เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
นฤดม พิสิษฐเกษม ผู้หลงเสน่ห์ปลาทะเล ลงทุน 100 ล้าน เพื่อสร้างฝันให้เป็นจริง
   
ปัญหา :
 
 
แต่ละคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ ส่วนใหญ่ย่อมมีความฝัน เมื่อครั้นเยาว์วัย เข้าสู่วัยเรียน ก็ฝันว่า จบแล้ว อยากยึดอาชีพเป็นหมอ พยาบาล วิศวกร ตำรวจ ทหาร นักการเมือง และนักข่าว เป็นต้น

ผมฝันว่า โตขึ้นอยากยึดอาชีพทำสวน เลี้ยงปลา และไก่ อยู่ตามชนบท แต่วันนี้ยังทำตามความฝันไม่ได้เลย เพราะว่าหลงเสน่ห์เมืองหลวงและอยู่ในแวดวงนักเขียนมานาน อย่างไรก็ตาม ลึกๆ ยังอยากกลับไปทำสวน ทำไร่ ที่ในชนบทบ้านเกิดเมืองนอน

หลายคนมีความฝัน แต่กลับทำไม่ได้เหมือนกับผม ส่งผลให้ความสุขที่ได้รับอยู่ครึ่งๆ กลางๆ มีแต่ความคิด แต่กลับทำไม่ได้ ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง

โธ่เอ่ย!...ชีวิตนี้ นอกจากเลือกเกิดไม่ได้แล้ว ยังไม่สามารถกำหนดอาชีพได้อีก มันน่าเจ็บใจตัวเองเป็นอย่างยิ่ง

อิจฉาคนที่ทำสำเร็จในสิ่งที่ฝันไว้ อย่างเช่น คุณนฤดม พิสิษฐเกษม เจ้าของฟาร์มปลาทะเล " PERCULA FARM" เลขที่ 4/14 หมู่ที่ 1 ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โทร. (081)313-6324 ในวัยเด็กคุณนฤดมฝันไว้ว่าอยากเพาะปลาการ์ตูนให้ประสบความสำเร็จ ด้วยว่าชอบเลี้ยงปลาสวยงาม และมองเห็นปลาที่เลี้ยงไว้มีไข่เต็มท้อง แต่ไม่สามารถฟักออกมาเป็นตัวได้

เก็บความสงสัยไว้ยาวนาน เพราะว่าไม่มีแหล่งที่ค้นคว้าได้ และยังไม่มีนักวิชาการคนไหนที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

กลายเป็นแรงผลักดันให้คุณนฤดมตั้งใจเรียนหนังสือ เพื่อเข้าสู่สถาบันการศึกษาด้านการประมง ไม่ผิดหวัง คุณนฤดมสามารถสอบเข้าเรียนได้ที่คณะวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา และหลังจากเรียนจบในเมืองไทย เขาก็ลัดฟ้าไปศึกษาลงลึกด้านพันธุกรรมศาสตร์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย

กลับมาเมืองไทย พกความรู้ด้านสัตว์น้ำมามากมาย หวังทำงานราชการด้านประมง เพื่อรับใช้แผ่นดินเกิด แต่ต้องผิดหวัง เพราะว่าเมื่อมาสัมผัสจริงๆ ไม่สามารถทำงานที่ตัวเองถนัดได้สะดวก จึงหันไปเปิดฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาทะเลเอง โดยเน้นเรื่องปลาการ์ตูนเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประชากรปลาชนิดนี้ให้มาก และพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลาย อีกทั้งต้องการส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านที่สนใจทั่วๆ ไป เนื่องจากปลาการ์ตูนเป็นปลาสวยงามที่มีตลาดกว้างมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

"เมื่อปี 2544 ผมลงทุนซื้อที่ดินติดทะเล 2 ไร่ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในราคา 20 ล้านบาท จากนั้นออกแบบก่อสร้างบ่อปูนซีเมนต์ และโรงเรือนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ พร้อมที่พัก โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ไปหาใหญ่ ขณะนี้ที่ฟาร์มเลี้ยงปลาทะเลของผมสมบูรณ์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้ว โดยใช้งบประมาณไปทั้งหมดเกือบ 100 ล้านบาท เลยทีเดียว"

ไม่เพียงสร้างฟาร์มเลี้ยงปลาบนพื้นที่ 2 ไร่ ดังกล่าวเท่านั้น แต่เขายังสร้างกระชังเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาทะเลทั่วๆ ไป อีก 10 กระชัง ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 500 เมตร อีกด้วย

ปัจจุบันนี้ ที่ฟาร์มของคุณนฤดมมีพ่อแม่พันธุ์ปลาการ์ตูนเกือบ 2,000 คู่ ซึ่งส่วนใหญ่เลี้ยงในตู้กระจก ขนาดน้ำ 25 ลิตร และมีลูกปลา รวมทั้งปลาขุนนับแสนๆ ตัว ที่เลี้ยงไว้ในบ่อปูนซีเมนต์เกือบ 30 บ่อ

นอกจากนี้ สถานที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งสะสมพันธุ์ปลาทะเลอยู่เกือบ 100 ชนิด อาทิ ปลาหมอทะเล ปลานกแก้ว ปลาฉลาม ปลาเก๋า ปลาโนรี ปลาดาว ปลาช่อนทะเล และปลาขี้ตัง เป็นต้น

จุดประสงค์ที่เลี้ยงปลาทะเลหลายชนิดนั้น ก็เพื่อศึกษาวิธีการเลี้ยงและการเพาะพันธุ์ ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาปลาสวยงามชนิดใหม่ และปลาเนื้อหรือปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ออกสู่ตลาดต่อไป

"ผมเกิดในครอบครัวนักธุรกิจ คุณปู่ คุณพ่อ เป็นเจ้าของโรงงานทำสังกะสี แถวๆ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำกำไรอยู่บ้าง แต่ไม่มาก เงินที่มาลงทุนเลี้ยงปลาทะเลส่วนใหญ่มาจากเงินกำไรจากการเล่นหุ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนั้นได้เงินมากเลย และบางครั้งเราก็เสียมากเหมือนกัน ทำให้เกิดความคิดว่าหากเรานำกำไรจากจุดนี้มาสร้างสิ่งที่เราชอบ ก็จะเกิดความสุขมากกว่าการเล่นหุ้น ในที่สุดเลือกเดินเส้นทางใหม่ หันมาทุ่มเทกับการเลี้ยงปลาทะเลอย่างเต็มที่เลยทีเดียว"คุณนฤดม กล่าว

พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

6 ปีเต็ม ที่คุณนฤดมทุ่มเททั้งเงินและกำลังกาย-ใจ จนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง กล่าวคือ สามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาการ์ตูนได้ทุกชนิด และพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นหนึ่งมิเป็นสองรองใคร อย่างไรก็ตาม สำหรับปลาทะเลชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ แต่การเลี้ยงนั้นปรากฏว่าได้ผลดี เพราะว่าปลาทุกชนิดที่เลี้ยงในฟาร์มทั้งบ่อปูนซีเมนต์และกระชัง สามารถปรับตัวได้ และเจริญเติบโตดี ซึ่งบางชนิดมีโอกาสที่เพาะขยายพันธุ์ได้สูง เพราะว่ามีน้ำเชื้อและไข่ แต่ต้องใช้ระยะเวลาศึกษาขั้นตอนผสมพันธุ์และการอนุบาลด้วย

ปัจจุบันนี้ ฟาร์มของคุณนฤดมไม่เพียงมีรายได้จากการขายลูกพันธุ์ปลาการ์ตูนให้กับผู้สนใจทั่วๆ ไป เท่านั้น แต่ยังมีรายได้จากนักท่องเที่ยวที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมด้วย โดยเฉลี่ย 1,000 คน ต่อเดือน

"นักท่องเที่ยวมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เดินทางมาจากทั่วโลก เพราะว่าผมได้ประชาสัมพันธ์ตามหนังสือหรือนิตยสารทั่วๆ ไป รวมทั้งทางเว็บไซต์ด้วย แต่ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ คือใครมาเที่ยวพัทยา หรือชายหาดแถวสัตหีบ ก็จะเลยมาเที่ยวที่นี่ นอกจากนี้ ยังมีชาวต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชมด้วย"

คุณนฤดมบอกว่า นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมนั้น ไม่เพียงได้ความเพลิดเพลินใจเท่านั้น แต่ยังได้ความรู้ติดตัวไปด้วย เพราะว่าจะมีรูปสัตว์น้ำ พร้อมบอกชื่อ ประเภท อาหาร วิธีการเลี้ยง การเพาะพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีพนักงานคอยบริการตอบคำถามให้ด้วย

"ผมว่าที่นี่มีประโยชน์มาก สำหรับเด็กๆ หรือผู้ริเริ่มอยากเลี้ยงสัตว์ทะเล โดยเฉพาะเรื่องปลาการ์ตูนนั้น เราสามารถทัศนศึกษาหรือเยี่ยมชมได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ การเลี้ยง การเพาะ และอนุบาล ตลอดทั้งการเลี้ยงขุนเป็นปลาใหญ่ ซึ่งสามารถเข้ามาศึกษา และนำกลับไปปฏิบัติได้เลย โดยไม่ต้องไปลองผิดลองถูกอยู่อีก"

ถามว่า ตอนนี้คุ้มค่ากับการลงทุนหรือยัง เขาตอบสวนกลับทันทีว่า "ในเรื่องเงินนั้น ไม่ต้องพูดถึง ผมไม่รู้เหมือนกันว่า ตายไปแล้วมันคืนทุนหรือเปล่า แต่ในแง่ความรู้ที่ทุกคนได้รับ โดยเฉพาะเด็กไทยนั้น ผมถือว่าคุ้มกับการลงทุนมาก คือเด็กๆ หรือผู้ใหญ่เข้ามาดูงานที่นี่แล้ว ก็กลับไปพัฒนาต่อยอดได้ พวกเขาสามารถสร้างความฝันให้เป็นความจริงได้ โดยไม่ต้องลงทุนเหมือนกับผม ที่ต้องตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรียนศึกษาจนจบปริญญาตรีทั้งในประเทศไทยและประเทศอเมริกา พร้อมกับลงทุนเปิดฟาร์มเอง เพื่อศึกษาโดยตรง ซึ่งผมชอบและพร้อมเดินไปข้างหน้าก่อน และเป็นผู้ให้ต่อไป" ปัจจุบันนี้ เขามีค่าใช้จ่ายประจำวันสำหรับซื้ออาหารให้ปลากิน ประมาณ 3,000 บาท และประจำเดือนค่าน้ำ ค่าไฟ อีก 40,000 บาท รวมทั้งแรงงาน 20 คน อีกสักประมาณ 200,000 บาท ด้วย

"พูดกันตรงๆ ว่า ขณะนี้รายจ่ายกับรายรับยังไม่สมดุลกันเลย คือมีรายจ่ายมากกว่า อย่างไรก็ตาม คิดว่าอีกไม่นานน่าจะมีรายได้เข้ามามากขึ้น เพราะว่าเริ่มมีผู้คนรู้จัก และมีนักท่องเที่ยวเพิ่มตลอด อีกทั้งตลาดปลาการ์ตูนก็เปิดกว้างขึ้น"คุณนฤดม กล่าว

ปลาการ์ตูนขยายพันธุ์ได้ง่าย

ดังที่บอกแล้วว่า ฟาร์มแห่งนี้ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาการเพาะขยายพันธุ์ปลาการ์ตูนเป็นหลัก และก็ประสบความสำเร็จ สามารถผลิตลูกปลาได้ทุกชนิด และปริมาณค่อนข้างเยอะ เนื่องจากมีพ่อแม่พันธุ์เกือบ 2,000 คู่

การศึกษาช่วงแรกเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เกือบทุกชนิด แต่ที่ประสบความสำเร็จคู่แรกคือ พันธุ์ PERCULA ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งชื่อฟาร์มว่า "PERCULA FARM"

"ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนของเอกชนนั้น ตอนนี้ในเมืองไทยมีอยู่ประมาณ 20 แห่ง แต่ที่ใหญ่และมีพันธุ์ปลามากก็คือ ของผมนี่เอง ส่วนของภาครัฐที่ดำเนินการโดยกรมประมง ก็มีอยู่หลายแห่งเหมือนกัน แต่มีปริมาณน้อย ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่คู่แข่ง เพราะว่าปลาชนิดนี้ตลาดต่างประเทศมีความต้องการเยอะมาก ปัญหาตอนนี้เราทำอย่างไรให้มีการส่งออกได้ เหมือนปลาสวยงามชนิดอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้ต้องช่วยผลักดันกันหลายฝ่าย เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมองเห็นความสำคัญ"

"เมื่อก่อนมีการมองกันว่า การเลี้ยงปลาการ์ตูนเป็นปลาสวยงามนั้น ต้องจับจากธรรมชาติอย่างเดียว ซึ่งเป็นการทำลาย แต่เดี๋ยวนี้เราเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องจับจากธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มผู้นิยมเลี้ยงปลาทะเลลักลอบบ้าง แต่ก็มีน้อย ค่อยๆ แก้ปัญหา และมาช่วยกันผลักดันให้ปลาชนิดนี้มาทำรายได้เข้าประเทศกันเถอะ"คุณนฤดม กล่าว

คุณนฤดมบอกว่า ปัจจุบันปลาการ์ตูนนี้ การผสมพันธุ์และการอนุบาล รวมทั้งการเลี้ยง ไม่ใช่เป็นเรื่องซ้ำซ้อนหรือยุ่งยาก ซึ่งที่ฟาร์มไม่ได้ใช้เทคโนโลยีหรือเทคนิคพิเศษอะไรเลย เพียงแต่เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในตู้กระจก และนำมาวางในโรงเรือนปิด ทั้งนี้เพื่อควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินไป

ภายในตู้กระจกจะมีเศษแผ่นกระเบื้องวางไว้ด้วย เพื่อให้แม่พันธุ์ปลาวางไข่ นอกจากนี้ ยังมีท่อออกซิเจนที่ต่อพ่วงไว้ในภาชนะกรองน้ำ ซึ่งคุณนฤดมบอกว่า พ่อแม่ปลาที่เลี้ยงไว้ในตู้กระจกนั้น เราจะไม่ดูแลอะไรมากนัก เพียงแต่ให้อาหาร และคอยเติมน้ำส่วนที่ระเหยออกไปเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่นิยมเปลี่ยนถ่ายน้ำ ยกเว้นน้ำในตู้สกปรกเกินไป

พ่อแม่พันธุ์ปลาการ์ตูนที่เลี้ยงไว้ในตู้ เมื่อมีอายุได้ประมาณ 1 ปีเศษ ก็เริ่มผสมพันธุ์ออกไข่แล้ว และจะวางไข่ตลอด โดยเฉลี่ย 3 ครั้ง ต่อ 2 เดือน

คุณนฤดมจะปล่อยให้พ่อแม่ปลาดูแลไข่ 7 วัน จากนั้นก็นำมาฟักที่รองปูนซีเมนต์หรือตู้กระจกใบอื่น หลังจากไข่ฟักออกเป็นตัว 12 ชั่วโมง ซึ่งคุณนฤดมจะปล่อยโรติเฟอร์ลงไป ทั้งนี้เพื่อให้ลูกปลากินเป็นอาหาร

5 วัน ผ่านไป ลูกปลาก็เจริญเติบโตขึ้น เขาเปลี่ยนอาหารจากโรติเฟอร์ เป็นลูกอาร์ทีเมีย และทุกๆ 3 วัน จะเปลี่ยนถ่ายน้ำออกทิ้ง 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อรักษาสภาพน้ำให้มีคุณภาพอยู่ตลอด

"ไข่ที่ฟักออกเป็นตัวแต่ละรุ่นนั้น ประมาณ 300-400 ตัว และลูกปลาวัยอ่อนพวกนี้ต้องดูแลเป็นพิเศษ ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้เสียหายมากได้ ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ เราคอยดูทั้งเรื่องน้ำและอาหารอยู่ตลอด"คุณนฤดม กล่าว

เมื่อลูกปลาอายุได้ 1 เดือน แต่ละตัวจะแข็งแรงและว่ายน้ำได้เก่ง เขาจึงนำมาเลี้ยงในพื้นที่ที่กว้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ่อปูนซีเมนต์ พร้อมกับเปลี่ยนสูตรอาหารใหม่

"อาหารเม็ดสำเร็จรูปที่ใช้อนุบาลลูกกบนั้น ผมทดลองนำมาใช้เป็นอาหารลูกปลาการ์ตูน ปรากฏว่าได้ผลดี ปลาโตเร็ว และชอบด้วย ดังนั้น ลูกปลาเกือบทุกรุ่น ผมใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คิดว่าอาหารชนิดไหนก็ได้ ที่มีปริมาณโปรตีนสูงกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป ก็สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด"

คุณนฤดมจะปล่อยให้ลูกปลาเจริญเติบโตในบ่อดังกล่าวไป 8-9 เดือน ก็คัดเลือกตัวสวยๆ ทั้งสีสันและรูปร่าง มาเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์รุ่นต่อไป

"ตอนนี้ผมสามารถทำได้ เอฟ 5 หรือ รุ่นที่ 5 แล้ว ดังนั้น ลูกปลาที่ได้จากเพาะขยายพันธุ์นี้ทุกตัวสามารถปรับตัวเข้าบ่อเลี้ยงหรือตู้กระจกขนาดเล็กๆ ได้ และโอกาสที่จะตายหรือเสียชีวิตระหว่างเลี้ยงค่อนข้างมีน้อย ซึ่งตรงกันข้ามกับปลาการ์ตูนที่มาจากธรรมชาติหรือท้องทะเลโดยตรง พวกนี้ยังปรับสภาพตัวเองไม่ได้ หากเลี้ยงไม่ดีก็จะตายทันที ไม่เหมาะกับมือใหม่ๆ ที่หัดเลี้ยงปลาการ์ตูน"คุณนฤดม กล่าว

วันนี้ที่ฟาร์มเลี้ยงปลาของคุณนฤดมเปิดให้ทุกคนที่สนใจเข้าเยี่ยมชม และสอบถามความรู้ได้ทุกเรื่อง โดยเงินค่าผ่านประตูเพียง 50 บาท สำหรับผู้ใหญ่ และเด็กเพียง 20 บาท เท่านั้นเอง

เขาลงทุนเกือบ 100 ล้านบาท เราผู้เยี่ยมชมใช้เงินเพียงเล็กน้อย ไม่เพียงได้ความเพลิดเพลินเท่านั้น แต่ยังได้รับความรู้กลับมาด้วย นับว่าคุ้มค่า และนำสิ่งที่พบเห็นมาต่อยอด ก็ได้ประโยชน์อย่างมหาศาล

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ชลบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออก
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 424
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM