เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เลี้ยงปลากะพงขาย งานพอเพียงของครอบครัวยิ่งยงล้ำเลิศ
   
ปัญหา :
 
 
อ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วิวทิวทัศน์สวยงามยิ่ง เม็ดทรายขาวแววใส ด้วยเกลียวคลื่นทะเลที่ซัดเข้าหาฝั่งมายาวนาน

เรือประมง น้อย ใหญ่ จอดทอดสมอใกล้ๆ ชายฝั่งนับ 100 ลำ คอยเวลาพระอาทิตย์อัสดง ลูกเรือและกัปตันต่างก็เตรียมตัวทำหน้าที่ของตน มุ่งหน้าออกจากชายฝั่ง เพื่อออกไปหาปลา ปู กุ้ง และหอย กลางทะเล

รุ่งเช้า เรือประมงก็กลับ พร้อมกับนำผลผลิตสัตว์น้ำที่จับมาได้ส่งขายที่สะพานปลา อ่าวน้อย และพวกพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่คอยรับซื้อริมฝั่ง จากนั้นก็ได้เวลาพักผ่อน

วิถีชาวประมงเป็นเช่นนี้มานาน ยกเว้นรายที่เรือประมงขนาดใหญ่อาจจะใช้เวลานานหลายๆ วัน ถึงจะกลับเข้ามาฝั่ง เพราะว่าเน้นหาปลาทะเลลึก

ไม่แปลกที่ช่วงเช้าๆ ของอ่าวน้อย มีผู้คนมาเยือนค่อนข้างมาก ไม่เพียงชาวบ้านมาจับจ่ายซื้ออาหารสดๆ จากท้องทะเลเท่านั้น แต่ยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนชมวิวทิวทัศน์และกินปลา ปู กุ้ง หอย ในราคาไม่แพงมากนัก

สะพานปลาที่นี่เปิดทำการตั้งแต่เช้าจนถึงบ่าย ชาวประมงนำมาขาย ก็มีพ่อค้าแม่ค้าทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่เข้ามารับซื้อ จากนั้นก็ทยอยส่งขายตามตลาดสดทั่วๆ ไป

คุณเจริญชัย ยิ่งยงล้ำเลิศ อยู่บ้านเลขที่ 162/1 หมู่ที่ 3 ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทร. (081) 013-4976 ซึ่งอยู่ห่างจากอ่าวน้อยประมาณ 1 กิโลเมตร ก็เป็นผู้รับซื้อผลผลิตจากทะเลอีกรายหนึ่ง ที่ต้องเดินทางออกจากบ้านช่วงเช้าทุกๆ วัน ทั้งนี้เพื่อซื้อปลาตัวเล็กๆ พวกปลาข้างเหลือง และปลาทู ซึ่งเขามีจุดประสงค์ไม่เหมือนกับพ่อค้าแม่ค้ารายอื่นๆ นั่นก็คือ ซื้อปลาตัวเล็กๆ มาให้ปลากะพงที่เลี้ยงไว้ในบ่อดินข้างๆ บ้านกินเป็นอาหาร

"ก่อนนี้ผมมีอาชีพหลักคือ ทำสวนปลูกผักขาย แต่เมื่อ 10 ปี ที่ผ่านมานั้น ได้ทดลองขุดบ่อเลี้ยงปลากะพงดู เพราะว่าพื้นที่ของเรามันสะดวกในการซื้ออาหารมาเลี้ยง และอยู่ติดกับลำคลองด้วย รุ่นแรกที่เลี้ยงปรากฏว่า ทำกำไร 200,000-300,000 บาท เลยทีเดียว ทำให้มีกำลังใจ ขยายพื้นที่ จาก 1 บ่อ เป็น 3 บ่อ ในเวลาต่อมา สร้างรายได้มาตลอด ได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ซื้อมาเลี้ยงว่าเป็นหัวปลาหรือหางปลา ถ้าเป็นหัวปลาจะโตเร็วมาก แต่ถ้าเป็นหางปลามันจะโตช้า แต่รวมๆ กันแล้วได้กำไรเกือบทุกรุ่นเลยทีเดียว" คุณเจริญชัย เล่าถึงที่มาของอาชีพ

คุณเจริญชัยมีเงินเพียงพอที่จะส่งให้ลูกๆ 5 คน เรียนหนังสือจบมหาวิทยาลัยได้อย่างไม่เดือดร้อน ทั้งๆ มีพื้นที่ทั้งหมดเพียง 10 ไร่ เท่านั้นเอง

พื้นที่ดังกล่าวจะขุดบ่อเลี้ยงปลา 3 บ่อ รวมๆ ทั้งหมด 6 ไร่ ที่ดินที่เหลือ 3-4 ไร่ ก็เป็นสวนผักคะน้า ต้นหอม ผักชี และถั่วฝักยาว เป็นต้น

คุณเจริญชัย และคุณสุรีย์ ยิ่งยงล้ำเลิศ ซึ่งเป็นภรรยา ช่วยกันทำงาน ทั้งเลี้ยงปลา และปลูกผักขายมาตลอด จนฐานะครอบครัวดีขึ้นเรื่อยๆ

แต่มาสะดุดในช่วง 2-3 ปีหลัง ด้วยว่าเพื่อนบ้านมาชวนให้เช่าพื้นที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำ และกุ้งขาว แถวชายฝั่งอ่าวน้อย จึงตัดสินใจทดลองลงทุนเลี้ยงดู ปรากฏว่าขาดทุนย่อยยับ เพราะว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้นในบ่อเลี้ยงกุ้ง ทำให้ได้รับความเสียหายเกือบทั้งบ่อเลยทีเดียว

"เงินที่เก็บไว้จากการขายผัก และปลากะพง หลายแสนบาท หายไปกับกุ้ง เลี้ยงรุ่นแรก ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ทดลองรุ่นที่สองต่อ และก็ผิดหวังเหมือนเดิม จากคนที่ไม่เคยมีหนี้ กลับกลายเป็นคนมีหนี้สิน ดั้งนั้น เลี้ยงกุ้งเพียง 2 รุ่น ผมก็ยกธงขาวยอมแพ้แล้วครับ"

คุณเจริญชัย กลับมาเลี้ยงปลาและปลูกผักใหม่เหมือนเดิม เพื่อกลับมาฟื้นฟูฐานะ

"ชีวิตผมถูกโฉลกกับการเลี้ยงปลามาก เลี้ยงมา 10 ปี ไม่เคยขาดทุนสักรุ่น แต่ไปเลี้ยงกุ้ง 2 รุ่น ขาดทุนทั้งหมดเลย ผมจะสู้ต่อไป แต่การต่อสู้ครั้งนี้ผมต้องชนะ เพราะว่ามีประสบการณ์มาอย่างดี และต่อไปคงจะเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นแล้ว จะเอาดีกับอาชีพเดิม โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาดีกว่า" คุณเจริญชัย กล่าว



เตรียมบ่อเลี้ยงปลา

หลังจากการจับปลาขายทุกครั้ง คุณเจริญชัยจะดูดน้ำออกจากบ่อจนแห้งสนิท จากนั้นก็หว่านปูนขาว ประมาณ 60-70 กิโลกรัม ต่อไร่ ทั่วทั้งบ่อ

ตากบ่อทิ้งไว้ให้แห้ง ประมาณ 1 เดือน ก็จะดูดน้ำจืดจากลำคลองเข้าบ่อ โดยผ่านการกรอง เพื่อป้องกันสัตว์น้ำที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาเจริญเติบโตแข่งกับปลากะพง หรือทำลายลูกปลาวัยอ่อนที่จะปล่อยลงเลี้ยงได้

"ในการเตรียมบ่อนี้ เราใช้หลักการง่ายๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว แต่ถ้าเราเลี้ยงติดต่อกัน 5 รุ่น การเตรียมบ่อก็ต้องทำอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือ ใช้แบ๊กโฮขุดลากขี้เลนขึ้นด้วย เพราะว่าเป็นตัวหมักหมมของเชื้อโรค จนเหลือพื้นบ่อที่สะอาด จากนั้นก็หว่านปูนขาวลงไป ตากบ่อให้แห้ง แล้วก็ดูดน้ำเข้าบ่อได้เลย"

คุณเจริญชัย บอกว่า จริงๆ แล้ว เราจะเลี้ยงรุ่นต่อไปก็ได้ โดยไม่ต้องลอกเลนทิ้ง แต่ทว่าไม่อยากเสี่ยง ลงทุนเพียงไม่ถึงหมื่นบาท ก็สามารถป้องกันโรคภัยหรือเชื้อโรคเข้ามาระบาดได้แล้ว ดีกว่าเสียหายคิดเป็นเงินก็หลักแสนเลยทีเดียว



อนุบาลลูกปลา

คุณเจริญชัย ดูดน้ำมาพักไว้ในบ่อ ประมาณ 3-4 วัน ก็สามารถนำลูกปลามาปล่อยเลี้ยงได้แล้ว โดยส่วนใหญ่มักจะปล่อยในช่วงเช้า เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

พันธุ์ปลาที่นำมาปล่อยเลี้ยงนั้น เขาจะสั่งซื้อมาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีขนาดประมาณ 2 นิ้ว ในราคา 2.75 บาท

"ก่อนสั่งซื้อนั้น เราต้องบอกย้ำกับโรงเพาะฟักว่า บ่อเลี้ยงเป็นน้ำจืด เขาจะค่อยๆ ปรับน้ำตามที่เราบอก ถ้าไม่เช่นนั้น ลูกปลาที่นำมาเลี้ยงหรือปล่อยเลี้ยงลงบ่อ อาจช็อคน้ำตายได้ เนื่องจากส่วนใหญ่โรงเพาะฟักมักจะใช้น้ำกร่อย เลี้ยงอนุบาลลูกปลา" คุณเจริญชัย กล่าว

คุณเจริญชัย บอกว่า ราคานี้ส่งถึงหน้าฟาร์ม โดยจะบรรทุกในท้ายรถกระบะจากฉะเชิงเทราถึงประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งส่วนใหญ่มาถึงช่วงเช้าตรู่

"ลูกปลาบรรจุไว้ในถุง ถุงละ 50 ตัว อัดออกซิเจนมาอย่างดี ส่วนใหญ่เท่าที่เห็นปลาจะไม่เพลียหรือตายให้เห็นเลย เมื่อมาถึงฟาร์มเราก็จะปล่อยลงไปเลี้ยงเลย แต่ช่วงแรกเราจะทำกระชังหรือมุ้งเขียวกั้นเป็นคอกก่อน เพื่ออนุบาลหรือให้อาหารกินได้อย่างทั่วถึง"

วันแรกๆ จะไม่ให้กินอาหาร วันที่สองเริ่มซื้อปลาข้างเหลือง หรือปลาทูสดจากท้องทะเลมาใส่เครื่องบดให้ละเอียด หว่านให้กินวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

เลี้ยงอนุบาลไว้ในกระชังหรือคอก ประมาณ 7 วัน คุณเจริญชัย ก็ปล่อยลูกปลาสู่ภายนอก เนื่องจากเริ่มจำสถานที่ให้อาหาร และปลาแต่ละตัวว่ายน้ำแข็งแรงแล้ว ซึ่งโอกาสจะเสียหายหรือปลาตายให้เห็นมีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก

คุณเจริญชัย ปล่อยเลี้ยงในอัตราความหนาแน่น 5,000 ตัว ต่อไร่ ย่างเข้าเดือนที่สองอาหารที่ให้กิน ไม่ต้องบดละเอียดมากนัก

"ช่วงแรกๆ ให้กินอาหารเพียง 4-10 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อวัน เท่านั้น เดือนที่สองปลาเริ่มโตก็เพิ่มปริมาณเป็น 20-30 กิโลกรัม ต่อไร่ เดือนที่สาม 50-60 กิโลกรัม เดือนที่สี่ 80-90 กิโลกรัม เดือนที่ห้าและหก เพิ่มขึ้น 120-150 กรัม ซึ่งปลาแต่ละตัวจะมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 5 ขีดแล้ว ซึ่งเป็นขนาดที่ผู้บริโภคชอบ เราสามารถจับได้ ขายส่งตลาดหรือพวกพ่อค้าแม่ค้าได้แล้ว"

คุณเจริญชัย บอกว่า หากปลากินอาหารดีดังที่ได้กล่าวแล้วนั้น รับรองได้ว่า เราจะได้ผลผลิตปลาไม่ต่ำกว่า 2.5 ตัน ต่อไร่ เลยทีเดียว

"สมมติว่า บ่อ 1 ไร่ เราจับขาย 2.5 ตัน และขายได้กิโลกรัมละ 100 บาท ก็สามารถทำเงินได้สูงถึง 250,000 บาท แล้ว"



ออกซิเจนต้องเปิดตลอดทั้งคืน

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงปลากะพงนั้น ต้นทุนในการเลี้ยงนอกจากพันธุ์ปลาแล้ว ยังมีค่าอาหารและพลังงานด้วย

"ค่าอาหารตอนนี้เราไปซื้อที่สะพานปลา ราคาอยู่ที่ 10 บาทเศษ ส่วนพลังงานนั้นที่ใช้มากที่สุดก็ในช่วงกลางคืน เพราะว่าเราจะเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้ปลาด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หากได้ผลผลิตปลา 2.5 ตัน ต่อไร่ กำไรเรายังเหลืออยู่อีกหมื่นบาทเลยทีเดียว"

คุณเจริญชัย บอกว่า เรื่องออกซิเจนในบ่อเลี้ยงปลานั้นสำคัญมาก หากเราประหยัดพลังงาน โดยไม่เปิดเครื่องตีน้ำช่วงในเวลากลางคืน รับรองได้ว่าปลาจะลอยหัวทั้งคืน ยิ่งกลางวันฝนตกและกลางคืนเป็นอากาศปิด โอกาสปลาตายมีมากกว่าครึ่งเลยทีเดียว

"เพื่อนบ้านไม่เชื่อผม ไม่ค่อยเปิดเครื่องตีน้ำ กลางวันฝนตก กลางคืนออกซิเจนในน้ำมีน้อย เลยเที่ยงคืนไปแล้ว ปลาก็ทยอยตายเรื่อยๆ จนสว่างเลย ซึ่งบ่อเลี้ยงปลาของเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ๆ กันเมื่อเร็วๆ นี้เสียหายมาก"

ในการเลี้ยงปลากะพงแบบฉบับของคุณเจริญชัยนั้น จะเปิดเครื่องตีน้ำ 10 ใบพัด ตั้งแต่ 2 ทุ่ม จนสว่าง ช่วงลูกปลาเล็กๆ หรือ 1 เดือนแรก ก็เปิดเบา

เดือนที่สองและสาม เปิดแรงปานกลาง แต่เข้าสู่เดือนที่สี่ขึ้นไปแล้ว คุณเจริญชัยก็เปิดเครื่องตีน้ำอย่างแรง

"เรื่องนี้เราประหยัดไม่ได้ เพราะว่าปลาก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั่วไปที่ต้องการออกซิเจนมาหายใจ แม้ว่ามันไม่ตายก็จริงอยู่ แต่ร่างกายก็เกิดการอ่อนเพลียไปเรื่อยๆ และอาจเป็นตัวนำให้เชื้อโรคเข้ามาระบาดได้ แต่ถ้าเราเปิดออกซิเจนให้เพียงพอปลาก็ไม่เครียด และแข็งแรง กินอาหารก็เก่ง เจริญเติบโตดี" คุณเจริญชัย กล่าวย้ำ

คุณเจริญชัย บอกว่า 1 ปี เราสามารถเลี้ยงปลากะพงได้ 2 รุ่น แม้ว่ามีเพียง 3 บ่อ ก็สามารถสร้างรายได้ได้หลายแสนบาทแล้ว

"ถ้าผมไม่เอาเงินไปเลี้ยงกุ้ง ก็อยู่ได้อย่างสบายแล้ว เพราะว่ามีรายได้ปีละ 2-3 ครั้ง และมีเงินจากการเก็บเกี่ยวผักไปขายด้วย ซึ่งเป็นรายได้ประจำวันอย่างดี ต่อไปนี้ผมให้สัญญากับลูกๆ และภรรยาแล้วว่า จะไม่ทำอะไรที่เสี่ยงเกินไป อยากอยู่มีความสุข ต้องใช้ชีวิตอย่างพอเพียง" คุณเจริญชัย กล่าวทิ้งท้าย

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ประจวบคีรีขันธ์
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 430
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM