เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
มะยงชิด ก้าวไกลไปเมืองนอก ด.ต. อำนวย หงส์ทอง เปิดตลาดส่งออกอังกฤษ+ยุโรป
   
ปัญหา :
 
 
มะยงชิด ผลใหญ่สีส้มสดสวย ผลไม้ที่มักจะเปรียบเปรยกันว่า "คนซื้อไม่ได้ทาน คนทานไม่ได้ซื้อ" ทั้งนี้ ก็เนื่องจากมะยงชิดมีราคาค่อนข้างสูง ปีไหนอากาศหนาวไม่เอื้ออำนวย ต้นมะยงชิดให้ผลผลิตน้อย ราคาผลมะยงชิดจะสูงมากๆ เคยสูงถึงกิโลกรัมละ 400-500 บาท ก็มี แต่พื้นๆ แล้ว ราคามะยงชิดจะอยู่ที่ 250-300 บาท ต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณของผลผลิตในแต่ละปีด้วยว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน

ฉะนั้น มะยงชิด จึงกลายเป็นของฝากไป ที่คนซื้อมักจะซื้อไปเป็นของฝากเสียมากกว่า แหล่งปลูกมะยงชิดที่มีชื่อเสียงมากอยู่ที่จังหวัดนครนายก ซึ่งจริงๆ แล้วมะยงชิด มะปราง เป็นพืชตระกูลเดียวกัน มีปลูกกันทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ที่มีปริมาณน้ำฝนชุก เพราะมะยงชิดเป็นพืชไม่ชอบน้ำแฉะ แต่ที่จังหวัดนครนายกจะมีการปลูกมะยงชิดกับมะปรางกันมากกว่าพื้นที่อื่น และความโดดเด่นของผลมะยงชิดที่สวยงาม ขนาดผลใหญ่เท่าหรือใหญ่กว่าไข่ไก่ก็เกิดขึ้นที่พื้นที่แห่งนี้ มะยงชิดจึงกลายเป็นผลไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครนายกไปโดยปริยาย

ปัจจุบัน มีการส่งออกมะยงชิดกับมะปรางหวานไปต่างประเทศกันแล้ว ถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของมะยงชิดและมะปรางหวานของไทย ที่มีโอกาสส่งออกต่างประเทศให้ได้ลิ้มชิมรสกัน

ด.ต. อำนวย หงส์ทอง ประธานชมรมชาวสวนมะปรางจังหวัดนครนายก กล่าวว่า ในปี 2551 นี้ ทางชมรมได้ทำสัญญาส่งมะยงชิด มะปรางหวาน กับบริษัทที่ส่งออกผลไม้ไปขายยังประเทศอังกฤษแล้ว โดยเริ่มส่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากปีนี้เป็นปีแรกที่มีการทำสัญญาซื้อขายส่งมะยงชิด มะปรางหวาน ไปต่างประเทศ ความพร้อมในเรื่องของการรวบรวมผลผลิตของเรายังมีน้อย ปีนี้จึงทำสัญญาส่งออกไปประเทศอังกฤษ วันละ 1 ตัน เท่านั้น ส่งไปจนกว่าจะไม่มีผลผลิต ซึ่งทางบริษัทผู้ส่งออกต้องการปริมาณมะยงชิด มะปรางหวาน มากกว่านี้ แต่ด้วยความไม่พร้อม เราจึงจัดส่งให้ได้แค่วันละ 1 ตัน เท่านั้น

ด.ต. อำนวย กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับปี 2552 ทางชมรมจะเตรียมความพร้อม บริหารจัดการในเรื่องของผลผลิตเพื่อการส่งออกอย่างเต็มที่ ซึ่งก็จะประชุมทำความเข้าใจกับสมาชิกชาวสวนในชมรมอย่างต่อเนื่อง กับทั้งแนะนำให้สมาชิกชาวสวนทุกรายดูแลมะยงชิด มะปรางหวาน ตามคำแนะนำทุกขั้นตอน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผลผลิตมะยงชิดได้คุณภาพไปในทางเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องของการใช้สารเคมี ต้องงดโดยเด็ดขาด ซึ่งจะได้ประสานงานกับทางกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเข้ามาให้การรับรองคุณภาพของมะยงชิดกับสมาชิกในชมรมต่อไป จึงถือว่าเป็นความก้าวหน้าของมะยงชิดและมะปรางหวาน ผลไม้ของไทยอีกก้าวหนึ่ง

ด.ต. อำนวย กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับมะยงชิด มะปรางหวาน ปี 2551 นี้ มีผลผลิตออกมามาก จะเรียกว่ามีมากที่สุดกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมาก็ว่าได้ ปีนี้มะยงชิด มะปรางหวาน ติดดกทุกต้น เกษตรกรชาวสวนชื่นใจไปตามๆ กัน ทำให้เราสามารถส่งมะยงชิด มะปรางหวาน ไปโชว์ชาวต่างประเทศได้

ในเรื่องการปลูกมะยงชิดกับมะปรางนั้น ด.ต. อำนวย บอกว่า ปลูกไม่ยากเลย ขอเพียงแค่รู้หลักว่าจะปฏิบัติกับต้นอย่างไร และต้องดูแลให้ปุ๋ยให้น้ำด้วย แค่นี้เราก็จะได้มะยงชิดผลใหญ่ขนาดไข่ไก่แล้ว

"ที่สวนผม ชื่อสวนนพรัตน์ ปลูกมะยงชิดกับมะปรางไว้ 38 ไร่ แบ่งเป็นมะยงชิด ประมาณ 70% ราว 700-800 ต้น มะปรางหวาน 30% ราว 200-300 ต้น ในพื้นที่ 38 ไร่ นี้ แบ่งเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่กลางสวนอีก 10 ไร่"

ด.ต. อำนวย เล่าว่า ตนเป็นลูกชาวสวนย่านตำบลดงละครแห่งนี้ บ้านหรือสวนนพรัตน์นี้ ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 10 ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก พื้นที่ย่านตำบลดงละครแรกเริ่มปลูกมะปรางพันธุ์พื้นเมืองมาก่อน ต่อมาเกิดมะยงชิดพันธุ์ดีผลใหญ่ขนาดไข่ไก่ออกมา เกษตรกรชาวสวนมองเห็นว่าปลูกแล้วน่าจะมีอนาคตดี จึงมีชาวสวนหันมาปลูกมะยงชิด มะปรางหวาน กันอย่างจริงจัง ซึ่งเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว สวนของตนก็เป็นอีกสวนหนึ่งที่หันมาปลูกมะยงชิดจริงๆ จังๆ

เมื่อเริ่มปลูกครั้งแรก ในเนื้อที่ 10 กว่าไร่ ตั้งใจปลูกไว้ดูเล่น เก็บผลเอาไปเป็นของขวัญของฝาก และใช้สวนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ในวันว่างจากภารกิจรับราชการตำรวจ เดิมทีตนเป็นตำรวจสังกัดอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครนายก

ต่อมามะยงชิดที่ปลูกไว้เกิดได้รับความนิยม ผลผลิตจากสวนขายได้ราคา จึงเห็นเป็นโอกาสขึ้นมา ได้ขยายพื้นที่ปลูกเป็น 38 ไร่ ขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในสวน พัฒนาสายพันธุ์มะยงชิดเรื่อยมาจนทุกวันนี้ สายพันธุ์มะยงชิดที่นครนายกนั้นนิ่งแล้ว นำไปปลูกที่ไหนๆ ก็ไม่กลายพันธุ์ ถือว่าเป็นความสำเร็จของชาวสวนอีกระดับหนึ่ง

ด.ต. อำนวย กล่าวต่อไปอีกว่า มะยงชิด กับมะปราง เป็นพืชตระกูลเดียวกัน ลักษณะผลผลิตก็คล้ายกันมาก ถ้าเป็นมะปรางหวานผลใหญ่นำมาเทียบกับผลมะยงชิดแล้ว คนดูไม่เป็นจะไม่ทราบเลยว่า ผลไหนเป็นมะยงชิดหรือมะปรางหวาน มะยงชิดผลจะออกกลมป้อม ส่วนมะปรางผลจะออกทรงยาว

ด.ต. อำนวย กล่าวว่า ตนปลูกมะยงชิดโดยใช้เวลาวันหยุดก็เข้าสวน คลุกอยู่กับสวน ปลูกต้นไม้ รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ดูแลอย่างใกล้ชิด การจัดระบบระเบียบสวน ก็จัดการเองทั้งหมด แรกๆ ลงมือทำเองอาศัยวันไหนว่างก็ทำ ไม่ได้เร่งรีบอะไร มาระยะหลังมะยงชิด มะปรางหวาน ได้รับความนิยมมาก ทางการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวสวนได้ ภารกิจมากขึ้น อีกทั้งมะยงชิดและมะปรางก็ให้ผลผลิตมากขึ้น จึงต้องหาคนงานเข้ามาช่วยงานเพื่อแบ่งเบาภาระออกไป

สำหรับท่านที่คิดอยากจะปลูกมะยงชิด มะปรางหวานนั้น ด.ต. อำนวย บอกว่า ทำได้เลยไม่ยาก เมื่อมีพื้นที่ปลูกพร้อมแล้ว ก็ไปหาซื้อกิ่งพันธุ์ดีมาปลูก ขุดหลุมปลูก กว้าง 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร เอาดินก้นหลุมขึ้นมาผสมกับแกลบและปุ๋ยมูลวัว คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วเอาดิน กลับลงไปรองก้นหลุม เอากิ่งพันธุ์มะยงชิดตั้งปลูก กลบดินที่โคนต้น อย่าให้ดินไปกลบรอยแผลที่ทาบเอาไว้เด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะทำให้ต้นไม่เจริญเติบโต รอยแผลที่ทาบไว้จะเกิดเชื้อรา ทำให้เน่าได้ ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้ พอปลูกแล้วก็รดน้ำอย่าให้ดินโคนต้นแฉะ เพราะมะยงชิดไม่ชอบน้ำขังแฉะ จะทำให้เกิดโคนเน่า รดน้ำสังเกตพอดินชุ่มเท่านั้น ระยะปลูกต่อต้นนั้น มี 3 ระยะ คือ ระยะห่าง 6x6 เมตร ปลูกมะยงชิดได้ 45 ต้น ต่อไร่ ระยะห่าง 7x7 เมตร จะปลูกมะยงชิดได้ 33 ต้น ต่อไร่ และระยะห่าง 8x8 เมตร ปลูกได้ 25 ต้น ต่อไร่ อยู่ที่ว่าเกษตรกรมีพื้นที่มากน้อยแค่ไหน และชอบที่จะปลูกระยะไหน ปลูกได้เลย หากจะปลูกระบบร่องสวนก็สามารถปลูกได้เช่นกัน

หลังจากลงปลูกพอต้นตั้งตัวได้ประมาณ 3 เดือน ใส่ปุ๋ยคอกเล็กน้อย 3 เดือนใส่ครั้ง ใช้วิธีใส่น้อยๆ แต่บ่อยครั้ง ปุ๋ยคอกควรเป็นปุ๋ยมูลวัว วิธีใส่ให้โรยรอบๆ ทรงพุ่ม ไม่ต้องขุดดินทำเป็นร่องเวลาใส่ปุ๋ยจะทำให้รากฝอยของต้นขาดได้ เวลาขุดใช้วิธีหว่านปุ๋ยให้รอบต้นจะดีกว่า

ปีแรกมะยงชิดจะไม่ค่อยโตเท่าไรนัก สาเหตุอาจจะต้องให้เวลาการปรับตัวของต้นบ้าง แต่พอปีที่สองที่สาม ต้นจะโตเร็วมาก หลังลงปลูกปีที่ 3 ต้นก็จะให้ผลผลิตแล้ว เมื่อสวนเป็นคราวแรกปล่อยไปตามธรรมชาติก่อน พอรุ่งขึ้นอีกปีถึงจะเก็บผลผลิตขาย

เมื่อถึงปีที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต ด.ต. อำนวย แนะนำว่า ในช่วงเดือนมีนาคมให้ใส่ปุ๋ยคอก แล้วก็ตัดแต่งกิ่ง เอากิ่งไม่ดีในทรงพุ่มออก ตัดแต่งให้ในทรงพุ่มโล่งพอสมควร ใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงดินให้ต้นสมบูรณ์ที่สุดก่อนจะมีผลให้เก็บเกี่ยว ครั้นถึงเดือนกันยายนหรือกลางเดือนตุลาคม ใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 ให้เต็มที่อีกครั้ง ถึงตอนนี้ต้นจะสมบูรณ์มาก ใบเขียวเข้มเป็นมัน พอหมดฝนอากาศหนาวมาเยือน มะยงชิด มะปราง กระทบอากาศหนาว อุณหภูมิราว 20-23 องศาเซลเซียส ประมาณ 7-8 วัน ต้นจะแทงช่อดอกออกมาทันที

เมื่อติดช่อดอกแล้ว ให้ฉีดยาป้องกันเชื้อรา 1 ครั้ง พอดอกพัฒนาเป็นผลจุดเล็กๆ ฉีดยาอีกครั้ง โตขนาดเมล็ดถั่วเขียวฉีดยาอีกครั้ง รวมแล้วประมาณ 3 ครั้ง ปล่อยให้ผลโตขนาดผลมะเขือพวง ฉีดยาป้องกันเพลี้ยไฟไรแดง พร้อมกับฮอร์โมน แคลเซียม โบรอน ใครมีสูตรบำรุงผลดีๆ ก็เอามาฉีดตอนนี้แหละ ฉีด 1-2 ครั้ง ก็พอแล้ว หยุดฉีด ปล่อยให้ผลเจริญเติบโตนั้นจากวันแทงช่อดอกเรื่อยไป 75 วัน สามารถเก็บผลขายได้เลย ทางดินช่วงผลโตขนาดมะเขือพวง ใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 อีกครั้ง ก่อนเก็บ 10-15 วัน ให้งดการให้น้ำเพื่อให้เนื้อมะยงชิดมีรสหวาน

มะยงชิดใน 1 ปี จะติดดอกประมาณ 2 รุ่น คือ อากาศหนาวมาเยือนครั้งแรกต้นจะติดดอกรุ่นหนึ่ง และถ้าอากาศหนาวลงมากระทบต้นก็จะติดดอกอีก รวมแล้วสามารถเก็บได้ 2 รุ่น ใน 1 ปี แต่สำหรับปีนี้ อากาศหนาวมาหลายครั้ง ทำให้มีผลผลิตเก็บได้ถึง 3 รุ่น แต่เกษตรกรมักจะดูแลเพียงแค่ 2 รุ่น เท่านั้น รุ่นที่ 3 ถ้ามีผลให้เก็บขายก็เก็บ ไม่มีก็ไม่ว่าอะไร เพราะรุ่นที่ 2 นั้นมีมะยงชิดดกมาก หลังเก็บผลผลิตหมด ก็ตัดแต่งกิ่ง ถึงเดือนมีนาคมราวกลางเดือนใส่ปุ๋ยคอกบำรุงต้น เพื่อให้สร้างผลผลิตในปีต่อไป

สำหรับแมลงวันทองศัตรูมะยงชิดนั้น ด.ต. อำนวย บอกว่า ที่สวนของตนไม่มี เพราะทำสวนให้สะอาด ให้โล่งเตียน ไม่ให้มีเปลือกหรือผลตกหล่นตามสวนไว้เป็นที่เพาะพันธุ์แมลงวันทองโดยเด็ดขาด เราจะดูแลตั้งแต่เบื้องต้น ไม่ให้มีปัญหาในบั้นปลาย

ส่วนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมสวน ก็ต้องขอร้องเวลารับประทานมะยงชิดในสวน อย่าทิ้งเปลือกทิ้งเมล็ดที่รับประทานแล้วไว้ตามพื้นดินในสวน จะทำให้แมลงวันทองใช้เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ ทางสวนเองก็ไม่กล้าเตือนท่าน เดี๋ยวท่านจะเสียความรู้สึก ก็เลยใช้วิธีให้คนงานคอยตามเก็บเปลือกเก็บผลที่ท่านทิ้งไว้ตามพื้นดินในสวน ส่วนศัตรูอื่นๆ ก็ไม่มีอะไร พอจะดูแลได้ไม่ยุ่งยาก

ปีนี้แม้ผลผลิตจะเก็บหมดแล้ว แต่ปีหน้าฟ้าใหม่ให้เตรียมตัวกันไว้ ราวสิ้นเดือนมกราคมต้นกุมภาพันธุ์ จะมีมะยงชิด มะปรางหวาน ผลสวยๆ ให้ท่านได้ไปชมกับต้นจริงกันเลย ชมรมชาวสวนมะปรางหวานนครนายกยินดีต้อนรับ ติดต่อไปได้ที่ ด.ต. อำนวย หงส์ทอง ประธานชมรมได้ทุกวัน โทร. (081) 762-4082, (037) 330-275 เจ้าตัวบอกมา ยินดีต้อนรับครับผม

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครนายก
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 429
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM