เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เพาะเลี้ยงปลาหมอ สูตรสำเร็จ ของ ศราวุธ เจ๊ะโส๊ะ ประมงน้ำจืดปัตตานี ตอน 2 (เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ให้สมบูรณ์ก่อนผลิตลูก)
   
ปัญหา :
 
 
คุณศราวุธ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาคือ การจัดการพ่อแม่พันธุ์ปลาให้สมบูรณ์เพศพร้อมผสมพันธุ์วางไข่ เริ่มต้นจากการเรียนรู้ชีวประวัติปลา ฤดูกาลผสมพันธุ์วางไข่ ความแตกต่างของเพศ ขนาด หรืออายุที่สมบูรณ์เพศ ตลอดจนเทคนิคการเหนี่ยวนำให้ปลาผสมพันธุ์วางไข่

ฤดูกาลวางไข่ของปลาหมอนั้น เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ หรือเดือนตุลาคมของทุกปี

"ปลาหมอนั้น เราจะคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ น้ำหนัก 100-200 กรัม หรืออายุ 6 เดือน ขึ้นไป ทั้งนี้ ต้องเป็นปลาผ่านการคัดเลือกแล้วว่า เจริญเติบโตดีที่สุดของปลาแต่ละรุ่น"

"หากเป็นพ่อแม่พันธุ์ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ควรเลี้ยงให้เชื่อง และฝึกให้กินอาหารเม็ดสำเร็จรูปก่อน แล้วจึงนำมาเลี้ยงรวมกันในบ่อดิน ขนาด 200-400 ตารางเมตร อัตราปล่อย 20 ตัว ต่อตารางเมตร สามารถปล่อยแยกเพศหรือรวมเพศก็ได้ ให้อาหารที่มีไขมันต่ำ วันละ 1 ครั้ง ไม่เกิน 1% ของน้ำหนักปลา กระตุ้นให้ปลาสมบูรณ์เพศยิ่งขึ้น โดยให้ปลาสดสับเป็นอาหาร 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ พร้อมถ่ายเปลี่ยนน้ำวันละ 25% เมื่อเราให้ปลาไปได้สักระยะหนึ่งก็จะพบว่าปลาแต่ละตัวนั้นจะมีความสมบูรณ์ทางเพศมากทีเดียว" คุณศราวุธ กล่าว

สำหรับวิธีการเพาะขยายพันธุ์นั้น คุณศราวุธ บอกว่า ปัจจุบันนี้เราประสบความสำเร็จ ทั้งใช้สารกระตุ้นหรือฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์และแบบธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเกษตรกรหรือผู้สนใจทั่วไป

วิธีการเพาะพันธุ์ แบบแรกหรือการกระตุ้นการวางไข่ด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์นั้น เริ่มตั้งแต่การ

คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาที่มีไข่และน้ำเชื้อสมบูรณ์พร้อมที่จะผสมพันธุ์ ซึ่งลักษณะปลาตัวเมียนั้นส่วนท้องอวบอูม ใช้มือบีบเบาๆ จะมีไข่สีเหลืองออกมา ส่วนปลาตัวผู้ จะมีน้ำเชื้อสีขาวคล้ายน้ำนมไหลออกมา

คุณศราวุธ กล่าวว่า เมื่อคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาได้แล้ว จัดเตรียมอุปกรณ์และวิธีการผสมพันธุ์แบบช่วยธรรมชาติคือ ฉีดฮอร์โมนเร่งการวางไข่ให้กับตัวเมีย ในอัตราความเข้มข้นฮอร์โมนสังเคราะห์ (LHRHa, ชื่อการค้าว่า Suprefact) 15 ไมโครกรัม และสารระงับการทำงานของระบบการหลั่งฮอร์โมน คือ Domperidone (ชื่อการค้าว่า Motilium) 5 มิลลิกรัม ต่อแม่ปลาน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จำนวน 1 ครั้ง และฉีดฮอร์โมนปลาเพศผู้ อัตรา 5 ไมโครกรัม ร่วมกับการใส่ Domperidone ที่ระดับ 5 มิลลิกรัม ต่อพ่อปลาน้ำหนัก 1 กิโลกรัม

"เพื่อความสะดวกในการแยกพ่อแม่ปลา ควรปล่อยให้ผสมพันธุ์วางไข่ในกระชังตาห่างซึ่งแขวนอยู่ในบ่อ โดยมีกระชังผ้าโอล่อนแก้วรองรับไข่ปลาอยู่อีกชั้นหนึ่ง สำหรับอัตราส่วนการปล่อยนั้นปลาเพศเมียต่อเพศผู้ เท่ากับ 1 ต่อ 2 ที่ระดับน้ำในบ่อ 30-50 เซนติเมตร พร้อมพ่นสเปรย์น้ำตลอดเวลาด้วย"

คุณศราวุธ กล่าวว่า ในการเพาะแต่ละครั้งเราใช้แม่พันธุ์ปลาประมาณ 3-5 กิโลกรัม ซึ่งจะฉีดฮอร์โมนเวลาประมาณ 15.00 น. หลังจากนั้น 8-12 ชั่วโมง ปลาเริ่มผสมพันธุ์วางไข่

"วันรุ่งขึ้นก็นำพ่อแม่พันธุ์ออก เพราะว่าในการผสมพันธุ์แต่ละครั้ง มีหวอดหรือฟองอากาศ หยดไขมัน เมือก และกลิ่นคาวมาก ดังนั้น เพื่อป้องกันน้ำเสีย อาจรวบรวมไข่ปลาไปเพาะฟักในบ่อใหม่ หลังจากลูกพันธุ์ปลาฟักออกเป็นตัวแล้ว ในช่วงเช้าวันที่ 4 จึงรวบรวมไปอนุบาลในบ่อดินต่อไป อย่างไรก็ตาม หากพ่อแม่ปลาสมบูรณ์เพศเต็มที่การถ่ายเปลี่ยนน้ำใหม่ ก็สามารถกระตุ้นให้ปลาวางไข่ได้ ตรงกันข้ามหากนอกฤดูกาล จำเป็นต้องฉีดฮอร์โมนกระตุ้น ทั้งพ่อและแม่ปลาในระดับความเข้มข้นของฮอร์โมนที่สูงมากขึ้นกว่าปกติ" คุณศราวุธ กล่าว

ส่วนวิธีการเพาะพันธุ์แบบที่สองนั้น เขาปล่อยพ่อแม่พันธุ์ให้วางไข่และอนุบาลในบ่อดินแบบธรรมชาติ ซึ่งมีข้อดีคือช่วยลดปัญหาลูกปลาตายระหว่างการลำเลียงได้ โดยจะปล่อยในอัตราส่วนปลาเพศเมียต่อเพศผู้ เท่ากับ 1 ต่อ 2 ซึ่งจะใช้พ่อแม่ปลาน้ำหนัก 8-10 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือประมาณ 40-60 คู่ ต่อไร่

วันรุ่งขึ้นเมื่อปลาวางไข่หมดแล้ว ปล่อยให้ไข่ฟักเป็นตัว และจัดการอนุบาลลูกปลาต่อไป

"ในการผสมพันธุ์ปลาในบ่อดินนั้น เราจะใช้ทางมะพร้าวปักคลุมทำเป็นที่หลบซ่อนและอนุบาลลูกปลาวัยอ่อน โดยให้มีระยะห่างกันประมาณ 3 เมตร ซึ่งเมื่อไข่ปลาฟักออกเป็นตัว ก็มาอาศัยหลบภัยอยู่บริเวณทางมะพร้าว ทำให้อัตรารอดชีวิตของลูกปลาค่อนข้างสูงเลยทีเดียว" คุณศราวุธ กล่าว

ปลา 1 แม่ จะให้ไข่ประมาณ 10,000 ฟอง ซึ่งฟักออกเป็นตัวโดยเฉลี่ย 3,000 ตัว และเหลือรอดชีวิตอยู่ประมาณ 1,000 ตัว เท่านั้นเอง



อนุบาลลูกปลา

ในการอนุบาลลูกปลาเป็นขั้นตอนที่คุณศราวุธบอกว่า เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพื่อให้ได้ลูกปลาที่สมบูรณ์ แข็งแรงและมีอัตรารอดตายสูง โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมบ่อ การจัดการอาหารสำหรับลูกปลาวัยอ่อน ป้องกันศัตรูและโรคพยาธิปลาให้สอดคล้องกับการพัฒนาการของลูกปลา จึงเป็นหัวใจที่นักเพาะพันธุ์ปลาต้องตระหนักและหมั่นเอาใจใส่ ควบคุม ดูแลใกล้ชิดเป็นอย่างยิ่ง

"การเตรียมบ่ออนุบาลนั้นเราได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยจัดทำน้ำเขียวและอาหารธรรมชาติ ไม่เพียงหว่านปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 100 กิโลกรัม ต่อไร่ เท่านั้น แต่ควรใช้ปลาป่นผสมรำละเอียด อัตรา 1 ต่อ 3 ปริมาณ 3 กิโลกรัม ต่อไร่ หลังจากนั้น 3 วัน ควรใส่เชื้อโรติเฟอร์ และไรแดงลงในบ่อด้วย ซึ่งจะเป็นอาหารลูกปลาวัยอ่อนอย่างดี"

"อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกปลาอายุได้ 4 วัน เราควรให้อาหารเสริมพวกไข่ไก่ต้มสุก เอาเฉพาะไข่แดงบดผ่านผ้าขาวบางผสมน้ำสาดทั่วบ่อ และอาหารผงสำเร็จรูปหรือรำละเอียดผสมปลาป่น อัตรา 1 ต่อ 1 ด้วย หลังจากนั้นหรือวันต่อๆ ไป จึงให้อาหารเม็ดจิ๋วหรืออาหารปลาดุกเม็ดเล็กพิเศษ เมื่ออายุครบ 15 วัน ลูกปลาจะเจริญเติบโตเท่าๆ ใบมะขามแล้ว"

คุณศราวุธ กล่าวว่า พฤติกรรมของลูกปลาหมอนั้นจะกินอาหารอย่างว่องไว ตะกละและกินจุ ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างห่วงโซ่อาหารธรรมชาติ โดยเฉพาะพวกแพลงตอนสัตว์

"ช่วงแรกๆ เราต้องตรวจสอบปริมาณความสมบูรณ์ของโรติเฟอร์ ไรแดง และสุขภาพลูกปลาทุกวัน หากได้รับสารอาหารครบถ้วน ลูกปลาจะอ้วน ป้อม ส่วนหัวค่อนข้างใหญ่คล้ายกระสวยและแข็งแรง"

สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตลูกปลาออกจากบ่ออนุบาลนั้น ควรมีอายุ 15 วัน ขึ้นไป ซึ่งจะได้ขนาดใบมะขาม หรือถ้าต้องการขนาดปลา 1 นิ้ว ก็จำเป็นต้องเลี้ยงนานประมาณ 30-45 วัน

"ถ้าเราจะจับลูกปลาไปขายหรือย้ายเลี้ยงที่อื่น ควรดำเนินการในช่วงเช้า โดยรวบรวมอย่างทะนุถนอมและพักในกระชังอวนผ้าโอล่อนที่ปักขึงไว้ในบ่อ ทำหลังคาใบมะพร้าวป้องกันความร้อนจากแสงแดด และใส่ผักบุ้งหรือพันธุ์ไม้น้ำในกระชัง การบรรจุลูกปลา ตักทั้งลูกปลาและน้ำลงในถุงหรือภาชนะลำเลียงขนส่งไปยังบ่อเลี้ยงปลาต่อไป" คุณศราวุธ กล่าว

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจับหรือปล่อยลูกพันธุ์ปลาคือ ช่วงเช้าหรือเย็น และควรปรับอุณหภูมิของน้ำในถุงให้ใกล้เคียงกับน้ำในบ่อก่อนปล่อย โดยนำถุงลูกปลาแช่น้ำในบ่อเป็นเวลา ประมาณ 10-15 นาที เพื่อป้องกันลูกปลาช็อค แล้วค่อยๆ เปิดปากถุง เอาน้ำในบ่อใส่ถุงเพื่อให้ลูกปลาปรับตัวให้เข้ากับน้ำใหม่ได้



ขุนลูกปลาหมอให้โต

หากลูกปลาที่เกิดขึ้นใหม่ในบ่อมีประมาณไม่มากนัก ก็สามารถเลี้ยงต่อไปได้เลย แต่ถ้ามีมากเกิน 80,000 ตัว ต่อไร่ ควรจับแยกบ่อเลี้ยง อย่างไรก็ตาม หากมีเป้าหมายต้องการปลาขนาดใหญ่ ต้องปล่อยลูกปลาในความหนาแน่นต่ำลงมา ประมาณ 20 ตัว ต่อตารางเมตร หรือ 32,000 ตัว ต่อไร่

"ในการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาให้ผสมพันธุ์วางไข่ อนุบาลและเลี้ยงในบ่อเดียวกัน ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น โดยใช้อัตราพ่อแม่ปลา 40-60 คู่ ต่อไร่ นั้น เราจะได้ลูกปลาขนาดใบมะขาม ประมาณ 80,000-150,000 ตัว ต่อไร่ ทั้งนี้ ความหนาแน่นในการเลี้ยงนี้ ขึ้นอยู่กับสมรรถนะการจัดการฟาร์มและงบประมาณเงินทุนหมุนเวียนในการบริหารจัดการฟาร์มของเกษตรกรแต่ละรายไป"

"ขนาดบ่อที่นิยมใช้เลี้ยงปลาหมอกันนั้น ส่วนใหญ่ขนาดไม่ใหญ่นัก พื้นที่ประมาณ 1-3 งาน หรือบางแห่งนิยมเลี้ยงในบ่อขนาด 3-4 ไร่ ความลึกประมาณ 1.5-2.0 เมตร บ่อเก่าต้องสูบน้ำให้แห้งกำจัดศัตรูปลาโดยเฉพาะปลากินเนื้อ วัชพืชและพันธุ์ไม้น้ำออกให้หมด หว่านปูนขาว ประมาณ 150-200 กิโลกรัม ต่อไร่ ตากบ่อให้แห้งเป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคและศัตรูปลา กรณีบ่อใหม่ หว่านปูนขาว ปริมาณ 100 กิโลกรัม ต่อไร่ อย่างไรก็ตาม ปลาหมอไทยไม่ชอบน้ำที่เป็นด่างหรือกระด้างสูง หรือมี pH ของน้ำควรอยู่ในช่วง 6.5-8.5 และควรใช้อวนไนล่อนสีฟ้ากั้นรอบบ่อให้สูงประมาณ 90 เซนติเมตร เพื่อป้องกันปลาหลบหนีด้วย" คุณศราวุธ กล่าว

และว่า การเลี้ยงปลาหมอ แบบยังชีพหรือแบบหัวไร่ปลายนา ไม่ว่าในบ่อปลาหลังบ้าน ร่องสวน คันคูน้ำ มุมบ่อในนาข้าวหรือบ่อล่อปลา นอกจากอาหารตามธรรมชาติแล้ว ควรให้อาหารสมทบจำพวกเศษอาหารจากครัวเรือน รำละเอียด ปลาสดสับ ปลวกและการใช้ไฟล่อแมลงกลางคืนตลอดจนอาหารสำเร็จรูปด้วย

ส่วนการเลี้ยงปลาหมอแบบธุรกิจเชิงพาณิชย์นั้น ส่วนใหญ่จะเน้นการปล่อยเลี้ยงแบบหนาแน่นสูงมาก (super intensive system) ใช้ปัจจัยการผลิต ทั้งอาหารปลา ยาป้องกันรักษาโรค และการเปลี่ยนถ่ายน้ำเต็มที่ หวังผลผลิตที่สูง

ปลาหมอนั้น เป็นปลากินเนื้อในช่วงแรก จากลูกปลาขนาดใบมะขาม เป็นปลารุ่น (อายุ 1-2 เดือน) ต้องการอาหารที่มีโปรตีนสูงมาก ไม่ต่ำกว่า 40% ประมาณ 10-5% ของน้ำหนักตัว หลังจากนั้น เมื่ออายุ 2-3 เดือน ต้องการอาหารระดับโปรตีนต่ำลงมา คือ 37-35% ของน้ำหนักตัว วันละ 3-4 มื้อ

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ปัตตานี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคใต้
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 415
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM