เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
คนปลูกผักหวานป่า... ผักหวานป่าเลี้ยงคนปลูก ที่เมืองปากน้ำโพ
   
ปัญหา :
 
 
เรามาช่วยกันเปิดตำนานหน้าใหม่ของการปลูกผักหวานป่า ซึ่งเกิดขึ้นที่บ้านป่ารังพัฒนา ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ หมู่บ้านนี้อยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพียง 5 กิโลเมตร และอยู่ติดกับบึงบอระเพ็ด แต่นั่นมันเป็นเพียงแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่คนทั่วไปเก็บไว้ในภาคภูมิใจกันเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าวได้เลยแม้แต่น้อย

ด้วยความผูกพันกับอาชีพด้านการเกษตรมาโดยสายเลือด ก็ยากที่จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้ ความคิดที่จะเอาชนะความแห้งแล้งของธรรมชาติจึงเกิดขึ้น แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ หลายต่อหลายคนต้องประสบกับความพ่ายแพ้ ต้องตัดสินใจบอกลาอาชีพการเกษตร แล้วหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ ทั้งในตัวจังหวัดและต่างจังหวัด ปล่อยให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่า หรือบางคนก็ตัดสินใจขายที่ดินทำกินผืนสุดท้ายไปในราคาถูก เพื่อนำเงินไปลงทุนทำอาชีพอื่น



ก่อนที่จะมาเป็นสวนผักหวานป่า

กรณีของ คุณวิชัย-คุณสมคิด พวงนาค เกษตรกรคนเก่งวัย 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 247 บ้านป่ารังพัฒนา หมู่ที่ 8 ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ กลับตรงกันข้าม

เมื่อประมาณปี 2535 ครอบครัวพวงนาค ตั้งคำถามว่า พื้นที่แห้งแล้งเช่นนี้จะปลูกพืชชนิดใดจึงจะอยู่ได้ เมื่อหาข้อมูลของพืชที่หลากหลายชนิด เพื่อหาข้อดี ข้อเสีย แล้ว จึงได้ข้อสรุปว่า มะขามเทศ น่าจะเป็นพืชทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะปลูกง่าย ทนแล้ง เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ จึงได้ตัดสินใจปลูกมะขามเทศหลายสายพันธุ์ โดยใช้ระยะการปลูก 8 คูณ 8 เมตร ในพื้นที่ 2 แปลง แปลงแรก 3 ไร่ แปลงที่ 2 อีก 5 ไร่ รวม 8 ไร่ ปลูกมะขามเทศ จำนวน 50 ต้น ต่อมามะขามเทศก็ได้ให้ผลผลิตออกมาจนเป็นที่น่าพอใจ เมื่อต้นมะขามเทศโตขึ้นขณะที่มีความสูงโดยเฉลี่ย 8-12 เมตร ได้มองเห็นพื้นที่ว่างระหว่างต้นมะขามเทศ ว่าน่าจะนำมาทำประโยชน์ด้วยการปลูกพืชอื่นแซมได้อีก ก็จึงได้เสาะแสวงหาพืชที่มีความเหมาะสมอยู่หลายปี จนในที่สุดก็ได้ตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่หลากหลายว่า พืชที่จะปลูกแซมนั้นคือ ผักหวานป่า เนื่องจากที่บริเวณบ้านมีต้นผักหวานป่าขนาดใหญ่อยู่ 1 ต้น จึงได้นำเมล็ดของผักหวานป่าจากต้นนี้มาเพาะเอง เริ่มจากการเพาะเพียงไม่กี่ต้นจนสามารถขยายพันธุ์ออกไปได้เป็นจำนวนมาก



วิธีเตรียมต้นพันธุ์

คุณสมคิด ซึ่งคลุกคลีอยู่กับการดูแลผักหวานป่า บอกว่า การเพาะพันธุ์ผักหวานป่าเริ่มเมื่อเดือน มีนาคม 2538 ได้นำเมล็ดผักหวานป่าที่แก่จัดจนเหลืองนำมาปอกเปลือกนอกออกให้หมด จากนั้นก็นำไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาผึ่งลมไว้ในร่มจนเมล็ดแห้งสนิท ใช้เวลา 2 วัน

ก่อนจะนำไปลงถุงเพาะ ให้นำเมล็ดมากะเทาะเปลือกชั้นในอีกครั้งหนึ่ง แล้วนำเมล็ดที่กะเทาะเปลือกแล้วใส่ลงไปในถุงเพาะชำ โดยใช้ถุงสีดำเจาะรูด้านข้าง 4 รู เพื่อระบายน้ำ ขนาดถุงกว้าง 2 นิ้ว สูง 4 นิ้ว ดินที่ใช้ในการเพาะก็ใช้ดินจากคอกวัวเก่าผสมดินทรายเล็กน้อย แล้ววางเมล็ดให้ด้านขั้วอยู่ข้างบน ส่วนด้านท้ายเมล็ดให้วางอยู่ด้านล่าง โดยฝังเมล็ดลงไปเพียงครึ่งเมล็ดก็พอ

แล้วเก็บเรียงไว้ใต้ร่มไม้ให้ได้รับแสงแดดรำไร การดูแลรักษาก็รดน้ำวันเว้นวันเฉพาะช่วงเย็นเท่านั้น จากนั้นอีกประมาณ 3 เดือนต่อมา เมล็ดผักหวานก็จะเริ่มงอกจนเปลือกที่หุ้มเมล็ดหลุดออกมา จะแตกยอดอ่อนออกมา 2-3 ใบ ก็ยังคงรดน้ำวันเว้นวันไปจนอายุประมาณ 10-11 เดือน ก็จะได้ต้นพันธุ์ผักหวานที่มีความสูงประมาณ 8-10 เซนติเมตร แล้วจึงนำไปปลูกได้ในเดือนมีนาคมถึง เมษายน



เตรียมพื้นที่ปลูกและการดูแลรักษา

เกษตรกรหญิงเก่ง บอกว่า เมื่อได้ต้นพันธุ์ผักหวานเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำไปปลูกในพื้นที่ที่มีไม้ยืนต้นอื่นอยู่ก่อนแล้ว ส่วนแปลงนี้ปลูกแซมในสวนมะขามเทศ เนื่องจากสภาพของผักหวานป่าตามธรรมชาตินั้น จะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ป่าโปร่งดินเขาลูกรัง การขุดหลุมเตรียมดินปลูกก็จะขุดให้มีความกว้าง ยาว ลึก ประมาณ 1 ฟุต ใส่ขี้วัวผสมดินปลูกลงไปเล็กน้อย แล้วรดน้ำ 3 วัน ต่อครั้ง ต่อจากนั้น ก็ใส่ขี้วัว ประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อต้น โดยการโรยให้รอบทรงพุ่ม เดือนละ 1 ครั้ง โดยไม่ต้องพรวนดินปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด

เมื่อปลูกผักหวานได้ ประมาณ 3 ปี ผักหวานก็จะมีความสูง ประมาณ 1.5 เมตร ก็จะเริ่มเก็บยอดนำไปขายได้ การเก็บยอดจะเก็บหมดทุกยอดจนเหลือแต่กิ่งก้าน เมื่อเก็บยอดจนหมดแล้วก็ใส่ขี้วัวต้นละ 5 กิโลกรัม แล้วรดน้ำทุก 7 วัน ผักหวานก็จะแตกยอดขึ้นมาใหม่ให้เก็บได้อีก วนเวียนกันอย่างนี้ตลอดไป ส่วนใหญ่ผักหวานจะมีราคาดีก็ช่วงหน้าแล้ง ที่ผ่านมายังไม่เคยใส่ปุ๋ยเคมีเลย คิดเอาเองว่าผักหวานป่าจะไม่ชอบปุ๋ยเคมี



เก็บยอดผักหวานป่า

คุณสมคิด กล่าวว่า เมื่อเก็บยอดผักหวานได้แล้วก็จะนำมามัดเป็นกำ โดยเฉลี่ย 3 กำ ต่อ 1 กิโลกรัม จะมีแม่ค้ามารับถึงในสวน ขณะนี้ได้ 90 บาท ต่อกิโลกรัม วันหนึ่งจะเก็บยอดผักหวานได้ ระหว่าง 30-50 กิโลกรัม ทั้งนี้ แล้วแต่ว่าแม่ค้าจะสั่งจองมาวันละเท่าไหร่ ถ้าหากเป็นช่วงที่มีงานเทศกาลที่มีคนจำนวนมาก แม่ค้าก็จะสั่งจำนวนมาก ก็ต้องวางแผนให้สามารถเก็บยอดผักหวานได้ทันตามกำหนดที่สั่งจอง ส่วนแรงงานนั้นจะจ้างวันละ 3-5 คน ซึ่งก็ไม่ได้เก็บยอดผักหวานทั้งวัน จะเก็บตามจำนวนที่สั่ง เมื่อได้ครบตามที่สั่งจองแล้วก็จะหยุดเก็บ โดยให้ค่าจ้างวันละ 150 บาท จะบริการกาแฟ อาหารว่าง และอาหารกลางวัน

ราคาผักหวานป่าที่ขายได้ต่ำสุด 70 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนราคาที่ขายได้สูงสุด 100 บาท ต่อกิโลกรัม เมื่อได้สืบราคาขายปลีกในท้องตลาด จะอยู่ที่ 120-150 บาท ต่อกิโลกรัม การเก็บผลผลิตในปีแรกขายแล้วได้เงิน 30,000 บาท ส่วนปี 2550 ได้เงิน 1.4 แสนบาท และในปีนี้เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาจนถึงบัดนี้ เก็บยอดผักหวานป่าขายได้เงินไปแล้ว 1.3 แสนบาท



ฝากแนวคิดถึงเพื่อนเกษตรกร

คุณสมคิด กล่าวทิ้งท้ายว่า ก่อนที่เกษตรกรจะปลูกผักหวานหรือปลูกพืชอื่นใดก็ตาม จะต้องไปศึกษาข้อมูลให้มากที่สุด โดยเฉพาะศึกษาดูงานจากแปลงที่ประสบความสำเร็จ แล้วจึงนำไปเปรียบเทียบกับพื้นที่ของตัวเองว่า มีความเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรหรือไม่ เพราะการปลูกพืชแต่ละชนิดนั้นจะต้องใช้เวลานานจึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ส่วนตัวคิดว่าพื้นที่ดินที่ผักหวานชอบนั้นควรจะเป็นดินแน่น ลูกรังปนทรายที่มีความชื้นไม่สูง หรือค่อนข้างไปทางที่จะแห้งแล้ง หากพื้นที่ที่จะปลูกผักหวานมีความชื้นสูงผักหวานป่าก็จะไม่ชอบ เพราะผิดธรรมชาติของผักหวานป่า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร. (089) 566-3599

ทางด้านการส่งเสริมของสำนักงานเกษตรอำเภอนั้น คุณดิเรก ยิ้มห้อย เกษตรอำเภอเมืองนครสวรรค์ กล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลนี้มีการปลูกผักหวาน 25 คน พื้นที่ประมาณ 70 ไร่ เพื่อให้การบริหารจัดการการปลูก การดูแลรักษา การตลาด และเป็นแหล่งเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทางสมาชิกจึงได้รวมตัวกันเพื่อตั้งเป็นกลุ่มผู้ปลูกผักหวานป่าขึ้น จากการประชุมกันไปแล้ว 2 ครั้ง ได้มีการเสนอแนวทางกันอย่างกว้างขวาง และในอนาคตจะเสนอให้เป็นหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของตำบลต่อไป ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกร บุคคลทั่วไป นักศึกษา นักเรียน พระภิกษุและสามเณร กันไม่เว้นแต่ละวัน

ส่วน คุณชัยวุฒิ วิสมกา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลหนองปลิง กล่าวว่า ผักหวานป่าเป็นผักที่มีรสชาติอร่อย อยู่ในความนิยมของคนทุกภาค เป็นผักสีเขียวมีกากใยที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ส่วนการนำมาประกอบอาหารนั้นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่แม่บ้านในบ้านป่ารังพัฒนาจะนำมาแกง พอแบ่งออกได้ 2 สูตร คือ



สูตรที่ 1 แกงผักหวานกับปลาย่าง

เครื่องปรุง




ผักหวาน 2 ขีด

ตะไคร้ 1 ต้น

พริกชี้ฟ้าแห้ง 4-7 เม็ด ความเผ็ด ตามชอบ

หอมแดง 3 หัว

กระเทียม 2 กลีบใหญ่ ไม่ชอบกลิ่นกระเทียม ไม่ใส่ก็ได้

น้ำปลาอย่างดี 2 ช้อนโต๊ะ

น้ำปลาร้า 1 ช้อนโต๊ะ

ปลาย่าง 2-3 ตัว ถ้าปลาย่างตัวใหญ่ ก็ใส่ 1 ตัว

ไข่มดแดง ไม่ใส่ก็ได้ เพราะหาซื้อรับประทานยากพอสมควร

เกลือ น้ำ ผงชูรส

วิธีทำ นำน้ำสะอาด 3 แก้ว ใส่หม้อตั้งไฟ หั่นตะไคร้ เป็นท่อนเล็กๆ ประมาณ 3-4 ท่อน ใส่ลงในหม้อ โขลกหอม กระเทียม พริกแห้ง เกลือเล็กน้อย พอหยาบๆ ใส่ในน้ำที่กำลังเดือด เติมน้ำปลาร้า

นำผักหวาน ปลาย่าง และไข่มดแดง ใส่ลงหม้อ ปรุงด้วยน้ำปลาและผงชูรส หากรสชาติดีแล้วก็ไม่ต้องใส่ผงชูรสก็ได้ 1 ถ้วย นี้รับประทานได้ 2-3 คน เคล็ดลับของความอร่อยก็คือ ต้องรับประทานร้อนๆ อาหารที่รับประทานคู่ด้วยแนะนำให้เป็นของทอด ก็จะเพิ่มรสชาติของอาหารครบสูตร ส่วนลูกของผักหวาน ที่มีลักษณะกลมๆ ลูกขนาดผลองุ่น มีสีเขียวแก่ ผลจะเป็นพวง ขั้วเหนียว ถ้าผ่าครึ่งข้างในจะเป็นสีขาว เนื้อแน่น รับประทานได้ทั้งผล มีรสชาติหวานนุ่ม รับประทานได้ทั้งต้มจิ้มน้ำพริกและแกงเผ็ด ส่วนจะทำวิธีอื่นได้อร่อยเพียงไรนั้น ผู้เขียนยังไม่เคยทดลองทำ



สูตรที่ 2 แกงเผ็ดลูกผักหวาน

เครื่องปรุง


ลูกผักหวาน 3 ขีด (ผ่าครึ่ง)

เนื้อไก่ 1 ขีด

ตะไคร้ 1 ต้น

ข่าหั่น 1 ช้อนชา

ผิวมะกรูด 1 ช้อนชา

หอมแดง 2 หัว

กระเทียม 4 กลีบเล็ก

พริกชี้ฟ้า แช่น้ำ 6 เม็ด

กะเพรา 1 กำ

พริกไทย 5 เม็ด

หัวกะทิ 2 ช้อนโต๊ะ

กะปิเล็กน้อย เกลือ น้ำมันพืช น้ำปลาดี ผงชูรส น้ำตาล

วิธีทำ โขลกตะไคร้ ข่า มะกรูด หอม กระเทียม พริก พริกไทย กะปิ และเกลือเล็กน้อย โขลกให้ละเอียดเตรียมไว้ หั่นไก่ให้ได้ชิ้นพอดีคำ ถ้าเป็นไก่บ้านก็จะได้รสชาติดี เตรียมกระทะตั้งไฟร้อน ใส่น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ พอร้อนนำเครื่องแกงลงไปผัดให้หอม ละลายด้วยน้ำเล็กน้อย ใส่ไก่ลงไปผัดพอสุกดี ใส่ลูกผักหวานผัดสุก ปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำปลา และผงชูรส แล้วราดด้วยน้ำกะทิ แต่บางท่านอาจจะไม่ชอบใส่กะทิ ไม่ใส่ก็ได้ ใส่ใบกะเพราที่เตรียมไว้แล้วใส่ลงในหม้อ ปิดฝาแล้วยกลง สำหรับหม้อนี้รับประทานได้ 2-3 คน รับประทานคู่กันกับแกงจืด แก้เผ็ดของใบกะเพรา ก็จะได้อาหารที่ถูกปากแล้วอีก 1 มื้อ ลูกผักหวาน มีน้อยนักที่บางท่านจะได้รับประทาน เพราะส่วนใหญ่เจ้าของต้นจะเก็บไว้เพาะปลูก จะได้ราคาที่ดีกว่า แต่ถ้ามีโอกาสก็ขอเชิญทดลองทำดู

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครสวรรค์
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 429
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM