เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
นักวิจัยชูพืชพลังงานชนิดใหม่ "มะเยาหิน" พืชพลังงานจากประเทศลาว ปลูกได้ดีในไทย ให้น้ำมันมาก
   
ปัญหา :
 
 
นับย้อนไป 2-3 ปี ให้หลัง แนวโน้มการศึกษาวิจัยพืชพลังงานทดแทนภายในประเทศไทยเริ่มได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย และได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สบู่ดำ และปาล์มน้ำมัน พืชพลังงานทดแทนน้ำมันในอันดับต้นๆ ที่นักวิชาการหลายคนเล็งเห็นถึงคุณค่า และประโยชน์ทางน้ำมัน กระทั่งนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลและนำไปทดลองใช้กับเครื่องยนต์จริงๆ บ้างแล้ว และจากความพยายามในการค้นหาแหล่งพลังงานทดแทนชนิดอื่นที่สามารถให้น้ำมันได้มากกว่าพืชทั้ง 2 ชนิด ที่กล่าวข้างต้นนั้น ล่าสุด นักวิจัย จากศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ออกมาเปิดเผยว่า พบแหล่งพลังงานบนดินชนิดใหม่ จาก "มะเยาหิน" พืชพลังงานทดแทนน้ำมันจากฝั่งลาว วิจัยปลูกได้ผลดีในประเทศไทย คาดจะเป็นแหล่งพืชพลังงานชนิดใหม่ ที่เป็นทางเลือกทดแทนพืชน้ำมันเดิมในประเทศไทย เนื่องจากมีค่าความร้อนที่มีศักยภาพสูง พร้อมสนับสนุนส่งเสริมการปลูกเพื่อผลิตเป็นน้ำมันสำหรับใช้ทดแทนน้ำมันในเครื่องยนต์ดีเซลของเกษตรกร หรือผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล



เดินหน้า...โครงการวิจัย มะเยาหิน


ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี หัวหน้าโครงการการประเมินศักยภาพพืชน้ำมันชนิดใหม่ (มะเยาหิน) สำหรับภาคเหนือของประเทศไทย ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมมือกับสหกรณ์ผู้ผลิตพลังงานทดแทนเพื่อชาติ ได้วิจัยโครงการการประเมินศักยภาพพืชน้ำมันชนิดใหม่ (มะเยาหิน) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เครือข่ายภาคเหนือ) และจากวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันของโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของประเทศไทยสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการครองชีพและรายได้ที่ลดต่ำลงของประชาชน การพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชพลังงานขึ้นใช้ภายในประเทศเป็นแนวทางในการลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ โครงการวิจัยนี้เป็นการศึกษาศักยภาพของการผลิตพืชน้ำมันชนิดใหม่ (มะเยาหิน) ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่ปลูกในประเทศลาว

จากการศึกษาเบื้องต้นของศูนย์วิจัยพลังงานและสหกรณ์ผู้ผลิตพลังงานทดแทนเพื่อชาติ พบว่าผลผลิตต่อไร่สูงกว่าสบู่ดำ มีปริมาณน้ำมันสูงถึง 400-500 ลิตร ต่อไร่ ใกล้เคียงปาล์มน้ำมัน มีค่าความร้อน 9,279 cal/g ใกล้เคียงกับสบู่ดำและปาล์มน้ำมัน แต่อย่างไรก็ตาม การตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม ปริมาณผลผลิต ปริมาณน้ำมันของมะเยาหิน เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยก่อนที่จะนำไปส่งเสริมการผลิตเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศต่อไป

สำหรับการวิจัยโครงการนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ

1.การศึกษาศักยภาพการให้ผลผลิตและปริมาณน้ำมันของมะเยาหิน

2. การศึกษาสมรรถนะของเครื่องยนต์ดีเซลเมื่อใช้น้ำมันที่สกัดจากต้นมะเยาหิน โดยกระบวนการวิจัยจะเริ่มจากการรวบรวมสายพันธุ์มะเยาหินจากประเทศลาว นำมาทดสอบการให้ผลผลิต โดยมีการทดสอบที่ระยะการปลูกต่างๆ กัน และศึกษาแนวทางการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นเตี้ย สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว และศึกษาแนวทางการสกัดน้ำมันที่เหมาะสม ทั้งการสกัดน้ำมันด้วยวิธีกล และการสกัดน้ำมันโดยใช้ตัวทำละลายทางเคมี นำน้ำมันที่ได้ไปศึกษาคุณสมบัติทางความร้อน เคมี และฟิสิกส์ หลังจากนั้นนำไปใช้ทดสอบสมรรถนะของเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก สำหรับการเกษตร และประเมินผลตอบแทนเชิงเศรษฐศาสตร์ของการผลิตมะเยาหิน เปรียบเทียบกับสบู่ดำและปาล์มน้ำมัน

ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสุ่มสำรวจเบื้องต้นของพืชน้ำมันชนิดใหม่ที่ปลูกในประเทศลาว พบว่าพืชชนิดนี้ ที่อายุ 5 ปี ติดผลปานกลาง ให้ผลผลิตต้นละประมาณ 3,026 ลูก คิดเป็นน้ำหนักเมล็ดประมาณ 22 กิโลกรัม ถ้าประเมินที่ระยะปลูก 4x4 เมตร จะให้ผลผลิตประมาณ 1,200-1,500 กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าผลผลิตสบู่ดำที่ปลูกในประเทศไทย 3-4 เท่า จากการนำตัวอย่างน้ำมันที่ได้มาวิเคราะห์ที่ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่า ค่าความร้อนใกล้เคียงกับสบู่ดำ

ทั้งนี้ จะเห็นว่าพืชพลังงานชนิดใหม่มีศักยภาพสูงที่จะส่งเสริมการปลูกเพื่อผลิตเป็นน้ำมันสำหรับใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลในเครื่องยนต์เกษตร หรือผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล แต่อย่างไรก็ตาม การนำพืชน้ำมันชนิดใหม่นี้มาปลูกในประเทศไทยจำเป็นต้องมีการนำข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน ทั้งทางด้านการผลิต เช่น ปริมาณการให้ผลผลิต การตอบสนองต่อปุ๋ยเคมี อัตราการใช้น้ำ ปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ การตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม ต้นทุนการผลิต รวมถึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติทางด้านเชื้อเพลิง เช่น ค่าความร้อน ค่าความหนืด จุดวาบไฟ ฯลฯ ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด ที่จะส่งเสริมการผลิตในประเทศไทย

สำหรับพืชพลังงานชนิดใหม่ มะเยาหิน เป็นพืชน้ำมันชนิดหนึ่งที่คนส่วนมากยังไม่ค่อยรู้จัก และมีศักยภาพในการผลิตพืชน้ำมันสูง รวมถึงอีกหลายคุณสมบัติที่เด่นชัดคือ เป็นพืชโตเร็ว ภายใน 2-3 ปี จะให้ผลผลิตและขนาดต้นที่ใหญ่ ช่วยคืนความชุ่มชื้นให้กับสภาพแวดล้อมและพื้นดิน มีอายุยาวนาน 60-70 ปี การบริหารจัดการน้อย เนื่องจากเป็นพืชป่า สามารถโตได้ตามธรรมชาติ จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่สนใจนำไปทดลองปลูกแซมในพื้นที่สวน อาทิ สวนลำไย สวนลิ้นจี่ เป็นต้น



นานา...ทรรศนะ

คุณสัมฤทธิ์ อัครปะชะ ประธานที่ปรึกษาสหกรณ์พลังงานทดแทนแห่งชาติ จำกัด กล่าวว่า เบื้องต้นต้องการให้เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทำไบโอดีเซล 1 ตำบล 1 ปั๊ม โดยส่งเสริมเกษตรกรปลูกมะเยาหินและรับซื้อในราคาเป็นธรรม เพื่อเพิ่มรายได้ชุมชนโดยตรง ถ้าปลูกครัวเรือนละ 5 ต้น จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั้งนี้ แต่ละวันใช้น้ำมันดีเซล 64 ล้านลิตร มูลค่า 2,000 ล้านบาท ถ้าผลิตไบโอดีเซลจากพืชทดแทน 20-30% จะลดต้นทุนได้ 600 ล้านบาท ต่อวัน และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนเปลือกมะเยาหินสามารถทำเป็นเครื่องประดับ เพราะเปลือกแข็งไม่แตกง่าย ซึ่งต้องการให้กระทรวงพลังงานส่งเสริมและสนับสนุนพืชพลังงานทดแทน เพราะราคาน้ำมันโลกสูงขึ้น

ทางด้าน อาจารย์พัฒนา ปัญญาเจริญ เจ้าของกิจการโรงงานผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล กล่าวว่า ในอดีตน้ำมันเชื้อเพลิง ราคา 20 บาท ต่อลิตร น้ำมันพืชเหลือใช้ 80 บาท ต่อปี๊บ ต้นทุนในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจึงไม่สูงนัก ปัจจุบัน น้ำมันพืชเหลือใช้ราคาสูงถึง 300 บาท ต่อปี๊บ ทำให้ต้องหันมาผลิตน้ำมันไบโอดีเซลใช้ให้มากขึ้น เพื่อลดงบประมาณในการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ แต่การผลิตไบโอดีเซลชุมชนนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเท่าที่ควรและไม่ต่อเนื่อง โดยรัฐสนับสนุนและให้การอบรมแก่ชาวบ้านด้านการผลิตไบโอดีเซล แต่กลับประสบปัญหาด้านวัตถุดิบ ทำให้หลายๆ โครงการยุบตัวลง เนื่องจากภาครัฐไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ นอกจากนี้แล้ว ภาครัฐมองว่าการผลิตไบโอดีเซลชุมชนเป็นระบบเล็ก ไม่สามารถผลิตไบโอดีเซลบริสุทธิ์ได้ และรัฐบาลให้ค่าชดเชยน้ำมันไบโอดีเซลเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้น ไม่สนใจผู้ผลิตรายย่อย ทำให้ต้นทุนสูง และขาดทุนในที่สุด



ศูนย์วิจัยพลังงาน...พร้อมดำเนินงาน

จากการพูดคุยกับ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ทำให้ทราบข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า ในการศึกษาวิจัยพืชพลังงาน ทางศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2542 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ดำเนินโครงการ ศูนย์สาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ในการสาธิตเทคโนโลยีพลังงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์วิจัยพลังงาน โดยมีการบริหารจัดการอิสระจากระบบราชการเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาด้านวิจัยพลังงาน รวมทั้งตอบสนองนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

สำหรับงานวิจัยของศูนย์พลังงาน ที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการวิจัยหลายโครงการ ได้แก่

1. โครงการก่อสร้างเตาอบลำไยระบบน้ำร้อนหรือไอร้อน โดยร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เพื่อลดปัญหาลำไยสดล้นตลาด และการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกรมีความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาด และช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านเชื้อเพลิง

2. โครงการปรับปรุงเครื่องอบแห้งลำไยเนื้อ เป็นการปรับปรุงโรงอบลำไยเก่าให้มีความเหมาะสมสำหรับการอบลำไยเนื้อ โดยเพิ่มประสิทธิภาพของโรงอบ โดยความร่วมมือกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน

3. โครงการการใช้พลังงานชีวมวลแบบรวมศูนย์สำหรับการอบแห้งลำไยด้วยเครื่องแบบกระบะ เป็นการพัฒนาระบบการใช้พลังงานชีวมวลแบบรวมศูนย์ เพื่อทดแทนการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ในการอบแห้งลำไย หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนคือ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา

4. โครงการพัฒนากลุ่มโรงอบแห้งลำไยชุมชนเพื่อลดต้นทุนการผลิต เป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาโรงอบลำไยแห้ง ให้สามารถลดต้นทุนในการผลิตด้านเชื้อเพลิง โดยเน้นการใช้พลังงานชีวมวล สำหรับเตาอบแห้งแบบไต้หวัน ได้รับทุนสนับสนุนจากงบฯ บูรณาการจังหวัดเชียงใหม่ (งบฯ กลาง) อีกด้วย

"ขณะนี้ได้มีการค้นพบพืชพลังงานทดแทนใช้ผลิตไบโอดีเซลตัวใหม่ชื่อ มะเยาหิน เป็นพืชที่มีความหนืดสูงกว่าสบู่ดำ หรือน้ำมันปาล์มหนึ่งเท่าตัว หากปลูก 1 ไร่ จะให้ผลผลิต 1,500 กิโลกรัม นำไปทำไบโอดีเซลได้ 300 ลิตร ใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลและผลิตเป็นน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์และเครื่องจักรได้ มะเยาหิน เป็นพืชพลังงานชนิดใหม่ที่น่าสนใจ และมีความเหมาะสมกับเกษตรกรไทย เพราะพืชชนิดนี้มีอยู่ตามธรรมชาติ ขึ้นเองตามธรรมชาติ ถ้าได้รับการดูแลบริหารจัดการที่ดี จะเห็นผลประโยชน์ และผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่ในการส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่เกิดผลดีมากที่สุด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ควรเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการส่งเสริม ทั้งในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณ และการส่งเสริมอาชีพ ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีรายได้เข้ามาในชุมชนและเพิ่มระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย" ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี หัวหน้าโครงการการประเมินศักยภาพพืชน้ำมันชนิดใหม่ (มะเยาหิน) สำหรับภาคเหนือของประเทศไทย ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทรศัพท์ (081) 531-5376 หรือติดต่อได้ที่ ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ 50290 www.energy@mju.ac.th.

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
---ไม่ระบุ---
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
---ไม่ระบุ---
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 429
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM