เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
พ.ต.ท. วิญญู เทียมราช รองผกก. สส. (สบ.3) สภ.อ. หนองเสือ ปทุมธานี บุกเบิกสวน "หมากเม่า" ที่หนองเสือ ปทุมธานี
   
ปัญหา :
 
 
เม่า หรือ มะเม่า หรือ หมากเม่า เป็นชื่อไม้ท้องถิ่น ลำต้นขนาดกลาง ขึ้นอยู่ตามป่าทั่วไปในเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนบน พบมากในจังหวัดสกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และในเขตภาคอีสาน เป็นพืชทนแล้ง ชาวบ้านท้องถิ่นภาคอีสานนิยมบริโภคผลหมากเม่าสด นำมาทำเป็นส้มตำก็ได้ บริโภคสดรสเปรี้ยว ผลสุกจัดมีสีดำรสชาติจะเปรี้ยวอมหวาน เป็นผลไม้ท้องถิ่นของคนในชนบทที่หากินได้ง่ายมาก เพราะเม่านี้ขึ้นทั่วไปเท่าที่จะมีการขยายพันธุ์โดยเมล็ดออกไป

ชาวภาคอีสานจะนำหมากเม่าสุกที่มีสีดำมาคั้นน้ำให้คนไข้ดื่ม จะช่วยให้ฟื้นไข้เร็ว ในปี 2538 ทางสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร นำเอาผลหมากเม่ามาศึกษาวิจัยและพัฒนาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ทำน้ำหมากเม่าพร้อมดื่ม น้ำหมากเม่าเข้มข้น และไวน์หมากเม่า หรือไวน์เม่า หรือไวน์มะเม่า เป็นต้น ทางกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้วิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ พบว่าผลหมากเม่าสุกมีสารอาหารที่จำเป็นต่อความต้องการของร่างกายมนุษย์มากชนิด เช่น กรดอะมิโน 18 ชนิด จาก 20 ชนิด ที่ร่างกายต้องการ ซึ่งกรดอะมิโนเป็นสารสำคัญในการสังเคราะห์โปรตีนของร่างกาย นอกจากนั้น ยังพบว่ามีแคลเซียม เหล็ก สังกะสี วิตามินบี 1 บี 2 ซี และอี ที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง

สรรพคุณของหมากเม่ามีมากมายนัก ช่วยระบายท้อง ขับเสมหะ แก้ไอ ฟอกโลหิต บำรุงธาตุน้ำ ใบยังต้มให้สตรีหลังคลอดอาบ หรืออาบแก้โลหิตจางให้เลือดไหลเวียนดี ลำต้นและราก ช่วยขับปัสสาวะ บำรุงโลหิต แก้กระษัย แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้มดลูกพิการ แก้ซางเด็ก ในน้ำหมากเม่ามีสารแอนโทไซยานิน และมีปริมาณสารประกอบฟีนอลิก จึงเป็นไปได้ว่าน้ำหมากเม่ามีสารที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอยู่สูง

อย่างที่กล่าวแล้วว่า เม่า หรือ มะเม่า หรือ หมากเม่า เป็นพืชท้องถิ่นภาคอีสาน เริ่มมีบทบาทมากขึ้น เมื่อมีการวิจัยพบว่า เม่า มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย จึงมีการคิดค้นแปรรูปผลผลิตจากผลหมากเม่าสดออกมา ปรากฏว่า "ไวน์เม่า" หรือ "ไวน์หมากเม่า" นั้นส่งไปขายต่างประเทศกำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ เมื่อเม่าหรือหมากเม่ามีผู้ให้ความสำคัญ ก็มีการคิดขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณเม่า หรือหมากเม่ากันขึ้นมา ล่าสุด "เทคโนโลยีชาวบ้าน" พบว่ามีการทำสวนเม่า หรือหมากเม่ากันอย่างจริงๆ จังๆ ทำเป็นสวนใหญ่ ในเนื้อที่เกือบ 50 ไร่ ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น คือมีการนำเอาเม่า หรือหมากเม่า มาปลูกในพื้นที่ภาคกลางย่านจังหวัดปทุมธานี ได้ผลดีเกินคาดเสียด้วย

สวนเม่า หรือหมากเม่าใหญ่แห่งนี้เป็นสวนของ พ.ต.ท. วิญญู เทียมราช รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี กำลังจะสร้างชื่อเสียงให้อำเภอหนองเสือโด่งดังในอนาคต

พ.ต.ท. วิญญู เล่าถึงพื้นเพและความเป็นมาที่นำหมากเม่าเข้ามาปลูกในเขตอำเภอหนองเสือว่า ตนเองนั้นมีภูมิลำเนาเป็นชาวสกลนครมาแต่กำเนิด เมื่อเกิดมาตั้งแต่เด็กๆ จำความได้ก็เห็นต้นเม่า มะเม่า หรือหมากเม่า พืชชนิดนี้แล้ว ต้นเม่านี้ภาษาพื้นเมืองเขาเรียกว่า "หมากเม่า" เด็กๆ ชอบปีนต้นหมากเม่าขึ้นไปเก็บผลมารับประทานกัน ผลเม่าสุกจะออกสีแดง ผลสุกจัดจะเป็นสีดำ รสชาติผลสุกจะออกเปรี้ยวอมหวานอร่อย

หมากเม่าอยู่กับวิถีชีวิตของเราชาวภาคอีสานมาช้านานแล้ว พ.ต.ท. วิญญู บอกว่า จวบจนกระทั่งเติบใหญ่ตนก็เข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ แล้วก็เข้ารับราชการตำรวจ ช่วงนี้ชีวิตจะห่างจากต้นหมากเม่าไปเลย นานทีปีหนกลับบ้านที่สกลนครครั้งหนึ่ง จะพบว่าต้นหมากเม่าล้มหายตายจากลดน้อยลงๆ ยิ่งระยะหลังๆ ต้นหมากเม่าเหลือน้อยมาก ใจก็คิดเพียงเสียดายว่า ทำไม ไม่มีใครคิดอนุรักษ์ต้นหมากเม่ากันเลย

ต่อมาปี พ.ศ. 2538 ตนได้อ่านรายงานจากสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร ผลการวิจัยพบว่าในผลหมากเม่านั้นมีธาตุอาหารสูง มีกรดอะมิโน 18 ชนิด จาก 20 ชนิด น้ำหมากเม่ามีสารที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูง

พ.ต.ท. วิญญู บอกว่า จากงานวิจัยตรงนั้นทำให้เกิดความคิดว่า เราน่าจะนำต้นหมากเม่ามาปลูกในพื้นที่ภาคกลางดูบ้าง หมากเม่าเป็นไม้ป่าทนแล้งได้ดีก็น่าที่จะเจริญเติบโตในที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ได้ จึงนำเอากิ่งพันธุ์เสียบยอดมาทดลองปลูกในเขตหนองเสือดู 3 ปี ให้หลังพบว่าหมากเม่าให้ผลผลิตดีมาก เจริญเติบโตรวดเร็ว ประการสำคัญคือไม่ต้องไปดูแลบำรุงรักษาอะไรเลย เพียงแค่นำกิ่งพันธุ์ลงปลูกในช่วงต้นฝนแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ฝากให้เทวาดาเลี้ยง ต้นหมากเม่าก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตดกทั้งต้น

ในปี พ.ศ. 2546 ตนร่วมกับพี่ชายมาเช่าสวนส้มเก่าในเขตพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลบึงกาสาม เนื้อที่ 70 กว่าไร่ เป็นสวนส้มร้างที่เจ้าของเดิมเขาเลิกทำแล้ว เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับโรคส้มร่วง เมื่อเช่าที่ได้ก็เอากิ่งพันธุ์หมากเม่าจากสกลนครมาปลูกในเนื้อที่ 50 ไร่ ใช้กิ่งพันธุ์หมากเม่าประมาณ 1,000 ต้น ลงปลูกระยะห่าง 4 เมตร เป็นแนวกลางร่องสวน

หลังจากลงปลูกก็รดน้ำเป็นอันเสร็จพิธี จากนั้นก็ฝากให้ฝนฟ้าช่วยดูแลแทน เพราะปลูกต้นฝนตัดปัญหาเรื่องการรดน้ำไป

"ผมปลูกหมากเม่าแล้วก็ปล่อยทิ้งเลย ให้คนงานเฝ้าสวนอยู่คนเดียว ไม่คิดว่าจะได้ผลผลิตมากมายอะไร นานๆ ไปดูสวนที สวนก็รกหญ้าขึ้นสูงไม่มีคนดาย อีกประการหนึ่งภารกิจการเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจค่อนข้างยุ่งในเรื่องของเวลา การดูแลสวนแทบไม่มีเลย"

พ.ต.ท. วิญญู กล่าวต่อไปอีกว่า แต่จากการสังเกตเวลาไปสวนทีไร จะพบว่าต้นหมากเม่าเจริญเติบโตรวดเร็วมาก เข้าสู่ปีที่ 2 ต้นหมากเม่าสูงราว 5-6 เมตร พอเข้าหน้าฝนก็ติดดอกติดผล ระยะแรกๆ ติดผลไม่มากนักมีประปราย ก็เลยปล่อยทิ้งไม่เข้าไปดูแล

ขณะที่หมากเม่าติดผลนั้น มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก นั่นก็คือ ในสวนจะมีนกมาอยู่อาศัยมากมาย จากคำบอกเล่าของคนสวน บอกว่า กลางคืนค้างคาวก็ชุม เพราะมันมากินผลหมากเม่า ทำให้รู้ว่าศัตรูของผลหมากเม่าที่หนองเสือก็คือ นก และค้างคาว ส่วนโรคแมลงอื่นๆ ไม่มีการรบกวนให้ยุ่งยากเลย

เข้าสู่ปีที่ 3 คราวนี้หมากเม่าให้ผลผลิตดีมากๆ ติดผลดกเต็มต้นเป็นจำนวนมาก ช่วงที่หมากเม่าให้ผลผลิตราวเดือนมิถุนายน คือเข้าหน้าฝน หมากเม่าก็ติดดอกติดผลเรื่อยไปจนกระทั่งหมดฝนก็หมดผล ปีหนึ่งหมากเม่าจะให้ผลครั้งเดียว

เมื่อให้ผลผลิตมากๆ ก็ศึกษาการทำไวน์หมากเม่าออกมา เป็นการทดลองทำยังไม่ได้ออกจำหน่าย ต่อมา ปี พ.ศ. 2549 ได้มีโอกาสไปดูงานผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ที่เมืองทองธานี ไปเจอร้านจำหน่ายไวน์หมากเม่าจากสกลนคร ปรากฏว่าเขาแปลกใจมากที่ได้เห็นสวนหมากเม่า ปลูกกันเป็นพันต้นอย่างนี้ถึงกับเอ่ยปากบอกว่า

"ยังไม่เคยพบเจอใครปลูกต้นหมากเม่ามากมายขนาดนี้ เท่าที่ผ่านมาจะปลูกกันไม่มากนัก สวนที่นี่น่าจะเป็นสวนหมากเม่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในโลกก็ว่าได้"

พ.ต.ท. วิญญู กล่าวต่อไปอีกว่า ตนได้รับคำแนะนำหลายๆ อย่าง จึงเริ่มหันมาศึกษาเรื่องการแปรรูปจากผลหมากเม่าอย่างจริงจังๆ เริ่มจากการทำไวน์ แล้วก็มาทำน้ำผลหมากเม่าพร้อมดื่มบรรจุขวด ทดลองให้ชิมกันดู ใครได้ชิมต่างก็เอ่ยปากชมว่าอร่อยมาก ดื่มแล้วสดชื่น หายเพลีย ขับรถทางไกลง่วงขึ้นมาได้ดื่มน้ำหมากเม่าสักขวดจะสดชื่นขึ้นเห็นได้ชัดมาก

ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นดำเนินการแปรรูปผลหมากเม่าหลายๆ อย่าง ขณะเดียวกันก็เก็บผลสดบรรจุกล่องพลาสติคจำหน่ายด้วย ชาวภาคอีสานชอบใจกันมาก ตอนนี้หันมาดูแลสวนหมากเม่าจริงจังแล้ว

ในเรื่องของปุ๋ยนั้น พ.ต.ท. วิญญู บอกว่าตนใส่ปุ๋ยขี้ค้างคาว ช่วงต้นเริ่มให้ผลผลิต เมื่อปีนี้เอง ที่ผ่านมาไม่ได้ใส่อะไรเลย พบว่าหมากเม่าแต่ละต้นติดผลดกมาก เก็บขายไม่ทันเลยบรรดานก ค้างคาว ก็ชุกชุม ต้องทำตาข่ายดักกัน

"คนงานที่สวนผมตอนนี้มีหลายคนแล้ว แต่ละคนกินนกที่ดักได้ จนแทบจะมีปีกบินได้เหมือนนกแล้ว"

พ.ต.ท. วิญญู กล่าวอย่างอารมณ์ดี พร้อมกับบอกต่ออีกว่า ปุ๋ยขี้ค้างคาวที่ใช้ตนก็ดำเนินการเอง กล่าวคือ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วมีโอกาสไปเที่ยวถ้ำ เห็นขี้ค้างคาวเก่าในถ้ำมากมาย เกิดความสนใจเพราะทราบว่าปุ๋ยขี้ค้างคาวนั้นราคาค่อนข้างสูง เมื่อได้ศึกษาข้อมูลต่างๆ จากผู้รู้ จึงตัดสินใจทำสัมปทานขี้ค้างคาวในถ้ำ นำออกมาบรรจุกระสอบขาย ใช้ตรา "ค้างคาวแดง" ปรากฏว่าขายดีมากๆ เพราะขี้ค้างคาวที่ได้มาจะเป็นขี้ค้างคาวเก่า ส่วนขี้ค้างคาวใหม่ก็มี อยู่ที่ว่าลูกค้าจะต้องการแบบไหน สนนราคาคิดกันในราคาย่อมเยา ขอเพียงแค่ได้ต้นทุนคืนก็พอแล้ว

สำหรับท่านที่สนใจในเรื่องของหมากเม่า หรือปุ๋ยขี้ค้างคาว จะไปชมสวนหมากเม่าที่ว่าใหญ่ที่สุดในโลกให้เห็นกับตา ลองโทร.ไปคุยกับท่านรองวิญญู ที่ โทร. (081) 559-2929 สวนอยู่ที่หนองเสือ ปทุมธานีแค่นี้เอง
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ปทุมธานี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 20 ฉบับที่ 416
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM