัวอย่างของเกษตรกรไทยที่รู้จักบริหารจัดการได้อย่างยอดเยี่ยม ความสำเร็จของคุณป้าสายหยุดนี้เป็นผลมาจากความขยัน อดทน และความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ทำให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนทั่วไป สมควรแล้วที่ถูกยกย่องให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ฉะเชิงเทรา
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 407
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM