เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ลำไยนอกฤดู สูตร ไพโรจน์ แก้วภัยพาล แนะวิธีง่ายๆ ทำในเขตภาคกลาง เน้นลดต้นทุนการผลิต
   
ปัญหา :
 
 
ลำไยนอกฤดู สูตร ไพโรจน์ แก้วภัยพาล แนะวิธีง่ายๆ ทำในเขตภาคกลาง เน้นลดต้นทุนการผลิต

"ลำไย" ผลไม้เศรษฐกิจระดับประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกลำไยเป็นอันดับ 1 ของโลก ไปยังหลายๆ ประเทศ ทั้งในรูปของผลสดและลำไยแปรรูป สร้างมูลค่าสินค้าเกษตรส่งออกให้กับประเทศไทยปีละไม่ใช่น้อย


สมัยก่อนลำไยมีปลูกกันมากทางภาคเหนือของประเทศ มาระยะหลังมีการใช้สารเร่งให้ลำไยติดดอกนอกฤดูกาลได้ ลำไยจึงมีปลูกกันทั่วทุกภาคของประเทศ ผลผลิตจะดีหรือไม่ดีอย่างไร ขึ้นอยู่กับสภาพของท้องถิ่นนั้นๆ ในเขตภาคกลางมีการปลูกลำไยนอกฤดูมานานนับ 10 ปีแล้ว เริ่มมีการนำเอาลำไยมาปลูกและทำนอกฤดูที่จังหวัดราชบุรีเป็นครั้งแรก ซึ่งก็ได้ผลดี ทำให้มีการปลูกลำไยเพื่อทำนอกฤดูแพร่หลายไปนอกภาค

คุณไพโรจน์ แก้วภัยพาล เกษตรกรชาวสวนผลไม้ย่านตำบลแหลมบัว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม หลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานจากการปลูกไม้ผลแทบทุกชนิดมาแล้ว ก็เลยหันมาปลูกลำไยเพื่อทำนอกฤดูกาลดูบ้าง ผลปรากฏว่าเพียงชั่วระยะเวลา 5 ปี คุณไพโรจน์เก็บผลผลิตลำไยขายมาแล้ว 4 รุ่น รับทรัพย์เข้ากระเป๋า ยิ้มไม่ยอมหุบมาจนทุกวันนี้

คุณไพโรจน์บอกว่า เรื่องไม้ผลปลูกมาทุกชนิด มีแต่รุ่งริ่งไม่รุ่งโรจน์ เห็นละแวกบ้านเขาปลูกลำไยกันประกอบกับพรรคพวกทางเหนือก็สนับสนุน เลยทดลองปลูกลำไยดู ในเนื้อที่สวน 40 กว่าไร่ ซื้อกิ่งพันธุ์ลำไยสีดอมา 400-500 กิ่ง นำมาลงปลูก

การปลูกลำไยคุณไพโรจน์บอกว่า ไม่ยุ่งยากอะไรเลย จะมายุ่งก็ตอนหาไม้ค้ำกิ่งหลังลำไยติดผลแล้ว ช่วงลำไยติดขนาดมะเขือพวงนั่นแหละ ก่อนไปซื้อกิ่งพันธุ์ลำไยมาปลูก ก็ต้องเตรียมพื้นที่ปลูกเอาไว้ก่อน ที่สวนย่านนครชัยศรีปลูกแบบระบบร่องสวน ปรับพื้นที่ให้เรียบ พลิกดินสักครั้ง หรือจะเพียงแค่ขุดโค่นไม้อื่นออกให้หมดก็ได้ ยึดความสะดวกของเจ้าของสวนเป็นหลัก

พอเตรียมที่ปลูกได้แล้วก็ไปหากิ่งพันธุ์มาปลูก สำหรับตนไปซื้อกิ่งพันธุ์ลำไยสีดอจากจังหวัดลำพูน พอมาถึงก็ขุดหลุมลงปลูกเลย ไม่มีพิธีรีตองให้ยุ่งยาก เอากิ่งลงหลุม กลบหลุมให้แน่น หาไม้มาปักเป็นหลักป้องกันกิ่งหักโค่นเสียหน่อยก็จะดีไม่ใช่น้อย จากนั้นก็ลดน้ำให้ชุ่ม เป็นอันเสร็จพิธี ทำง่ายๆ แบบลูกทุ่งย่านนครชัยศรี

แต่ถ้าเกษตรกรจะรองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกเสียก่อนก็ดี ต้นจะได้โตเร็วขึ้น เวลากลบหลุมพูนดินให้เป็นโคกป้องกันน้ำขังก็เป็นความประณีตของพี่น้องเกษตรกรอีกแบบหนึ่ง

คุณไพโรจน์บอกว่า สำหรับตนมาเน้นให้ปุ๋ยตอนหลัง พอดินรัดราก ต้นตั้งตัวดีแล้ว ถึงให้ปุ๋ยขี้วัวขี้ไก่ใส่เดือนละครั้ง ไม่ช้าต้นก็จะแตกยอด คราวนี้เสริมด้วยปุ๋ยเคมีบ้างไม่ต้องมาก จะทำให้ยอดพุ่งเร็วขึ้น เพียงแค่ไม่ถึง 2 ปี ต้นก็จะสอนเป็น ติดลูกผลครั้งแรกแล้ว

"สำหรับบ้านเราหมายถึงที่นครชัยศรี จะต้องราดสารบังคับให้ติดดอก ไม่เช่นนั้นลำไยก็จะไม่ติดดอก ลำไยบ้านเราจะไม่ออกตามธรรมชาติ ต้องบังคับ"

คุณไพโรจน์ กล่าวและว่า ลำไยบ้านเราราดสารบังคับ 7 เดือน เก็บผลได้ ลำไยภาคเหนือราดสารบังคับ 8 เดือน เก็บผล ต่างกัน 1 เดือน การราดสารต้องกำหนดก่อนว่าจะเก็บลำไยช่วงไหน จากนั้นก็นับเดือนถอยหลังไป 7 เดือน เป็นเดือนที่ต้องราดสารบังคับ ที่สวนกำหนดเก็บเดือนธันวาคม-มกราคม ช่วงปีใหม่ ฉะนั้นการราดสารจะราดราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม

ก่อนราดสารราวเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ต้องใส่ปุ๋ยบำรุงต้นให้สมบูรณ์ที่สุดเสียก่อน พอถึงเดือนที่จะราดสาร ก็ให้กักน้ำอย่าให้ต้นแตกใบอ่อน ต้องคุมยอดให้อยู่ ไม่ให้ยอดพุ่งขึ้น กักน้ำให้หน้าดินแห้งแตกระแหง จนต้นโศกพอสมควร เวลาราดสารจึงจะลงถึงรากได้เร็ว

พอต้นโศก ใบหงอย ให้ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตผสมน้ำ แล้วแต่ทรงพุ่มของต้น ถ้าทรงพุ่ม 1 เมตร ใช้สาร 3 ขีด ผสมน้ำ 15 ลิตร ราดรอบทรงพุ่ม อย่าเพิ่งรีบรดน้ำ ปล่อยทิ้งไว้ก่อน พอรุ่งขึ้นอีกวันจึงค่อยๆ รดน้ำ พรมๆ ไม่ต้องมาก ให้วันเว้นวันไป 7 วัน จากนั้นก็ 5 วัน รดน้ำครั้ง ถ้าเป็นลำไยอายุน้อยประมาณ 25 วัน ก็จะแทงยอดให้เห็น

ใบอ่อนติด 3 คู่ใบ จึงจะมีช่อดอกตามออกมา คราวนี้ใส่ปุ๋ยทางดิน สูตร 25-7-7 ให้น้ำสม่ำเสมอ เป็นอันว่าได้ลำไยในชุดนี้แน่นอน พอช่อดอกเป็นเม็ดไข่ปลา ฉีดยาป้องกันเพลี้ยไฟ 1 ครั้ง เข้าระยะ 15 วัน จากติดช่อดอกสู่ระยะดอกบาน ต้องหยุดฉีดยาโดยสิ้นเชิง ระบบน้ำให้สม่ำเสมออย่าให้ขาด จนดอกติดเป็นผลเล็กๆ ให้ฉีดยาป้องกันเพลี้ยไฟอีก 1 ครั้ง ทิ้งระยะประมาณ 7 วัน ให้ฮอร์โมน แคลเซียมโบรอน ทางดินให้ปุ๋ย สูตร 16-16-16 เมื่อผลขนาดเม็ดถั่วเขียวเปลี่ยนเป็นให้ปุ๋ยขี้ไก่ ผลใหญ่ขึ้นให้ฮอร์โมนสูตรเดิมอีกครั้งหนึ่ง พอลำไยก้มหัวลงจากช่อหยุดการให้ฮอร์โมน ทางดินให้ปุ๋ย สูตร 13-13-21 ให้น้ำสม่ำเสมอ 5 วันครั้งตลอด

ขณะที่ผลลำไยค่อยๆ โตขึ้น ฉีดยาฆ่าเชื้อรา 10 วัน ต่อครั้ง พอผลลำไยขนาดมะเขือพวง ให้ตัดแต่งตัดช่อที่ไม่สมบูรณ์ออก อย่าให้กิ่งแบกผลมากเกินไป ให้เหลือประมาณ 40% ของกิ่ง แล้วก็หาไม้ค้ำกิ่งป้องกันกิ่งฉีกขาดเมื่อผลค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น

คุณไพโรจน์บอกว่า ถ้าหนาวมาเร็วจะเก็บผลได้เร็วกว่าทางเหนือ หลังเก็บผลขายก็ต้องบำรุงต้น แล้วก็ตัดแต่งกิ่ง เอากิ่งไม่ดีภายในทรงพุ่มออกให้หมด แต่งกิ่งให้โปร่ง แดดส่องเข้าถึงได้ยิ่งดีใหญ่ จากนั้นก็ใส่ปุ๋ยพื้นปุ๋ยคอก ถ้าดูดเลนจากร่องสวนขึ้นมาใส่โคนต้นได้ยิ่งดีใหญ่ พอเข้าหน้าร้อนโคนต้นจะชื้น ให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 1 ครั้ง ช่วยให้ต้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เข้าช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ดูที่ต้นถ้าเห็นต้นสมบูรณ์ ใบเขียวเข้มดี ก็ให้กักน้ำเตรียมราดสารบังคับในรุ่นต่อไป

สำหรับปัญหาศัตรูของลำไยนั้น คุณไพโรจน์บอกว่ามีไม่มาก คอยดูเพลี้ยแป้งให้ดีๆ ดูแล้วไม่ใช่ให้ผ่านเลยไป ต้องฉีดยาป้องกันด้วย โรคอื่นๆ ก็ไม่มีอะไร ส่วนเจ้าแมลงวันทอง ถ้าทำผลเก็บช่วงธันวาคม-มกราคม ไม่มีปัญหา ไม่มีระบาด

"สวนผมเก็บผลมา 4-5 ครั้งแล้ว ได้ผลผลิตดี ปีที่แล้วเก็บลำไยได้ประมาณ 50 ตัน ทำท่าจะดีแต่ก็ไม่ดีเพราะราคาไม่ดี กลายเป็นแค่ท่าดีแต่ทีเหลวซะยังงั้น" คุณไพโรจน์กล่าวและว่า ถึงอย่างไรก็ดีกว่าทำนาและทำสวนไม้ผลอื่นๆ ลำไยทำง่ายกว่ากันมาก ไม้ผลอื่นๆ ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ต้นทุนการผลิตสูง เปลืองค่ายา ค่าปุ๋ย ที่นับวันจะแพงขึ้นๆ ไม่มีถูกลง

ในเรื่องของตลาดคู่แข่งนั้น คุณไพโรจน์บอกว่าไม่ต้องพูดถึงเลย เราอยากให้หันมาปลูกลำไยกันให้เยอะๆ เสียอีก จะได้ส่งล้งได้ง่าย ถ้ามีลำไยมากๆ ทางล้งเขาจะส่งคนงานมาเก็บให้ ไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายแรงงานเก็บ และค่อนข้างจะหายากอีกด้วย ตลาดที่รับซื้อรายใหญ่ส่งที่ตลาดศรีเมืองราชบุรี

การทำลำไยนอกฤดูทุกวันนี้ เกษตรกรจะต้องดูเรื่องต้นทุนการผลิตให้ดี ต้องเน้นเรื่องการลดต้นทุนเป็นอันดับแรก ปุ๋ยควรใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยขี้วัว ปุ๋ยขี้ไก่ จะดีกว่า ส่วนปุ๋ยเคมีให้เพียงแค่อาหารเสริมเท่านั้น เกษตรกรต้องรู้จักประยุกต์ใช้ เพราะปัจจุบันค่าปุ๋ยค่ายาราคาแพงมาก คุณไพโรจน์แนะนำในช่วงท้ายสำหรับเกษตรกรที่คิดจะหันมาปลูกลำไยดูบ้าง

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครปฐม
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 423
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM