เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ลำไยพวงทอง ลำไยดีอีกพันธุ์สำหรับผู้ที่ชอบปลูกลำไย ศิริ เกตุแก้ว ปลูกทำเงินอยู่ที่สมุทรสาคร
   
ปัญหา :
 
 
ลำไย ผลไม้ยอดฮิตที่นิยมบริโภคกันทั่วไป แถมเป็นผลไม้ส่งออกต่างประเทศนำเงินตราเข้าประเทศแต่ละปี มูลค่านับร้อยล้านบาท

สมัยก่อนเราจะได้บริโภคผลลำไยกันในช่วงฤดูกาลเท่านั้น คือราวเดือน 8-9-10 ของทุกปี และแหล่งผลิตลำไยจะต้องเป็นภาคเหนือเท่านั้น ภาคอื่นๆ ผลิตลำไยได้ แต่ก็ไม่ดี สู้ภาคเหนือแถวเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ไม่ได้ มาระยะหลังมีการนำสารโพแทสเซียมคลอเรตมาใช้กับลำไย ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศสามารถผลิตลำไยให้ติดผลตามที่ต้องการได้ ลำไยจึงมีการปลูกกันทั่วประเทศจวบจนทุกวันนี้

พันธุ์ลำไยที่ได้รับความนิยมและเป็นสายพันธุ์ที่ต่างประเทศต้องการ คือสายพันธุ์ "ดอ" หรือ "อีดอ" จัดว่าเป็นสายพันธุ์มาตรฐานที่นิยมปลูกกันทั่วประเทศ

สำหรับสายพันธุ์อื่นที่มีคุณภาพไม่ต่างจากสายพันธุ์อีดอก็มีอยู่หลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ "พวงทอง" แม้จะไม่โด่งดังเหมือนกับสายพันธุ์เก่าแก่ เช่น สีชมพูก็ตาม แต่ในเรื่องของคุณภาพ รสชาติ ขนาดผล ตลอดจนผลผลิตแล้ว เยี่ยมยอดไม่น้อย

ลำไยสายพันธุ์พวงทองนั้นเกิดจากการกลายพันธุ์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการกลายพันธุ์ของเมล็ดพันธุ์อีดอได้ต้นใหม่ออกมา ผลผลิตและคุณภาพมีลักษณะเด่นจากต้นแม่พันธุ์ ถือกำเนิดออกมา 10 กว่าปีแล้ว ปัจจุบันสายพันธุ์นี้แพร่ขยายออกไปทั่วประเทศ

ลักษณะผลของลำไยพวงทองจะคล้ายกับพันธุ์อีดอมาก ถ้าไม่ใช่เกษตรกรเจ้าของพันธุ์แล้วแทบจะแยกไม่ออกเลยว่าผลไหนเป็นสายพันธุ์อะไรหากนำมาเปรียบเทียบวางคู่กันแล้ว แต่ถ้าผู้รู้จะดูออกบอกว่า รูปทรงผลของลำไยพวงทองออกเบี้ยวไม่กลมเหมือนพันธุ์อีดอ สีของเปลือกดูออกนวล เปลือกจะหนากว่าพันธุ์อีดอ ส่วนขนาดความใหญ่ของผลไม่ต่างกันเท่าไรนัก

คุณศิริ เกตุแก้ว เกษตรกร วัย 70 ปี อยู่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลคลองตัน อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ปลูกลำไยพวงทองมากว่า 10 ปี ในพื้นที่ประมาณ 70 ไร่

คุณศิริ บอกว่า เมื่อแรกเริ่มปลูกลำไยสายพันธุ์นี้ ไปได้พันธุ์มาจากสวนของเสี่ยบั๊ก ที่จังหวัดกำแพงเพชร เอากิ่งพันธุ์มาปลูก 300 ต้น เดิมทีที่สวนปลูกมะนาว มะม่วง มาก่อน พอได้ลำไยพันธุ์ใหม่มาก็โค่นมะนาว มะม่วงทิ้ง หันมาปลูกลำไยจริงๆ จังๆ

จากนั้นก็ค่อยๆ ขยายพันธุ์เอากิ่งลงปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มพื้นที่ จนปัจจุบันมีลำไยประมาณ 2,000-3,000 ต้น

คุณศิริ บอกว่า การปลูกลำไยที่สวนเป็นการปลูกระบบยกร่อง จะต่างจากการปลูกลำไยทางภาคเหนือที่ปลูกแบบระบบพื้นราบ ระยะปลูกก็จะปลูกถี่กว่าทางเหนือ คือใช้ระยะห่าง 6 เมตร ทางเหนือปลูกห่าง ประมาณ 8 เมตร เมื่อได้กิ่งพันธุ์มาใหม่ๆ ก็ไม่ได้ทำอะไรมาก เพียงแค่ปรับพื้นที่ให้เรียบเท่านั้น จากนั้นก็ตีหลุมกว้าง 1 เมตร ลึกพอสมควร เอาดินก้นหลุมขึ้นมาตากแล้วตีให้ร่วน นำกิ่งพันธุ์ลงปลูกกลบดินโคนต้นให้แน่น รดน้ำพอชุ่ม ปลูกใหม่ๆ ยังไม่ต้องให้ปุ๋ยอะไรทั้งสิ้น

หลังปลูกรดน้ำสม่ำเสมอ ปล่อยให้ต้นกล้าเจริญเติบโตเอง พอเห็นว่าต้นกล้าแตกใบอ่อนออกมาประมาณ 2-3 ใบ คราวนี้ถึงจะใส่ปุ๋ยได้ ให้ปุ๋ยขี้วัวนำร่องก่อน แล้วใส่ปุ๋ยสูตรเสมอบ้างเล็กน้อย ไม่ต้องมาก พอแค่ให้รากได้ธาตุอาหารครบถ้วน

ลำไยจะเจริญเติบโตเร็วมาก เข้าปีที่ 2 ก็เริ่มติดลูก แต่ก็ยังไม่มากเท่าไหร่ ปล่อยให้ติดผลตามธรรมชาติ รดน้ำใส่ปุ๋ยสม่ำเสมอ ให้ปุ๋ยคอกบ้าง ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอบ้างช่วงต้นฝนปลายฝนให้ต้นสมบูรณ์ที่สุด

พอย่างเข้าปีที่ 3 คราวนี้เกษตรกรต้องบำรุงต้นให้เต็มที่ ก่อนที่จะเริ่มราดสารโพแทสเซียมคลอเรต 1 เดือน

ควรให้ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 บำรุงต้นรดน้ำสม่ำเสมอ 3-5 วันครั้ง พอเห็นว่าต้นสมบูรณ์ใบเขียวเข้มเป็นมันดีแล้ว ก็ให้ราดสารโพแทสเซียมคลอเรตได้เลย โดยใช้อัตราส่วนสารโพแทสเซียม 2 ขีดครึ่ง ต่อน้ำไม่เกิน 5 ลิตร ราดรอบทรงพุ่ม อัตราส่วนนี้ใช้ต่อต้น หลังราดสารอย่าเพิ่งรดน้ำ ให้ไปรดน้ำในวันรุ่งขึ้น พอวันถัดไปให้หยุดน้ำและไปให้น้ำวันต่อไป เท่ากับให้น้ำวันเว้นวันไป 3 ครั้ง ประมาณ 1 สัปดาห์ จึงให้น้ำตามปกติได้ คือ 4-5 วัน ให้น้ำครั้งหนึ่ง ดูที่ดินด้วย หากดินแฉะมากก็งดให้น้ำบ้าง ลำไยชอบดินชื้น

ราดสารนับไป 28 วัน ต้นจะแทงช่อดอกออกมาให้เห็น คราวนี้เกษตรกรต้องบำรุงช่อดอกกันอย่างดี เป็นช่วงสำคัญอีกช่วงหนึ่ง ให้ฉีดยาป้องกันหนอน ป้องกันเชื้อรา ขณะเดียวกันก็เสริมฮอร์โมนบ้าง ฉีดยา 3 เที่ยว แต่ละเที่ยวเว้นห่าง 1 สัปดาห์ ถึงตอนนี้ดอกจะบานแล้วให้หยุดยาโดยสิ้นเชิง รอไปจนกว่าดอกจะโรยติดเมล็ดเล็กๆ ให้เห็น เมื่อดอกเปลี่ยนเป็นผลเล็กๆ ให้ฉีดยาป้องกันเชื้อรา หนอน รวมไปกับฮอร์โมน แคลเซียม โบรอน ฉีด 3 เที่ยว ห่าง 1 สัปดาห์ ฉีด 1 ครั้ง ทางดินให้ใส่ปุ๋ยสูตร 17-17-17 ประมาณ 2 ครั้ง หลังติดผลไปจนเก็บผล

ก่อนเก็บผล 1 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อีกครั้ง เป็นอันว่าใช้ได้

เมื่อผลมีขนาดผลเท่ามะเขือพวง ฉีดยาป้องกันเพลี้ยแป้ง ป้องกันเชื้อรา คุณศิริบอกว่า ที่สวนไม่มีปัญหาเรื่องหนอน อีกทั้งค้างคาวก็ไม่มีปัญหา เหตุเพราะว่าลำไยพวงทองนี้ไม่มีกลิ่นหอมจากเนื้อออกมา อีกทั้งเปลือกก็แข็งหนา ต่างจากลำไยอีดอ หรือพันธุ์อื่นๆ ที่ตอนผลใหญ่มักจะส่งกลิ่นหอมออกมาด้วย ตรงนี้เป็นสิ่งเย้ายวนให้ค้างคาวและแมลงที่ชอบกลิ่นหอมหวานมากัดกิน ปัญหาที่เกิดมักจะเจอเพลี้ยแป้งเสียมากกว่า ต้องฉีดยาป้องกันบ้าง

ขณะที่ผลลำไยค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น เกษตรกรต้องคอยหาไม้ไผ่ลำใหญ่ๆ ค้ำกิ่งลำไยด้วย ไม่เช่นนั้นกิ่งจะฉีกขาดเนื่องจากทานน้ำหนักของผลที่ติดดกไม่ได้ ลำไยต้นหนึ่งติดผลกว่า 100 กิโลกรัม ถ้าเป็นต้นหนุ่มสาวก็ราว 50 กิโลกรัมขึ้น

ลักษณะผลของลำไยพวงทอง รูปทรงผลจะค่อนข้างเบี้ยว เนื้อหนา กรอบหวาน เมล็ดเล็ก คุณสมบัติพิเศษคือ หลังจากเก็บออกมาจากต้น จะอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์กว่าจะแห้ง ต่างจากพันธุ์อีดอที่เปลือกจะแห้งคล้ำเร็วราว 3-4 วัน ก็แห้งแล้ว สีผลของลำไยพวงทองจะออกนวลกว่าพันธุ์อีดอ

หลังจากเก็บผล คุณศิริบอกว่า ก็นำมาคัดผลตามขนาดก่อนบรรจุลงลังส่งขายตลาดนครปฐม และตลาดศรีเมือง ราชบุรี จะมีพ่อค้ามารับซื้อนำส่งต่างประเทศอีกทีหนึ่ง ส่งไปฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมาก

เมื่อเก็บผลหมดก็ต้องตัดแต่งกิ่ง เอากิ่งที่ไม่ดีออกให้หมด ตัดแต่งในทรงพุ่มให้โปร่ง จากนั้นก็บำรุงต้นโดยการใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ตามด้วยปุ๋ยสูตรเสมอ บำรุงต้นให้สมบูรณ์เต็มที่ เพื่อการติดผลในชุดต่อๆ ไป

คุณศิริกล่าวว่า ลำไยที่สวนจะกำหนดเก็บเดือนมกราคม ฉะนั้น จะตั้งต้นราดสารราวเดือนเมษายน ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ บำรุงต้นให้เต็มที่ ใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 เดือนมีนาคม ใส่ปุ๋ย 9-24-24 พอกลางเดือนเมษายนก็ราดสาร ลำไยใช้เวลา 6 เดือนครึ่งหลังติดดอกสามารถเก็บผลผลิตได้

"ที่สวนผมจะทยอยราดสาร เพื่อให้มีลำไยเก็บได้ต่อเนื่อง ไปจนสุดเดือนเมษายน"

คุณศิริกล่าวและว่า ผลผลิตลำไยแต่ละรุ่นได้ผลผลิตลำไยเป็นพันๆ ตัน นับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว ใครเข้ามาซื้อถ้ามีผลก็ขายทั้งนั้น ไม่มีพันธะผูกพันอะไรกันมากมายนัก หรือท่านที่สนใจจะได้กิ่งพันธุ์ จะไปชมสวนก็เชิญ ว่างๆ ไปเดินในสวนด้วยกันก็ได้ แม้จะอายุมาก แต่คุณศิริสุขภาพร่างกายยังแข็งแรง เตะปี๊บดัง และไปไกลกว่าหนุ่มๆ ซะอีก

สนใจโทร.คุยกันที่ โทร. (034) 853-276 โทร.ช่วงเย็นๆ หรือกลางคืนจะสะดวกกว่า คุยกันเรื่องลำไยได้ แต่ถ้าจะให้ไปคุยกับ "คุณลำไย" หรือ "น้องลำไย" แม้จะเตะปี๊บดัง อายุ 70 กว่าคุณศิริบอกว่า "... ม่ายไหวเลี้ยว..."

...ฮิ ฮิ...สวัสดี
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
สมุทรสาคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 430
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM