เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ข้าวโพดข้าวเหนียว-ข้าวโพดเทียนพันธุ์ใหม่ ผลงานเด่นจากไบโอเทค ทางเลือกใหม่ สร้างรายได้ยั่งยืนแก่เกษตรกรไทย
   
ปัญหา :
 
 
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมชมแปลงปลูกข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดเทียน ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามคำเชิญของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ช่วงที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชมแปลงทดลองปลูกข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดเทียนพันธุ์ใหม่นั้น ตรงกับระยะเวลาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นกำลังจัดงานวันสาธิตข้อมูลวิชาการ "Field Day" พอดิบพอดี ทำให้มีผู้คนเข้าร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก ภายในงานมีการจัดสัมมนาวิชาการและพาชมแปลงปลูกข้าวโพดที่ปลูกเพื่อเป็นเชื้อพ่อแม่พันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดข้าวเหนียว และข้าวโพดเทียน แปลงปลูกดังกล่าวก็อยู่ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั่นแหละ โดยมีพื้นที่ข้าวโพดประมาณ 2 ไร่ และข้าวโพดทุกต้นจะห่อถุงกระดาษสีน้ำตาลเอาไว้ทุกต้น เพื่อป้องกันการผสมข้ามสายพันธุ์ของข้าวโพดเองตามธรรมชาติ

รศ.ดร.กมล เลิศรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า ตั้งแต่ปี 2549 ศูนย์ไบโอเทคได้มอบทุนให้ศูนย์ปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพด พริกและมะเขือเทศ เป็นรายปี เฉลี่ยปีละ 6 ล้านบาท

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2528 และตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวโพดใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ พันธุ์ข้าวเหนียวหวานขอนแก่น พันธุ์ขอนแก่นหวานสลับสี (สีขาวสลับสีเหลือง) พันธุ์ดอกคูน พันธุ์สำลีอีสานลูกผสมและพันธุ์ข้าวเหนียวสลับสีลูกผสม เป็นต้น

ศูนย์ปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน ทำหน้าที่รวบรวมเชื้อพันธุกรรมจากหลากหลายประเทศ เช่น เชื้อพันธุกรรมข้าวโพดหวาน 107 สายพันธุ์ เชื้อพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว 238 สายพันธุ์และเชื้อพันธุ์ข้าวโพดเทียน 45 สายพันธุ์ และนำเชื้อพันธุกรรมเหล่านี้มาวิจัยและปรับปรุงพันธุ์จนได้ข้าวโพดสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตดีขึ้น เป็นที่ต้องการและนิยมในตลาด ศูนย์ได้แนะนำพันธุ์ที่พัฒนาให้เอกชนนำไปใช้ปรับปรุงพันธุ์หรือต่อยอดเป็นพันธุ์การค้าต่อไป ซึ่ง ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ไบโอเทคเปรียบเปรยเอาไว้ว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์ไบโอเทคทำหน้าที่สร้างฐานรากขึ้นมา ส่วนเอกชนขยับต่อเป็นเสา เป็นคาน เป็นหลังคา เป็นบ้านต่อไป

สำหรับวันสาธิตข้อมูลวิชาการ "Field Day" ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน เกษตรกร และคณะสื่อมวลชนเข้าร่วมชมงานในครั้งนี้ เพื่อแสดงผลงานปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวโพดต่างๆ ทั้งการปรับปรุงเชื้อพันธุกรรมของข้าวโพดและสายพันธุ์ข้าวโพดที่ผ่านการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ รวมทั้งเป็นเทคโนโลยีการถ่ายทอดเชื้อพันธุกรรมและพันธุ์ข้าวโพดที่ผ่านการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ให้แก่ภาคเอกชนไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้าต่อไป เพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมต่อไป

ในปี 2550 ศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แนะนำผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ เช่น ประชากรข้าวโพดข้าวเหนียว (ขอนแก่น คอมโพสิต 1) และประชากรข้าวโพดเทียน (เทียนเหลืองขอนแก่น) และแนะนำเชื้อพันธุกรรมที่จะเผยแพร่ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพันธุ์ต่อไป ได้แก่ พันธุ์ KKUWXN001 (ข้าวโพดข้าวเหนียวเมล็ดสีขาว) พันธุ์ KKUWXT001 (ข้าวโพดเทียนเมล็ดสีม่วงแดง) และพันธุ์ KKUSH001 (ข้าวโพดหวานเมล็ดสีเหลือง)

สาเหตุที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นสนใจพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดเทียน เนื่องจากเป็นสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการสูงทั้งในประเทศและหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ คาดว่ามีชาวเอเชียบริโภคข้าวโพดทั้งสองชนิดนี้ไม่ต่ำกว่าปีละ 300-600 ล้านคน ดังนั้น บริษัทผู้ค้าเมล็ดพันธุ์นานาชาติ ไม่ว่าในประเทศ จีน เวียดนาม อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมทั้งไทย สนใจเร่งพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวโพดกันอย่างเต็มที่ โดยปัจจุบันไทยมียอดส่งออกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวไม่ต่ำกว่าปีละ 70-80 ล้านบาท ทีเดียว

ดร.กมล บอกว่า ในปีนี้เป็นโอกาสดีที่เกษตรกรจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการปลูกข้าวโพดให้ตรงตามที่ผู้บริโภคต้องการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงกระจายสายพันธุ์ข้าวโพดที่ผ่านการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์เป็นอย่างดีให้กับเกษตรกร เพื่อเป็นทางเลือกในการเพาะปลูกพืช เช่น ข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดเทียน รวมไปถึงเชื้อพันธุ์ข้าวโพดนานาชนิด และสนับสนุนให้ภาคเอกชนนำผลงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดทางการค้าต่อไป

รศ.ดร.กมล กล่าวว่า โครงการแห่งนี้ นอกจากมุ่งบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมข้าวโพดข้าวเหนียวและข้าวโพดหวานพิเศษ ใน 3 ด้าน คือ

1. การจัดการเชื้อพันธุกรรม คือปลูกประเมินเชื้อพันธุกรรม และปลูกขยายเชื้อพันธุกรรม

2. การสร้างประชากรพื้นฐานสายพันธุ์แท้ของพืชและสายพันธุ์ลูกผสม ปัจจุบันโครงการที่ดำเนินงานสำเร็จไปแล้ว คือการสร้างประชากรพื้นฐานข้าวโพดข้าวเหนียว (ขอนแก่น คอมโพสิต 1) และประชากรข้าวโพดเทียน (เทียนเหลืองขอนแก่น) ขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เผยแพร่เมล็ดพันธุ์ประชากรพื้นฐานนี้ให้กับหน่วยงานด้านปรับปรุงพันธุ์ เพื่อนำขยายสร้างพันธุ์ใหม่ต่อไป

3. การสร้างนักปรับปรุงพันธุ์ เนื่องจากมีผู้สนใจศึกษาในสาขาวิชานี้กันค่อนข้างน้อย ปัจจุบันประเทศไทยกำลังขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์และนักปรับปรุงพันธุ์พืชอย่างมาก แต่น่าชื่นใจที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาด้านปรับปรุงพันธุ์พืช ระดับปริญญาโทจากโครงการนี้จำนวน 2 คน นักศึกษาระดับปริญญาเอกอีก 2 คน ปริญญาโท 6 คน และมีผู้ช่วยนักวิจัยที่จะเข้าศึกษาระดับปริญญาโทในปีการศึกษา 2551 อีกจำนวน 3 คน

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต มหาวิทยาลัยขอนแก่น อยากให้ภาครัฐบาลช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาสนใจเข้ามาศึกษาในสาขาวิชานี้ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งในภาคการเกษตรและเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติในระยะยาวให้เพิ่มมากขึ้น

รศ.ดร.กมล กล่าวอีกว่า โครงการจัดการเชื้อพันธุกรรมข้าวโพด ถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักสำคัญในการสร้างพันธุ์พืชใหม่ๆ เมื่อมีเชื้อพันธุกรรมที่หลากหลาย ก็จะยิ่งส่งผลให้นักวิชาการสามารถปรับปรุงพันธุ์ สร้างพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายให้มากขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้มากขึ้น และพืชพันธุ์ใหม่นี้เอง ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สิ่งที่ตามมาก็คือ ช่วยเหลือประชากรของโลกให้มีทั้งทางเลือกใหม่และเพิ่มปริมาณอาหารโลกให้เพิ่มมากขึ้น ที่เหลือก็คือการสร้างรายได้ที่คุ้มค่ากับการลงทุน ทั้งนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกไม่มากก็น้อย



คำนิยาม

เชื้อพันธุกรรมข้าวโพด คือ พันธุ์หรือสายพันธุ์ข้าวโพดที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามแหล่งปลูกหรือตามธรรมชาติ ความแตกต่างดังกล่าวขึ้นอยู่กับการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ หรือการคัดเลือกโดยผู้ปลูก สำหรับเชื้อพันธุกรรมที่นำมาใช้มีทั้งพันธุ์ป่า พันธุ์พื้นเมือง หรือสายพันธุ์ทางการค้า ตัวอย่างเช่น

ข้าวโพดพันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์พื้นบ้านอุบล (พันธุ์หัวปลี) เป็นข้าวโพดที่มีลักษณะปุ่ม เมล็ดสีขาว แป้งของข้าวโพดพันธุ์นี้มีความเหนียวนุ่ม ข้าวโพดเทียนบ้านเกาะอยุธยา เป็นพันธุ์ข้าวโพดเทียนที่มีฝักขนาดเล็ก รสชาติดี หวาน และเหนียวนุ่ม

จะเห็นได้ว่าเชื้อพันธุ์ของข้าวโพดทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกัน เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกมีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ต่างกัน สำหรับข้าวโพดพันธุ์พื้นเมืองที่มีความแตกต่างกัน ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ต่อไป โดยนิยมไปเป็นประชากรพื้นฐาน เพิ่มพัฒนาให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมของลักษณะที่ต้องการ

การบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรม คือ กระบวนการรวบรวมเชื้อพันธุกรรม การเพิ่มขยายเชื้อพันธุกรรม การประเมินเชื้อพันธุกรรม การเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรม และการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างพันธุ์พืชพันธุ์ใหม่

การปลูกประเมินเชื้อพันธุกรรม คือ การปลูกเพื่อศึกษาลักษณะของเชื้อพันธุกรรม เป็นการประเมินการปรับตัวของเชื้อพันธุกรรมที่เก็บรวบรวมมาจากแหล่งที่แตกต่างกันว่ามีการปรับตัวดีมากหรือน้อยเพียงใด โดยได้เก็บข้อมูลลักษณะต่างๆ ของเชื้อพันธุกรรมตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น สีของใบแรก สีที่โคนต้น อายุออกดอก อายุออกใหม่ ความสูงของต้น ความสูงของฝัก รูปทรงฝัก และผลผลิตที่ได้ เป็นต้น

หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โทร. (02) 564-6700 ต่อ 3114 โทรสาร (02) 564-6702

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ขอนแก่น
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 20 ฉบับที่ 416
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM