เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เพาะเลี้ยงปลาไหล แบบง่ายๆ สูตรกรมประมง ที่ปัตตานี
   
ปัญหา :
 
 
ช่วงเดือนที่ผ่านมามีเกษตรกร 2-3 ราย ได้โทรศัพท์เข้ามาบอกว่า อยากรู้วิธีการเพาะเลี้ยงปลาไหลนา ช่วยกรุณาเสาะหาข้อมูลมาตีพิมพ์เผยแพร่ให้ด้วย

เข้าใจว่า ราคารับซื้อปลาชนิดนี้ค่อนข้างดี จึงอยากหาข้อมูล เพื่อทำเป็นอาชีพ

ผมในฐานะคนเขียนเรื่องการประมงมานาน จึงขอรับอาสา ช่วยเช็คข้อมูลข่าวสารให้ว่า มีชาวบ้านหรือหน่วยงานไหนบ้างที่ยึดอาชีพนี้ หรือศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ปรากฏว่า ข่าวชาวบ้านยึดอาชีพเลี้ยงปลาไหลไม่ค่อยมี แต่เมื่อเช็คข้อมูลไปที่กรมประมง พบว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดปัตตานีได้ศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงปลาไหลมานานแล้ว แต่ข้อมูลยังไม่ออกมาเผยแพร่มากนัก

คุณศราวุธ เจะโส๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดปัตตานี เล่าว่า ปลาไหลนา หรือปลาไหลบึง จัดเป็นปลาอยู่ในวงศ์ Synbranchiformes ครอบครัว Synbranchidae ซึ่งปลาในครอบครัวนี้ มีอยู่ 3 ชนิด คือ

1. ปลาไหลนา Monopterus albus, Zuiew (1973) ชื่อสามัญ Swamp Eel, Asian Swamp Eel ลำตัวด้านหลังมีสีน้ำตาล ท้องมีสีเหลืองทอง มีขนาดยาวที่สุดถึง 1.01 เมตร พบทั่วทุกภาคของประเทศ มีกระดูกเหงือก 3 คู่

2. ปลาหลาด Ophisternon bengalense, Mcclelland (1845) มีชื่อสามัญ Bengal Eel ลำตัวมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ลำตัวมีสีเหลือง หางจะเป็นรูปใบพาย พบทางภาคกลางของประเทศ และอ่าวเบงกอล มีกระดูกเหงือก 4 คู่

3. ปลาหล่อย Macrotema caligans, Cantor (1849 ) ลำตัวมีสีเหลือง ขนาดเล็กที่สุด ยาวประมาณ 17-20 เซนติเมตร หางเป็นรูปใบพาย พบทางภาคใต้บริเวณทะเลสาบลำปำ จังหวัดพัทลุง กระดูกเหงือกมี 4 คู่

ปลาไหลสามารถเจริญเติบโตในแหล่งน้ำทั่วไป และทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ดี เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษคือใช้ลำไส้ส่วนท้าย (hindgut) เป็นเครื่องช่วยในการหายใจ

ฤดูแล้งจะขุดรูอยู่อาศัย ลึก 1-1.5 เมตร ออกหากินในเวลากลางคืน จัดเป็นพวกปลากินเนื้อ สภาพสดจนถึงเน่าเปื่อย ตัวหนอน ตัวอ่อนแมลง หอย ไส้เดือน และสัตว์หน้าดินต่างๆ ในธรรมชาติ มีนิสัยรวมกลุ่มกันกินอาหาร

ปลาไหล เป็นปลาที่สามารถเปลี่ยนเพศได้ โดยช่วงแรกจะเป็นเพศเมีย และจะกลายเป็นเพศผู้เมื่อตัวโตขึ้น หรือมีน้ำหนักมากกว่า 400 กรัม ท้องไม่อูม ตัวยาวเรียว ช่องเพศสีขาวซีด ไม่บวม ลำตัวสีเหลืองคล้ำ

เพศเมีย ความยาวของลำตัวประมาณ 50 เซนติเมตร และส่วนใหญ่มีน้ำหนักต่ำกว่า 300 กรัม ท้องอูมเป่ง ตัวอ้วน ช่องเพศสีแดงเรื่อบวม (ช่วงผสมพันธุ์) ลำตัวสีเหลืองเปล่งปลั่ง

คุณศราวุธ กล่าวว่า ปลาไหลสามารถเพาะพันธุ์ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน เพราะว่ามีความสมบูรณ์สูงสุด ซึ่งปริมาณความดกของไข่ปลาไหลขึ้นอยู่กับขนาดน้ำหนักและความยาว โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 400-500 ฟอง



เพาะพันธุ์ เลียนแบบธรรมชาติ

คุณศราวุธ กล่าวว่า การเพาะพันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติควรทำในบ่อซีเมนต์ ขนาด 5x10x1 เมตร โดยใส่ดินเหนียวหนา 30 เซนติเมตร ให้ดินสูงด้านใดด้านหนึ่งด้วย

จากนั้น ดูดน้ำเข้ามาใส่ให้สูงประมาณ 40 เซนติเมตร พร้อมกับนำพรรณไม้น้ำ พวกผักบุ้ง หรืออื่นๆ มาปลูกไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อเลียนแบบธรรมชาติให้มากที่สุด

ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาตารางเมตรละ 4 ตัว พร้อมกับให้ปลาสดสับผสมน้ำมันตับปลากิน วันละ 1 มื้อ มื้อละ 3 เปอร์เซ็นต์ ต่อน้ำหนักตัวปลา โดยให้กินตอนเย็น

"การดูแลนั้น ทุกๆ 7 วัน เราจะเปลี่ยนถ่ายน้ำ 1 ครั้ง พ่อแม่ปลาส่วนใหญ่จะใช้เวลาปรับตัวประมาณ 2-4 เดือน ก็เริ่มผสมพันธุ์วางไข่กันแล้ว โดยสังเกตปลาเพศผู้ จะก่อหวอด คล้ายกับขนมโดนัท ปลาจะเริ่มผสมพันธุ์ วางไข่ในตอนใกล้รุ่ง หลังจากนั้น 7-10 วัน ก็รวบรวมลูกพันธุ์ปลาขึ้นมาอนุบาลต่อไปได้แล้ว"

คุณศราวุธ บอกว่า ไข่ปลาไหลนาเป็นลักษณะไข่จมไม่ติดวัสดุ เมื่อสัมผัสจะมีความยืดหยุ่นมาก มีลักษณะสีเหลืองสดใส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.3 เซนติเมตร ไข่ได้รับการผสมมีลักษณะกลม สีเหลืองทอง ส่วนที่ไม่ได้รับการผสมนั้นจะมีสีขาวใส

ไข่จะใช้เวลาในการฟักประมาณ 3 วัน เมื่อลูกปลาฟักออกใหม่ๆ มีถุงไข่แดง 2 ใน 3 ส่วน และความยาว 2.5 เซนติเมตร

อายุ 5-6 วัน ถุงไข่แดงยุบพร้อมครีบหูหายไป และเริ่มกินอาหารได้แล้ว



อนุบาลลูกปลาไหลวัยอ่อน

คุณศราวุธ กล่าวว่า เราจะนำลูกปลาไหลวัยอ่อน อายุ 7-10 วัน ที่ฟักออกมาเป็นตัวไปอนุบาลในกะละมังพลาสติคกลม ระดับน้ำลึก 15 เซนติเมตร โดยใส่ต้นผักตบชวาหรือจอก ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกปลาไหลเกาะ

ปล่อยในอัตราความหนาแน่น 350 ตัว ต่อตารางเมตร และมีการถ่ายเทน้ำ 2-3 วัน ต่อครั้ง

"อาหารที่ให้ลูกปลากินช่วงแรกนั้น เราจะใช้ไรแดงวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น พร้อมฝึกให้กินอาหารสมทบ โดยให้กินอาหารผงสำเร็จรูป (Powder feed) ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ ลูกปลาคอยตอดกินอาหารจนอิ่มทุกวัน"

หลังใช้ระยะเวลาอนุบาล 2 สัปดาห์ ไปแล้ว คุณศราวุธ บอกว่าควรมีการคัดขนาดเพื่อช่วยลดการกินกันเอง เนื่องจากขนาดของปากจะกว้างขึ้นนั่นเอง

"ช่วงนี้เราจะลดไรแดง และให้อาหารสมทบวันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น โดยปั้นเป็นก้อนเล็กๆ ปรับปริมาณอาหารที่ให้ทุกสัปดาห์ เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนลูกปลา นอกจากนี้ อาจผสมน้ำมันปลาหมึก เพื่อช่วยดึงดูดลูกปลาให้กินอาหารได้ดีขึ้นและมีวัตถุที่หลบซ่อน โดยใช้ท่อ พีวีซี หรือ ท่อพลาสติก โดยตัดเป็นท่อนยาว ประมาณ 20 เซนติเมตร บ่อละ 3-5 ท่อน เนื่องจากลูกปลาค่อนข้างตกใจง่าย เมื่อมีเสียงดังๆ"

หลังจากเลี้ยงลูกปลาไหลได้ประมาณ 6 สัปดาห์ ก็จะได้ปลาไหลขนาด 10 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 1-2 กรัม และสามารถนำไปเลี้ยงเป็นปลาไหลใหญ่ได้



เลี้ยงปลาไหลเลียนแบบธรรมชาติ

คุณศราวุธ บอกว่า การเลี้ยงปลาไหลนาให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการนั้น สามารถเลี้ยงได้ในบ่อซีเมนต์ และท่อซีเมนต์กลม โดยมีวิธีการ 2 รูปแบบ ดังนี้ คือ

1. แบบเลียนแบบธรรมชาติ โดยใส่ฟางข้าวหนาประมาณ 30 เซนติเมตร และดินทับหนา 10 เซนติเมตร โดยน้ำให้สูงกว่าผิวดิน 10 เซนติเมตร จากนั้นหมักฟางข้าวทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ หากมีการเน่าควรมีถ่ายน้ำออกบ้าง แล้วเติมน้ำใหม่ลงไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดไรแดง หนอนแดง แล้ว

นำปลาขนาดน้ำหนักตัวประมาณ 30-40 ตัว ต่อกิโลกรัม ลงปล่อยในอัตราความหนาแน่น 30-40 ตัว ต่อตารางเมตร หากเป็นท่อซีเมนต์กลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.0 เมตร ใส่ประมาณ 100 ตัว โดยคัดปลาไหลขนาดเท่าๆ กันก่อน

เติมฟางข้าวทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง และให้อาหารสมทบวันละ 2-3 เปอร์เซ็นต์ โดยปั้นเป็นก้อนวันละมื้อในช่วงเย็นเลี้ยง

เลี้ยงประมาณ 6-8 เดือน จะได้น้ำหนักปลาไหลขนาดตัวละ 200 กรัม ให้ผลผลิต 20-30 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร ซึ่งอัตราการรอดตาย 70-80 เปอร์เซ็นต์ อัตราการแลกเนื้อ (FCR) เท่ากับ 1:4.5

2. แบบพัฒนา โดยสามารถเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ขนาดตั้งแต่ 10-50 ตารางเมตร โดยปล่อยลูกปลาไหลขนาด 10 กรัม ในอัตราส่วน 150-200 ตัว ต่อตารางเมตร มีการถ่ายเทน้ำได้สะดวก มีการให้ออกซิเจนตลอดเวลา รวมทั้งจัดที่หลบซ่อนให้ปลาไหล

ส่วนอาหารนั้นใช้ปลาเป็ดสดหรือปลาข้างเหลืองผ่าแยกออกเป็นสองซีกคลุกเคล้ากับน้ำมันปลาหมึก วางให้ลูกปลาไหลกินเป็นจุดๆ โดยใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6-7 เดือน ก็สามารถจับไปขายได้แล้ว

"ในการเลี้ยงปลาไหลเป็นอาชีพนั้น เกษตรกรจะเพาะขยายพันธุ์เองหรือรวบพันธุ์ปลาจากธรรมชาติก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวก หากนำปลาจากธรรมชาติเข้ามาเลี้ยงควรระมัดระวังในเรื่องการลำเลียง ไม่ควรให้หนาแน่นมากเกินไป ปลาจะบอบช้ำได้ และควรคัดปลาขนาดเดียวกันลงเลี้ยงรวมกัน เพื่อลดปัญหาการกินกันเอง โดยเฉพาะในปลาอายุต่ำกว่า 2 เดือน" คุณศราวุธ กล่าวทิ้งท้าย




ข้อควรระวังในการเลี้ยงปลาไหลนา

พื้นบ่ออนุบาลควรฉาบผิวให้เรียบ ป้องกันปลาเป็นแผลถลอกได้

ฟางข้าวที่ใช้เพื่อการเลี้ยง ควรเป็นฟางข้าวที่แห้ง

บ่อควรมีร่มเงาบังแสงแดดบ้าง
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ปัตตานี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคใต้
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 422
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM