เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
มะม่วง
   
ปัญหา :
 
 
"หมากม่วงพวงพรวนย้อย พิมเสนห้อยสอยมากิน

สุกห่ามตามใจถวิล เอาตะกร้อขอเกี่ยวลงฯ"



เป็นส่วนหนึ่งของกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ

ปัจจุบัน มะม่วงเป็นไม้ผลสำคัญชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกและบริโภคกันแพร่หลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มะม่วงเป็นพืชไม้ผลที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ในช่วงหน้าร้อนจะได้ลิ้มรสมะม่วงสีเนื้อเหลือง รสหวานฉ่ำ หรือจะเลือกชนิดมันกรอบอมเปรี้ยวจิ้มพริกเกลือ คลุกน้ำปลาหวาน หมกในข้าวเหนียวมูนฉ่ำน้ำกะทิราดปะแล่มเกลืออย่างไม่อยากจะชวนใครมาแย่งชิม


มะม่วง เป็นผลไม้หรือไม้ผลเขตร้อน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีหลายชนิดพันธุ์ รสและกลิ่นของเนื้อผลแตกต่างกันไป ปลูกได้ทั้งในพื้นที่ราบพื้นบ้านและบนพื้นที่สูง แต่ต้องเป็นสายพันธุ์ปรับปรุงเฉพาะพื้นที่ เนื่องจากบนพื้นที่สูง สภาพภูมิอากาศค่อนข้างหนาวเย็น ทำให้มีปัญหาในการติดดอกออกผล โดยเฉพาะช่วงที่มีหมอกจัด แต่มีข้อดีตรงส่วนที่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวไม่ตรงกับมะม่วงพื้นราบและพันธุ์ที่ปลูกต่างกัน จึงเป็นไม้ผลที่มีโอกาสทางการตลาดดีขึ้น

โดยทั่วไปมะม่วงจะมีต้นสูง ประมาณ 8-20 เมตร ลำต้นมีเปลือกสีน้ำตาลปนดำ ผิวขรุขระ บางสายพันธุ์อาจจะเป็นร่องแตกตามลำต้นเมื่อมีอายุมาก เป็นไม้ผลเมืองร้อนที่ไม่ผลัดใบ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงกันเป็นคู่ๆ ใบหนา ปลายแหลมโคนมน สีเขียวเข้ม บางชนิดบิดหรือขอบเรียบ เจริญได้ดีตั้งแต่ดินเหนียวไปจนถึงดินทรายปนกรวด เจริญเติบโตกับสภาพดินฟ้าอากาศแทบทุกชนิด สำหรับในพื้นที่ที่มีฝนตกชุกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการออกดอกยาก ส่วนใหญ่มีอายุยืน สามารถให้ผลผลิตต่อเนื่องจนอายุถึง 50-60 ปี

มะม่วงมีชื่อสามัญ Mango มีชื่อวิทยาศาสตร์ Mangifera indica Linn. อยู่ในวงศ์ ANACARDIACEAE มีชื่ออื่นๆ จังหวัดจันทบุรีเรียก ช้อก, ช๊อก ทางใต้ ทางมลายูเรียก เปา ทางละว้า และเชียงใหม่เรียก แป



ข้อมูลเชิงพฤกษศาสตร์

ต้นมะม่วงส่วนใหญ่มีลำต้นตรง อาจจะแตกกิ่งใหญ่แยกปางออก 2-3 กิ่งใหญ่ หรือทรงพุ่มและสูงชะลูด ขนาดแตกต่างตามสายพันธุ์ บางชนิดพันธุ์พุ่มต้นจะแผ่กิ่งก้าน หลายสิบสาขาหรือมีพื้นที่เป็นร้อยตารางฟุต ส่วนใหญ่ลำต้นมีเปลือกหนาสีน้ำตาลแก่ มีเปลือกยางเหนียวสีน้ำตาล เนื้อไม้เหนียวสีน้ำตาลแกมแดง

ดอก มะม่วงออกดอกเป็นลักษณะช่อดอก ยาวเกือบฟุต จะออกดอกบริเวณปลายกิ่ง ในช่อดอกจะมีทั้งดอกที่เป็นดอกตัวผู้และดอกสมบูรณ์เพศ คือดอกที่มีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมียในดอกเดียวกัน ดอกจะบานช่วงเช้าตรู่ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม หรือแล้วแต่ชนิดพันธุ์ จะบานอยู่ประมาณ 15-20 วัน สีนวลหรือสีเหลืองอ่อน

ใบ มีรูปใบเรียวคล้ายหอก ผิวใบเป็นมัน บางชนิดขอบเรียบ หรือเป็นลอนบิด ส่วนใหญ่สีเขียวเข้ม มีก้านใบ 2-3 เซนติเมตร โคนใบมนและแคบ

ผล มะม่วงมีผลหลายสีสัน เมื่อดอกโรยแล้วจะติดผล ทั้งผลเดี่ยวและเป็นช่อ ขนาดแตกต่างตามสายพันธุ์แต่ละชนิด ลักษณะผลมีทั้งกลม ยาว รี หรือเป็นรูปหยดน้ำ มีหลายรส ทั้งเปรี้ยวจัด หวาน มัน มีกลิ่นหอมแตกต่างแล้วแต่ชนิดพันธุ์

เมล็ด ส่วนใหญ่มีสีขาวรูปร่างคล้ายไต บางชนิดแบน บางชนิดโป่งช่วงกลางเมล็ด นำไปเพาะเป็นต้นกล้าได้ ใช้ปลูกเป็นต้นตอ เพื่อติดตา ทาบกิ่งต่อไปได้



การขยายพันธุ์

มะม่วงขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดตามธรรมชาติ แต่นิยมใช้วิธีตอนกิ่ง หรือทาบกิ่ง หรือต่อกิ่ง แต่ปัจจุบันนิยมสร้างต้นกล้าจากการเปลี่ยนยอดเป็นพันธุ์ดี ควรปลูกในพื้นที่โล่งกลางแจ้ง เพราะมะม่วงเป็นไม้ผลชอบแดด

พันธุ์มะม่วงมีหลายพันธุ์ ผลมะม่วงเรียกชื่อทั่วไปหลายชนิด อกร่อง น้ำดอกไม้ ลิ้นงูเห่า หัวช้าง สามฤดู เจ้าคุณทิพย์ พิมเสน แรด ทองดำ เขียวเสวย หนังกลางวัน เป็นต้น ชื่อมะม่วงเหล่านี้ก็เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

แต่มีพันธุ์มะม่วงอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นพันธุ์มะม่วงบนพื้นที่สูง ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวงได้นำพันธุ์มะม่วงจากต่างประเทศหลายสายพันธุ์มาทดสอบและวิจัยเพื่อหาพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่สูง และปัจจุบันได้รับการคัดเลือกพันธุ์ที่มีคุณภาพดีนำออกส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่สูง ปลูกเป็นการค้า มีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่

1. พันธุ์นวลคำ (Nualkhum) เป็นพันธุ์ที่นำเข้าจากประเทศไต้หวัน ลักษณะผลกลมยาว ก้นผลงอน และค่อนข้างแหลม ผลมีขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 600-1,300 กรัม ต่อผล ประกอบด้วยเนื้อผลประมาณ 82.55 เปอร์เซ็นต์ สามารถรับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก โดยเมื่อผลแก่จัดมีรสมัน เมื่อสุกผลสีเหลืองอมส้ม รสหวาน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนมิถุนายน

2. พันธุ์ปาล์มเมอร์ (Palmer) ผลมีรูปไข่ ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 15.2 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 700 กรัม ต่อผล ประกอบด้วยเนื้อผลประมาณ 76.64 เปอร์เซ็นต์ ขั้วผลมีสีเหลืองส้มแต้มสีแดง จุดบนผลใหญ่และมีจำนวนมาก เนื้อแน่น มีเสี้ยนเล็กน้อย สามารถรับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก เมล็ดยาวและมีขนาดกลาง ต้นแข็งแรงปานกลาง และทรงต้นสูงโปร่ง เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม

3. พันธุ์อาร์ทูอีทู (R2E2) เป็นพันธุ์การค้าของประเทศออสเตรเลีย พัฒนามาจากมะม่วงพันธุ์เคนท์ (Kent) ผลมีลักษณะกลม เนื้อแข็ง ผลค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักประมาณ 800 กรัม ต่อผล ปริมาณเนื้อผลประมาณ 81.61 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสุกผิวผลจะมีสีเหลืองส้ม เนื้อสีเหลืองมะนาว มีเสี้ยนน้อยมาก รสหวาน มีกลิ่นขี้ไต้อ่อนๆ เป็นพันธุ์ที่มีอายุการเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยวนาน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนมิถุนายน

4. พันธุ์เออร์วิน (Irwins) ผลมีขนาดปานกลาง ยาวประมาณ 12.7 เซนติเมตร น้ำหนักต่อผล 300 กรัม ปริมาณเนื้อผลประมาณ 72.9 เปอร์เซ็นต์ รูปร่างค่อนข้างยาวรีหรือรูปไข่ ติดผลดก ผลดิบมีจุดปะสีแดงบริเวณไหล่และแก้มผล ผิวผลสุกมีสีแดงปะสีเลือดนก เนื้อผลสุกมีสีเหลืองทอง ไม่มีเสี้ยน กลิ่นไม่แรง รสหวาน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนมิถุนายน

มะม่วงเป็นไม้ผลเศรษฐกิจ ส่งออกต่างประเทศ นำรายได้เข้าประเทศจำนวนมากหลายล้านบาทต่อปี รับประทานได้ทั้งผลดิบ ผลอ่อน ผลแก่ ผลสุก ซึ่งจะต้องคิดไกลไปถึงอกร่องหรือน้ำดอกไม้กับข้าวเหนียวมูน ที่ยอมเพิ่มน้ำหนักกับข้าวเหนียวมะม่วง การผลิตมะม่วงส่วนใหญ่จะมีอุปสรรคในการจัดสวน ระบบน้ำ และศัตรูพืช รวมทั้งการเก็บเกี่ยวมะม่วงที่ไม่ได้ขนาดและอายุการเกี่ยวเก็บ ตลอดจนการบรรจุหีบห่อ ขนส่ง การจัดตั้งกลุ่มพัฒนาการผลิต หรือการพิจารณาการผลิตแบบครบวงจร หรือใช้เทคโนโลยีนำการผลิต การทำ "GAP" (เกษตรดีที่เหมาะสม) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีทั้งเพื่อรายได้และชื่อเสียงในการส่งออก

มะม่วงใช้ประโยชน์ได้เกือบทุกส่วน ทั้งต้นทั้งใบ แม้แต่เปลือก ผลดิบ ซึ่งนำมาคั่วรับประทานกับน้ำตาล แก้อาการปวดเมื่อย ในช่วงสตรีที่ปวดประจำเดือน

เปลือกของต้น ต้มกรองน้ำดื่มแก้ไข้ตัวร้อน

ใบสด 3-4 ใบ ต้มกรองเอาน้ำดื่มประจำ แก้ลำไส้อักเสบเรื้อรัง แก้ท้องอืดแน่น หรือนำน้ำต้มใบมะม่วงใช้ล้างบาดแผลภายนอก ยับยั้งเชื้อได้

มะม่วงจัดเป็นไม้มงคลที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยพุทธกาล คนโบราณเชื่อว่า ถ้าหากปลูกมะม่วงไว้บริเวณทางทิศใต้ของบ้านจะทำให้เจ้าของบ้านหรือผู้อยู่อาศัยมีความมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น ในพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับอยู่ในสวนอัมพวารามของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งเป็นป่ามะม่วง มีมะม่วงขึ้นมากมาย

กรมส่งเสริมการเกษตรได้สนับสนุนส่งเสริมให้จัดตั้งกลุ่มพัฒนาการผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด รวมกลุ่ม 12 กลุ่ม สมาชิก 360 ราย พื้นที่ 3,600 ไร่ และจัดทำจุดถ่ายทอดเทคโนโลยี 36 จุด พื้นที่ 192 ไร่ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะม่วง ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะจัดทำจุดถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่องการผลิตมะม่วงที่ดีและเหมาะสม การผลิตมะม่วงนอกฤดู และการเปลี่ยนพันธุ์มะม่วงตั้งแต่พุทธศักราช 2544 ซึ่งปัจจุบันก็ยังปฏิบัติตามภารกิจสำคัญตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง โดยการทุ่มเทและมุ่งมั่นปฏิบัติงานให้เกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพและขีดความสามารถของเกษตรกร เกิดผลงานและเป็นประโยชน์สูงสุด
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
---ไม่ระบุ---
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
---ไม่ระบุ---
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 429
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM