เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น (Caulerpa lentillifera J. Agardh) ในถังไฟเบอร์กลาส
   
ปัญหา :
 
 
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเลี้ยงกุ้งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งในการเลี้ยงกุ้งมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นตามมามากมาย เช่น มีการปล่อยน้ำทิ้งภายหลังจากการเลี้ยง ซึ่งหากไม่ได้รับการบำบัดก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางน้ำได้

สำหรับสาหร่ายพวงองุ่น (Caulerpa lentillifera) ซึ่งเป็นสาหร่ายทะเลชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายพวงองุ่น จึงเรียกสาหร่ายชนิดนี้ว่า sea grapes หรือ green caviar สามารถนำมาใช้ในการบำบัดน้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้งได้โดยการลดปริมาณสารอาหารที่มีในน้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้งก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งภายหลังจากการบำบัดน้ำพบว่า สาหร่ายสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และในประเทศไทยเองได้มีการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อบำบัดและปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

แต่เนื่องจากผลผลิตในธรรมชาติยังไม่เพียงพอ เกษตรกรจึงจำเป็นต้องสร้างแหล่งพันธุ์ของสาหร่ายให้มีปริมาณเพียงพอ ดังนั้น สาหร่ายพวงองุ่นจึงเป็นสาหร่ายทะเลอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการนำมาเลี้ยงเพื่อการสร้างแหล่งพันธุ์ให้มีปริมาณเพียงพอเพื่อใช้ประโยชน์ในการลดปริมาณสารอาหารในน้ำทิ้งจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะน้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้งก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ นอกจากบำบัดน้ำทิ้งแล้ว บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของประเทศไทยก็มีการบริโภคสาหร่ายชนิดนี้มาเป็นเวลานาน ดังนั้น การพัฒนาการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นจึงจำเป็นต้องทราบข้อมูลพื้นฐานในหลายๆ ด้าน เช่น อัตราการเจริญเติบโตของสาหร่าย รวมถึงปัจจัยสภาพแวดล้อมและคุณภาพน้ำที่ใช้เลี้ยงที่มีผลต่อการเจริญเติบโต ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเลี้ยงเพื่อสร้างแหล่งพันธุ์ของสาหร่าย และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสาหร่ายชนิดนี้ในประเทศไทยต่อไป

งานเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งฉะเชิงเทรา ตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จากเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกันยายน 2548 โดยเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในถังไฟเบอร์กลาสทรงกลม ขนาดความจุน้ำประมาณ 1,000 ลิตร มีการเลี้ยงสาหร่ายโดยใช้น้ำทะเลธรรมชาติ และเลี้ยงโดยใช้น้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้งทะเล ในอัตราส่วนที่ขึ้นกับความเค็มของน้ำทะเลที่ใช้ในแต่ละครั้ง โดยเลี้ยงสาหร่ายเพื่อหาอัตราการเจริญเติบโตในตะกร้าพลาสติคทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 เซนติเมตร แต่ละใบใส่สาหร่ายน้ำหนักเริ่มต้น 100 กรัม พร้อมด้วยก้อนหิน ขนาดจำนวน 3-4 ก้อน เพื่อให้เป็นที่ยึดเกาะของสาหร่ายที่เลี้ยง แขวนตะกร้าพลาสติคไว้กับไม้ไผ่ซึ่งวางพาดกับขอบของถังไฟเบอร์กลาส ตะกร้าพลาสติคอยู่ต่ำจากระดับผิวน้ำ ประมาณ 15-30 เซนติเมตร ชั่งน้ำหนักสาหร่ายในตะกร้าพลาสติคทุก 10 วัน เพื่อตรวจวัดอัตราการเจริญเติบโต จากนั้นชั่งน้ำหนักสาหร่ายกลับให้ได้ใกล้เคียงกับน้ำหนักเริ่มต้นเลี้ยง (ประมาณ 100 กรัม) และนำใส่กลับลงในตะกร้าเดิม แล้วนำลงเลี้ยงในถังไฟเบอร์กลาสต่อไป ในระหว่างการเลี้ยงมีการให้อากาศด้วยหัวทรายขนาดใหญ่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังควบคุมความเค็มของน้ำที่ใช้เลี้ยงสาหร่ายโดยใช้น้ำบาดาลและน้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้งทะเลผสมในน้ำทะเลธรรมชาติให้มีความเค็มอยู่ในช่วงประมาณ 30 ส่วน ในพัน (เนื่องจากที่ความเค็มนี้เหมาะสมในการเจริญเติบโตของสาหร่ายพวงองุ่น) เปลี่ยนถ่ายน้ำในปริมาตร 1 ใน 2 ส่วน ของน้ำที่เลี้ยง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ตรวจวัดอุณหภูมิ ความเค็ม ก่อนและหลังเปลี่ยนน้ำทุกครั้ง เก็บตัวอย่างน้ำเพื่อนำไปวิเคราะห์คุณภาพน้ำทางเคมี (ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) ความเป็นกรดด่าง (pH) แอมโมเนีย ไนไตรต์ ไนเตรต ออร์โทฟอสเฟต และความเป็นด่างของน้ำ)

ผลการเลี้ยงพบว่า สาหร่ายพวงองุ่นที่เลี้ยงในถังไฟเบอร์กลาสมีอัตราการเจริญเติบโตขึ้นกับความเข้มข้นของสารอาหารในน้ำ ความเค็มของน้ำที่ใช้เลี้ยงสาหร่าย อิพิไฟต์หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ขึ้นปกคลุมบนทัลลัส (thallus หมายถึง ต้นของสาหร่ายที่ประกอบด้วยส่วนที่คล้ายราก ลำต้น และใบ) และฤดูกาลการเลี้ยงสาหร่าย สำหรับการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในถังไฟเบอร์กลาสโดยใช้น้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้งทะเลมีการเจริญเติบโตสูงกว่าสาหร่ายพวงองุ่นที่เลี้ยงในน้ำทะเลธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ความเค็มของน้ำในถังไฟเบอร์กลาสที่ลดลงอย่างรวดเร็วมีผลต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายและส่งผลให้สาหร่ายตายลงอย่างฉับพลัน นอกจากนี้ ความเข้มแสงต่ำและระดับสารอาหารยังมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายเช่นเดียวกัน

การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในถังไฟเบอร์กลาสในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคม สาหร่ายมีอัตราการเจริญเติบโตลดลงเนื่องจากมีสาหร่ายสีเขียวบางชนิดเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น สาหร่ายไส้ไก่เกาะที่ตะกร้าพลาสติคและเชือกที่ใช้เลี้ยงสาหร่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งสาหร่ายสีเขียวชนิดดังกล่าวแย่งสารอาหารในน้ำที่ใช้สำหรับการเจริญเติบโตของสาหร่ายพวงองุ่น ส่งผลให้สารอาหารในน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายพวงองุ่น จึงมีการเพิ่มสัดส่วนการเปลี่ยนถ่ายน้ำที่เลี้ยงสาหร่ายให้มากขึ้น จาก 1 ใน 2 ส่วน เป็น 3 ใน 4 ส่วน ของน้ำที่ใช้เลี้ยงสาหร่าย เพื่อเป็นการเพิ่มสารอาหารในน้ำให้แก่สาหร่าย และมีการกำจัดสาหร่ายสีเขียวชนิดดังกล่าวออกจากตะกร้าพลาสติคและเชือก โดยการทำความสะอาดทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ มีหนอนแดงปกคลุมบนทัลลัสของสาหร่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุในการขัดขวางการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายพวงองุ่น จึงทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตลดลง ได้มีการแก้ไขโดยการเขย่าตะกร้าพลาสติคที่ใช้เลี้ยงสาหร่ายเบาๆ ทุก 2 วัน ส่งผลให้ปริมาณหนอนแดงลดลง สาหร่ายจึงสามารถเพิ่มพื้นที่สังเคราะห์แสงเพื่อการเจริญเติบโตได้มากขึ้น ส่งผลให้ในเดือนต่อมาสาหร่ายมีแนวโน้มของอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น การเจริญเติบโตของสาหร่ายพวงองุ่นที่เลี้ยงในถังไฟเบอร์กลาสอาจเกี่ยวข้องกับความยาวนานของแสงแดดที่สาหร่ายได้รับ พบว่าช่วงที่สาหร่ายพวงองุ่นมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมเป็นช่วงเดียวกับที่สาหร่ายได้รับความยาวนานของแสงแดดมาก เนื่องจากสาหร่ายพวงองุ่นมีความไวต่อแสง สาหร่ายจะถูกยับยั้งการเจริญเติบโตเมื่อได้รับแสงมาก จึงส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสาหร่าย ทำให้สาหร่ายมีอัตราการเจริญเติบโตลดลง ส่วนในเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม อัตราการเจริญเติบโตของสาหร่ายลดลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูฝน ฝนตกหนักมาก เป็นเหตุให้น้ำที่ใช้เลี้ยงสาหร่ายในถังไฟเบอร์กลาสมีความเค็มลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทัลลัสมีลักษณะนิ่มและเริ่มตาย อัตราการเจริญเติบโตจึงลดลง ซึ่งความเค็มของน้ำที่ใช้เลี้ยงสาหร่ายเกี่ยวข้องกับกระบวนการออสโมซิสของสาหร่ายโดยตรง เมื่อน้ำมีความเค็มลดลงมาก กระบวนการออสโมซิสสูงขึ้น ทำให้สาหร่ายต้องใช้พลังงานในการควบคุมสมดุลของน้ำภายในเซลล์ ส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตของสาหร่าย และจากการที่ความเค็มของน้ำในถังไฟเบอร์กลาสลดลงมากเพราะถูกเจือจางด้วยน้ำฝน ทำให้ค่าความเป็นด่างลดลงด้วย ซึ่งค่าความเป็นด่างเป็นปัจจัยที่ช่วยควบคุมไม่ให้น้ำมีการเปลี่ยนแปลงค่า pH รวดเร็วเกินไป ถ้าค่าความเป็นด่างต่ำทำให้ความสามารถของน้ำที่จะป้องกันไม่ให้ pH ของน้ำเปลี่ยนแปลงต่ำ ซึ่งจะทำให้ค่า pH ของน้ำเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว และก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ

ด้านปัจจัยแวดล้อมและคุณภาพน้ำที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายพวงองุ่นที่เลี้ยงในถังไฟเบอร์กลาสมีดังนี้ คุณภาพน้ำทางกายภาพของน้ำที่ใช้เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นพบว่า อุณหภูมิของน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงสาหร่ายมีค่าอยู่ในช่วง 25.0-33.0 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิของอากาศบริเวณที่เลี้ยงสาหร่าย อยู่ในช่วง 25.0-34.0 องศาเซลเซียส สำหรับคุณภาพน้ำทางเคมีของน้ำที่ใช้เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในถังไฟเบอร์กลาส พบว่าความเค็มมีค่าอยู่ในช่วง 21.0-33.0 ส่วน ในพัน ส่วนค่า pH มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วง 7.9-8.4 สำหรับค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) มีค่าอยู่ในช่วง 2.73-8.25 มิลลิกรัม ต่อลิตร ซึ่งปัจจัยแวดล้อมและคุณภาพน้ำมีผลต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายพวงองุ่นที่เลี้ยงในถังไฟเบอร์กลาส โดยพบว่า สาหร่ายมีอัตราการเจริญเติบโตสูงขึ้นในเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ความเข้มข้นของสารอาหาร (แอมโมเนีย ไนไตรต์ ไนเตรต และออร์โทฟอสเฟต) ในน้ำใช้เลี้ยงสาหร่ายมีปริมาณค่อนข้างสูง สาหร่ายจึงสามารถดึงสารอาหารต่างๆ ดังกล่าว เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต นอกจากนี้ ค่าปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) ในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมมีค่าค่อนข้างสูง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราการเจริญเติบโตของสาหร่ายสูงขึ้น เนื่องจากสาหร่ายต้องการใช้ออกซิเจนในการหายใจเพื่อการเจริญเติบโต

สำหรับลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏของสาหร่ายพวงองุ่นที่เลี้ยงในถังไฟเบอร์กลาสโดยใช้น้ำทะเลธรรมชาติ จะเห็นสโตลอน (stolon) มีขนาดเล็กยืดยาว มีสีซีดเหลือง จำนวนรามูลัส (ส่วนที่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงมีลักษณะคล้ายใบ) มีน้อย และมีขนาดเล็ก บางครั้งไม่มีรามูลัส ไรซอยด์ (ส่วนที่ทำหน้าที่ยึดเกาะมีลักษณะคล้ายราก) มีเป็นจำนวนน้อย เห็นเป็นเส้นสั้นๆ อาจเนื่องจากได้รับสารอาหารในน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต ส่วนสาหร่ายพวงองุ่นที่เลี้ยงในถังไฟเบอร์กลาสโดยใช้น้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้งทะเล ลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏจะเห็นทัลลัสเป็นสีเขียวใส ปลายทัลลัสยืดยาว รามูลัสค่อนข้างถี่ ไรซอยด์มีเป็นจำนวนมากและแตกแขนงเป็นเส้นยาว เนื่องจากในน้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้งทะเลมีสารอาหารที่เพียงพอและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสาหร่าย ดังจะเห็นได้จากสาหร่ายที่เลี้ยงในน้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้งทะเลมีอัตราการเจริญเติบโตสูงกว่าสาหร่ายที่เลี้ยงในน้ำทะเลธรรมชาติ และให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในถังไฟเบอร์กลาสพบว่า อัตราการเจริญเติบโตของสาหร่ายที่เลี้ยงโดยใช้น้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้งทะเลมีค่าสูงกว่าสาหร่ายที่เลี้ยงโดยใช้น้ำทะเลธรรมชาติเพียงอย่างเดียว เนื่องจากในน้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้งทะเลมีสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของสาหร่าย สำหรับลักษณะทางกายภาพของสาหร่ายพวงองุ่นที่เลี้ยงโดยใช้น้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้งทะเล ทัลลัสมีสีเขียวใส รามูลัสค่อนข้างถี่ ไรซอยด์มีเป็นจำนวนมากและแตกแขนง ในขณะที่สาหร่ายที่เลี้ยงโดยใช้น้ำทะเลธรรมชาติทัลลัสมีสีเหลืองซีด รามูลัสมีน้อยและอยู่ห่างๆ กัน ส่วนไรซอยด์มีน้อยและเป็นเส้นสั้นๆ สำหรับคุณภาพของน้ำในถังไฟเบอร์กลาสช่วงที่เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นพบว่า องค์ประกอบหลักที่ทำให้อัตราการเจริญเติบโตและลักษณะทางกายภาพของสาหร่ายผันแปรคือ สารอาหารและความเค็มของน้ำที่ใช้เลี้ยงสาหร่าย ทั้งนี้ ในน้ำที่มีสารอาหารไนโตรเจนสูงทำให้สาหร่ายพวงองุ่นมีอัตราการเจริญเติบโตสูงขึ้น และสาหร่ายพวงองุ่นสามารถเจริญเติบโตได้ที่ความเค็ม 30-35 ส่วน ในพัน ที่ความเค็มประมาณ 30 ส่วน ในพัน สาหร่ายเจริญเติบโตดี แต่ความเค็มที่ต่ำกว่า 20 ส่วน ในพัน ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายและเป็นสาเหตุให้สาหร่ายตายอย่างฉับพลัน

จากการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในถังไฟเบอร์กลาสพบว่า ความเค็ม สารอาหารในน้ำ และสภาพแวดล้อมมีผลต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายพวงองุ่น สำหรับความเค็มของน้ำที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายพวงองุ่นอยู่ในช่วงตั้งแต่ 30-35 ส่วน ในพัน ดังนั้น แนวทางในการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นคือ ควรเลี้ยงสาหร่ายในช่วงนอกฤดูมรสุม ไม่ควรเลี้ยงในฤดูมรสุม เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวฝนตกชุก มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างสูง ส่งผลให้ความเค็มของน้ำที่ใช้เลี้ยงสาหร่ายในถังไฟเบอร์กลาสลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสาเหตุให้การเจริญเติบโตของสาหร่ายลดลงและส่งผลทำให้สาหร่ายตายได้ เนื่องจากสาหร่ายชนิดนี้ทนต่อความเค็มได้ในช่วงแคบ แต่หากต้องการเลี้ยงสาหร่ายชนิดนี้ในฤดูมรสุม ควรเลี้ยงสาหร่ายในโรงเรือนที่มีหลังคาค่อนข้างโปร่งแสง เพื่อให้สาหร่ายสังเคราะห์แสงได้ อีกทั้งสามารถป้องกันน้ำฝนได้ด้วย นอกจากนี้ ควรหมั่นตรวจสอบความเค็มของน้ำที่ใช้เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ และควรมีการเพิ่มสารอาหารในน้ำที่ใช้เลี้ยงสาหร่ายโดยการใส่ปุ๋ยลงไป โดยเฉพาะสารอาหารไนโตรเจนและฟอสฟอรัส เป็นต้น เพื่อเพิ่มการเจริญเติบโต ผลผลิต และเพิ่มคุณภาพของทัลลัสของสาหร่ายที่มีรามูลัสลักษณะเม็ดกลม สีเขียวใส มีก้านสั้นๆ เรียงกันแน่นคล้ายพวงองุ่น การเก็บเกี่ยวผลผลิตของสาหร่ายควรเก็บเกี่ยวเป็นระยะๆ ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง หรือ 2 เดือน ต่อ 1 ครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นกับการเจริญเติบโตของสาหร่าย มิฉะนั้นจะทำให้สาหร่ายในบ่อมีความหนาแน่นมากเกินไป และเกิดการบังแสงกันเอง ส่งผลต่อการสังเคราะห์แสง อีกทั้งปริมาณสารอาหารในน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของสาหร่าย ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของสาหร่ายพวงองุ่นลดต่ำลง

ผู้สนใจท่านใดต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ชี้แนะ หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สามารถติดต่อได้ที่ mamnidporn@yahoo.com หรือที่ อาจารย์นิสราภรณ์ เพ็ชร์สุทธิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง บางกะปิ หัวหมาก กรุงเทพฯ 10240 หรือที่เบอร์โทร. (02) 310-8382 , (081) 774-3618

ขอได้รับความขอบคุณยิ่ง
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
---ไม่ระบุ---
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
---ไม่ระบุ---
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 430
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM