เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เรื่องเล่า ชาวต่างชาติเพาะเห็ด
   
ปัญหา :
 
 
จากการที่ลุงลีได้คุยกันเรื่องถ้าจะเพาะเห็ดควรคำนึงถึงอะไรบ้าง ในฉบับก่อนลุงลีได้คุยเรื่องของการรู้เขา รู้เรา ซึ่งถ้าเรารู้ตัวเราสำรวจตัวเราด้วยใจที่ไม่เอนเอียงดีพอแล้ว เราจำเป็นต้องรู้ในส่วนของสังคมของผู้เพาะเห็ด ต้องรู้ตลาดต้องรู้เทคโนโลยีที่นักเพาะเห็ดนำมาใช้เพื่อลดต้นทุนการเพาะเห็ด ซึ่งสิ่งนี้ก็คือการรู้เขาที่ลุงลีว่า

ถ้าเราไม่รู้เขา ไม่รู้ว่าเขาเพาะเห็ดกันอย่างไร หรือรู้ก็แกล้งทำเป็นอ้างว่าต้องลงทุนสูงบ้าง ยังไม่มีความจำเป็นบ้าง หรือบางท่านตามเทคโนโลยีไม่ทัน จึงชวนต่อต้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เสียเลย ในลักษณะองุ่นเปรี้ยว (องุ่นอยู่บนต้น เก็บไม่ถึงจึงบอกว่าองุ่นเปรี้ยวอย่าไปกินเลย ทั้งๆ ที่องุ่นนั้นมีรสหวานอร่อย)

สิ่งที่ตามมาจากการที่เราไม่รู้เขาในโลกปัจจุบันก็คือ มีการนำเข้าเห็ดจากต่างประเทศเข้ามาขายให้เมืองไทยกว่า 1,000 ล้านบาท ต่อปี ทั้งนี้เนื่องจาก 2 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 คือ มีการเปิดการค้าเสรี (FTA)

ประเด็นที่ 2 คือ เห็ดที่นำเข้ามาราคาต่ำกว่าเห็ดที่เพาะในประเทศ ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก เป็นเรื่องที่น่าคิดเป็นอย่างมากว่า ทำไมเห็ดที่มาจากต่างประเทศ ต้องข้ามน้ำ ข้ามทะเล ผ่านขั้นตอนการนำเข้า ผ่านการได้กำไรของพ่อค้าคนกลาง เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เห็ด + ค่าขนส่ง + ค่าธรรมเนียม + กำไรจากพ่อค้า แล้วยังสามารถนำมาขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าเห็ดที่เพาะในบ้านเรา

วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการเพาะเห็ดทั้งหมดมีในประเทศ มีชาวต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานเพาะเห็ดในบ้านเรา ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในบ้านเรา เพาะเห็ดขายในบ้านเราและมีบางส่วนส่งไปขายในต่างประเทศ

วันนี้ลุงลีจึงขอคุยเรื่องชาวต่างชาติเพาะเห็ด เพื่อเป็นแนวทางเรียนรู้ว่า ชาวต่างชาติเขาเพาะเห็ดกันอย่างไร ใช้เทคโนโลยีแบบไหน ต้นทุนในการผลิตเห็ดจึงมีราคาต่ำ

จากข้อมูลในวารสาร Mushroom business มีว่า ผลผลิตเห็ดที่เพาะได้ทั่วโลกมีประมาณ 12,250,000,000 กิโลกรัม เมื่อปี พ.ศ. 2545 คาดว่าปี 2550 น่าจะมีมากกว่านี้ สำหรับประเทศไทยเรามีผลผลิตปี พ.ศ. 2545 ประมาณ 12,000,000 กิโลกรัม หรือประมาณ 0.1% ของผลผลิตเห็ดทั้งโลก ประเทศจีนผลิตเห็ดได้มากที่สุด 8,650,000,000 กิโลกรัม หรือประมาณ 70.60%

ชนิดของเห็ดที่มีการเพาะกันมากมีอยู่ 4 ชนิด คือ เห็ดสกุลนางฟ้า นางรม, เห็ดหอม, เห็ดแชมปิญอง และเห็ดหูหนู

การเพาะเห็ดในประเทศจีน ส่วนใหญ่จะเพาะเห็ดในลักษณะใกล้เคียงกับการเพาะเห็ดในบ้านเรา ประเทศจีนมีประชากรมากกว่าประเทศเรา 20 เท่า มีพื้นที่ใหญ่โต ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ มีความแตกต่างกันมาก ทำให้เพาะเห็ดได้หลายชนิด มีประวัติการเพาะเห็ดมายาวนานกว่า 700 ปี

ในปัจจุบันประเทศจีนมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการเพาะเห็ดอย่างต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยี การเพาะเห็ดระบบปิด เพาะเห็ดในห้องควบคุมอุณหภูมิ มีห้องตัดแต่งดอกเห็ดที่ดี มีระบบการขนส่งที่สามารถส่งผลผลิตดอกเห็ดไปขายได้ทั่วโลก

ประเทศในแถบยุโรป ประเทศฮอลแลนด์ โปแลนด์ เบลเยียม ยูเครน ฝรั่งเศส อังกฤษ มีการเพาะเห็ดกันเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะเพาะเห็ดแชมปิญอง มีการแบ่งขั้นตอนการทำตามความถนัด บางฟาร์มผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ขายหรือให้เช่า ในขณะที่บางฟาร์มเปิดดอกเห็ดอย่างเดียว เมื่อได้ผลผลิตแล้วบางฟาร์มส่งจำหน่ายเอง ในขณะที่บางฟาร์มส่งผลผลิตไปยังแหล่งรวบรวม

แถวทวีปอเมริกา มีการเพาะเห็ดแชมปิญองเป็นส่วนใหญ่ ประเทศแคนาดามีฟาร์มใหญ่หลายฟาร์ม ในแถบอเมริกาใต้ มีการเพาะเห็ดสกุลนางฟ้า นางรม แต่ส่วนมากเป็นฟาร์มเล็ก

ทวีปแอฟริกา มีการเพาะเห็ดสกุลนางฟ้า นางรม กันมาก เป็นฟาร์มเล็กๆ เริ่มมีการเพาะเห็ดกันมากขึ้น เมื่อก่อนนิยมเก็บเห็ดป่าขายเป็นเห็ดส่งออกที่สำคัญ

ออสเตรเลียใช้เทคโนโลยีในการผลิตเห็ดมากพอกับทางยุโรป และอเมริกา ในเอเชีย นอกจากประเทศจีนและประเทศเกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ใช้เทคโนโลยีในการเพาะเห็ดระบบปิดกันมาก ประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเพาะเห็ดเป็นฟาร์มเล็กๆ อินโดนีเซียเริ่มมีฟาร์มขนาดใหญ่ ประเทศเวียดนามเริ่มนำเทคโนโลยีการเพาะเห็ดระบบปิดมาใช้

ประเทศไทยเรายังเพาะเห็ดระบบเปิดเป็นส่วนใหญ่ มีฟาร์มของชาวต่างชาติที่ลงทุนเป็นร้อยล้านบาทประมาณไม่เกิน 5 ฟาร์ม

เทคโนโลยีการเพาะเห็ดระบบปิดที่ทั่วโลกเริ่มนำมาใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งประเทศจีนและเวียดนาม เป็นอย่างไร ลุงลีขอคุยเรื่องนี้ดังนี้

เริ่มจากโรงเรือนเปิดดอก นิยมทำเป็นลักษณะคล้ายโกดังขนาดใหญ่ มีหลังคาคลุมทั้งหมด แล้วแบ่งโรงเปิดดอกเป็นห้องขนาดใหญ่เล็กแล้วแต่พื้นที่ ที่นิยมทำกัน ห้องกว้างxยาวxสูง ประมาณ 8x12x5 เมตร ผนังห้องนิยมใช้โฟมบุด้วยวัสดุกันการกระแทก กันสนิม ทำความสะอาดง่าย เป็นโลหะชุบ เพดานใช้วัสดุชนิดเดียวกับผนัง พื้นเทคอนกรีต ปูด้วยโฟมแล้วเททับด้วยคอนกรีตอีกชั้น ขัดผิวหน้าเรียบ

ชั้นภายในนิยมใช้วัสดุกันสนิมทำเป็นชั้นประมาณ 8 ชั้น ขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร แต่ละห้องบรรจุได้ประมาณ 30,000 ก้อน

เครื่องมือเครื่องใช้ ภายในห้องเปิดดอกมีระบบปรับอากาศควบคุมอุณหภูมิ มีระบบให้ความชื้นในลักษณะสเปรย์พ่นหมอก มีพัดลมภายในช่วยในการหมุนเวียนอากาศและช่วยเติมก๊าซออกซิเจนในอากาศ มีระบบไฟฟ้าให้แสงสว่างภายใน โดยทั้งหมดจะมีแผงควบคุมระบบอยู่ภายนอกห้อง

สำหรับก้อนเชื้อเห็ด นิยมใช้ขวดพลาสติคขนาดบรรจุวัสดุเพาะ 700-1,000 กรัม โดยขวดพลาสติคกันความร้อนสามารถนึ่งฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส ได้ โดยขวดพลาสติคจะวางในถาดพลาสติคที่กันความร้อนได้เช่นกัน

วัสดุที่ใช้เพาะและอาหารเสริม แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ส่วนใหญ่ยังคงใช้ขี้เลื่อยเป็นหลัก อาหารเสริมยังนิยมใช้ส่วนที่ได้จากเมล็ดธัญพืช การปรับค่าความเป็นกรดเป็นด่างยังนิยมใช้ปูนขาวและยิปซัม

เชื้อเห็ดที่ใส่ลงก้อนมีการใช้หัวเชื้อจากขี้เลื่อย จากเมล็ดธัญพืช เริ่มมีการนำเชื้อเหลวมาใช้บ้างเป็นบางฟาร์ม

การนึ่งฆ่าเชื้อนิยมใช้เตานึ่งขนาดใหญ่ โดยมีเครื่องกำเนิดไอน้ำแยกส่วนต่างหาก แต่ละเตานึ่งได้ครั้งละหลายพันขวด

ขี้เลื่อยพร้อมอาหารเสริม ซึ่งผ่านการผสมจากเครื่องผสมอย่างดี ถูกนำมาผ่านเครื่องบรรจุลงขวดโดยอัตโนมัติ เสร็จแล้วจึงปิดฝาครอบที่มีแผ่นกรองอากาศอยู่ส่วนบน

ห้องที่บรรจุ จะมีการทำความสะอาดทุกวันหลังเสร็จงานประจำวัน

การผลิตจะทำต่อเนื่องทุกวัน ผลผลิตที่ได้จึงมีความสม่ำเสมอ การสูญเสียของก้อนเชื้อเห็ดมีน้อยมากไม่เกิน 2%

การเพาะเห็ดระบบปิดนี้ มีความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการสูญเสียมีน้อยมาก อาหารเสริมสามารถใส่ลงในขวดเชื้อได้มาก ผลผลิตที่ได้มีผลผลิตต่อก้อนสูง มีความสม่ำเสมอของผลผลิตมาก เนื่องจากเปิดดอกในห้องควบคุม สามารถกระตุ้นให้ออกดอกได้และดอกที่ได้จะสมบูรณ์สวยมากทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด

เมื่อเปรียบเทียบกับระบบเปิดซึ่งมีการสูญเสียค่อนข้างมากแล้ว จะเห็นว่าระบบปิดจะมีต้นทุนในการผลิตต่อหน่วยต่ำกว่า จึงทำให้ได้กำไรมากกว่า

สำหรับการเพาะเห็ดแชมปิญอง ห้องเปิดดอกจะมีขนาดใหญ่กว่า จะมีการนำเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น เครื่องใส่วัสดุเพาะลงถาด ซึ่งวัสดุเพาะจะนำมาจากโรงงานที่ทำโดยเฉพาะ ห้องเปิดดอกสามารถควบคุมได้ เมื่อจะเปิดดอกเห็ดมีเครื่องตัดดอกเห็ดเพื่อทุ่นเวลา

แต่ละฟาร์มจะมีห้องตัดแต่งหลังการเก็บเกี่ยวและมีห้องเย็นควบคุม ไม่ให้ดอกเห็ดเสียหายเป็นการยืดอายุดอกเห็ดได้นาน เมื่อนำไปขายแล้วสามารถอยู่บนชั้นโชว์ได้นาน

เมื่อรู้ว่าชาวต่างชาติเขาเพาะเห็ดกันอย่างไรแล้ว น่าจะศึกษาเป็นแนวทางการเพาะเห็ดในบ้านเราได้ ขณะนี้ประเทศเวียดนามเพื่อนบ้านเราเริ่มนำเทคโนโลยีนี้มาใช้แล้ว สำหรับบ้านเรามีการนำมาใช้บ้างแต่ยังไม่มาก เนื่องจากยังไม่มีการส่งเสริม



ถามมา - ตอบไป

มีผู้ถามมาว่า จะทำก้อนเชื้อเห็ดเป๋าฮื้อในช่วงนี้ได้หรือไม่

ลุงลีขอตอบว่า จากประสบการณ์ในการเพาะเห็ดเป๋าฮื้อ สังเกตดูว่าเห็ดชนิดนี้จะชอบความชื้นมาก สามารถให้ผลผลิตดีในช่วงฤดูฝน ฤดูร้อนก็ให้ผลผลิตได้เช่นกัน ถ้าโรงเรือนเปิดดอกไม่ร้อนมากและให้ความชื้นได้เพียงพอ สำหรับฤดูหนาวลุงลีอยู่เชียงใหม่ อุณหภูมิค่อนข้างต่ำ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เห็ดเป๋าฮื้อไม่ออกดอก บางครั้งออกแต่น้อยมาก

ในการทำก้อนเชื้อเห็ดเป๋าฮื้อในเดือนตุลาคมนี้ ระยะเวลาการบ่มเชื้อเห็ดเป๋าฮื้อประมาณ 60-75 วัน จะเข้าฤดูหนาวพอดี ท่านที่ถามมาไม่ได้บอกว่าอยู่จังหวัดไหน คงต้องตอบเป็นกลางๆ ว่า ถ้าจังหวัดที่ท่านอยู่ไม่หนาวมาก ก็น่าจะทำก้อนเชื้อเห็ดเป๋าฮื้อเดือนตุลาคมได้ แต่ถ้าท่านอยู่จังหวัดที่ฤดูหนาวอุณหภูมิต่ำมาก ลุงลีขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งทำ ทำเห็ดชนิดอื่นที่ชอบอากาศเย็นก่อน

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 20 ฉบับที่ 417
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM