เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ปลูกตะเคียน แซมในสวนลองกอง ที่เมืองจันท์ โตเร็วดี
   
ปัญหา :
 
 
พื้นที่เกษตรกรรมของกิ่งอำเภอคิชฌกูฏ ส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้ จำพวกเงาะ ทุเรียน มังคุด และอื่นๆ ความสูงของต้นไม้เหล่านี้ไม่มากนัก แต่มีเกษตรกรรายหนึ่งปลูกลองกอง แล้วแซมด้วยไม้ยืนต้นสูงกว่า 15 เมตร ดูแปลกตาดี จำนวนที่ปลูก ไม่ใช่ 1 ไร่ 2 ไร่ แต่มีจำนวนมาก หลายพันต้น ดูแตกต่างจากสวนอื่นและสวยงามดี

แปลงเกษตรที่เห็นอยู่เป็นของ คุณกิตติ จันทวิสูตร (ปลัดแก้ว) อยู่ตำบลพลวง กิ่งอำเภอคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ไม้ที่เห็นอยู่เป็นต้นตะเคียน อายุ 10 ปี และ 14 ปี ลำต้นสวยงาม

คุณกิตติ เคยผ่านสถาบันการเกษตร สมัยก่อนคือโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี เพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่งของปลัดแก้ว คือผู้ช่วยศาสตราจารย์เสวก พงษ์สำราญ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

ปลัดแก้วเรียนจบชั้นสูงสุดที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นสอบทำงานเป็นปลัดอำเภอ ทำงานได้ 8 เดือน จึงลาออกมาทำสวน ปัจจุบันมีสวนลองกองขนาดใหญ่ รวมแล้วกว่า 200 ไร่ พืชชนิดอื่นที่ปลูก นอกจากผลไม้แล้ว ยังมีกล้วยไม้ ปลูกในโรงเรือนอีแว้ป



ถิ่นเดิมของตะเคียน

ท้องถิ่นกิ่งอำเภอคิชฌกูฏ เดิมเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันก็ยังสมบูรณ์อยู่ โดยเฉพาะเขาคิชฌกูฏ ที่ตระหง่านอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวอำเภอ เรื่องราวของไม้ตะเคียนที่อำเภอแห่งนี้ เข้าใจว่ามีอยู่อย่างหนาแน่นในสมัยก่อน ชื่อหมู่บ้านจึงเกี่ยวข้องกับตะเคียน เช่น "ตะเคียนทอง คลองพลู" "คลองกระสือ คลองตะเคียน" อย่างนี้เป็นต้น

ปลัดแก้ว ทำสวนลองกองประสบผลสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในจันทบุรี มีอยู่วันหนึ่ง เขามีโอกาสคุยกับอาจารย์ประเสริฐ ยมมรคา อาจารย์วิทยาเขตจันทบุรี

อาจารย์เสริฐพูดกับปลัดแก้วว่า "กูมีต้นตะเคียนอยู่ มึงมีหรือยัง"...ตามสไตล์

ปลัดแก้วไม่ได้คิดอะไรมาก ซื้อต้นกล้าตะเคียน 100 ต้น มาปลูก สนนราคาต้นละ 10 บาท เมื่อปลูกไป เห็นว่าเจริญเติบโตดี จึงซื้อมาปลูกเพิ่ม สรุปแล้ว ปลูกชุดใหญ่ๆ 2 ชุด คือปี 2536-2537 และปี 2540 รวมแล้ว ปัจจุบันมีอยู่หลายพันต้น แซมในสวนลองกอง พื้นที่ 80 ไร่ ในที่อยู่ปัจจุบันและอีก 200 ไร่ ในอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เช่นกัน

"อาจารย์เสริฐถาม ไม่ได้คิดอะไรมาก ซื้อมาปลูก เพราะหากปลูกยางนา ปลูกสัก เวลาจะตัดต้องขออนุญาต ส่วนตะเคียนตัดได้เลย ไม่ต้องขออนุญาต ใบเขาร่วงเหมือนกัน แต่ไม่ผลัดใบ ตะเคียนน่าจะมีพันธุ์เดียว ต่างกันอยู่ที่ว่าปลูกตรงไหน ต้นตะเคียนโตแล้ว ชุดแรกเส้นรอบวงกว่า 100 เซนติเมตร มีคนมาขอหวย เลยถามเขาไปว่า จะรู้หรือว่าหวยจะอยู่ต้นไหน นางตะเคียนก็คงเลือกอยู่ไม่ถูก...ว่าจะอยู่ต้นไหน เพราะมีหลายต้น"

ปลัดแก้วบอกจุดเริ่มต้น ของการปลูกตะเคียน

ส่วนจะถามว่าอาจารย์เสริฐ คิดอย่างไรจึงเพาะต้นตะเคียน ก็ถามไม่ได้ เพราะท่านได้ล่วงลับไปแล้ว เมื่อกลางปี 2550 แต่เข้าใจว่า อาจารย์คงชอบ เพราะเป็นไม้ที่สวยสง่า มีคุณค่า ส่วนหนึ่งของต้นกล้ามีปลูกไว้ที่วิทยาเขตจันทบุรี อาจารย์เสริฐมีผลงานที่แปลกๆ และคิดนอกกรอบ ที่คนอื่นคิดไม่ถึง



ปลูกอย่างไร

ถามปลัดแก้วว่า ปลูกต้นตะเคียนอย่างไร

อดีตปลัดอธิบายว่า เดิมตนเองปลูกลองกองอยู่แล้ว ตะเคียนปลูกง่าย ไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด ปลูกแซมในสวนลองกอง ระยะ 6 เมตร ลองกองเป็นพืชที่ต้องการแสงรำไรอยู่แล้ว เหมาะที่สุดในการปลูกแซม นอกจากนี้ ยังปลูกแซมในสะละ มะไฟ ส่วนทุเรียน ลำไย และเงาะ คงไม่เหมาะ เพราะต้องการแสงเต็มที่

เมื่อปลูกไปนานๆ ตะเคียนจะแผ่กิ่งพอสมควร จึงมีการตัดกิ่งข้างออกให้เป็นช่วงๆ อย่าให้ทึบเกินไป

"ที่ตรงนี้ดินดี เทียบกับแปลงที่อำเภอมะขาม ตรงนี้เร็วกว่า ทั้งๆ ที่ปลูกพร้อมกัน เขตนี้เป็นถิ่นเก่าของตะเคียน ชุดแรกที่ปลูกอายุ 14 ปี เนื้อไม้ใช้ได้แล้ว ผมปลูกอย่างอื่นด้วย ประดู่ ชิงชัน แดง มะค่า สุดท้ายแพ้ตะเคียนหมด ประดู่ปลูกห่างๆ จะแตกกิ่งข้างมาก รบกวนไม้หลัก มะค่าคล้ายๆ กับประดู่ ผมเคยซื้อสักจากเชียงใหม่ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เหง้าละ 35 บาท มาปลูก ไม่ได้ผล ทางอีสานอาจจะปลูกได้ แต่ให้ดีน่าจะเป็นเต็ง รัง ยางนา"

ปลัดแก้วบอก และพูดต่ออีกว่า

"ถึงแม้ 14 ปี ขายได้ แต่หากขาย 30 ปี มูลค่าจะต่างกันมากมายมหาศาล ไม่คิดจะตัด การปลูกกับการตัดมันคนละเรื่อง คิดจะตัดง่าย จะตัดเมื่อไรก็ได้ คิดจะปลูกนั้นช้า ผลผลิตลองกองที่เก็บก็เหมือนเดิม แต่ลองกองอยู่กับตะเคียน เขาอาจจะโศก (เหี่ยวเล็กน้อยก่อนออกดอก) ช้า เพราะติดนิสัยขาดน้ำกับตะเคียน ปีใดฝนมาเร็ว การติดผลอาจจะไม่เต็มที่ แต่โดยทั่วไปแล้วไม่มีปัญหา"



ชาวสวนผลไม้

เริ่มสนใจไม้ยืนต้น


ปัจจุบัน สถานการณ์การผลิตผลไม้ของเกษตรกร เริ่มส่อเค้าว่า ราคาจะไม่ดีอย่างเก่าก่อน เกษตรกรจึงหันมาทำการเกษตรหลายๆ อย่าง เช่น ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ส่วนหนึ่งเริ่มสนใจไม้ยืนต้นโตเร็ว

ตะเคียน เป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรให้ความสนใจ แหล่งกล้าพันธุ์นั้น ปลัดแก้วบอกว่า มีเพาะจำหน่ายมากที่จังหวัดปราจีนบุรี ราคาต้นละประมาณ 25 บาท เป็นต้นขนาดใหญ่ ส่วนที่สวนตนเอง ปีใดที่อากาศแล้งมากๆ จะมีดอกออกมาให้เห็น แต่ก็ไม่ได้นำเมล็ดมาเพาะแต่อย่างใด

"ต้นที่แตกข้าง ต้องลานกิ่งให้ เพราะไม่ลานจะทึบบังแสงลองกองมากเกินไป มีคนมาสอบถามเรื่องการปลูกบ้าง เกษตรกรอยากปลูก ต้องรู้ว่าตนเองปลูกอะไรอยู่ หากไม้หลักต้องการแสงมาก คงไม่ได้ อย่างลำไย หากอยากปลูกต้องปลูกริมรั้ว แต่อาจจะไปบังคนอื่นเขา ตอนนี้กำลังมองหาพืชแซมอยู่ อย่างเช่น โกโก้ ผักหวานป่า แต่ผักหวานป่าอาจจะมีปัญหาเรื่องแรงงานเก็บ" ปลัดแก้วบอก

วันที่ 19 มกราคม 2550 ปลัดแก้วจะไปเล่าประสบการณ์ การปลูกตะเคียน ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก คณะเกษตรศาสตร์บางพระ จังหวัดชลบุรี สนใจดูได้ในล้อมกรอบ หรือใครอยากจะทราบรายละเอียดมากกว่านี้ ถามไถ่ได้ที่ โทร. (081) 410-0596



ตะเคียนทอง (Hopea odorata Roxb.) ชื่ออื่น ตะเคียนใหญ่ จะเคียน แคน หรือโกกี้ ตะเคียนทองเป็นไม้ยืนต้น สูง 20-40 เมตร ลำต้นตรง เปลือกสีน้ำตาลอมดำ ใบเดี่ยวกว้าง 3-6 เซนติเมตร และยาว 10-14 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมนเรียงสลับกัน เรือนยอดแน่นทึบ พบอยู่ตามที่ราบลุ่มชุ่มชื้นทุกภาค ออกดอกในเดือนมกราคม-มีนาคม ดอกเล็กสีขาวถึงเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ด เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือน สะพานเรือ วงกบประตู และหน้าต่าง ชันใช้ผสมน้ำมันทาไม้ และทำน้ำมันชักเงาใช้ยาเรือ
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
จันทบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออก
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 422
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM