เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
แก้วสุวรรณ 3 สวนมะม่วงระดับตำนาน แปดริ้ว
   
ปัญหา :
 
 
แปดริ้ว ถือว่าเป็นแหล่งผลิตมะม่วงที่สำคัญของบ้านเรานานมาแล้ว ปัจจุบันก็ยังมีผลิตอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรส่วนหนึ่งรวมตัวกันในรูปสหกรณ์ ผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ ทำให้เกิดการสร้างงานทำเงิน สิ่งที่มีอยู่ ต้องให้เครดิตกับคนรุ่นเก่าก่อน ที่เรียนรู้งาน จากนั้นก็ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังสานงานต่อ คนรุ่นหลังก็น่านับถือ เพราะทายาทเกษตรกรที่ปลูกมะม่วง มีฐานะดี สามารถที่จะเลือกเรียน เลือกทำงานได้

แต่คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่ง ยึดอาชีพงานเกษตรอย่างมั่นคง เพราะเหตุนี้เอง มะม่วงแปดริ้ว โดยเฉพาะที่บางคล้าจึงยังคงอยู่ และคงเป็นงานที่ถูกสืบทอดไปในภายภาคหน้าอีกยาวนาน หากไทยยังเป็นประเทศเกษตรกรรม

"สวนแก้วสุวรรณ 3" เป็นสวนมะม่วงระดับตำนานของบางคล้า แปดริ้ว ถือว่าเป็นสวนที่มีชื่อเสียงระดับหัวแถวของจังหวัดนี้มานาน ตั้งแต่ยุคเก่าก่อน จนถึงปัจจุบัน

คนที่จะมาเล่าเรื่องราว งานผลิตมะม่วงของสวนคือ คุณสาโรช เจียรสุวรรณ อยู่บ้านเลขที่ 44 หมู่ที่ 1 ตำบลคลองเขื่อน อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา



สวนระดับตำนานเมืองแปดริ้ว

ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรทำนาทำสวนกัน ผู้ที่ทำสวนจะยกร่อง เหมือนกับที่เกษตรแถบปริมณฑลของกรุงเทพฯ เขาทำกัน บางคล้าได้เปรียบถิ่นอื่นในเรื่องของการผลิต

เริ่มจากถิ่นบางคล้า ถือว่าอยู่ภาคกลาง ซึ่งอากาศเย็นน้อยและหายเย็นเร็วกว่าภาคอื่น มะม่วงหายจากการพักตัวเร็ว จึงออกดอกติดผล รวมทั้งเก็บได้เร็ว ราคาที่ขายได้จึงดีกว่า ต่างจากภาคอื่น เช่น ภาคกลางตอนบน ภาคเหนือและอีสาน หนาวนาน มะม่วงออกดอกช้า จึงเก็บผลได้ช้า ยามที่มะม่วงถิ่นนี้มีออกมา อาจจะไปจ๊ะเอ๋กับเงาะและทุเรียน ทำให้ราคาลดต่ำลง รวมทั้งเป็นปลายฤดู คนกินเริ่มอยากลิ้มลองผลไม้อย่างอื่น

บางคล้าเป็นถิ่นที่น้ำกร่อยเข้าถึงโดยเฉพาะหน้าแล้ง ดินลักจืดลักเค็ม ผลไม้จึงมีรสชาติดี อย่างผลไม้แถบสมุทรปราการ สมุทรสงคราม เมื่อผลผลิตรสชาติดี คนซื้อจึงติดใจ ทุกปีจึงมีงานมะม่วงที่บางคล้า และงานมะม่วงแปดริ้ว เป็นการส่งเสริมการขายได้อย่างดียิ่ง

ขอแนะนำเพิ่มเติมนิดหนึ่ง ที่บางคล้านี่เอง เป็นแหล่งต้นกำเนิดของข้าวหอมมะลิ 105

ย้อนมาที่ตระกูลเจียรสุวรรณ คุณสาโรช ทายาทรุ่นที่ 2-3 ผู้สืบทอดงานสวนมะม่วงเล่าว่า ครอบครัวของตนเองทำมะม่วงมานาน งานปลูกมะม่วงที่บางคล้า หากไม่นับรวมการปลูกเป็นไม้ผลเศรษฐกิจ ท้องถิ่นบางคล้า มีปลูกมะม่วงมากว่า 100 ปีแล้ว

ส่วนการปลูกเป็นการค้าอย่างจริงจังทำกันมานานกว่า 50 ปี

"สมัยที่เรียนอยู่ ยามเลิกเรียนก็มาช่วยพ่อแม่ทำสวน ผมจบ ม.ศ.3 ก็มาทำสวนมะม่วงจริงจัง แปลงปลูกมะม่วงมีอยู่ที่บางคล้า ฉะเชิงเทราส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งขยายไปที่เกาะจันทร์ ชลบุรี รวมแล้วประมาณ 600 ไร่" คุณสาโรช แนะนำ

มะม่วงที่สร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอบางคล้า ตั้งแต่สมัยเก่าก่อนนั้น เห็นจะได้แก่ มะม่วงแรด ที่กินกับน้ำปลาหวานได้รสชาติดี ส่วนผลสุก ก็ได้รับอนุญาตจากญี่ปุ่น หากผ่านการอบฆ่าไข่แมลงวันผลไม้ ก็สามารถส่งไปจำหน่ายบ้านเขาได้

คุณสาโรชบอกว่า สายพันธุ์มะม่วงที่ปลูกสมัยตนเองเป็นเด็ก ได้แก่ พันธุ์ทองดำ แรด น้ำดอกไม้ ทะวายเดือนเก้า โดยทั่วไปแล้วมะม่วงจะออกดอกเดือนพฤศจิกายน ไปเก็บเกี่ยวได้ราวตรุษจีน แต่ก็มีบางสายพันธุ์ที่ปลูกแล้วให้ผลทั้งปีคือทะวายเดือนเก้า

วันเวลาล่วงเลยมาพอสมควร คุณสาโรชกลายเป็นหนุ่ม มีครอบครัว จนมีอายุมากขึ้น งานปลูกมะม่วงเปลี่ยนไปพอสมควร เริ่มจากสายพันธุ์ เจ้าทะวายเดือนเก้ายังอยู่ ส่วนน้ำดอกไม้และแรดหายไป ที่เข้ามาแทนที่คือน้ำดอกไม้สีทอง ฟ้าลั่นและเขียวเสวย เทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่นำมาใช้ คือการราดสารยับยั้งการเจริญเติบโต ทำให้มะม่วงออกดอกตามที่ต้องการ ผลผลิตจึงออกราวช่วงเดือนมกราคม ถือว่านอกฤดูหรือก่อนฤดูก็ได้ แต่ผู้ปลูกต้องดูแลเอาใจใส่พอสมควร ไม่อย่างนั้น อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จได้

คุณสาโรชบอกว่า มะม่วงที่ราดสาร ต้นอ่อนแอ แมลงทำลายต้นได้ง่าย มะม่วงแรดอยู่ในข่ายนี้ ปัจจุบันหามะม่วงแรดที่แปดริ้ว หาได้ยาก ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเป็นถิ่นเดิมของเขา



เทคโนโลยีการผลิต

ต้องชัดเจน


คุณสาโรชบอกว่า ปัจจุบันตนเองรู้ใจมะม่วงพอสมควร ซึ่งก็ยังไม่พอ ต้องหยั่งรู้ฟ้าดินด้วย นั่นหมายถึงรู้ว่าฝนตกวันสุดท้ายของปีเมื่อไหร่ หรือประมาณว่าฝนหยุดเดือนไหน

เขาแนะนำการผลิตมะม่วงว่า หลังจากที่เก็บผลผลิตจากเขาเต็มที่ ราวเดือนเมษายนแล้ว ให้ตัดแต่งกิ่ง อย่าให้ต้นแน่นทึบเกินไป จากนั้นใส่ปุ๋ยหมักที่มีส่วนผสมของขี้เป็ดและกากตะกอนอ้อย ส่วนนี้ซื้อจากชลบุรี ปีหนึ่งซื้อมาไม่น้อยกว่า 100 ตัน ปริมาณปุ๋ยหมักที่ใส่ให้ 2 กระป๋องที่ใช้หิ้วปูน

ราวปลายเดือนสิงหาคมจึงราดสาร วันที่ 1 ตุลาคม ฉีดพ่นสารเพื่อดึงดอก ราวปลายเดือนมะม่วงจึงผลิดอก เมื่อดอกบานไม่มีปัญหา กรณีการราดสารเร็วว่านี้ เมื่อดอกบาน แต่ฝนยังตกอยู่ จะประสบปัญหาดอกมีเชื้อรา ติดผลน้อย

"ราดสารเร็ว ดอกบานเจอฝน ต้องรักษาเชื้อราไม่คุ้ม" เจ้าของสวนบอก

เมื่อมะม่วงมีผลขนาดเท่าไข่ไก่ เจ้าของใส่ปุ๋ยให้ เป็นสูตร 14-14-21 เพิ่มความหวาน ช่วงที่ใส่ปุ๋ย หากฝนไม่ตก ต้องรดน้ำให้ เพื่อต้นไม้จะสามารถนำปุ๋ยไปใช้ได้

อย่างที่แนะนำไปแล้ว มะม่วงที่ราดสารจะเก็บผลผลิตได้ราวปีใหม่ ไปจนถึงเดือนเมษายน แต่การราดสารจะทำให้มะม่วงต้นโทรม โรคและแมลงทำลายได้ง่าย ดังนั้น จึงต้องบำรุงต้นให้ดี

ผลผลิตที่ได้นั้น มะม่วงในสภาพไร่ที่ชลบุรี คุณสาโรชบอกว่า ผลิตได้ปีละกว่า 100 ตัน ส่วนที่บางคล้าอาจจะไม่ถึง สนนราคาที่ขายมีหลายราคา อย่างเกรดที่ส่งต่างประเทศ เดือนมกราคม ขายได้กิโลกรัมละ 60 บาท แต่หากไม่ได้ส่งนอก และเลยเดือนมกราคมไปแล้ว ราคาอาจจะไม่ถึง 60 บาท

เรื่องรสชาติมะม่วง ผลผลิตที่ได้จากสภาพไร่ สู้มะม่วงที่ปลูกเขตที่ลุ่มไม่ได้ แต่สภาพไร่ผลโต แม่ค้าชอบ คุณสาโรชบอกว่า ผลผลิตสามารถปรุงแต่ง เพิ่มความหวานด้วยปุ๋ย

"เมื่อก่อนทำสวน มีร่องน้ำ ปริมาณน้ำมีมาก ใช้เรือขนผลผลิต ปัจจุบันน้ำแห้งเร็ว น้ำไม่มากนัก รูปแบบการปลูก จึงยกร่องให้กว้าง นำรถขับเข้าไประหว่างร่องเพื่อเก็บผลผลิต ผมว่ามะม่วงน่าทำอยู่ ทุกวันนี้ปลูกมะม่วงมีปัญหามาก ทำยากขึ้นทุกที แต่ก็ควรปลูก เพราะคนเลิกไปเยอะ มะม่วงสายพันธุ์หนึ่งที่น่าปลูกคือทะวายเดือนเก้า เพราะติดผลทั้งปี ปลูกระยะชิดไร่ละ 400 ต้น คลุมทรงพุ่มไม่ต้องสูง ทำแบบสวนครัว เก็บขายได้ตลอด" คุณสาโรช บอก

สำหรับแนวคิดคุณสาโรช ที่บอกว่า มะม่วงผลิตได้ยากขึ้นทุกวัน เป็นข้อมูลที่น่านำไปพิจารณา

ถือเป็นงานปลูกมะม่วงที่น่าสนใจ จากรุ่นบรรพบุรุษ สู่คนรุ่นใหม่

บ้านเราเป็นเมืองร้อน มะม่วงเหมาะกับเมืองร้อน เกษตรกรจะหันไปปลูกแอปเปิ้ลคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น มะม่วงเป็นไม้ผลที่เกษตรกรต้องปลูกต่อไป เพียงแต่ต้องปรับทัศนคติ เรียนรู้เทคโนโลยี จึงจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ อย่างคุณสาโรช เจียรสุวรรณ

เจ้าของสวนบอกว่ายินดีต้อนรับ รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่อยากรู้ ถามไถ่ได้ที่โทร. (089) 926-4688

ผู้สนใจงานผลิตมะม่วงของสวนนี้ หากไม่สะดวกเดินทางไปดูด้วยตนเอง ไปกับเสวนาเกษตรสัญจรได้ เราจะไปกัน 23 กุมภาพันธ์นี้ ดูรายละเอียดได้ที่หน้า 12
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ฉะเชิงเทรา
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 424
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM