เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ทานตะวัน เตรียมบานเต็มทุ่งสระบุรี-ลพบุรี เกษตรกรปลูกเป็นรายได้เสริม นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม
   
ปัญหา :
 
 
ย่างเข้าสู่ฤดูฝน ใครที่ใช้ถนนสายสระบุรี-หล่มสัก ช่วงจังหวัดสระบุรี ลพบุรี และเพชรบูรณ์ จะเห็นเกษตรกรส่วนหนึ่งลงมือปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากพื้นที่มีความแตกต่างกัน ฝนมาเร็วมาช้า บางแห่งเกษตรกรเพียงเริ่มเตรียมดิน แต่บางแห่งจะเห็นต้นข้าวโพดแรกรุ่น ใบปลิวไสวยามลมพัด

ท้องที่เดียวกัน เมื่อล่วงสู่ปลายฝน เกษตรกรส่วนหนึ่งเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวโพด จากนั้นก็มีปลูกพืชที่ให้ทั้งความสวยงามแล้วก็รายได้แก่เกษตรกร พืชที่ว่าคือทานตะวันนั่นเอง



พืชทำเงินกว่า 2 ทศวรรษ

การสืบค้นว่า ทานตะวันเริ่มปลูกจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่นั้น ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก คุณพาโชค พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการบริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด และ คุณยงยุทธ ปานสูง ผู้จัดการฝ่ายการตลาดบริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด ก็ร่วมให้ข้อมูล เนื้อหาสาระที่พูดคุยกันกว้างขวาง คงเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ

คุณพาโชคเริ่มเล่าว่า บริษัท แปซิฟิคฯ มีการทดลองความเป็นไปได้ในการปลูกทานตะวันเมื่อปี 2521-2523 จากนั้นจึงเริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกจริงจังเมื่อปี 2528 พื้นที่ปลูกช่วงนั้นราว 400-500 ไร่ จากนั้นพื้นที่ก็ขยายเรื่อยมา

เหตุที่มีการส่งเสริมปลูกทานตะวันนั้น เป็นเพราะประเทศไทยมีการนำเข้าเมล็ดทานตะวันและผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมปีละหลายร้อยล้านบาท และโรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศไทยมีความต้องการผลผลิตทานตะวันกว่าปีละ 100,000 ตัน การปลูกทานตะวันครั้งแรกเป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรและบริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด

จากพื้นที่เริ่มต้น 500 ไร่ พื้นที่ปลูกทานตะวัน เคยสูงสุดถึง 600,000 ไร่ ในปี 2542 พื้นที่ปลูกมีขึ้นมีลง ทั้งนี้มีปัจจัยบ่งชี้คือเรื่องของดินฟ้าอากาศ รวมทั้งพืชตัวเลือกที่เกษตรกรมีอยู่ พืชตัวเลือกของเกษตรก็เช่น หากข้าวฟ่างราคาดี เกษตรกรจะปลูกข้าวฟ่างแทนทานตะวัน หรือปลูกถั่วเขียว อย่างนี้เป็นต้น

"ย้อนกลับไปเมื่ออดีตปี 2527 พื้นที่ปลูก 300-400 ไร่ ทดลองปลูกเชิงการค้า เราวิจัยพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับในประเทศไทย เกษตรกรปลูกแล้วมีกำไร โรงงานหีบได้น้ำมันเกิน 40 เปอร์เซ็นต์ จัดเป็นพืชทนแล้ง ทานตะวันปลูกหลังจากปลูกพืชหลักได้ดี คือหลังจากปลูกข้าวโพดแล้ว อุตสาหกรรมในบ้านเรา อย่างปลากระป๋องก็ต้องการมาก ยิ่งมีการส่งออกปลากระป๋องมากต้องใช้ทานตะวันมาก"คุณพาโชคอธิบาย

ในเรื่องของงานวิจัยและส่งเสริมปลูกทานตะวัน ถือว่าบริษัท แปซิฟิคฯ เป็นผู้บุกเบิก



โครงการปลูกพันธุ์พิเศษ

น้ำมันคุณภาพดี ขายได้ราคาสูง


คุณยงยุทธ บอกว่า ปัจจุบันบริษัท แปซิฟิคฯ มีส่วนแบ่งเรื่องของเมล็ดพันธุ์อยู่ 60 เปอร์เซ็นต์

เรื่องสายพันธุ์นั้น เริ่มแรกมีสายพันธุ์ "แปซิฟิค 33" ต่อมามี "แปซิฟิค 55" และ "แปซิฟิค 77"

"เราได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ พื้นที่ปลูกบางแห่งมีการจัดการเรื่องการท่องเที่ยว เงินที่ได้บางครั้งมากกว่าจำหน่ายทานตะวันเสียอีก เรื่องสายพันธุ์มี 33 ยุคเริ่มแรก ปัจจุบันยังใช้อยู่ เราพยายามคัดเลือก ซึ่งก็มีเพิ่มเป็น 3 สายพันธุ์ จะให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ผลผลิต 150-200 กิโลกรัม ต่อไร่ ในไร่ของเกษตรกร แต่แปลงวิจัยได้สูงถึง 350-500 กิโลกรัม ต่อไร่ ปัจจุบันมีการพัฒนาเรื่องของการปลูก การดูแลรักษามากขึ้น"

คุณพาโชคบอก และเล่าต่ออีกว่า

"อุตสาหกรรมน้ำมัน มองไปที่กรดไขมันไม่อิ่มตัว ลดปัญหาโรคหัวใจ ลดคอเลสเตอรอล เรามีโครงการปลูกทานตะวันแปซิฟิค 22 ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่ให้น้ำมันคุณภาพสูง คือมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง โดยเฉพาะ Oleic acid และ Lenoleic acid ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เราร่วมกับบริษัทญี่ปุ่น ผลิตในพื้นที่ 5,000 ไร่ เกษตรกรปลูกพันธุ์นี้ จะได้ราคาเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ แต่สายพันธุ์ 22 หน้าตาคล้ายพันธุ์ 33, 55, 77 เกษตรกรและผู้รวบรวมต้องซื่อสัตย์ ไม่ปะปนกับพันธุ์อื่น เพิ่งเริ่มต้น ยังอีกนาน สายพันธุ์นี้ไม่ได้จาก จีเอ็มโอ ไม่มีการบอกชัดเจนว่า ปลูกพันธุ์นี้ตรงไหน แต่กระจายไป เมื่อมีการเก็บเกี่ยวและวัดเปอร์เซ็นต์กรดไขมันไม่อิ่มตัว หากมีสูง เกษตรกรอาจจะขายได้เพิ่มจากเดิม 1-2 บาท ปัจจุบันทางยุโรป อเมริกา สนใจเรื่องนี้มาก"



ใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์

ถึงแม้ความต้องการเมล็ดทานตะวันยังมีอยู่มาก แต่พื้นที่การปลูกมีขึ้นมีลง

คุณพาโชคบอกว่า ความต้องการใช้น้ำมันทานตะวันต่อปีนั้นมีราว 14,000-15,000 ตัน แต่เราผลิตได้ไม่พอ บางปีต้องนำเข้าถึง 10,000 ตัน

"ฤดูปลูกอยู่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม ชุดสุดท้ายไม่เกินอาทิตย์แรกของเดือนตุลาคม ปลูกกันไปเรื่อยๆ เมื่อต้นตั้งตัวได้ หากฝนหยุดตกก็มีผลผลิตเก็บ เพราะเป็นพืชทนแล้ง มีความชื้นบ้างไม่ต้องกลัว ข้อจำกัดทำให้พื้นที่ลดหากเกษตรกรคำนวณไม่ดี ฝนหมดก่อนก็ปลูกไม่ทันแล้ว อย่างที่บอก ทานตะวันเป็นพืชที่ปลูกหลังพืชประธาน จะปลูกเดือนพฤษภาคม ไปเก็บกันยายน ตุลาคม ฝนชุกไม่ได้จะเป็นเชื้อรา ปัญหาอีกอย่างคือ นกมากินผลผลิตเพราะผลผลิตมีก่อนนาข้าว"

คุณพาโชคพูดถึงช่วงปลูก และบอกต่ออีกว่า

"พื้นที่ปลูกน้อยสุดปี 2547 ราว 2 แสนไร่ มากสุดปี 2542 จำนวน 6 แสนไร่ พื้นที่ปลูกปี 2550/2551 คาดว่าคงอยู่ที่ 4 แสนไร่ ตัวแปรอยู่ที่เกษตรกรอาจจะหันไปปลูกมันและถั่วเขียว ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวโพดลดลง เมื่อลมหนาวมา ฝนหมดไป เกษตรกรก็หยุดปลูกแล้ว ปลูกทานตะวันเกษตรกรไม่ดูแลเท่าที่ควร เพราะว่าความเสี่ยงสูง ผลผลิตของโลกเฉลี่ย 190 กิโลกรัม ต่อไร่ ของไทยเราได้ 150 กิโลกรัม ต่อไร่ ทานตะวันเป็นพืชเสริม ใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ ใช้ที่ดินถึง 8 เดือน ในรอบปี ราคาประกัน 10 บาท เกษตรกรมีรายได้ 1,500 บาท ต่อไร่ ต้นทุน 700-800 บาท มีกำไรครึ่งหนึ่ง"



เตรียมรับมือโลกร้อน

ดูจากตัวเลขความต้องการเมล็ดทานตะวันแล้ว ยังมีอีกมาก แต่การปลูกไม่ขยายไปที่อื่นมากนัก ยังคงเกาะกลุ่มอยู่ลพบุรี สระบุรี และเพชรบูรณ์

ถามถึงความเป็นไปได้ ในการขยายพื้นที่ปลูก คุณพาโชคให้คำตอบว่า

หนึ่ง...ดูช่วงเก็บเกี่ยวว่ามีฝนไหม ในที่นี้คือการเก็บเกี่ยวผลผลิตทานตะวัน หากมีฝนชุกก็ทำให้เกิดเชื้อรา

สอง...เก็บเกี่ยวพืชหลักแล้ว เหมาะที่จะปลูกทานตะวันหรือไม่ มีความชื้นมีฝนไหม

สาม...ระบบตลาด มีผู้รับซื้อผลผลิตหรือไม่

ถามถึงเรื่องโลกร้อน ทางนักวิจัยเตรียมตัวอย่างไร

ได้รับคำตอบว่า..."เมื่อก่อนแล้ง 4 ปี หนหนึ่ง ปัจจุบันบางช่วงแล้งติดต่อกัน หรือฝนดีติดต่อกัน ต้องปรับตัว การวางแผนต้องปรับตัวตลอด เรื่องของโลกร้อน เราต้องหาพันธุ์ที่ทนต่ออุณหภูมิสูง ยืนระยะยาว เรามีอยู่แล้ว จะช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่ขั้นตอนการวิจัยสู่ตลาด เราประเมินจะมีอะไรนอกเหนือสิ่งที่คาดไม่ถึง เราดักไว้ วิจัยลดความเสี่ยงต่อภัยแล้ง"

ส่วนคุณยงยุทธ บอกว่า เกษตรกรที่สนใจปลูก ควรอยู่ไม่ไกลจากจุดรับซื้อนัก และรวมตัวกันปลูก 400-500 ไร่ ขึ้นไป

ใกล้ถึงฤดูกาลของทานตะวันแล้ว ราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ก็คงเหลืองอร่ามไปทั่วท้องทุ่ง

เกษตรกรท่านใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด เลขที่ 1 หมู่ที่ 13 ถนนพหลโยธิน ตำบลพระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี 18120 โทร. (036) 266-316-9, (036) 267-877-9



คุณค่าเมล็ดทานตะวัน

ทานตะวัน เป็นต้นไม้ที่มีดอกสวยงาม ดอกจะบานรับแสงแดดทางทิศตะวันออกเสมอ เมล็ดทานตะวันเมื่อนำมาสกัดทำน้ำมันพืชก็มีคุณค่าทางอาหารสูง เมื่อนำกะเทาะเปลือกใช้รับประทานจะมีรสชาติอร่อย และมีคุณค่าแก่ร่างกายสูงมากอย่างคาดไม่ถึง เมล็ดทานตะวันจึงเป็นที่นิยมใช้บริโภคเป็นอาหารหรือขบเคี้ยวยามว่างอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ



เมล็ดทานตะวัน

มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วย โปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ เค บี 2 ดี และอี เป็นที่น่าสังเกตว่า ปริมาณและคุณภาพของวิตามินอี ในเมล็ดทานตะวันนั้น มีสูงกว่าในธัญพืชชนิดอื่นๆ มาก วิตามินอีในทานตะวันเป็นวิตามินจากธรรมชาติที่มีคุณค่าสูง



ปริมาณวิตามินอี

(หน่วย I.U.)

น้ำมันทานตะวัน (1 ช้อนโต๊ะ) 12.7

น้ำมันข้าวโพด (1 ช้อนโต๊ะ) 4.8

น้ำมันถั่วลิสง (1 ช้อนโต๊ะ) 4.9

น้ำมันถั่วเหลือง (1 ช้อนโต๊ะ) 3.5



วิตามินอี

มีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกายมาก

1. ช่วยชะลอความแก่ของผิวหนัง ผิวหนังเมื่ออายุมากขึ้น ไขมันผนังเซลล์จะมีโอกาสถูกออกซิเจนเข้าทำลายเกิดเป็นเม็ดสีน้ำตาลสะสมอยู่ใต้ผิวหนัง ผิวหนังเมื่อขาดไขมันก็จะเหี่ยวย่นและแห้ง แลดูชรา โดยเฉพาะเม็ดสีน้ำตาลที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังกระดำกระด่าง วิตามินอีจะทำหน้าที่ป้องกันไขมันผนังเซลล์ มิให้ถูกทำลายโดยออกซิเจนผิวหนังจะแลดูเต่งตึง สดใส และเยาว์วัย เมื่อมีไขมันผนังเซลล์อยู่สมบูรณ์

2. บำรุงสายตาป้องกันต้อกระจก เลนส์ตาอันเป็นส่วนที่รับภาพ ประกอบขึ้นด้วยสารประกอบประเภทไขมันไม่อิ่มตัว หากร่างกายขาดวิตามินอีทำให้กรดไขมันนี้ จะถูกออกซิเจนเข้าทำปฏิกิริยา ทำให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวนี้แปรสภาพไป จะทำให้เป็นตาต้อกระจกได้ วิตามินอีจะช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาทางเคมีของออกซิเจนกับไขมันที่ไม่อิ่มตัวนี้

ประสบการณ์จากการขาย ได้รับแจ้งจากผู้บริโภคสูงอายุเสมอว่า หลังจากบริโภคเมล็ดทานตะวันไม่นาน ก็รู้สึกได้ว่าสุขภาพทางสายตาดีขึ้นอย่างมาก

3. วิตามินอี กับเอสโตรเจน (ยาคุมกำเนิด) สตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำจะมีโอกาสทำให้ร่างกายขาดวิตามินอี การขาดวิตามินอี ทำให้เกิดความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ มีลูกยาก เป็นหมัน คลอดก่อนกำเนิด และแท้งได้ วิตามินอีมีความจำเป็นต่อทารกในครรภ์ด้วย มารดาที่ขาดวิตามินอี จะทำให้ทารกในครรภ์ขาดด้วย เมื่อทารกคลอดออกมาจะทำให้เกิดโรคโลหิตจางและบวม จะพบได้มากในทารกที่คลอดก่อนกำหนด

ได้รับแจ้งจากผู้บริโภคสตรีหลายท่านว่า การบริโภคเมล็ดทานตะวันสม่ำเสมอทำให้ระบบประจำเดือนเป็นปกติ โดยเฉพาะสตรีวัยใกล้หมดประจำเดือน

นอกจากนี้ วิตามินอีจะช่วยเพิ่มความต้านทานการติดเชื้อโรคของร่างกาย การขาดวิตามินอีจะทำให้เม็ดเลือดแดงผิดปกติ โลหิตจาง ผิวหนังเหี่ยวย่น แก่ก่อนวัย เกิดความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ทำให้เป็นหมันและแท้งได้ ฯลฯ

4. ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด น้ำมันในเมล็ดทานตะวัน มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว (Linoleic acid) อยู่สูง 60-70% กรดนี้จะช่วยลดไขมันในเส้นเลือด (Cholesterol) ซึ่งมักสะสมในเนื้อเยื่อและหลอดเลือดทำให้เกิดปัญหาหลอดเลือดอุดตันและเลือดแข็งตัว ทำให้เกิดปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือดในสมองตีบ กรดไขมันไม่อิ่มตัว (Linoleic acid) ที่มีอยู่ในเมล็ดทานตะวันจะช่วยละลายเลือดที่แข็งตัวและดึงเอาไขมันในเส้นเลือด (Cholesterol) ออกไปใช้ประโยชน์ จึงช่วยแก้ปัญหาโรคหลอดเลือดอุดตัน นอกจากนี้ วิตามินอี ยังช่วยทำให้เม็ดเลือดแดงสมบูรณ์คงทน ไม่รวมตัวเป็นกลุ่มก้อน อันเป็นสาเหตุของการอุดตันเส้นเลือด เมื่อหลอดเลือดไม่อุดตัน เม็ดเลือดไม่แข็งตัว การสูบฉีดโลหิตของหัวใจ และการไหลเวียนของโลหิตจะสะดวกสบาย

ร่างกายคนเราไม่สามารถสังเคราะห์กรดไขมันไม่อิ่มตัวนี้ได้ จะต้องได้รับจากการรับประทานเข้าไปเท่านั้น



ปริมาณความต้องการ

วิตามินอีของร่างกาย


ร่างกายต้องการวิตามินอี 15-30 I.U. ต่อวัน จากการศึกษายังไม่มีรายงานใดบ่งว่า จะมีอันตรายเกิดขึ้นจากการรับประทานวิตามินอีในขนาด 600-12,000 I.U. ต่อวัน ติดต่อกันหลายปี (อัตรานี้เท่ากับเมล็ดทานตะวันมากกว่า 1 กิโลกรัม ต่อวัน) วิตามินอีพบมากในน้ำมันพืช และมีในผักสีเขียว และไข่แดง

ปริมาณการรับประทานเมล็ดทานตะวัน

เมล็ดทานตะวันกะเทาะเปลือกแล้วนี้ สามารถใช้บริโภคได้ทันที ควรรับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 2-3 ครั้ง การรับประทานร่วมกับกล้วยน้ำว้า จะทำให้มีรสชาติอร่อยนุ่มนวล



อ้างอิง

1. DOMPERT, W : BERINGER,

H : MICHAEL, G, Z PFLANZENERNAEHR

BOOENKO 1975 : 141 Chemical Abstracts Vol. 83, 1975

2. HENDLER, S.S 1990 The Docter "s Vitamin and Mineral Enclycopedia 106.

3. ตำราโรคหัวใจและหลอดเลือด บทที่ 23 เรื่องโรคหัวใจและโภชนาการของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย

4. อาหารมังสวิรัติ อาหารธรรมชาติ เพื่อสุขภาพและความงาม โดยชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย

5. หลักโภชนาการปัจจุบัน ของ เสาวนีย์ จิตรพิทักษ์ ไทยวัฒนาพาณิช 2526

6. ข้อมูลจาก โครงการศูนย์ข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
สระบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 20 ฉบับที่ 416
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM