เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
สองตายายชาวนครพนม เลี้ยงแมงสะดิ้งในบ่อซีเมนต์-ทำเงินเลี้ยงชีพ
   
ปัญหา :
 
 
แมงสะดิ้ง หรือชาวอีสานเรียก แมงจินาย ก็คือจิ้งหรีดตัวเล็กๆ ไม่ได้ไปขุดเอาจากรู หรือไปไล่จับมา เหตุที่ชาวบ้านเรียกจิ้งหรีดตัวเล็กว่า "สะดิ้ง" ก็เพราะว่ามันชอบร้องสะดีดสะดิ้ง มีเหตุก็ต้องมีคำอธิบายที่มันชอบร้องสะดีดสะดิ้ง เป็นเพราะอะไร

คุณยายคนที่เลี้ยงแมงสะดิ้ง ตอบให้ผู้เขียนฟังให้เข้าใจง่ายๆ ว่า...ที่มันร้องสะดีดสะดิ้ง ก็เพราะแมงสะดิ้งตัวผู้มันร้องโหยหาตัวเมีย และตัวเมียก็ขานรับ เพื่อจะผสมพันธุ์กัน คุณยายวัยไม้ใกล้ฝั่งระบุอีกว่า...ถ้าเปรียบเทียบแมงสะดิ้งกับผู้หญิงล่ะก็ มันชอบส่ำส่อน (เคียวจัง) ตั้งแต่ตัวมันยังเล็กๆ ถ้ามันโตขึ้นมาจะขนาดไหน เลยพากันเรียกสะดิ้ง เล่นเอาผู้เขียนถึงบางอ้อ

แมลงชนิดดังกล่าว เรามักจะพบเห็นตอนที่มันตายแล้ว กองอยู่ในถาดของพ่อค้าแม่ค้าที่มีอาชีพจำหน่ายแมลง และแมงต่างๆ นำใส่รถเข็นมาเร่ขายตามตลาดนัด ตลาดโต้รุ่ง ตลาดคลองถม เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค จะมีรสชาติแซ่บแค่ไหน และมีวิธีการเลี้ยงอย่างไร ต้องติดตาม...

สำหรับผู้เลี้ยงรายนี้ที่จะมาบอกเล่าการเลี้ยงที่ค่อนข้างจุกจิก เป็นหนุ่มสาววัยเหลือน้อย คือคุณยายสุมนทา โคตรขวา อายุ 62 ปี และสามีคือ คุณเสวียน โคตรขวา วัย 65 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 62 หมู่ที่ 6 บ้านท่าค้อ ตำบลท่าค้อ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โทร.ไปหา "ตาเหวียน" ที่บ้านใกล้เรือนเคียงชอบเรียกชื่อนิคเนมจะเป็นผู้รับสาย หมายเลข โทร. (085) 232-8593

งานนี้คุณยายสุมนทา หรือยายมน รับบทเป็นนางเอกเฝ้าดูแลแมงสะดิ้งในขณะมีชีวิต ก่อนจะถูกคั่วนำมาเปิบเป็นอาหารของว่าง เล่าให้ฟังว่า ตนและสามีมีอาชีพทำนา 7 ไร่ โดยเช่าที่นาห่างจากบ้านไปประมาณ 6-7 กิโลเมตร เนื่องจากไม่มีคนดูแล ประกอบกับมีรถไถใหญ่ ทำนาหว่านปลูกข้าวเหนียว กข 6 ได้ข้าวเปลือก 70-80 กระสอบ แล้วจึงแบ่งให้เจ้าของที่นาแทนค่าเช่า 10-15 กระสอบ ส่วนลูกๆ ก็โตแยกย้ายกันไปมีครอบครัวหมดแล้ว เหลือลูกชายคนสุดท้องอายุ 30 ปี ที่ยังเป็นโสด คอยช่วยทำนาและงานบ้าน

"ก่อนจะมาเลี้ยงแมงสะดิ้งเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ได้เลี้ยงกบ จำนวน 16 ท่อ (วงบ่อ, รอง) เป็นท่ออนุบาลกบไว้ที่บริเวณหลังบ้าน ประมาณ 10,000 ตัว ลงทุนซื้อท่อซีเมนต์พร้อมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หมดเงินไปกว่า 10,000 บาท เวลาไม่ถึง 1 ปี กบที่เลี้ยงไว้ตายหมด ในช่วงเดียวกัน คุณราศี ท่อค้อ อายุ 68 ปี พี่สาวตนป่วยเป็นอัมพาต ต้องเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ไปเฝ้าพี่สาว 10 วัน พอกลับมาถึงบ้านกบตายเกือบหมด สาเหตุเนื่องจากไม่ได้ล้างท่อและระบายน้ำที่เน่าเหม็นออก เหลือกบตัวเป็นๆ อยู่ไม่มาก จึงนำไปขายให้แม่ค้า กิโลกรัมละ 45 บาท ได้เงิน 5,000 บาท" คุณยายสุมนทา กล่าวชี้แจงให้ฟัง

หลังจากนั้น จึงหันมาเลี้ยงแมงสะดิ้ง เนื่องจากมีท่อซีเมนต์อยู่แล้ว ก่อนทยอยซื้อมาเพิ่มรวมเป็น 50 ท่อ ต่อมาจึงไปซื้อไข่แมงสะดิ้งที่ตำบลขามเฒ่า ที่เขาเลิกเลี้ยงแล้ว เป็นไข่สะดิ้งพันธุ์ทองแดงที่เขาซื้อมาจากจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองบัวลำภู ซื้อมาทั้งหมด 7 ขัน ในราคาขันละ 80 บาท หลังไข่ฟักตัวใช้เวลา 3-4 วัน ซึ่งต้องใช้ผ้ายางสีดำคลุมปากท่อไว้เพื่อให้เกิดความร้อนอบอ้าว มันจะฟักตัวง่ายขึ้น แต่ละท่อจะใช้ขันอาบน้ำวางเรียงกัน 10 ขัน ช่วงที่ไข่กำลังจะฟักตัว ควรใช้ถุงหิ้วพลาสติคใสห่อหุ้มขันไว้ เมื่อเห็นลูกตัวสะดิ้งขนาดเท่าตัวหมัด ตัวไร ค่อยๆ ไต่ออกมาจากขัน แล้วค่อยถอดถุงหิ้วพลาสติคออกจากขัน เก็บเอาไว้ใช้ได้อีก

คุณยายวัย 61 ปี ผู้เลี้ยงสะดิ้งกล่าวต่อว่า จากนั้นนำลูกตัวสะดิ้งที่ไต่อยู่ในขันในบ่ออนุบาล แยกไปไว้ในบ่อเลี้ยงที่ทำความสะอาดแล้ว ก้นท่อต้องรองพื้นด้วยแกลบและใบยูคาลิปตัส 3 กำมือ ใบที่ตากแดดแห้งแล้วทับอีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวไรที่เกิดจากแกลบเข้ามาไต่สร้างความรำคาญให้กับสะดิ้งตัวอ่อน อีกทั้งใบยูคาลิปตัสที่ตากแห้งแล้วจะเป็นสมุนไพร ทำตัวไรและแมลงอื่นเกิดความเหม็น

สำหรับขันที่ใช้ในการฟักไข่และเลี้ยงแมงสะดิ้ง สามีตนคือคุณตาเสวียนจะเป็นผู้ดูแลอุปกรณ์ตรงจุดนี้ให้ โดยใส่ทรายให้เกือบเต็มขัน ผสมคลุกเข้ากันกับแกลบที่เผาให้เป็นฝุ่น ขณะคลุกเอาน้ำผสมเข้าไปนิดหน่อยเพื่อให้เกิดความชื้น ก่อนจะใส่ถุงพลาสติคหิ้วใส่เข้าไปในขัน

ใส่ขันละ 10 ท่อ แต่ต้องคัดแยกเป็นรุ่น หลังฟักเสร็จต้องรีบแยกสะดิ้งใส่อีกท่อ แล้วแยกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปไว้อีกท่อต่างหาก ขณะที่ตัวอ่อนสะดิ้งยังไม่โตเต็มที่ควรเอาถุงพลาสติคคลุมขันไว้เหมือนเดิม หลังจากสะดิ้งมีขนาดเท่านิ้วก้อย มีอายุ 10 วัน ต้องแยกคัดไปไว้อีกท่อ โดยใช้ถาดใส่ไข่ไว้ให้เป็นที่พักและให้มันเข้านอน เพื่อไม่ให้ปีนป่าย พอตัวมันโตเต็มที่ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 2 เดือน ก็ต้องคัดไปไว้อีกท่อ เพื่อเตรียมขายได้ สำหรับพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์จะมีอายุเต็มที่ 94 วัน จากนั้นมันจะตาย ต้องรีบขายออก

คุณยายสุมนทาเล่าถึงการดูแลว่า ต้องตัดเสื่อน้ำมันหรือกระดาษแข็ง กว้าง ยาว 1 ฟุต รองเพื่อให้อาหาร เป็นหัวอาหารไก่เล้า ตกกระสอบละ 380 บาท ยี่ห้อเบทาโกร 108-M ชนิดผง ผสมกับรำอ่อนอัตราส่วน รำอ่อน 2 ถ้วย หัวอาหาร 1 ถ้วย คลุกเคล้าให้เป็นเนื้อเดียวกัน สะดิ้งกินได้ตลอดทั้งวัน และชอบกินมากในช่วงกลางคืน ตื่นเช้ามาให้ท่อละ 1 กำมือ เกลี้ยงหมด และต้องมีขันน้ำที่ใช้เลี้ยงไก่ใส่น้ำให้มันกินด้วย นอกจากนี้ ยังให้อาหารเสริมด้วยการฝานกล้วยน้ำว้าสุกให้กิน ท่อละ 3 ลูก แล้วยังหั่นฟักทองให้กินเสริมวิตามิน และสะดิ้งยังชอบกินผักโขม ซึ่งเคยทดลองให้กินแล้วได้ผล โรคภัยไข้เจ็บแทบไม่มี

"ศัตรูของแมงสะดิ้ง คือมดดำ และมดแดง ที่ชอบไต่เข้ามาสร้างความรำคาญ และกินแมงสะดิ้ง ป้องกันได้โดยนำเอาสารกำจัดแมลง ยี่ห้อปูก้าผสมเข้ากับน้ำ แล้วใช้เครื่องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงของชาวสวน ฉีดรอบๆ บ้านและฉีดในช่องทางเดินระหว่างท่อ เพื่อกำจัดไม่ให้มันเข้าใกล้ นอกจากนี้ ต้องคอยเฝ้าระวังสุนัขและแมวที่จะเข้ามากินหัวอาหาร และจิ้งจกมากินแมงสะดิ้งและมากัดตาข่ายไนล่อนพลาสติคสีเขียว ที่ตัดคลุมปากท่อไว้ทุกท่อป้องกันสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ ด้วย หลังคลุมตาข่ายดังกล่าว ต้องใช้ยางในของรถจักรยานยนต์มัดรอบขอบท่อ และต้องนำผ้าเทปกาวมาพันรอบปากท่อด้านใน 2 ชั้น เพื่อป้องกันแมงสะดิ้งไต่ออก มันจะไหลลื่นไปไหนไม่ได้เลย" คุณยายนักเลี้ยงสะดิ้งกล่าว

สะดิ้งตัวเมียสังเกตให้ดีจะมีปีกเลียบ ตัวผู้ปีกหยัก ช่วงที่มันผสมพันธุ์กันจะร้องน้อย ถ้าร้องเสียงอื้ออึ้งมากๆ แสดงว่าตัวผู้ร้องอยากผสมพันธุ์กับตัวเมีย

ฤดูกาลของแมงสะดิ้งจะให้ผลผลิตเยอะมาก อยู่ในช่วงระหว่าง 3 เดือน คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ฤดูร้อนจะให้ผลผลิตดีรองลงมาเพราะมีความอบอุ่น หน้าหนาวต้องระวังลม อีกทั้งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มันจะไม่กินหัวอาหาร ส่วนหน้าฝนลำบากหน่อย ถ้าไม่มีใต้ถุนบ้านยกสูงกว้างและโรงเรือนต้องดูแลให้ดี เพราะถ้าถูกฝนสาดหรือถูกน้ำมันจะตายทันที ต้องมีผ้าใบกันสาดติดข้างฝาบ้านป้องกันให้มันด้วย

จะเลี้ยงครั้งละ 3-4 รุ่น เพื่อรอให้มันโตเต็มที่ ใช้เวลา 2 เดือน จะสลับหมุนเวียนขายเดือนละ 2 ครั้ง ขายแต่ละครั้งแต่ละรุ่นได้เงิน 600-800 บาท สรุปแล้วใน 3-4 ท่อ จะให้ผลผลิตรวมกันประมาณ 2 กิโลกรัม สะดิ้งตัวเป็นๆ ตกกิโลกรัมละ 200 บาท ตกมีรายได้ต่อเดือน 3,000-4,000 บาท เลี้ยงอยู่ในร่มใต้ถุนบ้าน ใครก็เลี้ยงได้ แต่ขั้นตอนการดูแลจุกจิกบ้าง คนที่เคยเลี้ยงมาก่อนหน้านี้เจ๊งกันเกือบหมด เพราะต้องมีเวลาว่างเฝ้ามันอยู่ตลอด

ในแต่ละเดือนจะมีพ่อค้าแม่ค้าจากตำบลและอำเภอใกล้เคียงมาซื้อแมงสะดิ้งตัวเป็นไปทอด หรือไปคั่วขาย

ขั้นตอนการทำ ต้องทำให้มันตายโดยใช้น้ำร้อนต้มลวก ก่อนล้างน้ำให้สะอาด 3 ครั้ง แล้วนำไปใส่หวดนึ่งประมาณ 30 นาที สังเกตถ้าไข่มันแข็งก็ใช้ได้แล้ว ก่อนนำไปเทใส่กะละมังที่เตรียมไว้ เตรียมตะไคร้ ใบมะกรูดที่หั่นแล้วคลุกเคล้าให้ทั่ว แล้วค่อยใส่น้ำมันหอย ซีอิ๊วขาว และรสดี แล้วคั่วให้เข้ากันในกระทะ ให้สุกพอประมาณจนมีกลิ่นหอมเครื่องปรุง ก่อนบรรจุใส่ถุงพลาสติคใส ตกถุงละ 1 กรัม ขายในราคาถุงละ 20 บาท

"บางครั้งถ้าผลผลิตออกมามาก สิปั่นจักรยานขายเองในละแวกบ้าน ถ้าไกลหน่อยก็จะซ้อนมอเตอร์ไซค์สามี นำแมงสะดิ้งที่คั่วเสร็จแล้วไปตระเวนขายตามหมู่บ้าน และตำบลใกล้เคียง คนอีสานมักกินเป็นของว่าง หรือเป็นกับแกล้ม กินแล้วหวานมัน แซ่บหลาย...และมีโปรตีน นอกจากนี้ยังนิยมนำไปใส่ในแกงหน่อไม้ หรือจะนำไปก้อย บีบมะนาว ใส่พริกป่น และข้าวคั่ว ได้ชิมและลิ้มรสแล้วน้ำลายอาจระเหย" คุณยายสุมนทา กล่าวระบุให้ผู้เขียนน้ำลายสอ

หากผู้เลี้ยงหน้าใหม่ต้องการคำแนะนำในการเลี้ยง ลองกดเบอร์โทรศัพท์ไปสอบถามสองตายายได้ที่เบอร์ข้างต้น หรือจะเดินทางไปเอง ขับรถออกจากตัวเมืองนครพนมไปตามถนนชยางกูร เส้นทางหลวงสายนครพนม-ธาตุพนม ประมาณ 10 กิโลเมตร ก่อนถึงสะพานคู่ขนานข้ามห้วยบังกอ ให้เลี้ยวซ้ายข้างโรงเรียนบ้านท่าค้อ ตรงไปยาวสุดประมาณ 700 เมตร จะเป็นสามแยกสุดซอย บ้านหลังแรกมุมแยกขวามือ จะเห็นรถไถนาคันใหญ่จอดหน้าบ้าน และเห็นท่อซีเมนต์วางเรียงราย...ใช่เลย

อยากรู้อะไรถามคุณยายสุมนทา แกจะนั่งบนแคร่ไม้ไผ่คอยเลี้ยงสะดิ้ง ทั้งตำบลมีอยู่รายเดียว สามารถคอยตอบคำถามให้กับผู้มาเยือน...ได้ความกระจ่างชัดที่สุด

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครพนม
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 20 ฉบับที่ 419
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM