เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
"ดอร์เมาส์" อัศจรรย์กระรอกจิ๋ว
   
ปัญหา :
 
 
ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นของสวนธรรมชาติ คงจะรู้สึกอิ่มใจมากขึ้นหากได้เห็นเจ้ากระรอกน้อยปีนป่ายอยู่ตามต้นไม้ หลายคนคงอยากจะไล่จับเจ้าหน้าแหลมหางฟูตัวนั้นมาอุ้มกอด...

คงเป็นไปได้ยากหากจะจับกระรอกธรรมชาติมาเลี้ยงให้เชื่องโดยง่าย นอกเสียจากจะเก็บมาเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็กคอยป้อนอาหาร ป้อนนม จนมันคุ้นชิน แล้วดูแลเอาใจใส่จนมันเติบโตกลายเป็นกระรอกเต็มวัยขนาดพอสองอุ้งมือ

แต่ถ้าเป็นกระรอกบางชนิด แม้คุณจะเลี้ยงให้โตแค่ไหน มันก็จะมีขนาดเพียงอุ้มมือเดียวเท่านั้น!! ราวกับว่ามันเป็นลูกกระรอกไม่ยอมโต

เหมือนกับเจ้า "ดอร์เมาส์" (dormouse) สัตว์เลี้ยงตัวจิ๋วของ คุณปีย์ชนิตว์ เกษสุวรรณ หรือ คุณปีย์

หนุ่มเชียงใหม่ ที่ชื่นชอบกระรอกชนิดนี้เป็นพิเศษ ขณะที่เมืองไทยยังไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก แต่เขาก็ศึกษาและเสาะหามาเลี้ยงได้อย่างดี โดยเริ่มจากการหาซื้อทางเว็บไซต์ 1 คู่ จนสามารถขยายพันธุ์และเลี้ยงดูดอร์เมาส์ จำนวน 10 ตัว ในปัจจุบัน

"ผมเริ่มรู้จักกับเจ้ากระรอกจิ๋วเมื่อราวปลายปี "49 จากที่โพสต์ไว้ในเว็บไซต์สัตว์เลี้ยงของไทยที่อาศัยอยู่ในเยอรมัน หลังจากนั้นราวเดือนมีนาคม 50 มีร้านสัตว์เลี้ยงในจตุจักรก็ได้นำดอร์เมาส์ เข้ามาขาย แต่ราคาค่อนข้างแพง ผมจึงไม่ได้ซื้อไว้ในตอนแรก ต่อมาไม่นานก็มีคนเลี้ยงประกาศขายเองทางอินเตอร์เน็ต เลยตัดสินใจซื้อมาเลี้ยง 1 คู่ จนปัจจุบันมีประสบการณ์มากขึ้น และสนุกกับการเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้" คุณปีย์เล่า

นักวิทยาศาสตร์จัดดอร์เมาส์แยกออกจากกลุ่มหนูและกระรอก ซึ่งมีมากกว่า 20 สายพันธุ์ สามารถพบได้ทั้งในญี่ปุ่น ยุโรป และแอฟริกา โดยแต่ละชนิดมีถิ่นที่อยู่ สีสัน และขนาดที่แตกต่างกันไป แต่เกือบทุกชนิดมีลักษณะรูปร่าง และนิสัยคล้ายกระรอก ซึ่งดอร์เมาส์ที่คุณปีย์เลี้ยงไว้นั้นเป็นสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงมากที่สุด คือ "ปิ๊กมี่ดอร์เมาส์" (African pygmy dormouse) มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตอนกลางจนถึงตอนใต้ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เล็กที่สุด จนมีฉายาว่ากระรอกจิ๋ว (micro squirrels) เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดลำตัวเพียง 3-4 นิ้ว มีน้ำหนักแค่ประมาณ 25-30 กรัม มีหางฟูยาวเท่ากับลำตัว สีขนด้านบนเป็นสีเทาอ่อน แต่พออายุมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ด้านท้องสีขาวครีม

คุณปีย์บอกว่า ในประเทศไทยนับว่ามีการนำเข้าดอร์เมาส์จากแอฟริกา และฟาร์มจากญี่ปุ่นเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น จึงเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีจำนวนน้อยมากในบ้านเรา ส่วนชื่อดอร์เมาส์ มาจาก คำว่า "Dor" ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษโบราณ แปลว่า "ผู้หลับใหล" มันถูกเรียกตามพฤติกรรมที่ต้องนอนจำศีลตลอดฤดูหนาวที่อาหารขาดแคลน เมื่ออากาศเย็นลงดอร์เมาส์จะหาโพรงไม้ รังนกเก่า หรือแทะผลโอ๊กให้เป็นโพรงเพื่อเข้าไปจำศีล แต่พฤติกรรมนี้จะไม่เกิดในเมืองไทย เพราะเป็นเมืองร้อน ดังนั้นการเลี้ยงดอร์เมาส์จึงต้องมีจัดสถานที่และควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม

"พวกมันเป็นสัตว์กลางคืน แต่ในธรรมชาติพวกมันอาจจะหากินแทบทั้งวัน แต่ถ้าเลี้ยงในห้องที่มีแสงน้อย ในช่วงกลางวันพวกมันจึงอาจจะออกมาวิ่งเล่นให้เห็นเช่นเดียวกัน การเลี้ยงดอร์เมาส์ควรจัดให้อยู่ในอุณภูมิไม่ต่ำกว่า 70 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 24 องศาเซลเซียส สามารถเลี้ยงในตู้ปลาขนาด 20 นิ้ว ที่ปิดด้วยตะแกรงโลหะขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร เพราะเจ้ากระรอกจิ๋วมีขนาดเล็กมากและหลบหนีได้เก่ง 1 ตู้ เหมาะสมที่สุดสำหรับดอร์เมาส์ 1 คู่ นอกจากนั้น ตะกร้าพลาสติคอย่างหนาที่มีตาข่ายค่อนข้างเล็กก็ใช้ได้ดี โดยใส่วัสดุรองพื้นให้สูงประมาณ 2 นิ้ว จะใช้กระดาษฝอย ขี้เลื่อย ซังข้าวโพด หรือทรายสำเร็จรูปสำหรับแฮมเตอร์ก็ได้ แต่ควรใส่หญ้าแห้ง เศษผ้า หรือเศษไหมพรมไว้ให้มันคาบไปรองรังนอนด้วย"

เมื่อเป็นสัตว์แสนซน สิ่งที่ควรจัดให้ดอร์เมาส์เพิ่มเติมก็คือ ของเล่นสำหรับปีนป่าย เช่น กิ่งไม้แห้ง เชือก โพรงไม้ และวงล้อสำหรับแฮมเตอร์ เพราะในธรรมชาติพวกมันจะใช้เวลาส่วนมากปีนป่ายหาอาหารตามพุ่มไม้ ผู้เลี้ยงจึงสามารถนั่งมองเจ้ากระรอกจิ๋วแสดงกายกรรมอย่างร่าเริงได้ตลอดทั้งคืน และควรหาบ้านไม้สำเร็จรูปหรือกระถางดินเผาเล็กๆ ที่กะเทาะให้มีช่องเข้าออกสำหรับให้มันเข้าหลบซ่อนในเวลากลางวัน เพื่อช่วยลดความเครียด หรือเป็นรังนอนและรังคลอด

ส่วนอาหารของดอร์เมาส์ตามธรรมชาติมีหลากหลายเช่นเดียวกับสัตว์ฟันแทะทั่วไป เมื่อนำมาเลี้ยงเองคุณปีย์บอกว่า สามารถผสมอาหารเองได้ โดยใช้อาหารเม็ดสำหรับหนูแฮมสเตอร์ อาหารแมวไขมันต่ำ อาหารนกเขา กระดองปลาหมึกตำหยาบ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง อาหารหมูอ่อน และเสริมด้วยผลไม้สด ผลไม้แห้ง นมอัดเม็ด โยเกิร์ต ไก่สุก ไข่ต้ม ผักสด จิ้งหรีด หนอนนก และขนมปัง สลับสับเปลี่ยนกันไป โดยจัดถ้วยอาหารแห้งกับอาหารเปียก ใช้ขวดน้ำแบบปลายลูกกลิ้งที่ทำจากสแตนเลส หรือใส่น้ำในถ้วยเล็กๆ แต่ควรเปลี่ยนทุกวัน

ดอร์เมาส์ เป็นสัตว์สังคมจึงควรเลี้ยงรวมกันเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม แต่เมื่อตัวผู้โตขึ้นจะเริ่มทะเลาะกันเพื่อแย่งกันผสมพันธุ์กับตัวเมียที่อยู่ในฝูง (ดอร์เมาส์ พร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุ 6 เดือน ขึ้นไป) คุณปีย์บอกว่าอัตราส่วนในการเพาะพันธุ์ที่ได้ผลดีคือ ตัวผู้ 1 ตัว ต่อ ตัวเมีย 2 ตัว ซึ่งสามารถสังเกตอาการตัวผู้ได้จากเสียงร้อง "คริกๆ" คล้ายจิ้งหรีด หากผสมแล้วแม่หนูจะตั้งท้องราว 25-30 วัน และออกลูกครอกละ 2-10 ตัว ในต่างประเทศพบว่าดอร์เมาส์มีลูกได้ปีละครั้ง แต่ด้วยอากาศในบ้านเราทำให้อาจจะมีลูกได้ถึงปีละ 3-4 ครั้ง และเจ้ากระรอกจิ๋วอาจมีอายุในที่เลี้ยงได้มากถึง 6 ปี

"เราจะทำให้ดอร์เมาส์คุ้นเคยกับผู้เลี้ยงได้ โดยแยกลูกหนูออกมาป้อนนมตั้งแต่เล็ก จนสามารถนั่งเล่นบนมือ ป้อนอาหาร และไต่ตามตัวได้ แต่ต้องเริ่มจากช่วงแรกๆ คือไม่เกิน 3 สัปดาห์ หลังจากออกจากท้องแม่ แต่จากประสบการณ์ของผม การนำลูกหนูออกมาป้อนในช่วง 12-15 วัน ลูกหนูจะคุ้นมือเร็วกว่า แต่อัตราการรอดต่ำและกินนมยากกว่า ดังนั้น ควรนำออกมาป้อนช่วง 18-20 วัน จึงจะปลอดภัย อาหารที่ป้อนคือซีรีแล็คสูตรเริ่มต้น หรือจะใช้นมผงสำหรับลูกแมวแทน แล้วผสมกับอาหารเสริมชนิดน้ำสำหรับเด็กก็ทำให้ลูกหนูมีสุขภาพดีได้เช่นกัน"

เมื่อลูกดอร์เมาส์มีอายุราว 30 วัน แล้วผู้เลี้ยงลองยื่นมือลงไปแต่ถูกงับ!! คุณปีย์บอกว่าไม่ต้องตกใจ เพราะมันจะงับเพียงเบาๆ เพื่อสำรวจอาหาร พอมันโตขึ้นและคุ้นเคยกับเรา อาการงับจะลดลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับนิสัยของเจ้ากระรอกจิ๋วแต่ละตัวด้วยเช่นกัน แต่หากมันคุ้นเคยกับคนเลี้ยงแล้ว หากจะนำออกมาเล่น ควรยื่นมือลงไปให้มันรู้ตัวก่อน แล้วจึงรวบส่วนลำตัวขึ้นมาด้วยอุ้งมือ ส่วนตัวที่ไม่คุ้นเคยกับคน ควรกำมือแล้วใช้ร่องระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้รวบหนังบริเวณหลังแล้วยกขึ้น ไม่ควรใช้วิธีจับที่หาง เพราะอาจจะทำให้ดอร์เมาส์แว้งกัด หรือหางขาดได้ และไม่ควรแหย่มือ แบบผลุบโผล่ลงไปในกรง เพราะทำให้หนูตกใจ และอาจจะกัดเพื่อป้องกันตัวได้ และต้องล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง

"ผู้เลี้ยงหลายคนมักจะทอดทิ้งดอร์เมาส์ของตนเองเมื่อโตขึ้น เนื่องจากพวกมันไม่มีนิสัยออดอ้อนเหมือนสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ แต่กลับชอบซ่อนตัว ไม่ชอบแสง เคลื่อนไหวรวดเร็ว และระแวงตัวสูง เพราะเป็นเหยื่อของสัตว์ใหญ่ตามธรรมชาติ ทำให้มันค่อนข้างตื่นง่าย ชอบซุกซ่อนและกลัวสิ่งที่เคลื่อนไหววูบวาบ แต่ผู้เลี้ยงก็มีความสุขที่ได้ลูบคลำเจ้ากระรอกจิ๋วตัวอ้วน ได้จัดมุมของเล่นในตู้ และนั่งดูมันแสดงกายกรรมอย่างคล่องแคล่ว วิ่งเล่นในวงล้อ หรือนั่งแทะอาหาร ช่วยลดความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานไปได้มาก ถ้าผู้เลี้ยงเข้าใจพฤติกรรมตามธรรมชาติของพวกมันให้ดี และให้เวลากับมันเพียงพอ ก็จะช่วยลดปัญหาการทิ้งขว้างสัตว์ เพราะเริ่มเบื่อหน่ายได้"

"ในบรรดาดอร์เมาส์ของผมก็มีเจ้า "อ้วนอ้วน" (นางแบบในภาพ) ที่คุ้นเคยกันมาก เพราะเป็นตัวที่ทดลองป้อนนมตัวแรก ทุกครั้งที่ยื่นมือลงไปในตู้มันก็จะยอมให้จับตัวโดยดี และสามารถอยู่นิ่ง ๆ บนฝ่ามือให้ลูบหัว หรือถ่ายรูป ก่อนจะวิ่งตามแขนขึ้นมาเล่นอยู่ในปกคอเสื้อ แต่ว่ามันมีอาการบวมผิดปกติ คือมีขนาดใหญ่กว่าหนูตัวอื่นเป็นสองเท่า จึงถูกแยกให้อยู่เดี่ยว เพื่อป้องกันการผสมกับตัวอื่นๆ แต่เจ้าสาวแก่ตัวนี้มีหน้าที่คอยดูแลเด็กๆ เวลาที่ต้องแยกกับแม่เพื่อนำมาป้อนนม" คุณปีย์เล่าถึงเจ้าตัวจิ๋วตัวโปรด

เนื่องจากคุณปีย์เป็นเพียงผู้เลี้ยงที่สนใจในพฤติกรรม และลักษณะเฉพาะตัวของสัตว์ชนิดนี้ และไม่ได้ตั้งใจเพาะพันธุ์เพื่อการค้าเป็นหลัก จึงไม่มีดอร์เมาส์จำหน่ายเป็นจำนวนมาก แต่หากใครสนใจสามารถติดต่อเพื่อการศึกษา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ สามารถติดต่อคุณปีย์ได้ที่ pk_dormouse@hotmail.com หรือโทรศัพท์ (086) 996-3454

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ดอร์เมาส์เกือบทุกชนิดไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง (ยกเว้นสายพันธุ์เฉพาะถิ่นในเกาะญี่ปุ่น) หรือไม่มีรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ซึ่งเคยมีประวัติในอเมริกาเมื่อสองปีก่อน เพราะลักลอบการนำเข้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย แต่ในบางประเทศก็มีการห้ามนำเข้าดอร์เมาส์ เพราะหากไม่มีการควบคุมตามธรรมชาติอาจจะกลายเป็นศัตรูพืชได้

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 422
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM