เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
นพพร วงแพทย์ กับงานปลูกผักชีฝรั่ง
   
ปัญหา :
 
 
เกษตรกรรวมกลุ่มกันปลูกผักชีฝรั่ง ในพื้นที่รวม 2,581 ไร่ ได้ผลผลิตรวมประมาณ 5,000 ตัน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกผักชีฝรั่งเป็นมูลค่าสูงถึง 129 ล้านบาท ต่อปี



จังหวัดนครสวรรค์ เป็นแหล่งผลิตผักชีฝรั่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ทราบว่า เฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอเมือง มีเกษตรกรรวมกลุ่มกันปลูกผักชีฝรั่ง ในพื้นที่รวม 2,581 ไร่ ได้ผลผลิตรวมประมาณ 5,000 ตัน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกผักชีฝรั่งเป็นมูลค่าสูงถึง 129 ล้านบาท ต่อปี ปัจจุบันพื้นที่ปลูกผักชีฝรั่งจะกระจายอยู่ในเขตตำบลวัดไทร ตำบลบางม่วง และตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมืองนครสวรรค์ ผลผลิตผักชีฝรั่งนอกจากจะขายภายในประเทศแล้วยังมีการส่งออกอีกด้วย

ในทางพฤกษศาสตร์ผักชีฝรั่งเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกับผักชีใบและมีกลิ่นหอม รากเป็นแท่งยาว ปลายใบเรียวแหลม ใบขึ้นเป็นกระจุกรอบโคนต้น รูปร่างปลายใบหอกแกมรูปปลายลิ้น เป็นผักที่ไม่มีก้านใบ ส่วนของขอบใบเป็นติ่งหนาม มีความยาวของใบเฉลี่ย 3-20 เซนติเมตร กว้าง 1-3 เซนติเมตร ลำต้นที่ออกดอกมักจะแตกกิ่งเป็นแฉกหลายครั้ง ผักชีฝรั่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ท้องถิ่น ทางภาคเหนือจะเรียก ผักชีดอย หรือหอมป้อมกุลา ทางภาคอีสานจะเรียก ผักชีใบเลื่อย ผักหอมเทศ หรือผักหอมเป เป็นต้น ในการนำเอาผักชีฝรั่งมาปรุงอาหารส่วนของใบอ่อนจะนำมารับประทานเป็นผักสดแกล้มกับน้ำพริก ลาบ ยำ ก้อยได้ หรือจะซอยใส่ยำหมู ยำไก่ ยำผัก หรือนำไปเป็นเครื่องปรุงต้มยำเพื่อดับกลิ่นคาวได้ ประโยชน์ทางสมุนไพรผักชีฝรั่งมีสรรพคุณแก้อาการอ่อนเพลีย บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ รักษาแผลให้หายได้

คุณนพพร วงแพทย์ บ้านเลขที่ 25/6 หมู่ที่ 12 ตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โทร. (056) 345-153 เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มผู้ปลูกผักชีฝรั่งบ้านตะเคียนเลื่อนได้กล่าวถึงความน่าสนใจของการปลูกผักชีฝรั่งว่า

"ผักชีฝรั่ง จัดเป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ทำเงินเร็ว ปลูกไปได้เพียง 4 เดือน เก็บผลผลิตขายได้ ที่สำคัญมีกำไรมากกว่าการทำนาและการปลูกกล้วยไข่"

เนื่องจากก่อนที่คุณนพพรจะปลูกผักชีฝรั่งเคยทำนามาก่อน และยังเคยปลูกกล้วยไข่ แต่ประสบปัญหาต้นกล้วยไข่โดนพายุโค่นล้ม ทำให้ขาดทุนเป็นจำนวนมาก คุณนพพรจึงได้มองหาอาชีพเกษตรกรรมใหม่ โดยไปเก็บรวบรวมข้อมูลการปลูกผักชีฝรั่งในเขตตำบลอื่นๆ ศึกษาจนมีความมั่นใจว่าเป็นพืชที่น่าจะสร้างรายได้ดีกว่าการทำนาและการปลูกกล้วยไข่ จึงเริ่มปลูกผักชีฝรั่งเป็นอาชีพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 มาจนถึงปัจจุบัน มีประสบการณ์ในการปลูกผักชีฝรั่งนานถึง 12 ปี นับเป็นอีกหนึ่งในเกษตรกรเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ที่ประสบผลสำเร็จในการปลูกผักชีฝรั่ง



ปลูกผักชีฝรั่ง จะเตรียมดินคล้ายกับการทำนา

คุณนพพร บอกว่า ในการเตรียมแปลงปลูกผักชีฝรั่งจะต้องเริ่มต้นด้วยการไถดะ ไถแปร และคราดย่อยดินให้ละเอียด ในพื้นที่ปลูกผักชีฝรั่ง 1 ไร่ จะแบ่งแปลงย่อยๆ ประมาณ 4-5 แปลง ถ้าใครนึกภาพของการเตรียมดินไม่ออก ให้ไปดูการเตรียมแปลงปลูกข้าวเป็นตัวอย่าง (เตรียมแปลงแบบเดียวกับการทำนาหว่านน้ำตม) แต่แปลงปลูกผักชีฝรั่งมีความแตกต่างจากการทำนาตรงที่จะต้องมีที่พรางแสง ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ของจังหวัดนครสวรรค์จะนิยมใช้ไม้ไผ่ทำหลัก โดยหลักมีระยะห่างกัน 6x6 เมตร หลังจากทำหลักเสร็จ ให้ขึงลวดให้ตึง มุงด้วยตาข่ายพรางแสง (ซาแรน) ที่พรางแสงประมาณ 60-70% ในการทำหลังคาตาข่ายพรางแสงปลูกผักชีฝรั่งจะต้องทำทั้งแปลงเมื่อเตรียมดินเสร็จจะหว่านเมล็ดพันธุ์



นิยมปลูกผักชีฝรั่งพันธุ์เชียงใหม่

คุณนพพร แนะนำในการเลือกซื้อพันธุ์ผักชีฝรั่งมาปลูกจะต้องคัดเลือกพันธุ์ โดยซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เนื่องจากถ้าได้เมล็ดพันธุ์ด้อยคุณภาพมาปลูกแล้ว ต้นผักชีไม่ยาวจะขายไม่ได้ราคา ตลาดไม่ต้องการ ทุกวันนี้คุณนพพรแนะนำให้ซื้อพันธุ์ผักชีฝรั่งจากจังหวัดเชียงใหม่มาปลูก เรียกกันติดปากว่า "พันธุ์เชียงใหม่" ซึ่งเมล็ดพันธุ์จะมีราคาขายเฉลี่ยขวดละ 700-1,000 บาท (บรรจุในขวดแม่โขง) พื้นที่ปลูกผักชีฝรั่ง 1 ไร่ จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 6-8 ขวด

หลังจากที่เกษตรกรเตรียมแปลงปลูกผักชีฝรั่งเสร็จเรียบร้อย ให้นำเมล็ดพันธุ์ผักชีฝรั่งไปแช่น้ำทิ้งไว้นานประมาณ 1 คืน เช้าของวันต่อมานำเมล็ดไปหว่านแบบเดียวกับหว่านข้าว คือหว่านไปในน้ำตม ทิ้งระยะเวลาไว้ 1 คืน เช้าอีกวันให้เปิดน้ำออก ดินจะค่อยๆ แห้ง เมื่อดินเริ่มแห้งเมล็ดจะเริ่มงอก คุณนพพรย้ำว่าในระยะแรกของการปลูกจะต้องมีการให้น้ำในแปลงปลูกผักชีฝรั่ง 3-5 วัน ต่อครั้ง ในการให้น้ำจะต้องหมั่นคอยดูอย่าให้มีน้ำท่วมขัง เนื่องจากต้นผักชีฝรั่งยังเล็ก ต้นอาจจะเน่าตายได้ เมื่อต้นผักชีมีอายุครบ 1 เดือน คุณนพพรจะมีการฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชโดยใช้สาร โกล 2 อี อัตรา 150 ซีซี ผสมกับสารแพเทอร่า อัตรา 1 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร คุณนพพรบอกว่า เกษตรกรห้ามผสมสารกำจัดวัชพืชเข้มข้นกว่านี้ เพราะจะมีผลทำให้ต้นผักชีฝรั่งตายได้ ในการฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชจะต้องฉีดพ่นให้แพร่กระจายอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อต้นผักชีฝรั่งมีอายุต้นได้ 2 เดือน คุณนพพร แนะนำให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 20-20-0 ผสมกับปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่ จะต้องจำไว้เสมอว่าหลังจากการหว่านปุ๋ยจะต้องรดน้ำให้เปียกชุ่มทุกครั้ง ในการใส่ปุ๋ยถ้าจะให้ต้นผักชีเจริญงอกงามดีควรจะใส่ปุ๋ยอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง

ขั้นตอนในการเก็บเกี่ยวผลผลิตผักชีฝรั่ง ต้นผักชีฝรั่งที่สมบูรณ์และมีการดูแลรักษาที่ดีเมื่อต้นมีอายุได้ประมาณ 120 วัน หลังจากหว่านเมล็ด ในการเก็บเกี่ยวจะใช้วิธีการถอนทั้งต้นให้มีรากติด (ผักชีฝรั่งไม่มีรากติด พ่อค้าจะไม่ค่อยรับซื้อ) หรือถ้าจะเรียกแบบภาษาชาวบ้านก็คือ "ผักชีดีจะต้องมีรากติด" ในการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้งคุณนพพรจะเลือกถอนต้นใหญ่ๆ ก่อน เหลือต้นเล็กๆ ที่เจริญเติบโตช้าหรือเจริญเติบโตไม่ทันไว้ก่อน ต้นเล็กให้ใส่ปุ๋ยและดูแลรักษาต่อไปอีกประมาณ 1-2 เดือน ก็จะเก็บเกี่ยวขายได้ ปัจจุบันในการเก็บเกี่ยวผักชีฝรั่งส่วนใหญ่จะใช้แรงงานในท้องถิ่นที่มีความชำนาญเฉพาะ โดยการจ้างจะคิดแบบเหมาจ่าย ในราคากิโลกรัมละ 1 บาท (เริ่มจากถอนจนทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อย)

หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จจะต้องนำต้นผักชีฝรั่งมาทำความสะอาดด้วยการล้างดินออกจากราก และตัดแต่งใบที่เสียหรือใบเหลืองทิ้ง หลังจากนั้นให้นำผักชีฝรั่งไปผึ่งลมแล้วมัดเป็นกำบรรจุใส่ถุง ถุงละ 10 กิโลกรัม จำหน่ายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อถึงบ้านเฉลี่ยกิโลกรัมละ 20-25 บาท คุณนพพร บอกว่า เกษตรกรที่มีการดูแลรักษาผักชีฝรั่งที่ดีบางรายสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึงไร่ละ 5 ตัน (5,000 กิโลกรัม) แต่ถ้ามีการจัดแปลงไม่ดีเกษตรกรบางรายได้ผลผลิตเพียง 1 ตัน ต่อไร่ ก็มีผลผลิตมากน้อยขึ้นอยู่กับการดูแลของแต่ละรายไป



เคล็ดลับในการผลิตให้ต้นผักชีฝรั่งใบยาวสวยงามไร้โรคและปลอดแมลง

1. หนอนกินใบ หนอนที่พบระบาดในแปลงปลูกผักชีฝรั่งจะกินใบจนเหลือแต่ก้าน คุณนพพรบอกว่า ถ้าพบการระบาดไม่มากจะใช้มือบีบทำลาย แต่ถ้าพบการระบาดที่รุนแรงจำเป็นจะต้องใช้ยาบีที บาซิลลัส ทูริงเยนซิส ซึ่งเป็นสารชีวินทรีย์กำจัดหนอนที่ปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรายใดที่ใช้สารฆ่าแมลงจะต้องจำไว้เสมอว่า "ห้ามฉีดพ่นก่อนการเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 20 วัน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ ผักชีฝรั่ง ของจังหวัดนครสวรรค์จะมีพ่อค้ามารับซื้อเพื่อการส่งออกด้วย ดังนั้น ในการเลือกใช้สารเคมีจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ"

สำหรับเกษตรกรที่ต้องการผลิตผักชีฝรั่งปลอดสารพิษโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน คุณนพพรได้แนะนำให้ใช้ "เมล็ดลางสาดบด อัตราครึ่งกิโลกรัม ผสมน้ำ 1 ปี๊บ แช่ทิ้งไว้ 1 คืน รุ่งเช้ากรองเอาแต่น้ำไปฉีดพ่นฆ่าหนอนได้"

2. โรคไหม้ คุณนพพร บอกว่า การปลูกผักชีฝรั่งจะพบปัญหาเรื่องโรคไหม้ระบาดทำลายต้นผักชีฝรั่งเสียหายและใบจะไหม้แดงทั้งหมด บางครั้งเหลืองทั้งแปลง เก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้เลยก็มี จะพบการระบาดของโรคนี้มากในช่วงฤดูร้อนและทำความเสียหายรวดเร็วมาก เมื่อเริ่มพบการระบาดของโรคคุณนพพรแนะนำให้รีบฉีดพ่นสารป้องกันและกำจัดเชื้อราทันที เช่น สารเบนโนมิล (เช่น เมเจอร์เบน) อย่าปล่อยให้ระบาดลุกลามจนระบาดทั่วแปลง

3. สูตรทำให้ผักชีฝรั่งใบยาว ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน คุณนพพร บอกว่า ผักชีฝรั่งที่ดีและขายได้ราคานั้น ใบจะต้องยาว มีสีเขียวเป็นมัน นอกจากจะใส่ปุ๋ยทางดินแล้ว จะต้องมีการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบร่วมกับฮอร์โมนจิบเบอเรลลินเสริม ด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ดที่มีไนโตรเจนสูง เช่น สูตร 30-20-10 ผสมกับฮอร์โมน โปรจิ๊บ พลัส ฉีดพ่นเป็นประจำทุก 10-15 วัน โดยเฉพาะฮอร์โมน โปรจิ๊บ พลัส ถ้าไม่ฉีดพ่น ใบผักชีจะไม่ยาว ทำให้ขายไม่ได้ราคา นอกจากนั้น โปรจิ๊บ พลัส จะช่วยลดการออกดอกของต้นผักชีฝรั่งด้วย (เมื่อต้นผักชีฝรั่งออกดอกต้นจะไม่ค่อยโต)



อาชีพปลูกผักชีฝรั่ง ใช้ต้นทุนสูงในปีแรก

ลงทุนไร่ละ 50,000-60,000 บาท


คุณนพพร ยอมรับว่า การปลูกผักชีฝรั่งจะมีการลงทุนสูง โดยเฉพาะในปีแรกของการปลูกอาจจะต้องใช้เงินลงทุนถึงไร่ละ 50,000-60,000 บาท เป็นค่าเตรียมแปลงปลูกเป็นหลัก (ค่าไม้ไผ่ที่ใช้ทำหลัก ค่าตาข่ายพรางแสง ฯลฯ) แต่ในปีถัดไปต้นทุนการผลิตจะลดลง ดังนั้น สำหรับเกษตรกรมือใหม่ที่คิดจะปลูกผักชีฝรั่ง คุณนพพรให้เริ่มต้นปลูกเพียงครอบครัวละ 3 ไร่ ก็พอแล้ว เมื่อมีความชำนาญจึงค่อยขยายพื้นที่เพิ่มเติม ปัจจุบันคุณนพพรปลูกผักชีฝรั่งคุณภาพดีส่งขายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในพื้นที่ปลูก 8 ไร่ ผลผลิตที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในปีหน้า (พ.ศ. 2551) ได้ตัดสินใจขยายพื้นที่ปลูกอีกเท่าตัว (พ่อค้ามาขอให้ปลูก)

คุณนพพร ฝากถึงเกษตรกรที่คิดจะปลูกผักชีฝรั่งว่า "การปลูกผักชีฝรั่งนับเป็นงานเกษตรกรรมที่มีความละเอียดอ่อน เป็นพืชที่ต้องการการเอาใจใส่ ถ้าไม่มีใจรักประกอบด้วยจะประสบความสำเร็จได้ยาก ที่สำคัญเป็นการปลูกพืชที่ใช้ต้นทุนในปีแรกสูง ก่อนที่จะปลูกต้องมีการศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อน ต้องไปดูงานและขอความรู้จากเกษตรกรที่เคยปลูก และเริ่มต้นปลูกแต่น้อย เมื่อชำนาญแล้วจึงค่อยขยายพื้นที่ปลูก หลายคนมักจะคิดกำไรในการปลูกผักชีฝรั่งและนำมาเป็นตัวตั้ง คือกำไร ไร่ละ 30,000-40,000 บาท คิดจะรวยให้เร็ว ตัดสินใจปลูกครั้งแรกในพื้นที่ 10 ไร่ คิดแบบนี้ขาดทุนมามากแล้ว"



หนังสือ "การปลูกผักชีฝรั่งและอาชีพเกษตรกรรม ทำง่าย รายได้งาม เล่ม 2" พิมพ์ 4 สี แจกฟรีพร้อมกับ หนังสือ "การปลูกมะเดื่อฝรั่งในประเทศ" รวม 168 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 50 บาท ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/200 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 20 ฉบับที่ 418
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM