เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ดำเกิง ป้องพาล กับงานปรับปรุงพันธุ์แตงกวาให้กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้
   
ปัญหา :
 
 
หลายคนที่บริโภคแตงกวาอาจจะไม่ทราบถึงคุณประโยชน์ของผลแตงกวาที่มีปริมาณของน้ำมากกว่า 95% เมื่อบริโภคไปจะช่วยลดความเผ็ดร้อนและความเข้มข้นของอาหาร ทำให้รับประทานได้ในปริมาณมาก เนื่องจากให้พลังงานต่ำ นอกจากนั้น ยังมีประโยชน์ทางด้านสมุนไพร เป็นยาขับปัสสาวะได้เป็นอย่างดี ลดไข้และทำให้จิตใจเบิกบาน

ปัจจุบันพฤติกรรมในการบริโภคแตงกวาของคนไทยจะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ "แตงกวาผลสั้น" ซึ่งจะมีความยาวของผลเฉลี่ยจากหัวถึงท้ายประมาณ 10-12 เซนติเมตร อีกกลุ่มหนึ่งคือ "แตงกวาผลยาว" จะมีความยาวของผลตั้งแต่ 15 เซนติเมตรขึ้นไป เช่น แตงร้าน เป็นต้น ดังนั้น ในการที่นักวิชาการเกษตรจะมีการปรับปรุงสายพันธุ์แตงกวาจะต้องสอบถามและสำรวจดูความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภคก่อนว่า ชอบแตงกวาที่มีลักษณะและคุณภาพอย่างไรบ้าง เช่น ต้องการสีผลเขียวเข้ม หัวและท้ายผลมีความสม่ำเสมอ ความยาวของผลมีความสม่ำเสมอ ฯลฯ

อาจารย์ดำเกิง ป้องพาล หัวหน้าโครงการปรับปรุงพันธุ์แตงกวา สาขาพืชผัก ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. (053) 873-380 ได้บอกถึงภาพรวมของสายพันธุ์แตงกวาที่ดีว่า "มีเนื้อแน่น เมล็ดลีบ รสชาติอร่อย วางขายอยู่ในตลาดได้นานในสภาพอุณหภูมิปกติ เป็นสายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อโรคและปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี" อาจารย์ดำเกิงบอกว่า งานพัฒนาสายพันธุ์แตงกวาในบ้านเรามีความก้าวหน้าไปมากและเมล็ดพันธุ์แตงกวาที่วางขายในท้องตลาดซึ่งเกือบทั้งหมดผลิตโดยภาคเอกชนจะเป็นลูกผสมทั้งหมด ซึ่งจะมีความแน่นอนในเรื่องของผลผลิตไม่เกิดความแปรปรวนเหมือนกับพันธุ์ผสมเปิด ทางสาขาพืชผัก ภาควิชาพืชสวน ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ยังได้มีการปรับปรุงพันธุ์แตงกวาได้พันธุ์แตงกวาลูกผสม 2 สายพันธุ์ คือ "พันธุ์ลูกผสม 70 ปี" และ "พันธุ์แม่โจ้ 34 ปี" โดยเฉพาะพันธุ์แม่โจ้ 70 ปี ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่มีอายุครบ 70 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2547 และเป็นการเพิ่มสีสันให้แก่วงการพืชผักของไทยให้มีทางเลือกในการบริโภคแตงกวามากขึ้น



"พันธุ์แม่โจ้ 70 ปี"

แตงกวาผลสั้น

มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

เหมาะต่อการบริโภคสด


อาจารย์ดำเกิงได้เริ่มปรับปรุงพันธุ์แตงกวามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสายพันธุ์แตงกวาที่มีคุณสมบัติที่ดีในการปลูกและมีคุณภาพดีในการบริโภค อย่างกรณีของ "พันธุ์แม่โจ้ 70" จะมีลักษณะเด่นตรงที่เป็นแตงกวาที่มีขนาดของผลสั้น มีหนามสีขาว ที่สำคัญจัดเป็นแตงกวาที่มีกลิ่นหอม แต่จะต้องเก็บเกี่ยวในอายุที่เหมาะสมคือ หลังจากดอกบานไปได้ 5-6 วัน มีนวลติดอยู่ที่บริเวณเปลือกผล มองไม่เห็นลายที่เปลือกผล จะต้องมีกลีบดอกแห้งติดที่ส่วนปลายผลและเป็นระยะที่มองเห็นตุ่มหนามได้อย่างชัดเจน ผลแตงกวาในระยะดังกล่าวเมื่อผ่าดูเนื้อภายในจะพบว่ามีสีขาว รสชาติหวานกรอบและไส้ไม่กลวง เมล็ดจะมีขนาดเล็กและลีบ

อาจารย์ดำเกิงยังได้บอกถึงอนาคตของการปรับปรุงพันธุ์แตงกวาในประเทศไทย จะต้องมีการติดต่อประสานงานกับต่างประเทศมากขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนสายพันธุ์แตงกวา ตัวอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนจะมีสายพันธุ์แตงกวามากมายและมีความหลากหลายทางพันธุกรรม เมื่อมีการแลกเปลี่ยนสายพันธุ์กันจะเป็นประโยชน์กับวงการแตงกวาของไทยอย่างมาก



ปลูกแตงกวาอย่างไร

ให้ประสบความสำเร็จ


จากที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า สายพันธุ์แตงกวาที่มีขายในท้องตลาดขณะนี้เป็นสายพันธุ์ลูกผสม อาจารย์ดำเกิงบอกว่า เกษตรกรที่ปลูกแตงกวาจะต้องมีความเข้าใจเบื้องต้นว่า แตงกวาพันธุ์ลูกผสมจะมีความต้องการปุ๋ยมากพอสมควร จะต้องมีการใส่ปุ๋ยให้ถูกจังหวะของการเจริญเติบโต โดยปกติแล้วการปลูกแตงกวาของเกษตรกรไทยมักจะปลูกกันในช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าฤดูอื่น แต่ในช่วงฤดูฝนมักจะพบปัญหาเกี่ยวกับโรคโคนเน่า รากเน่า โรคราน้ำค้างและยังพบอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น มีปริมาณของดอกตัวผู้มากและต้นแตงกวามักจะพบอาการบ้าใบ ในขณะที่ คุณชนะพงษ์ คำกันยา นักปรับปรุงพันธุ์พืชสถานีวิจัยและพัฒนาพืชผักเชียงใหม่ บริษัท เจียไต๋ จำกัด บอกว่า เกษตรที่ปลูกแตงกวาควรจะต้องรู้นิสัยของแตงกวาและอายุการเก็บเกี่ยวและยังได้อธิบายหลักการกว้างๆ ของการปลูกแตงกวาเพื่อให้เกษตรกรบำรุงรักษาให้ถูกช่วงเวลาที่ถูกต้อง

ระยะเตรียมดิน เกษตรกรควรจะใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 1-2 ตัน ต่อไร่ รองก้นหลุมก่อนปลูกด้วยปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือใช้ สูตร 12-24-12 อัตรา 1 ช้อนชา ต่อหลุม หรือประมาณ 20-30 กิโลกรัม ต่อไร่ "หลังย้ายปลูก" 7 วัน เร่งการเจริญเติบโตของต้นแตงกวาด้วยปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เช่น ยูเรีย (สูตร 46-0-0) โรยให้ทั่วบริเวณแปลงปลูกในอัตรา 20-30 กิโลกรัม ต่อไร่ และ "ระยะแตงกวาออกดอก" คือประมาณ 25 วัน หลังจากปลูก แนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ สูตร 12-24-12 อัตรา 20-30 กิโลกรัม ต่อไร่

คุณชนะพงษ์ยังได้บอกว่า เกษตรกรที่ปลูกแตงกวาควรจะมีการวางแผนการปลูกเพื่อให้ขายผลผลิตได้ราคาดีที่สุด เช่น ปลูกขายในเทศกาลกินเจและควรหลีกเลี่ยงการปลูกช่วงที่เกษตรกรปลูกกันมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน บางปีเกษตรกรจะขายแตงกวาในช่วงฤดูฝนได้เพียงกิโลกรัมละ 2-3 บาทเท่านั้น อาจจะทำให้ประสบกับสภาวะขาดทุนได้ ราคาต้นทุนในการผลิตแตงกวาในปัจจุบันจะเฉลี่ยอยู่ที่ 5-7 บาท ต่อกิโลกรัม แต่ช่วงเทศกาลหรือช่วงที่แตงกวาในตลาดมีน้อยราคาขายจะสูงถึง 15-20 บาท ในเรื่องของการเก็บเกี่ยวผลผลิตแตงกวาเช่นกัน ในช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรควรเก็บเกี่ยวแตงกวาทุกวันหรืออย่างน้อยวันเว้นวัน หากปล่อยทิ้งไว้บนต้นจะทำให้ผลผลิตลดลง ผลแก่ที่ขายไม่ได้ก็อย่าให้คาต้น



รสชาติแตงกวาจะต้องอร่อย

และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน


คุณนิยม สาระเสาร์ เจ้าของ หจก.นิยมไทยเมล็ดพันธุ์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นนักปรับปรุงพันธุ์แตงกวาอีกรายหนึ่งของภาคเอกชน ได้บอกถึงสถานการณ์ของบริษัทเอกชนส่วนใหญ่จะเน้นการปรับปรุงพันธุ์แตงกวาลูกผสม โดยเน้นเรื่องในเรื่อง "ความดก" และ "ขนาดผลสั้น" ให้มีความยาวของผลเฉลี่ย 6-9 เซนติเมตร สำหรับคุณนิยมจะห่วงเกษตรกรในเรื่องของการจัดการแปลงปลูกแตงกวามากกว่า อาทิ เกษตรกรจะต้องหมั่นจับต้นแตงกวาให้ขึ้นค้าง ทำให้เสียเวลาและแรงงานในเรื่องนี้ไปมาก คุณนิยมจึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงพันธุ์แตงกวาให้ขึ้นค้างได้เอง มีการเจริญเติบโตทางยอดไปเรื่อยๆ เพื่อให้เก็บผลผลิตได้นาน ในขณะเดียวกันสายพันธุ์แตงกวาที่ปรับปรุงขึ้นมาใหม่นั้นจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ "รสชาติอร่อย" และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน ในเรื่องของความดก ติดผลเร็ว ขนาดของผลและสีสัน คุณนิยมบอกว่า ทุกบริษัทได้มีการปรับปรุงพันธุ์ได้ใกล้เคียงกัน แต่ที่นักปรับปรุงพันธุ์แตงกวาทุกคนต้องการก็คือ เรื่องของความทนทานหรือต้านทานโรคราน้ำค้างและโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส

สำหรับคำแนะนำของคุณนิยม สาระเสาร์ ในเรื่องของการปลูกแตงกวาอย่างไรถึงจะประสบผลสำเร็จนั้น ได้แนะนำให้เกษตรกรมีการวางแผนการผลิตปลูกในช่วงที่เกษตรกรปลูกแตงกวาน้อยที่สุด เนื่องจากแตงกวาเป็นพืชผักที่ปลูกได้ตลอดทั้งปีแต่ผลผลิตแตงกวาจะมีราคาแพงในช่วงปลายฤดูฝนต่อฤดูหนาว การเริ่มต้นที่ดีก็คือ ได้ "พันธุ์แตงกวาที่ดีและเป็นที่ต้องการของตลาด" ถึงแม้ว่าเมล็ดพันธุ์แตงกวาที่มีการซื้อ-ขายกันทุกวันนี้จะเป็นพันธุ์ลูกผสม แต่มีราคาไม่แพงมากนัก มีการคำนวณพบว่า ต้นทุนการผลิตแตงกวาจะอยู่ที่ค่าเมล็ดพันธุ์เพียง 10% เท่านั้น ต้นทุนอีก 90% อยู่ที่การจัดการดูแลรักษา พืชในตระกูลแตงกวาชอบสภาพดินปลูกแบบร่วนปนทราย ไม่ค่อยชอบดินเหนียว มีการปรับสภาพดินปลูกด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ก่อนปลูกทุกครั้ง

ปัจจุบันการปลูกแตงกวาจะง่ายยิ่งขึ้นเมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น พลาสติคคลุมแปลงปลูก ประโยชน์ของพลาสติคคลุมแปลงจะช่วยควบคุมความชื้นในดิน ทำให้วัชพืชในแปลงไม่มีหรือมีน้อยมาก เมื่อวัชพืชไม่มีปัญหา โรคและแมลงศัตรูก็ลดน้อยลงด้วยเพราะไม่มีแหล่งหลบอาศัย



ปัญหาและอุปสรรคในการปลูก

แตงกวาในประเทศไทย


โดยทั่วไปในการปลูกแตงกวาในเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ปลูกแตงกวา 1 ไร่ จะใช้เมล็ดพันธุ์ ประมาณ 100 กรัม (1 ขีด) แตงกวาจัดเป็นพืชผักอายุสั้น หลังจากลงหลุมปลูกใช้เวลาเพียง 45-50 วัน เริ่มเก็บผลผลิตได้และจะเก็บได้นาน ประมาณ 20-30 วัน เกษตรกรที่ปลูกแตงกวาเป็นอาชีพจะปลูกแตงกวาปีละ 4 รุ่น

สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการปลูกแตงกวานั้น อาจารย์ดำเกิงบอกว่า จะมีปัญหาในแต่ฤดูกาลที่ปลูกแตกต่างกันออกไป ถ้าปลูกแตงกวาในช่วงฤดูแล้งหรือปลูกในช่วงอากาศแห้งหรือช่วงฝนทิ้งช่วง เช่น เกษตรกรปลูกแตงกวาในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ มักจะพบปัญหาเรื่องแมลงศัตรูระบาดทำลาย โดยเฉพาะ "เพลี้ยไฟ" จะดูดน้ำเลี้ยงที่ใบ ดอก และยอดอ่อน ทำให้ใบม้วนหงิกงอ "เพลี้ยไฟ" จัดเป็นแมลงศัตรูสำคัญของการปลูกแตงกวา ดังนั้น เมื่อเกษตรกรปลูกแตงกวาในช่วงฤดูแล้งจะต้องใช้สารป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟมากขึ้นกว่าฤดูกาลอื่น ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย

แต่ถ้าเกษตรกรปลูกแตงกวาในช่วงฤดูฝนมักจะพบปัญหาเรื่อง "โรคราน้ำค้าง" หรือที่เกษตรกรเรียก "โรคใบลาย" ถ้าระบาดรุนแรงทำให้ใบแห้งตาย วิธีการสังเกตช่วงเวลาที่จะเกิดโรคนี้ก็คือ สังเกตในช่วงเวลาเช้าถ้ามีน้ำค้างลงจัด (ช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง) หลังจากฝนตกเกษตรกรจะต้องหมั่นตรวจดูบริเวณใต้ใบแตงกวาว่ามีเส้นใยสีขาวเกาะเป็นกลุ่มและมีสปอร์หรือไม่ ดังนั้น การปลูกแตงกวาในช่วงฤดูฝน เกษตรกรต้องมีต้นทุนในการผลิตในการซื้อสารป้องกันและกำจัดเชื้อรามากขึ้น



แนวทางในการปลูก

แตงกวาแบบอินทรีย์


ก่อนอื่นเกษตรกรจะปลูกแตงกวาอินทรีย์จะต้องมีความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า "แตงกวาจัดเป็นพืชอวบน้ำ อายุสั้น และมีระบบรากค่อนข้างตื้น" ดังนั้น หน้าดินที่จะปลูกแตงกวาควรจะมีความลึกอย่างน้อย 40-50 เซนติเมตร ดินที่ใช้ปลูกจะต้องมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ จะต้องให้ต้นแตงกวากินอาหารได้ทัน ถ้าอาหารไม่เพียงพอดอกที่ออกมาจะร่วง ดังนั้น ในการปลูกแตงกวาอินทรีย์ควรจะใส่ปุ๋ยหมักในอัตรา 1,000 กิโลกรัม (1 ตัน) ต่อพื้นที่ปลูกแตงกวา 1 ไร่ ไม่ควรปลูกแตงกวาอินทรีย์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เนื่องจากมีแมลงรบกวนมาก ถ้าเกิดพบแมลงระบาดทำลายในแปลงปลูกแตงกวาแบบอินทรีย์ เช่น "เต่าแตง" ถ้าพบการทำลายเพียง 5-10% ไม่ต้องทำอะไร เพราะต้นแตงโตเร็ว แต่ถ้าพบการระบาดรุนแรงแนะนำให้ฉีด "หางไหล" หรือ "โล่ติ๊น" ถ้าพบ "เพลี้ยอ่อน" แนะนำให้ใช้ "ยาเส้น" หรือ "ยาสูบ" เป็นต้น



หนังสือ "การปลูกพริกและแตงกวาในเชิงพาณิชย์" พิมพ์ 4 สี แจกฟรีพร้อมกับ หนังสือ "เทคนิคการปลูกมะละกอเงินล้าน" รวม 168 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 50 บาท ส่งมาขอที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/200 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 422
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM