เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
วิรังโก ดวงจินดา กับงานพัฒนาแก้วมังกรเพื่อการค้า อยู่ได้ด้วยสายพันธุ์ เน้นคุณภาพผลผลิต
   
ปัญหา :
 
 
หลายปีมาแล้ว ที่แก้วมังกรได้เสนอตัวต่อผู้ปลูกและผู้บริโภคในเมืองไทย ขณะนี้พื้นที่การผลิตได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ ส่วนความนิยมนั้น แรกๆ คนไทยไม่ค่อยชอบนัก แต่เมื่อรู้จักหน้าตา วิธีกิน รวมทั้งมีของคุณภาพดี ทำให้แก้วมังกรเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่แทรกตัวเข้าไปอยู่ในตลาดได้ทุกระดับ ตั้งแต่ตลาดนัดท้องถิ่น ไปจนถึงห้างสรรพสินค้า

แก้วมังกร เป็นพืชที่ผลิตได้แทบทุกภาคของประเทศไทย แต่แหล่งผลิตสำคัญแห่งหนึ่งอยู่แถบดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดแถบนี้เป็นเขตเกษตรที่มีความก้าวหน้า เกษตรกรหัวไวใจสู้ เขาทำการเกษตรแบบเข้มข้น มีผลผลิตต่อหน่วยสูง ใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างคุ้มค่า บางช่วงผ่านไปแถบนั้น เห็นค้างองุ่น เห็นต้นชมพู่ แต่กลับไปอีกครั้งหนึ่ง เห็นแต่ต้นแก้วมังกรเต็มไปหมด แน่นอนเหลือเกินว่า แก้วมังกรเป็นไม้ที่ปลูกแล้วให้ผลผลิตเร็ว ให้ผลผลิตที่คุ้มค่า แต่ผู้ปลูกต้องรอบรู้ และเอาใจใส่พอสมควร

คุณวิรังโก ดวงจินดา เกษตรกรอยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 1 ตำบลหลักสอง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร 74120 เป็นผู้ที่ไหวตัวเร็ว ปลูกแก้วมังกรในพื้นที่ 80 ไร่ ส่วนเหตุผลว่า ปลูกขนาดนี้ได้ผลดีมากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามกันต่อไป



เป็นนักปรับปรุงพันธุ์

เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ


นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เคยนำเรื่องราวของคุณวิรังโก ลงเผยแพร่ 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งมีเรื่องไม่ซ้ำกัน เริ่มจากมะม่วงนอกฤดู ชมพู่ ลำไย ฝรั่งเจินจูป่า ล่าสุดคือเรื่องราวของแก้วมังกร

คุณวิรังโก บอกว่า พื้นที่การผลิตแก้วมังกรของตนเอง ปัจจุบันแบ่งเป็นขนัด แต่ละขนัด แบ่งแต่ละสายพันธุ์ออกไป แต่ที่มากสุดคือสายพันธุ์เวียดนามเนื้อสีขาว แต่ละปี ผลผลิตแก้วมังกรออกจากสวนนี้ราว 100 ตัน

"ของผมนี่ปลูกหลายรุ่น ทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ บางแปลงยังไม่ให้ผลผลิต เรื่องของสายพันธุ์นั้น แรกทีเดียวปลูกเวียดนามอย่างเดียว แต่ต่อมามีคนปลูกมากขึ้น อย่างเวียดนามเจ้าของเดิมปลูกมาก เขาทำได้ดี ส่งเข้ามาตีตลาด เช่าห้องเย็นใกล้ๆ ตลาดไท จึงต้องพัฒนาต่อไปโดยใช้พันธุ์ใหม่ๆ" คุณวิรังโก บอก

งานพัฒนาพันธุ์ของคุณวิรังโกนั้น มีสองแนวทางด้วยกัน

แนวทางแรกคือ ซื้อพันธุ์มาโดยตรง ที่ผ่านมาที่ปลูกเป็นการค้าอยู่คือ พันธุ์เวียดนาม ที่รู้จักกันทั้งบ้านทั้งเมือง อีกสายพันธุ์หนึ่งคือ แก้วมังกรสีแดง ปลูกได้ผลดี รู้จักกันดีในนามพันธุ์ "แดงจินดา" คุณสมบัติโดดเด่นพอสมควร แต่คุณวิรังโกไม่ค่อยพอใจนัก เนื่องจากต้นมีหนาม ปฏิบัติงานยาก และมีข้อด้อยบางอย่าง เขาจึงหาซื้อพันธุ์สีแดงสายพันธุ์ใหม่ จำนวน 10 ต้น ราคากว่าแสนบาท เป็นต้นที่ไร้หนาม แต่ปรากฏว่าออกดอกดี แต่ไม่ติดผล จึงเป็นอันต้องเลิกราลงไป แต่เป็นเพราะชอบทางด้านนี้ จึงเสี่ยงใหม่ ซื้อจากไต้หวัน จำนวน 16 กิ่ง ราคา 130,000 บาท (หนึ่งแสนสามหมื่นบาทถ้วน) เขาบอกว่าเป็นไงเป็นกัน เมื่อทดลองปลูก ปรากฏว่าได้สายพันธุ์ที่ดี จึงมีการขยายพื้นที่ปลูก พร้อมให้ชื่อว่า "แดงไต้หวัน"

แดงไต้หวัน เป็นแก้วมังกรที่ผลโต ราวๆ 7 ขีด เนื้อสีแดงเข้ม รสชาติหวาน ติดผลดก เก็บได้นาน ออกก่อนและหลังฤดู ครีบสีเขียว เหมือนกับแก้วมังกรเวียดนาม ตรงนี้แก้วมังกรสีแดงพันธุ์อื่นไม่มี ที่พิเศษนั้น ต้นไม่มีหนาม ปฏิบัติงานง่าย ทำงานได้รวดเร็ว

ที่แนะนำมา คุณวิรังโกได้สายพันธุ์แก้วมังกรโดยการซื้อมาโดยตรง แต่ปัจจุบันเขาได้สายพันธุ์ใหม่ โดยการผสมและคัดเลือกเอง

คุณวิรังโก อธิบายว่า ตนเองมีแก้วมังกรอยู่หลายสายพันธุ์ จึงทำการผสมคัดเลือก ทำให้สนุกได้เห็นสิ่งแปลกใหม่ วิธีการเริ่มจากสังเกตว่า ดอกแก้วมังกรเริ่มบานราว 4 ทุ่ม เริ่มต้นด้วยการไปปอกเกสรตัวผู้ออก เหลือไว้แต่เกสรตัวเมียในดอกนั้น โดยต้องการให้เป็นต้นแม่ จากนั้นจึงครอบไว้ อย่าให้เกสรที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้าไปผสม รอจนกระทั่งเวลาตี 4 ตี 5 จึงนำเกสรตัวผู้ ที่หมายมั่นปั้นมือว่าเป็นพ่อพันธุ์ที่ดีไปป้ายใส่ดอกที่ครอบไว้ เป็นอันว่าเสร็จขั้นตอน จากนั้นทำเครื่องหมายไว้ พร้อมกับจดชื่อว่าผลนั้น แม่อะไร พ่ออะไร จนผลแก่จึงนำเมล็ดไปเพาะ รวมระยะเวลาที่เห็นผลว่าดีไม่ดีอย่างไร ใช้เวลาเกือบ 2 ปี

งานผสมพันธุ์ คุณวิรังโกไขว้สายกันไปมา เช่น นำผลสีเหลืองอิสราเอลผสมกับสีแดงไต้หวัน นำต้นสีชมพูผสมกับสีแดงจินดา

"ลูกผสมออกมาเยอะแยะ ผมได้ดีๆ อยู่ 2-3 ต้น ออกมา 100 ต้น หรือ 1,000 ต้น อาจจะดีอยู่เพียงต้นเดียว" คุณวิรังโก บอก

คุณวิรังโก บอกว่า สายพันธุ์ที่ตนเองผสมและคัดเลือกได้ดีมีอยู่พอสมควร แต่ก็ทำอย่างต่อเนื่องไม่มีหยุด เนื่องจากมีพ่อแม่พันธุ์ มีสถานที่ และที่สำคัญมีเวลา ทำให้สนุก แต่หากให้สรุปเป็นการค้าตอนนี้ พันธุ์สีแดงกับสีชมพูน่าสนใจ ตนเองขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น



ปลูกอย่างไร จึงได้คุณภาพ

คุณวิรังโก บอกว่า งานผลิตแก้วมังกรให้มีคุณภาพดีนั้น ต้องดูแลให้ทั่วถึง โดยเริ่มจากการตัดแต่งกิ่ง อย่าให้มีกิ่งมากเกินไป หรืออย่าให้น้อยเกินไป หากหลักใหญ่ ควรมีกิ่งราว 70-80 กิ่ง หากกิ่งมากเกินไป และแน่นทึบ จะมีผลผลิตเพียงบางส่วน แต่อีกส่วนหนึ่งแย่งอาหารและให้ผลผลิตน้อย กรณีที่กิ่งน้อยเกินไป นอกจากได้ผลผลิตน้อยแล้ว แสงแดดที่ส่อง ทำให้กิ่งเหลือง กิ่งไหม้ อันเกิดจากแสงแดดได้

เรื่องของปุ๋ย ได้รับการยืนยันว่า ต้องใส่ทุกเดือน โดยเฉพาะปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ช่วงหน้าแล้ง ไม่มีผลผลิต คุณวิรังโก แนะนำสูตรเสมอ จะ 15-15-15 หรือ 16-16-16 ก็ได้ ส่วนช่วงที่ให้ผลผลิตใช้สูตร 13-13-21 หรือ 8-24-24 จำนวนหลักละครึ่งขีดต่อเดือน ถือว่าไม่มาก หากใส่มากเกินไป พื้นที่ดินเหนียว จะมีผลเสียมากกว่าผลดี ส่วนปุ๋ยคอกนั้น วันที่ไปเยี่ยมชมแปลง ทางทีมงานของคุณวิรังโกใส่มูลไก่ที่โคนต้น จำนวนไม่น้อย

ปุ๋ยทางใบ คุณวิรังโก บอกว่า เคยทดลองแล้ว ปรากฏว่า ไม่ดีนัก เพราะเคยให้ปุ๋ยแล้ว ผลลาย แทนที่จะขายได้ 20-30 บาท ขายได้กิโลกรัมละ 5 บาท

น้ำสำหรับแก้วมังกร ได้รับคำแนะนำว่า ดินเหนียว ให้น้ำ 2 วันครั้ง แต่หากเป็นดินทรายควรให้วันเว้นวัน ยามที่ฝนไม่ตก

"การทำคุณภาพ ดูแลเรื่องปุ๋ยสำคัญ ศัตรูมีน้อย ถ้ามีแรงงานห่อผลยิ่งดี ของผมทำออกก่อนฤดู บางพันธุ์ก็มีก่อนเขา อย่างแดงไต้หวัน ออกเดือนเมษายน ปกติออกพฤษภาคม เมื่อมีผลผลิต นกมารุมกิน ต้องห่อด้วยถุงที่ห่อฝรั่ง ถุงขนาดโลครึ่ง ควรขุ่น นกมันเห็นถ้าใส ห่อกันนกได้แล้วยังผลใหญ่ขึ้น รสชาติดีขึ้น แต่เป็นกลางฤดูสวนคนอื่นมี หากแรงงานน้อย อาจจะไม่ห่อก็ได้" คุณวิรังโก แนะนำ



ยังจำหน่ายได้ดี

คุณวิรังโก บอกว่า ปีหนึ่งผลผลิตแก้วมังกรของตนเองมีขายเกือบทั้งปี เว้นช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม เดิมทีนั้นเดือนธันวาคมไม่มี เดือนเมษายนก็ไม่มี แต่มาปลูกแดงไต้หวัน ทำให้มีผลผลิตออกเดือนเมษายน ส่วนปลายปี เดือนธันวาคม มีขายอยู่ถึงกลางเดือน

"ต้นทุนการผลิตนั้น หากไม่นับรวมช่วงที่ลงทุนครั้งแรก ในปีต่อๆ มาแก้วมังกรพันธุ์เวียดนาม ต้นทุนกิโลกรัมละ 5 บาท ส่วนพันธุ์อื่นจะมากกว่านี้ ผลผลิตของผมอย่างแดงไต้หวัน จำหน่ายกิโลกรัมละ 40 บาท ส่งขายตามห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ สยามพาราก้อน และห้างอื่นๆ มีคนมารับไปจำหน่ายต่างประเทศบ้าง มีโรงงานมาหาซื้อไปอบ อยากได้เนื้อสีแดงตกเกรด ครั้งละเป็นหมื่นกิโลกรัม แต่ก็ยังไม่มีให้ ตอนนี้เราทดลองแปรรูปดู ทำน้ำดี แต่สีขาวทำน้ำไม่สวย" คุณวิรังโก บอก

คุณวิรังโก ได้ให้ลูกๆ ทดลองแปรรูปแก้วมังกร ซึ่งน่าสนใจไม่น้อย

เริ่มจากทำน้ำปั่น โดยใช้เนื้อแก้วมังกรปั่น อาจจะเติมน้ำเชื่อม นมสดบ้างเล็กน้อย บางคนอาจจะเหยาะน้ำหวาน น้ำปั่นจากแก้วมังกรที่ปั่นออกมาแล้ว แก้วมังกรสีแดงสวยมาก รสชาติอร่อย ส่วนสีชมพูก็สวย แถมมีกลิ่นหอมในตัว

สลัด เป็นอีกเมนูหนึ่ง สลัดที่คุณวิรังโกให้ลูกสาวทดลองทำ ประกอบด้วยแก้วมังกรหั่นเป็นลูกเต๋า อย่างอื่นมีแครอต ข้าวโพด กะหล่ำปลี สำหรับคนลดน้ำหนักน่าสนใจมาก

อาหารอย่างหนึ่งที่ได้ชิมคือ ไอติม รสชาติดีมาก เป็นผลงานของนักศึกษาฝึกงานจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี แต่เสียดาย ภาพที่ถ่ายออกมาไม่ดี เลยไม่ได้มาโชว์ หลักการคือปั่นรวมกับส่วนผสมอย่างอื่น

ครอบครัวของคุณวิรังโกบอกว่า เนื้อแก้วมังกรยังใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ทำน้ำกะทิ ทำรวมมิตร แต่ที่ไม่ได้ทำออกเผยแพร่ เนื่องจากงานสวนล้นมือ ดังนั้น ใครอยากนำไปทำเป็นอาชีพ ยินดีให้คำปรึกษา



ความเห็นของนักวิชาการเกษตรอาวุโส

อาจารย์ประทีป กุณาศล นักวิชาการเกษตรอาวุโส ให้แง่คิดเกี่ยวกับแก้วมังกรว่า หากปลูกใกล้ๆ กันหลายสายพันธุ์ อย่างปลูกพันธุ์เวียดนาม พันธุ์เนื้อสีแดง จะมีเกสรต่างพันธุ์ผสมกัน ทำให้ผลดก มีขนาดใหญ่ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากแก้วมังกรแล้ว ยังมีในข้าวโพด สะละ และมะพร้าวน้ำหอม

"แก้วมังกร เป็นพืชที่ปากใบเปิดตอนกลางคืน การให้ปุ๋ยทางใบควรให้เวลาเย็น ทั้งนี้เพราะเป็นพืชทะเลทราย เนื่องจากพืชชนิดนี้เก็บผลผลิตได้เร็ว เพียง 45 วัน ดินปลูกหากมีโพแทสสูงจะดี กรณีที่ปลูกไปนานๆ ดินมักขาดแคลเซียม จึงจำเป็นต้องเสริมให้" อาจารย์ประทีป ให้ความรู้

เรื่องราวของ แก้วมังกร น่าสนใจไม่น้อย

ผู้อ่านอยากรู้เพิ่มเติม หรืออยากได้สูตรอาหารจากแก้วมังกร ติดต่อได้ตามที่อยู่ หรือ โทร. (034) 481-567, (081) 294-8232, (089) 039-7579 E-mail:wirounggo@hotmail.com

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
สมุทรสาคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กรกฏาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 411
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM