เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ใบย่านาง พืชสมุนไพรท้องถิ่น วิทยาลัยอาชีพตระการพืชผล จับมาแปรรูป
   
ปัญหา :
 
 
ใบย่านาง เป็นไม้เลื้อย ชื่อพื้นบ้านอีสานคือ "ย่านาง" ชื่อทั่วไป เถาย่านาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Tiliacora triandra (Colebr.) Diels. วงศ์ Menispermaceae

ย่านางเป็นไม้เถาขนาดเล็ก ใบเดี่ยวเรียงแบบสลับ แผ่นใบรูปรี รูปหอกถึงรูปไข่แกมหอก กว้าง 2-5 เซนติเมตร หรืออาจจะถึง 8.5 เซนติเมตร ยาว 6.5-10 เซนติเมตร บางแห่งสูง 17 เซนติเมตร

ปลายแหลมถึงใบเรียวแหลม โคนใบสอบถึงมน ผิวใบเกลี้ยง สีเขียวเข้ม เห็นเส้นใบเด่นชัดจากโคนถึงปลายใบ 3 หรือ 5 เส้น ดอกมีขนาดเล็กมาก สีเหลืองอ่อนหรือเหลืองแกมเขียว ออกเป็นช่อตามซอกใบและตามลำต้น ผลเป็นรูปไข่มีขนาดเล็ก เมื่ออ่อนมีสีเขียว สุกจะมีสีแสดถึงแดง กว้าง 6-7 มิลลิเมตร ยาว 7-10 มิลลิเมตร

พบในแหล่งธรรมชาติบริเวณป่าดงดิบและป่าโปร่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคอื่นๆ ย่านางเป็นพืชที่ขึ้นได้ในดินทุกชนิดและปลูกได้ทุกฤดูกาล ย่านางมีรสจืด เถาและใบย่านางนิยมใช้เป็นเครื่องปรุง จะใช้เถา ใบอ่อน ใบแก่ ตำคั้นเอาน้ำสีเขียวแล้วไปต้มกับหน่อไม้จะช่วยลดกรดออกซาลิค นำมาปรุงเป็นแกงหน่อไม้หรือซุบหน่อไม้ทำให้หน่อไม้จืดไม่ขม

น้ำคั้นจากใบใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิด โดยเฉพาะแกงเห็ด แกงขี้เหล็ก หรือแกงประเภทต่างๆ คนอีสานมีวัฒนธรรมการกินหน่อไม้คู่กับย่านางเสมอ ทางปักษ์ใต้นั้นนิยมใช้ยอดอ่อนใส่ในแกงเลียง จึงไม่มีปัญหาเหมือนการกินหน่อไม้ของคนภาคอื่นๆ รากใช้แก้ไข้ได้ทุกชนิด

ย่านางมีเส้นใยมาก อุดมด้วยแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ จากการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ใบย่านางที่คั้นน้ำแล้วจะมีเบต้าแคโรทีน 39.24 ไมโครกรัม เทียบหน่วยเรตินัล



จุดประกายการทดลอง

การประกอบอาหารโดยเฉพาะแกงหน่อไม้มีกระบวนการที่ละเอียด เริ่มตั้งแต่ตำข้าวเบือ (ข้าวเหนียวนำไปแช่น้ำทิ้งไว้จนเมล็ดข้าวอ่อนตัวและนำมาตำหรือบดให้ละเอียด นำมาผสมกับน้ำใบย่านาง ข้าวเบือจะมีคุณสมบัติช่วยให้น้ำแกงมีความเหนียวและข้นขึ้น) แต่ละครั้งต้องใช้เวลาในการโขลกและคั้นน้ำเป็นที่ยุ่งยากและเสียเวลา หากต้องการประกอบอาหารอย่างรีบเร่ง

ด้วยเหตุนี้ คุณเอมวิภา นามวงษา คุณนารี พันธ์ผูก และ คุณหนึ่งฤทัย ฑีมายุพรรค นักศึกษาระดับ ปวส. วิทยาลัยอาชีพตระการพืชผล อาชีวศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี จึงคิดทำใบย่านางก้อนสำเร็จรูปเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปประกอบอาหาร เน้นต้องมีคุณภาพใกล้เคียงกับย่านางสดมากที่สุด และย่านางสำเร็จรูปนี้สามารถเก็บรักษาได้นาน 1 เดือน เก็บไว้ในตู้เย็น



วัตถุประสงค์

1. เพื่อทดลองการนำใบย่านางสดมาทำย่านางสำเร็จรูป

2. เพื่อให้เกิดความสะดวกในการนำย่านางมาบริโภค ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

3. เพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงและจำหน่ายในอนาคต โดยการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด

ประโยชน์และคุณค่าของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

1. เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปพร้อมบรรจุภัณฑ์เชิงพาณิชย์

2. เพิ่มมูลค่าของการวิจัยและพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์

3. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป



อุปกรณ์ที่ใช้ในการวิจัย

1. ใบย่านาง 300 กรัม

2. น้ำสะอาด 300 มิลลิลิตร

3. ข้าวเหนียวบดละเอียด 1,500 กรัม

4. ที่กรอง (ผ้าขาวบาง) 1 ผืน

5. หม้ออบ (Hot air oven) 1 เครื่อง

6. เครื่องปั่น/บด 1 เครื่อง

7. เครื่องอัด/แบบพิมพ์ 1 เครื่อง

8. กระดาษฟอยล์ 1 กล่อง

9. เครื่องชั่งน้ำหนัก 1 เครื่อง

10. เกลือ 50 กรัม

อัตราส่วนที่ใช้ทำย่านางสำเร็จรูปตามที่กำหนด จะได้ผลิตภัณฑ์ย่านางสำเร็จรูป 50 ก้อน



คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์

เมื่อผลิตออกมาแล้วคุณภาพดีคงคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งสีและกลิ่น ใกล้เคียงกับธรรมชาติ ใช้ย่านางสำเร็จรูปละลายในน้ำเย็นในอัตราส่วน 1 ก้อน ต่อน้ำ 1 ลิตร

สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ วิทยาลัยอาชีพตระการพืชผล เลขที่ 11/10 บ้านเซเป็ด ตำบลเซเป็ด อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี โทร. (045) 481-931



สารพันประโยชน์จากใบย่านาง

เถาย่านางมักขึ้นอยู่เองตามป่า หากจะนำมาปลูกก็ไม่ยาก ใช้เพาะเมล็ดหรือขุดเอารากที่เป็นหัวไปปลูกในที่ใหม่ รดน้ำให้ชุ่ม เถาย่านางก็จะคลี่กางเลื้อยขึ้นพันค้างที่เตรียมไว้ หรือไม่ก็เลื้อยพันต้นไม้อื่นที่อยู่ใกล้เคียง ทนและเติบโตได้ในทุกสภาพดินและสภาพอากาศทุกฤดูกาล

น้ำคั้นจากใบยังมีสารอาหารอย่างแคลเซียม และวิตามินซีค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีวิตามินอื่นๆ ร่วมขบวนด้วย เช่น เอ บี 1 บี 2 และเบต้าแคโรทีน

นอกจากนี้ น้ำคั้นย่านางผสมน้ำว่านหางจระเข้ หมักทิ้งไว้ประมาณ 25-30 นาที แล้วก็สระผมตามปกติ ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนหลายแห่งผลิตแชมพูใบย่านางออกจำหน่าย หรือแม้แต่นำน้ำคั้นย่านางมาผัดในข้าวผัดสมุนไพร

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
อุบลราชธานี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 429
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM