เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ไปดูอาชีพเก็บพรรณไม้น้ำขาย ที่พังงา
   
ปัญหา :
 
 
หลบความร้อน ที่รุมเร้าและอบอ้าวจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ภาคใต้ ใช้เส้นทางเพชรเกษม ถึงสี่แยกปฐมพร ก็เลี้ยวขวาไปทางจังหวัดระนอง ลัดเลาะไปชายฝั่งอันดามัน ผ่านอำเภอสุขสำราญ คุระบุรี ตะกั่วป่า ถึงจังหวัดพังงา

แม้ว่าพระอาทิตย์จะส่องแสงแดดจ้าเพียงใด แต่ก็ไม่ร้อนรุ่มเหมือนกับกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเขตใกล้อุทยานแห่งชาติศรีพังงา ด้วยว่ามีต้นไม้และสายน้ำทำหน้าที่เป็นม่านกั้นความร้อนได้เป็นอย่างดี

อุทยานแห่งชาติศรีพังงาอยู่ในเขตอำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นแนวขนานกับฝั่งทะเลอันดามันในแนวเหนือใต้ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ อาทิ ไม้ยาง ไม้ตะเคียนทอง ปาล์มสกุลต่างๆ กระพ้อหนู ชายผ้าสีดา กล้วยไม้รองเท้านารี เอื้องเงินหลวง และยังสามารถพบสัตว์ป่าและนกต่างๆ หลายชนิด ได้แก่ สมเสร็จ เลียงผา วัวแดง เก้ง เสือ นกเงือก นกเขียวคราม นกชนหิน ปลาพวง กบทูด เป็นต้น

นอกจากพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าดังกล่าวแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งกำเนิดสายน้ำหล่อเลี้ยงทั้งคนและสัตว์ในละแวกนี้ด้วย

น้ำตกตำหนัง น้ำตกโตนต้นเตย น้ำตกโตนต้นไทร และน้ำตกสวนใหม่ ที่แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศเข้ามาสัมผัสนับหมื่นๆ คน นอกจากนี้ ยังมีคลองคุรอด คลองตำหนัง คลองแพรกขวา คลองแพรกซ้าย คลองบางแดง คลองบางวัน คลองหลักเขต และคลองบางใหญ่ ล้วนแล้วมาจากหยดน้ำที่อุทยานฯ ทั้งสิ้น

ทรัพยากรธรรมชาติที่นี่สมบูรณ์มาก ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ นั้น ชาวบ้านหลายคนเลี้ยงชีพด้วยการหาของป่า อาทิ เห็ด ผลไม้ และสัตว์ป่า มาแปรรูปเป็นอาหารเลี้ยงครอบครัว และขายด้วย

ดังเช่น ครอบครัวของ คุณคล่อง ชัยช่วย อดีตสารวัตรกำนันตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัด พังงา (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) มีลูกๆ ทั้งหมด 12 คน เขาหาเงินเลี้ยงครอบครัวด้วยการเก็บพรรณไม้น้ำตามลำคลองและน้ำตกมาส่งขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าในกรุงเทพฯ มาเป็นเวลายาวนานกว่า 40 ปี

พ่อค้าแม่ค้าในกรุงเทพฯ ก็นำมาขายให้กับกลุ่มที่เลี้ยงปลาสวยงามเพื่อนำมาประดับไว้ในตู้ปลา นอกจากนี้ มีการส่งออกไปขายตลาดต่างประเทศด้วย

แม้ว่าปัจจุบันนี้ คุณคล่อง จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่อาชีพนี้ยังตกทอดมายัง คุณประจักษ์ ลูกชายคนโปรด ที่คุณคล่องได้หมายมั่นปั้นมือมาตั้งแต่ครั้นเยาว์วัย

"ตอนนี้ผมอายุ 40 แล้ว แต่ผมยังจำได้ดีว่า ในช่วงวัยเด็ก ผมกับพี่ๆ น้องๆ เข้าป่าหาสายน้ำ เพื่อไปช่วยเก็บพรรณไม้น้ำมาให้พ่อ เพื่อส่งขายพ่อค้าแม่ค้าในกรุงเทพฯ ผมและพี่น้องทำงานช่วยเหลือครอบครัวมาตลอด จนกระทั่งโตขึ้นไปทำงานเป็นพนักงานบริการร้านอาหารที่จังหวัดภูเก็ตได้สัก 1-2 ปี เท่านั้น ก็ต้องกลับบ้าน มายึดอาชีพนี้ต่อ เพราะว่าเราชอบอยู่กับธรรมชาติมากกว่านั่นเอง" คุณประจักษ์ เล่าถึงชีวิตในวัยเด็กและวัยทำงาน

พร้อมกับเล่าต่อไปอีกว่า "หลังจากคุณพ่อเสียชีวิต และทางรัฐบาลประกาศพื้นที่ภูเขาใกล้ๆ บ้านเป็นอุทยานแห่งชาติแล้ว ผมก็ยังยึดอาชีพนี้อยู่ โดยเน้นเสาะหาพรรณไม้น้ำนอกเขตอุทยานฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ตามลำคลอง นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งผมได้นำมาเพาะขยายพันธุ์เองในฟาร์มหลังบ้านด้วย ส่วนพี่ๆ น้องๆ ไม่มีคนไหนเลยที่จะสืบทอดอาชีพนี้ ส่วนใหญ่แต่งงานมีครอบครัว จากนั้นก็แยกย้ายไปอยู่ที่อื่น พร้อมกับประกอบอาชีพใหม่กันเกือบทั้งนั้น"

คุณประจักษ์ บอกว่า อาชีพนี้คุณพ่อปูฐานความรู้ให้ทุกด้านแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเก็บเกี่ยว การขนส่ง และการตลาด เป็นต้น เราเพียงทำหน้าที่ต่อยอดเท่านั้น โดยไม่ต้องไปเรียนเพิ่มเติมมากนัก แต่ถ้าหันไปยึดอาชีพอื่นๆ ต้องลองผิดลองถูกอีกนาน ถึงจะประสบความสำเร็จ

"พรรณไม้น้ำที่เรานำไปขายนั้น มีทั้งเก็บเกี่ยวจากธรรมชาติและฟาร์มของเราเอง แต่ส่วนใหญ่มักหาตามธรรมชาติมากกว่า เพราะว่าที่นี่มีมาก โดยเฉพาะพวก มวกเหล็ก บอนแดง หอมน้ำ และหัวไส้ปลาไหล เป็นต้น มีจำนวนมากหลาย จนผมเก็บไม่ไหว จำเป็นต้องว่าจ้างแรงงานประมาณ 10 คน มาช่วยเก็บรวบรวม เพื่อส่งขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าในกรุงเทพฯ ส่วนตัวผมตอนนี้ส่วนใหญ่มีหน้าที่คัดเลือก และห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ จากนั้นนำมาใส่ในลังโฟม เพื่อเตรียมส่งขายสู่ตลาดในกรุงเทพฯ ต่อไป"

คุณประจักษ์เล่าว่า เมื่อก่อนนี้ จะออกเดินทางเสาะหาพรรณไม้น้ำที่ตลาดต้องการ จนสามารถรู้ข้อมูลอย่างชัดเจนเลยว่า ลำคลอง บึง ห้วย และน้ำตก ที่ไหนมีพรรณไม้น้ำอะไรมากเป็นพิเศษ หรือเก็บเกี่ยวได้ดีช่วงไหน ดังนั้น เมื่อมีประสบการณ์หรือรับรู้ข้อมูลได้ดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปเก็บเกี่ยวเลย ส่วนใหญ่จะว่าจ้างให้ลูกน้องไปทำหน้าที่แทน ส่วนตัวเองก็พัฒนาเป็นฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ พร้อมนำส่งให้พ่อค้าแม่ค้าต่อไป



ตลาดพรรณไม้น้ำ เปิดกว้าง

คุณประจักษ์ เล่าว่า ตั้งแต่จำความได้และช่วยงานคุณพ่อเก็บพรรณไม้น้ำขาย ไม่เห็นมีปัญหาด้านการตลาดเลย แต่ต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ คือช่วงเก็บเกี่ยวหรือขนส่ง ต้องรักษาความชื้นไว้ตลอด ไม่เช่นนั้นเมื่อถึงมือผู้รับซื้อจะเหี่ยวเฉาได้ ซึ่งจะมีผลกระทบตามมา นั่นก็คือ จะถูกกดราคาหรือไม่ได้รับผลตอบแทนเลย

"ช่วงแรกๆ ที่ครอบครัวเราทำอาชีพนี้ก็มีปัญหาด้านคุณภาพมาก เพราะว่าไม่มีใครมีความรู้เรื่องพรรณไม้น้ำเลย ต้องศึกษาวิธีการเก็บเกี่ยวและขนส่งกันเอง ทำให้บางครั้งได้เงินน้อยหรือไม่ได้เลย แต่ระยะหลังเมื่อผมโตขึ้น ก็ศึกษาหาความรู้เพิ่มจากผู้มีประสบการณ์ทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพวกพ่อค้าแม่ค้า และจากการอ่านหนังสือ นอกจากนี้ ยังมาจากลองผิดลองถูกของเราเองด้วย จนมีความรู้ความชำนาญรู้จักพัฒนาพรรณไม้น้ำจนมีคุณภาพ จนตลาดยอมรับและเปิดกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ" คุณประจักษ์ กล่าว

คุณประจักษ์ บอกว่า ปัจจุบันนี้ มีผู้ส่งออกพรรณไม้น้ำหลายรายได้ติดต่อขอซื้อสินค้าจากเรา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จัดการส่งไปให้เกือบทุกราย ยกเว้นในตลาดนัดจตุจักรที่ได้ส่งไปขายเพียง 1 ราย เท่านั้น เพราะว่าที่นี่พวกพ่อค้าแม่ค้าไม่มีการส่งออก จะขายเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น และมีการแข่งขันกันสูง ดังนั้น จึงถูกขอร้องไว้ว่าต้องขายเพียง 1 ราย เท่านั้น ซึ่งเป็นขาประจำมายาวนานแล้ว

"ที่ตลาดนัดจตุจักรนี้ เราจะส่งพรรณไม้น้ำไปขาย 3 กล่องโฟม ต่อสัปดาห์ ได้เงินมา 5,000 บาท หรือเดือนละ 20,000 บาท ส่วนผู้ส่งออกนั้นไม่แน่นอน บางครั้งสั่งซื้อครั้งละมากๆ หลายหมื่นบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศ"

คุณประจักษ์ บอกว่า เมื่อมีการสั่งซื้อเข้ามา ก็สั่งให้ลูกน้องออกหาพรรณไม้น้ำในคลองธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกเขตพื้นที่อุทยานฯ นอกจากนี้ ก็ยังเก็บเกี่ยวพรรณไม้น้ำที่ปลูกไว้ในสวนหลังบ้านด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดนั่นเอง



ปลูกพรรณไม้น้ำ เลียนแบบธรรมชาติ

คุณประจักษ์ใช้พื้นที่หลังบ้านประมาณ 2 งาน หลังคาและด้านข้างคลุมด้วยซาแรนพลาสติค เพื่อพรางแสง และบริเวณพื้นจะกั้นด้วยอิฐบล็อคเป็นล็อคๆ ขนาด 2x3 เมตร ภายในจะนำดินทรายจากริมห้วยและบริเวณใกล้เคียงมาใส่ไว้เต็มพื้นที่

จากนั้นก็วางระบบน้ำหัวฉีดสปริงเกลอร์ทั่วทั้งแปลง ซึ่งคุณประจักษ์จะเปิดเครื่องสูบน้ำทำงานทั้งวัน โดยตั้งระบบอัตโนมัติไว้ คือทุกๆ 5 นาที จะทำงาน และหยุดพัก 10 นาที ยกเว้นช่วงฤดูฝนจะปิดเครื่องบ้าง

พรรณไม้น้ำที่คุณประจักษ์ปลูกไว้หลังบ้าน ส่วนใหญ่เป็นไม้ต่างถิ่นหรือเป็นสายพันธุ์จากต่างประเทศ อาทิ ตระกูลอะเมซอนและรากดำ เช่น ใบแข็ง ใบแหลม ใบบาง ใบแฉก และใบเขากวาง นอกจากนี้ ยังเป็นพวกมอสส์สายพันธุ์ต่างๆ ด้วย

พรรณไม้น้ำ คุณประจักษ์จะปลูกบนพื้นดินทราย ส่วนมอสส์นั้นเขาวางบนแผ่นกระเบื้อง โดยให้น้ำทั้งวัน ทำให้พืชเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะมอสส์ใช้ระยะเวลาประมาณ 15 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตขายได้แล้ว เพราะว่าขยายพันธุ์เต็มแผ่นกระเบื้องแล้ว

"ที่นี่เราจะไม่ใช้สารเคมี ไม่ว่าจะเป็นยา หรือปุ๋ย เราจะปล่อยให้มันเจริญเติบโตเอง คล้ายๆ กับธรรมชาติ ยกเว้นหลังการเก็บเกี่ยวพรรณไม้น้ำแล้ว เราจะพรวนดินหว่านปุ๋ยคอกลงไปเท่านั้นเอง"

คุณประจักษ์ บอกว่า การปลูกพืชลักษณะนี้ต้นทุนจะต่ำมาก และผู้ปลูกก็ปลอดภัยจากสารเคมีด้วย

สำหรับพรรณไม้น้ำที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้น คุณประจักษ์บอกว่ามีมากมายหลายชนิด แต่ที่ตลาดนิยมกัน คือบอนแดง หอมน้ำ หัวไส้ปลาไหล และมวกเหล็ก เป็นต้น ซึ่งพรรณไม้น้ำดังกล่าวในธรรมชาติมีอยู่ค่อนข้างมาก

หลังจากสัมภาษณ์คุณประจักษ์เสร็จแล้ว คุณประจักษ์ก็อาสานำทางไปดูพรรณไม้น้ำธรรมชาติที่มีอยู่ในลำคลองตำหนัง บริเวณข้างวัดตำหนัง ห่างจากบ้านคุณประจักษ์เพียง 1 กิโลเมตร เท่านั้น

ที่ลำคลองแห่งนี้ มีพรรณไม้อยู่มาก แต่บริเวณข้างๆ วัด จะมีต้นหอมน้ำ และมวกเหล็ก อยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ คุณประจักษ์ชี้ให้ดูพร้อมกับเดินลงไปเก็บผลผลิตพรรณไม้น้ำในลำคลอง ถอนต้นมวกเหล็ก พร้อมกับบอกว่า ต้นนี้ราคา 80 สตางค์ ผู้เขียนมองไปดูในลำคลอง พบว่ารัศมีไม่เกิน 1 งาน พบว่ามีพืชชนิดนี้นับพันๆ ต้นเลยทีเดียว

เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า แต่คนอื่นๆ มองข้าม เพราะไม่รู้ว่าตลาดอยู่ที่ไหน และราคาเท่าไร ถามกลับไปที่คุณประจักษ์ว่า ถ้านำเรื่องราวมาเผยแพร่แล้ว ไม่กลัวชาวบ้านหรือคนอื่นมาลอกเลียนแบบ หรือยึดอาชีพเหมือนกันหรือ? คุณประจักษ์ตอบด้วยเสียงดังฟังชัดว่า ใจจริงก็อยากให้ชาวบ้านทำอาชีพนี้เหมือนกับตัวเองบ้าง เพราะว่าตลาดโดยภาพรวมยังต้องการพรรณไม้น้ำอีกมาก แต่ไม่ตลอด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและสภาพเศรษฐกิจด้วย

"พ่อค้าแม่ค้ารับออเดอร์จากตลาดต่างประเทศ เขาก็โทรศัพท์มาที่เรา เมื่อระดมคนงานออกเก็บเกี่ยวพรรณไม้น้ำ จากนั้นก็ทำการแยกเกรด และห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ใส่ลังโฟมส่งขายมายังพ่อค้าแม่ค้าหรือผู้ส่งออกที่สั่งซื้อมา แต่ถ้าชาวบ้านมือใหม่ เขาไม่ค่อยเชื่อใจหรือมั่นใจในคุณภาพและการบรรจุ ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นมา ก็อาจทำให้ตลาดปลายทางพังได้ ดังนั้น ผู้ซื้อในเมืองไทย ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้กับชาวบ้านรายใหม่ๆ ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่กีดกันนะ แต่ขอให้รับรู้ไว้ว่า นี่คือ กลไกการตลาด เมื่อรับรู้แล้ว อาจค่อยๆ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปก็ทำรายได้เหมือนกับผมก็ได้" คุณประจักษ์ กล่าวทิ้งท้าย

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
พังงา
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคใต้
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 428
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM