เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
สมร โชคชัย กับงานส่งเสริมปลูกมะกรูด ขายส่งโรงงานผลิตน้ำมันหอมระเหย
   
ปัญหา :
 
 
หลายคนคิดเพียงว่า "มะกรูด" เป็นไม้ยืนต้นสวนครัว ปลูกเพื่อนำใบและผลมาใช้ประกอบเพื่อเป็นเครื่องแกงชนิดต่างๆ หรือใช้ปรุงแต่งรสชาติของอาหารเท่านั้น ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกมะกรูดเพื่อผลิตใบและผลส่งขายโรงงานผลิตน้ำมันหอมระเหย สร้างรายได้ดีไม่แพ้เกษตรกรรมประเภทอื่น อย่างกรณีของ คุณสมร โชคชัย บ้านเลขที่ 88 หมู่ที่ 4 ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท 17000 โทร. (081) 041-4741 ส่งเสริมให้เกษตรกรได้ขยายพื้นที่การปลูกมะกรูดเพียงครอบครัวละ 1-3 ไร่ เท่านั้น ผลิตใบขายได้กิโลกรัมละ 7 บาท (ขายใบพร้อมกิ่ง โดยตัดที่ความยาว 50 เซนติเมตร-1 เมตร)

"มะกรูด" จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในทางพฤกษศาสตร์ จัดมะกรูดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงเฉลี่ย 2-8 เมตร ลำต้นเกลี้ยงเกลา กิ่งก้านมีหนามแหลม มีใบย่อยเพียงใบเดียวค่อนข้างหนา มีสีเขียวแก่ กลิ่นหอมฉุน มีน้ำมันหอมระเหย ลักษณะของดอกมีสีขาว ออกเดี่ยวๆ อยู่เป็นกระจุก 3-5 ดอก กลีบดอกร่วงง่าย ทรงผลกลมผิวหนาขรุขระ มะกรูดจัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกับส้มและมะนาว ดังนั้น จะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินร่วนปนทรายและมีการระบายน้ำที่ดี



มะกรูดที่ปลูกในบ้านเรา

แบ่งออกได้เป็น 2 สายพันธุ์หลัก


คุณสมรได้บอกถึงสายพันธุ์มะกรูดที่ปลูกอยู่ในบ้านเราในขณะนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก คือ สายพันธุ์ที่ให้ผลมะกรูดดกตลอดปี ผิวผลค่อนข้างเรียบและผลมีขนาดเล็ก

อีกสายพันธุ์หนึ่งเป็นพันธุ์ผลใหญ่และติดเป็นพวง ลักษณะของผลมีตะปุ่มตะป่ำคล้ายหูดและมีใบขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะที่จะปลูกเพื่อผลิตใบและผลขายส่งโรงงานแปรรูปน้ำมันหอมระเหย เครื่องอุปโภคหลายชนิด อาทิ สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน เครื่องสำอาง ฯลฯ ล้วนแต่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยจากใบและผลมะกรูด ยังมีข้อมูลบริษัทบางแห่งมีการนำเอาใบมะกรูดไปตากแห้งและบดให้ละเอียด ปั้นเป็นลูกกลอนเพื่อส่งออก บ้างก็นำเอาไปเป็นส่วนผสมในอาหารไก่เพื่อช่วยต้านทานโรค ในทางการแพทย์แผนไทยมีการใช้มะกรูดเป็นยาหรือส่วนผสมของยาต่างๆ อาทิ น้ำในผลมะกรูดแก้อาการท้องอืด ช่วยให้เจริญอาหาร น้ำมะกรูดใช้ดองยาเพื่อใช้ฟอกเลือดและบำรุงโลหิตในสตรี ส่วนของเนื้อนำมาใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ส่วนของใบมะกรูดใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้อาการจุกเสียด



เทคนิคการปลูกมะกรูดเพื่อตัดใบขาย

คุณสมรมีอาชีพในการค้าขายใบมะกรูดมานานนับ 10 ปี ทำให้ทราบว่ากลุ่มคนที่ปลูกต้นมะกรูดกันมากกลับไม่ใช่เกษตรกร ส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการที่ใกล้เกษียณอายุ ซึ่งมีเกือบทุกวงการ อาทิ ข้าราชการครู ตำรวจ ฯลฯ เตรียมเป็นอาชีพหลังเกษียณ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท จากประสบการณ์ในการปลูกมะกรูดให้ประสบผลสำเร็จนั้น คุณสมรมีเทคนิคในการปลูกคือ ก่อนอื่นจะต้องรู้หน้าใบและหลังใบ ในการปลูกส่วนของหน้าใบจะต้องหันสู่ทิศตะวันออก (ดวงอาทิตย์ขึ้นทางไหน หันใบไปทางนั้น) ฤดูกาลปลูก คุณสมรแนะนำให้ปลูกในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาวจะดีที่สุด ถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนมักจะพบปัญหาเรื่องโรคราเนื่องจากมีความชื้นสูง

ในการเตรียมหลุมปลูกต้นมะกรูดเช่นกัน คุณสมรจะไม่รองก้นหลุมด้วยสารฆ่าแมลงในกลุ่มของสารคาร์โบฟูรานเพื่อป้องกันการทำลายจากปลวกเหมือนกับเกษตรกรทั่วไป จะใส่สารคาร์โบฟูรานหลังจากปลูกเสร็จ โดยมีความเชื่อว่าปลวกหรือแมลงศัตรูในดินจะทำลายรากของต้นมะกรูดในช่วงผิวดินที่ลึกประมาณ 1-2 เซนติเมตร เท่านั้น ต้นมะกรูดจะตั้งตัวหลังจากปลูกไปได้ประมาณ 1 เดือน คุณสมรแนะนำให้ใช้ปุ๋ยยูเรียผสมกับปุ๋ยคอกเก่า (ขี้วัวเก่า) ใส่ให้กับต้นมะกรูด แต่ให้ใส่ห่างจากโคนต้นสัก 1 คืบ ถ้าเป็นช่วงฤดูแล้งให้ทำเปลือกถั่วเขียวมาคลุมโคนต้น อย่าให้ติดโคนต้นเช่นกัน ปุ๋ยที่ใส่ไปจะกระตุ้นการแตกยอดให้เร็วขึ้น



แนะนำให้เกษตรกรที่จะปลูกมะกรูดในพื้นที่ 1 ไร่

คุณสมรแนะนำให้ปลูกด้วยการใช้ต้นมะกรูดเสียบยอดและควรใช้พันธุ์ที่มีขนาดใบใหญ่และผลตะปุ่มตะป่ำ (เสียบบนต้นตอมะนาวพวง รากมะนาวพวงหากินเก่งทำให้ต้นเจริญเติบโตไว) ที่ไม่ส่งเสริมให้ปลูกโดยการใช้กิ่งตอนเนื่องจากเมื่อต้นใหญ่ขึ้นมีโอกาสโค่นล้มได้ง่าย วิธีการเสียบยอดมะกรูดของคุณสมรจะใช้วิธีการเสียบแบบผ่าลิ่ม จากที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า ต้นตอจะใช้กิ่งมะนาวพวงโดยเลือกกิ่งที่มีลักษณะกลางแก่กลางอ่อนที่มีขนาดต้นประมาณแท่งดินสอ (วิธีสังเกตต้นตอที่ดีเปลือกผิวจะมีลายที่ชาวบ้านเรียกว่า "ลายนกคุ้ม" จะดีมาก) สำหรับยอดพันธุ์มะกรูดที่จะนำมาเสียบควรเลือกกิ่งที่มีความสมบูรณ์และใบสวย ขนาดของยอดที่ตัดมาเสียบให้มีความยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร และขนาดของยอดควรใหญ่ใกล้เคียงกับต้นตอ คุณสมรได้ย้ำถึงข้อดีของการปลูกต้นมะกรูดที่ได้จากการเสียบยอดแบบผ่าลิ่มว่า ระบบรากจะดีมาก เมื่อแผลจากการเสียบประสานเชื่อมติดสนิทจะเหมือนกับต้นเพาะเมล็ด ต้นจะเจริญเติบโตได้เร็วมาก

ในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกมะกรูดได้ 400 ต้น โดยใช้พื้นที่ปลูก 2x2 เมตร และแซมด้วยการปลูกกล้วยน้ำว้าเพื่อช่วยเป็นร่มเงาในปีแรก เมื่อต้นมะกรูดมีอายุได้ 1 ปีเต็ม เราจะได้กล้วยต้นละ 1 เครือ เป็นรายได้เสริม ให้โค่นต้นกล้วยทิ้งเมื่อต้นมะกรูดมีอายุเข้าปีที่ 3 เริ่มตัดใบมะกรูดขายได้ทุกๆ 3 เดือน เมื่อคิดเป็นเงินจากการขายใบมะกรูด 70 บาท ต่อต้น ต่อรุ่น จะได้เงิน 28,000 บาท (ใน 1 ปี จะมีรายได้จากการขายใบมะกรูดถึง 112,000 บาท ต่อไร่) คุณสมรยังได้บอกว่า สภาพพื้นที่ปลูกควรเลือกสภาพดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำที่ดีและเตรียมแปลงแบบลูกฟูกเพื่อช่วยการระบายน้ำ จุดสำคัญที่สุดของการปลูกมะกรูดเพื่อตัดใบขายนั้นจะต้องมีสภาพแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ (ถ้าแหล่งน้ำไม่สมบูรณ์อาจจะตัดใบมะกรูดได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น)

สำหรับคำแนะนำ ทางราชการจะแนะนำสำหรับพื้นที่ที่พบว่ามีลมพัดแรงจำเป็นจะต้องปลูกต้นไม้กันลม เกษตรกรจะปลูกต้นสนปฎิพัทธ์ ไผ่รวกหรือไผ่ชนิดอื่นๆ เป็นแนวกันลมก็ได้ หรืออาจจะปลูกกล้วยหินซึ่งจัดเป็นกล้วยท้องถิ่นของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร ได้มีการนำต้นพันธุ์กล้วยหินมาจากไร่ บี.เอ็น ตำบลแคมป์สน อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ มาปลูกรอบแปลงปลูกไม้ผล ผลปรากฏว่าต้นกล้วยหินซึ่งจัดเป็นกล้วยที่ลำต้นสูงใหญ่ใช้เป็นแนวกันลมได้อย่างดีไม่แพ้ไม้ชนิดอื่นๆ ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับเกษตรกรที่ปลูกกล้วยไข่ว่า ควรจะปลูกกล้วยหินเป็นแนวกันลมล้อมรอบแปลงกล้วยไข่

ในเรื่องของการดูแลรักษาต้นมะกรูดเพื่อตัดใบขายนั้น ควรจะมีการฉีดพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันรักษาใบให้ดี โดยเฉพาะในช่วงของการแตกใบอ่อนจะพบการระบาดของหนอนชอนใบ แนะนำให้ฉีดพ่นสารโปรวาโด อัตรา 1-2 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (1 ปี๊บ) เป็นที่ทราบกันดีว่า สารโปรวาโดเป็นสารในกลุ่มอิมิดาคลอพริดที่ใช้อัตราน้อยที่สุด และเมื่อคำนวณต้นทุนการผลิตต่ำกว่าสารอิมิดาคลอพริดชนิดอื่นๆ นอกจากนั้น เกษตรกรที่ปลูกต้นมะกรูดจะต้องควบคุมโรคแคงเกอร์ให้ได้ โดยภาพรวมแล้วการปลูกมะกรูดมีการดูแลรักษาที่น้อยกว่าการปลูกมะนาวและพืชตระกูลส้มชนิดอื่นๆ



ใบมะกรูดดีหรือมีตำหนิ มีการรับซื้อทั้งหมด

คุณสมรบอกว่า โรงงานที่รับซื้อใบและผลมะกรูดมีจุดประสงค์เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันหอมระเหย จะมีการรับซื้อทั้งใบและผลโดยรับซื้อเป็นกิโลกรัม รูปแบบของการรับซื้อจะมีรถพร้อมคนงานไปตัดใบและผลมะกรูดถึงสวน รถปิคอัพแต่ละคันจะต้องตัดใบมะกรูดได้อย่างน้อยวันละ 500 กิโลกรัม โดยจะเริ่มลงมือประมาณ 9 โมงเช้า-ประมาณบ่าย 2 โมง จะเสร็จเรียบร้อย ขนใบมะกรูดมารวบรวมไว้ในที่ร่มเพื่อเตรียมส่งโรงงานและจะเก็บใบและผลมะกรูดได้ไม่เกิน 3 วัน เจ้าของสวนเพียงแต่นัดวันเวลาให้ไปตัดเท่านั้น ราคารับซื้อถึงสวนถ้าเป็นใบที่สวยจะรับซื้อเฉลี่ยกิโลกรัมละ 7-10 บาท ส่วนใบที่มีตำหนิหรือมีร่องรอยของการทำลายของโรคและแมลง (เช่น หนอนชอนใบ เพลี้ยไฟ และไร เป็นต้น) จะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 3 บาท ส่วนของผลมะกรูดจะรับซื้อทั้งหมด (แยกเฉพาะผลเน่าออก) โดยใช้วิธีการเขย่าต้น ในราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3 บาท เช่นกัน ปัจจุบันพื้นที่ปลูกมะกรูดในเชิงพาณิชย์ยังมีน้อยมากและยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบว่าใบและมะกรูดมีตลาดดีกว่าพืชอีกหลายชนิด และเป็นพืชที่มีการจัดการดูแลรักษาไม่ยุ่งยากเหมือนพืชตระกูลส้มชนิดอื่นๆ แหล่งผลิตใบและผลมะกรูดที่สำคัญในปัจจุบันนี้จะอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดอุทัยธานี

คุณสมรยังได้เล่าถึงใบและผลมะกรูดที่ส่งไปขายยังโรงงานจะไม่เข้มงวดในเรื่องของสารเคมีตกค้างมากนัก เมื่อผลผลิตไปถึงยังโรงงานจะนำเข้าตู้นึ่งทันที ใบที่นำไปส่งก็ไม่ต้องริดเป็นใบๆ จะมัดกิ่งพร้อมใบเป็นฟ่อนและไปชั่งน้ำหนักคิดเป็นเงินที่ปลายทาง ราคาการรับซื้อจะค่อนข้างคงที่ตลอดทั้งปี คุณสมรบอกว่า ราคาไม่เคยตก ผลผลิตโดยรวมที่มีพ่อค้ารวบรวมมาส่งขายยังโรงงานยังไม่เพียงพอด้วยซ้ำไป



ต้นทุนในการผลิตมะกรูดเพื่อตัดใบขาย

ไร่ละ 15,000 บาท


คุณสมรได้ย้ำว่า ในแต่ละครัวเรือนควรจะปลูกต้นมะกรูด (ใช้กิ่งเสียบยอดบนต้นตอมะนาวพวง) เฉลี่ย 1-3 ไร่ ก็เพียงพอแล้ว และปลูกในระบบชิดคือ ใช้ระยะปลูก 2x2 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 400 ต้น ราคากิ่งพันธุ์มะกรูดเสียบยอดราคาต้นละ 25 บาท พื้นที่ 1 ไร่ คิดเป็นค่ากิ่งพันธุ์ 10,000 บาท เมื่อคิดรวมค่าปุ๋ย ค่าสารปราบศัตรูพืช ค่าระบบน้ำและค่าจัดการอื่นๆ อีกประมาณไร่ละ 5,000 บาท รวมเป็นเงินลงทุนในปีแรกประมาณ 15,000 บาท ต่อไร่ ต้นมะกรูดจะเริ่มตัดใบขายได้ในเชิงพาณิชย์เมื่อต้นมีอายุเข้าปีที่ 3 และจะตัดขายได้ปีละ 4 รุ่น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น ต้นมะกรูดที่มีการดูแลรักษาที่ดีพอประมาณจะมีอายุได้ยืนยาวกว่า 10 ปี



หนังสือ "ปลูกมะกรูดตัดใบและอาชีพเกษตรกรรมทำง่ายรายได้งาม เล่ม 2" พิมพ์ 4 สี จำนวน 84 หน้า มีแจกฟรี เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 50 บาท ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/200 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ชัยนาท
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 20 ฉบับที่ 416
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM