เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
หนุ่มใหญ่ชาวสวนยางนครพนม มีรายได้เลี้ยงตัว มีความสุขกับงานที่ทำ
   
ปัญหา :
 
 
ยางพาราสำหรับภาคอีสาน ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการกล่าวถึงมากพืชหนึ่งในปัจจุบัน

มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า สมัยที่มีโครงการอีสานเขียว ทางการได้นำต้นกล้ายางพาราไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก เกษตรกรต่างส่ายหัว เพราะไม่คุ้นเคย ผู้ที่ต้องจำใจรับไปปลูกคือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะผู้นำชุมชน เวลาผ่านไป 7-8 ปี ลูกบ้านต่างแสดงความเสียดาย เพราะผู้ที่ปลูกไปก่อนหน้านี้ มีรายได้ไม่น้อย

เทคโนโลยีชาวบ้านฉบับนี้ มีโอกาสพูดคุยกับหนุ่มใหญ่ชาวยางพาราอีสาน คุณมนัส กิติศรีวรพันธุ์ วัย 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 143 บ้านกลาง หมู่ที่ 1 ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม 48000 เบอร์โทรศัพท์ (042) 581-087, (089) 937-2985



หนุ่มใหญ่วัย 51 ปี อดีตเด็กอู่

ขับสองแถว กลายมาเป็นเจ้าของสวนยางพารา


คุณมนัส หรือ"พี่แอ๋ง" เล่าให้ฟังถึงพื้นเพก่อนจะมาเป็นชาวสวนยางว่า ขณะอายุได้ 23 ปี ทำงานในอู่ซ่อมรถในตัวอำเภอท่าอุเทนมาก่อน เริ่มทำใหม่ๆ เจ้าของอู่สมัยนั้นไม่หวงวิชา ใช้ทำงานจับฉ่ายไปหมด ปะผุ เคาะพ่นสี งานซ่อม ครบเครื่องเรื่องต้มยำ เก็บเงินเก็บทอง ก่อนมาแต่งงานอยู่กินกับ คุณพา กิติศรีวรพันธุ์ ภรรยาวัย 47 ปี มีพยานรักด้วยกัน 3 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 2 คน บุตรชายคนโตจบปริญญาตรี ทำงานบริษัทแห่งหนึ่งที่จังหวัดชลบุรี คนที่ 2 เสียชีวิตเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ส่วนบุตรสาวคนสุดท้องกำลังศึกษาอยู่ชั้น ปวส. วิทยาลัยเทคนิคนครพนม ปีสุดท้าย เป็นหัวแรงช่วยพ่อแม่ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

คุณมนัสบอกว่า เมื่อปี 2535 เคยไปขายแรงที่ประเทศไต้หวันได้แค่ 1 ปี ก็งดไป เหตุเพราะว่าสมัครและสอบผ่านจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในตำแหน่งช่างเคาะ ระบุว่าจะเหินฟ้าไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล บริษัทกลับส่งไปไต้หวันในตำแหน่งกรรมกรก่อสร้างแทน จึงเบนเข็มชีวิตมาปลูกสวนยางเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา เดิมมีที่ดินของภรรยาคือคุณพา อยู่แค่ 1 ไร่ จังหวะนั้นน้องภรรยาคือ คุณมังกร กวนคำอุ้ย วัย 41 ปี ขณะนั้นสมัครชิงเป็นกำนันตำบลโนนตาล ก่อนจะมาเป็นสมาชิก อบต. ตามลำดับ เงินขาดมือเพราะเล่นการเมือง จึงขายที่ดินสวนติดกันบริเวณดอนกระทะ หมู่ที่ 15 ในปัจจุบัน ให้ในราคาไร่ละ 10,000 บาท จึงซื้อไว้ 7 ไร่ รวมเนื้อที่ 8 ไร่ กับของภรรยา



ซื้อที่ถูก ปลูกยาง 8 ไร่

รัฐบาลให้กล้าฟรี-ปุ๋ยฟรี 8 ปี


"ที่ดินบริเวณนั้นซื้อได้ถูกเพราะอยู่บนดอน สมัยก่อนเป็นป่ารกร้าง ที่สำคัญเป็นดินลูกรัง หรือ "หินแฮ่" ตนจึงเอาเจ้าหน้าที่มารังวัดให้ แล้วสมัครเป็นสมาชิกกับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกยางตำบลโนนตาล ก่อนที่รัฐบาลจะแจกกล้าพันธุ์ยางให้ฟรี ขณะนั้นรัฐบาลบังคับให้ปลูก นำกล้ายางพาราพันธุ์ RRIM 600 บรรทุกใส่รถสิบล้อ 3 คัน นำมาให้ยังไม่มีคนอยากจะเอา พร้อมปุ๋ยฟรีอีก 8 ปี เป็นปุ๋ยใส่ยางขนาดเล็กและยางขนาดใหญ่ ก่อนมายกเลิกให้ในปี 2548" คุณมนัส กล่าว

คุณมนัสบอกว่า สวนตนมี 8 ไร่ ก่อนเขาจะให้กล้ายางต้องผ่านการรังวัดพื้นที่ก่อน ปลูกยางทั้งหมด 680 ต้น ตายไปบ้าง ปัจจุบันเหลือประมาณ 600 กว่าต้น ปลูก 20 แถว แถวละ 32 ต้น ระยะของต้น 2.5 เมตร ระยะห่างของแถว 7 เมตร บางคนปลูก 3x6 เมตร ปัจจุบันต้นยางอายุได้ 9 ปีแล้ว มีความสูงจากพื้นเฉลี่ย 15-20 เมตร กรีดทำเงินไปแล้วได้ 2 ปี กรีดครั้งแรกน้ำยางไม่ค่อยมาก ขายเป็นยางแผ่นได้เงิน 10,000 บาท ล่าสุดในปีนี้ทยอยกรีด ทำเงิน 20,000-30,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าจะขยันทำน้อยทำมาก เพราะไม่ได้จ้างแรงงาน ทำร่วมกับภรรยาและลูกสาวคนเล็ก

ว่างเว้นจากกรีดยาง เก็บน้ำยาง และทำยางแผ่นอยู่กับบ้าน เพราะซื้อเครื่องรีด เครื่องนวด เครื่องหมุน เครื่องมือทุกชิ้นใช้ไดนาโม เนื่องจากช่วงนี้ฝนตกบ่อย ก็จะง่วนอยู่กับสวน ฝนตกจะกรีดไม่ได้เลย ต้องดูแลต้นยางยิ่งกว่าลูกเมียเสียอีก ขณะที่พูดคุยกับผู้เขียน คุณมนัสก็จะใช้ปูนแดงทาหน้ายางพารายี่ห้อ "ไฮเปอร์" เดินทาหน้ายางหมดทั้ง 600 ต้น เพื่อป้องกันเชื้อรา หน้าฝนกรีดยางไม่ได้เต็มที่ บางครั้งต้องเทน้ำยางทิ้งเพราะเก็บไม่ทันฝนตกลงมาก่อน กรีดช่วงฝน 2 วัน พัก 1 วัน ให้น้ำยางแค่ประมาณ 40 ลิตร ไม่เหมือนกับกรีดหน้าหนาวให้มากถึง 60 ลิตร ต่อครั้ง ถ้าหน้ายางต่ำก็อาจได้มากกว่านี้

ฤดูฝนเป็นปัญหามาก ถ้าตกแค่ 2 วัน ไม่เป็นไร แต่ถ้าตกนาน 7 วัน ต้องกรีดหน้าล่อยางเป็นสัปดาห์ ล่อ 1-2 วัน น้ำยางไม่ค่อยออก เกิดการหดตัว ถ้าหยุดกรีด 6-7 วัน ติดต่อกัน ต้องกรีดล่อยางใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องหมั่นดูแลพืชอาหารในดินให้ต้นยางได้ดูดซับ จากสภาพพื้นที่ 8 ไร่ ของตนเป็นดินลูกรัง จ้างคนขุดหลุมช่วงปลูกยางใหม่ๆ หลุมละ 5 บาท คนยังเมิน ปลูกครั้งแรกต้องใส่ปุ๋ยคอก 700-800 กระสอบ แล้วนำฟางมาคลุมไว้รักษาความชื้นหน้าดิน และจะใส่ปุ๋ยดังกล่าว 50-60 กระสอบ อีกครั้งในหน้าแล้งเดือนมีนาคมถึงเมษายนทุกปี จะทำให้ดินร่วนซุย และมีไส้เดือนคอยพรวนหน้าดินให้



ลงมือลงแรง

สร้างรายได้ให้ตัวเอง


คุณมนัสยังเล่าถึงวิถีชีวิตในแต่ละวันว่า ต้องตื่นห้าทุ่มกรีดยางหน้าร้อน และตื่นตีสองกรีดยางหน้าหนาว กรีดเสร็จต้องเก็บน้ำยางใส่ถังไว้ แล้วถึงใช้พาหนะคือรถจักรยานยนต์ที่ดัดแปลงต่อพ่วงขี่ลุยเข้าสวนเพราะทางแคบ บรรทุกกระสอบปุ๋ย นำถังน้ำยางกลับบ้าน และทำยางแผ่นจนถึงบ่ายสองโมง วันเสาร์และอาทิตย์ลูกสาวคนเล็กจะกลับมาช่วย แทบทุกครั้งที่รีดยางก็ได้ศรีภรรยาเป็นคนลงมือเอง

แต่ละเดือนยังพาภรรยาขับรถไปซื้อเครื่องครัวมาจำหน่ายที่ร้าน ในตัวอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร

ปัจจุบันราคายางแผ่นมีจุดรับซื้อที่ตลาดกลาง ตกกิโลกรัมละ 65-66 บาท ในขณะที่จังหวัดระยองรับซื้อกิโลกรัมละ 67 บาท

คุณพา หวานใจหนุ่มใหญ่ชาวสวนยางคนขยันกล่าวด้วยว่า จะช่วยรีดยางแผ่นทยอยเก็บไว้วันละ 15-20 แผ่น ถ้าฟ้าฝนไม่ตกในแต่ละสัปดาห์ วันเว้นวันจะผลิตยางแผ่นได้ประมาณ 100 แผ่น เพื่อรอให้ตลาดกลางจุดรับซื้อเปิด ถ้าไม่ร้อนเงินก็เก็บไว้ขายได้ ราคาดีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จะเก็บสะสมไว้ 400-500 แผ่น ก่อนเอาไปขาย แต่ถ้าตลาดยังไม่เปิดจะขายยางแผ่นเดือนละ 2 ครั้ง ให้กับจุดรับซื้อในหมู่บ้าน

นอกจากนี้ คุณมนัสยังได้ซื้อที่ไว้อีก 10 ไร่ บริเวณหลังวัดดงยาง หมู่ที่ 12 ตำบลโนนตาล แบ่งปลูกยางพารา 3 ไร่ อายุยางได้ 3 ปี และยังปลูกไม้ผล อาทิ มะม่วง ลิ้นจี่ สับปะรด ขุดสระเลี้ยงปลา มีบ้านทำจากเปลือกไม้ไว้พักผ่อนร้องคาราโอเกะ ก่อนผู้เขียนจะลากลับคุณมนัสบอกทิ้งท้ายว่า ขอเวลาอีก 2 ปี จะวางมือ ก่อนจ้างแรงงานกรีดและคนดูแล

อีกรูปแบบหนึ่งของชีวิตชาวสวนยางนครพนม ผู้ที่สู้งานหนัก สร้างฐานะ และมีความสุขกับงานที่ทำ
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครพนม
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 20 ฉบับที่ 417
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM