เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
คุยเฟื่องเรื่องบัว ราชินีแห่งไม้น้ำ
   
ปัญหา :
 
 
ซื้อต้นบัวจากตลาดนัดต้นไม้ใกล้บ้าน มีดอกหลายสี ปลูกในกระถางตามคำแนะนำที่ให้มาพร้อม ในระยะนี้ยังสวยงามดี ที่ผ่านมาเคยเห็นบัวมีดอกหลากสี มีใบ และต้น ขนาดต่างๆ อีกทั้งมีชื่อมากมาย จนเกิดความสับสน ดังนั้น ผมจึงเขียนจดหมายมาเรียนถามคุณหมอเกษตรว่า บัวมีกี่ชนิด แต่ละชนิดหรือแต่ละพันธุ์นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร หวังว่าคุณหมอเกษตรจะตอบคำถามของกระผมให้เข้าใจทุกแง่ทุกมุม และขอกราบขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
วิธีแก้ไข :
 
บัว เป็นพืชที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้ประโยชน์มานานกว่า 4,000 ปี จากหลักฐานจารึกลงบนแผ่นหินที่ขุดพบในสุสานหลายแห่งในประเทศอียิปต์ และระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน มีการขุดพบหลักฐานคล้ายคลึงกันที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสินธุที่ประเทศปากีสถาน แม้ในประเทศไทยของเราเองยังพบภาพเขียนดอกบัวตามผนังโบสถ์ได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ปัจจุบันมีการจำแนกบัวออกเป็น 3 สกุล สกุลแรก คือ อุบลชาติ หรือ บัวสาย ชาวอินเดียเรียกว่า โกมุทินี ซึ่งนักวิชาการนิยมเรียกว่า ทรอปิคอล วอเตอร์ ลิลลี่ บัวสกุลนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเขตร้อน เมื่อนำไปปลูกในเขตอากาศหนาวเย็นจะมีอายุไม่เกินหนึ่งปี หรือตายเมื่อย่างเข้าฤดูหนาว บัวสาย คนไทยรู้จักนำสายบัวหรือก้านดอกมาประกอบอาหารมาช้านาน ไม่ว่าจะใช้รับประทานกับน้ำพริก ผัดน้ำมัน หรือต้มกะทิปลาทูก็นิยมกัน นอกจากนี้ บัวสายยังแบ่งออกได้อีกหลายชนิด เริ่มจาก บัวสาย บัวกินสาย หรือ บัวขม มีหัวหรือเหง้ารูปร่างค่อนข้างกลม ส่วนที่เรียกว่า สายบัวหรือก้านดอกมีขนาดเท่านิ้วก้อยของผู้ใหญ่ มีขน ความยาวของสายบัวจะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับระดับน้ำในบ่อหรือสระ ใบมีลักษณะกลมมน ท้องใบสีเลือดหมู มีขน ขอบใบเป็นจักแหลมคล้ายใบเลื่อย มีดอกสีขาว กลีบดอกด้านนอกสีอมชมพู ขนาดใหญ่ ปลายกลีบมีทั้งแหลมและทู่ ดอกบานเต็มที่มีขนาดเท่ากับฝ่ามือ บัวขาว เป็นบัวที่มีดอกสีขาวขนาดใหญ่ มีชื่อเรียกอื่นๆ อีก ได้แก่ โกมุท เศวตอุบล และสัตตบุษย์ และ บัวแดง มีดอกขนาดใหญ่สีแดง มีชื่อไพเราะคือ รัตนอุบล และสัตบรรณ บัวทั้ง 3 ชนิด หรือ 3 พันธุ์ ที่กล่าวมา เป็นบัวที่ดอกบานในเวลากลางคืนและจะหุบกลีบหลังเวลาเที่ยงวันของวันถัดไป บัวขาบ เป็นบัวชนิดดอกใหญ่ มีสีม่วง กลิ่นหอม ลักษณะเด่นก็คือดอกบานตลอดทั้งวัน ภาคเหนือเรียก ป้านดำ ในภาษาทางกวีเรียกว่า นิลอุบล นิลุบล และนิโลตบล บัวผัน มีหัวหรือเหง้ากลม ดอกมีขนาดเล็ก ดอกแรกบานมีสีครามอ่อน แล้วเปลี่ยนเป็นสีม่วง และสีชมพูในที่สุด สายบัวนิยมรับประทานสดกับน้ำพริก บัวเผื่อน มีดอกเล็กสีขาวซีด กลีบในมีสีครามจางแทบมองไม่เห็น ดอกไม่มีการเปลี่ยนสีตั้งแต่เริ่มบานจนเหี่ยว เป็นชนิดดอกบานในเวลากลางวัน และ บัวสุธาสิโนบล มีดอกขนาดใหญ่ กลีบดอกสีม่วง ม่วงคราม ฟ้า และน้ำเงิน กลีบนอกด้านหลังมีสีเขียว กลิ่นหอม โคนเกสรสีเหลือง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแอฟริกาใต้ พระวิมาดา กรมพระสุธาสินีนาถ ในรัชการที่ 5 ทรงนำจากชวาเข้ามาปลูกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2444 ศาสตราจารย์ กสิน สุวตะพันธุ์ จึงได้ขนานนามบัวพันธุ์นี้ว่า สุธาสิโนบล สกุลที่สอง ปทุมชาติ บัวในสกุลนี้ มีอยู่สองชนิด ชนิดแรกมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาเหนือ ลักษณะใบและดอกคล้ายกับบัวหลวงไทย จะแตกต่างกันเฉพาะดอกมีสีเหลืองและมีขนาดเล็กกว่า เคยมีผู้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย แต่ต่อมาเลิกราไป เนื่องจากไม่ทนอากาศร้อน ชนิดที่สองคือ บัวหลวง บัวชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บัวหลวงเป็นพันธุ์ไม้น้ำ ที่มีดอกสวยงาม ทั้งรูปทรงและสีสัน ลักษณะเด่นอยู่ที่มีกลิ่นหอม จึงนิยมใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และประกอบพิธีทางศาสนา นอกจากนี้ ส่วนอื่นๆ ยังนำมาใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นรากหรือเหง้าใช้ปรุงอาหาร ใบใช้ห่อวัสดุเช่นเดียวกับใบตอง กลีบดอกตากแห้งใช้มวนบุหรี่ เกสรใช้เข้าเครื่องสมุนไพร เมล็ดบัวใช้ทำอาหารทั้งหวานและคาว บัวหลวงมีหลายพันธุ์คือ พันธุ์ดอกสีชมพู ออกดอกเป็นพุ่มสวย กลีบสีชมพู มีชื่อเรียกอื่นๆ อีก เช่น ปทุมปัทมา และโกกนุท พันธุ์ดอกสีชมพูดอกเล็ก รูปทรงต้น ใบ และดอก คล้ายกับพันธุ์สีชมพู จะต่างกันที่ขนาดเล็กกว่า พันธุ์นี้นำเข้าจากประเทศจีน จึงเรียกว่า บัวหลวงจีน พันธุ์ดอกสีชมพูซ้อน หรือ สัตตบงกช รูปทรงของดอกมีลักษณะตูม ป้อมกว่าบัวหลวงดอกสีชมพู ขณะดอกบานจะเห็นกลีบดอกขนาดเล็กสีขาวอมชมพูซ้อนสลับสวยงาม ส่วนกลีบอื่นๆ ใกล้กลีบนอกสุด มีลักษณะคล้ายกับกลีบดอกของบัวหลวงสีชมพู บัวพันธุ์นี้เชื่อว่ามีเฉพาะในประเทศไทยและเป็นพันธุ์ที่ไม่ให้เมล็ด พันธุ์ดอกขาว หรือ บุณฑริก ใบและดอกมีลักษณะรูปทรงคล้ายกับพันธุ์ดอกสีชมพู ต่างกันที่ดอกมีสีขาวเท่านั้น และ พันธุ์ดอกขาวซ้อน หรือ สัตตบุษย์ ดอกมีกลิ่นหอมมาก รูปทรงของดอกป้อมคล้ายกับสัตตบงกช และสกุล บัววิกตอเรีย หรือ บัวกระด้ง เป็นสกุลสุดท้าย มีลักษณะเด่นคือ มีดอกขนาดใหญ่ กลม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.0-1.2 เมตร ขอบยกสูงขึ้น ทำมุม 90 องศา กับผืนใบ ก้านใบและท้องใบมีหนามแหลมคม บัววิกตอเรียมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาใต้ มีการนำออกไปปลูกนอกถิ่นกำเนิดครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ ด้วยวิธีปลูกเลี้ยงในเรือนกระจก เมื่อดอกแรกเริ่มบาน นักพฤกษศาสตร์ผู้ดูแลจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย และได้พระราชทานนามให้เรียกบัวสกุลนี้ว่า บัววิกตอเรีย ซึ่งเป็นบัวให้ดอกในเวลากลางคืน ดอกเริ่มบาน มีสีขาว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูในวันถัดไป กลีบด้านนอกสีเขียวและมีหนามแหลม ดอกมีกลิ่นหอมมาก ปัจจุบันมีผู้นำเข้าพันธุ์ใหม่ มีดอกสีขาวและจะเปลี่ยนเป็นสีแดงในวันถัดไป ขอบใบสูงกว่าพันธุ์แรกที่นำเข้ามาปลูกในประเทศ

ความแตกต่างของบัวแต่ละสกุล ดร.เสริมลาภ วสุวัต อดีตผู้เชี่ยวชาญเรื่องยางพารา ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่กลับกลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องบัวของประเทศไทยเลยทีเดียว ท่านได้ให้รายละเอียดไว้ดังนี้ บัวสกุลอุบลชาติ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อน แบ่งแยกย่อยออกเป็นประเภทบานกลางวันคือ บัวผันและบัวเผื่อน ลักษณะขอบใบจักมนปนแหลม เรียงตัวไม่เป็นระเบียบ เส้นใต้ใบเรียบไม่โป่ง และประเภทบานในเวลากลางคืน ได้แก่ บัวสาย มีขอบใบจักแหลมเรียงกันเป็นระเบียบ เส้นใต้ใบโป่ง บัวทั้งสองชนิดนักพฤกษศาสตร์ชาวต่างประเทศเรียกว่า กลุ่มโลตัส แต่นักวิชาการเกษตรเรียกว่า ทรอปิคอล วอเตอร์ ลิลลี่ บัวในสกุลนี้การเจริญเติบโต มีทั้งแทงไหลในแนวตั้งกับพื้นดิน ต่อมาแตกก้านใบและก้านดอกออกจากไหลในระดับเหนือผิวดินเล็กน้อย แล้วยืดตัวโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำ อีกชนิดหนึ่งจะทอดไหลออกจากต้นแม่แผ่ออกตามแนวนอน แล้วแทงรากและต้นออกจากไหล เฉลี่ยทุกๆ 50 เซนติเมตร บัวชนิดนี้จะขยายพันธุ์ได้เร็วกว่าชนิดแรก สกุลปทุมชาติ การเจริญเติบโต จะสร้างไหลออกไปในแนวราบ ใต้ผิวดินตื้นๆ แผ่กระจายออกรอบทิศทาง แล้วแตกรากและต้นใหม่ครอบคลุมพื้นที่กว้างไกล เมื่อไหลแก่จะเปลี่ยนเป็นเหง้าสีน้ำตาล เหง้าจะทนแล้งได้ดี ในฤดูแล้งน้ำแห้งจะพักตัวและกลับมาขยายพันธุ์ได้อีก เมื่อมีน้ำพอเพียง สกุลบัววิกตอเรีย การเจริญเติบโตตามแนวตั้ง เป็นต้นเดี่ยวไม่สร้างไหล การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดเพียงอย่างเดียว บัววิกตอเรียแต่ละต้นต้องการพื้นที่อย่างน้อย 50-60 ตารางเมตร ระบบรากแผ่กระจายออกรอบทิศ รัศมีเฉลี่ยประมาณ 1-2 เมตร

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 12-16 กรกฎาคม 2550 มูลนิธิสวนหลวง ร.9 ร่วมกับ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มูลนิธิวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชมรมผู้รักบัวแห่งประเทศไทย และสมาคมบัวและไม้น้ำนานาชาติ จะจัดงานบัวนานาชาติขึ้น ที่บริเวณสวนหลวง ร.9 ถนนสุขุมวิท 103 แขวงบางบอน เขตประเวศ กทม. 10250 โทร. (02) 328-1391 ในงานมีการจัดแสดงและประกวดพันธุ์บัว จากทั้งในและต่างประเทศอีกกว่า 20 ประเทศ การประกวดบัวจิ๋ว การประกวดจัดตู้พรรณไม้น้ำ การประกวดปลากัด ปลาคาร์พ มีร้านจำหน่ายพันธุ์บัวพร้อมอุปกรณ์ และระหว่างวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2550 จะมีบรรยายพิเศษเรื่อง บัวและไม้น้ำ โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เรื่องบัวจากประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อสัมมนาเรื่องการพัฒนาบัวให้เป็นพืชเศรษฐกิจ มีเนื้อหาประกอบด้วย การปรับปรุงพันธุ์บัว การใช้ประโยชน์และการตลาดบัวในปัจจุบัน

ทั้งนี้ คุณกนกรัตน์ สิทธิพจน์ และ คุณวิโรจน์ หิรัญญูประกรณ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของงาน ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การจัดงานครั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในปีนี้ นอกจากนี้ ยังเป็นการจัดงานสวนหลวง ร.9 มีอายุครบ 20 ปี พอดี ในโอกาสนี้ผมขอเชิญชวนท่านที่รักบัว ไปชื่นชมความงามของบัว ขณะนี้สวนหลวง ร.9 ได้นำบัวจากต่างประเทศไม่น้อยกว่า 20 ประเทศ ซึ่งมีความหลากหลายและสวยงาม ซึ่งแต่ละสายพันธุ์กำลังออกดอกเบ่งบานแข่งรัศมีระหว่างกัน ผมได้นำภาพตัวอย่างมาให้ชมเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนที่ท่านจะได้ชื่นชมของจริง รับรองไม่ผิดหวังครับ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ สวนหลวง ร.9 โทร. (02) 328-1391 ในวันและเวลาทำการ


ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
ปากช่อง
อำเภอ / เขต :
ปากช่อง
จังหวัด :
นครราชสีมา
รหัสไปรษณีย์ :
30130
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 409
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM