เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
สตรอเบอรี่ พืชต่างแดน เสริมรายได้ให้คนไทย
   
ปัญหา :
 
 
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ไม่ว่ามองไปทางไหนมักจะเห็นพ่อค้าแม่ค้าวางขายสตรอเบอรี่สดกันเต็มไปหมด อย่างที่ตลาดบางลำพูก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นย่านการค้าเก่าแก่แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตดุสิตและเขตพระนคร บนเกาะรัตนโกสินทร์ ที่นอกจากจะมีการจำหน่ายเสื้อผ้าและอาหารอันลือชื่อแล้ว เครื่องดื่มอย่างน้ำผลไม้ปั่นก็เป็นที่สะดุดตาไม่น้อย ด้วยร่มสีเหลืองสดที่มีลายสตรอเบอรี่สีแดงบนผืนร่ม ทำให้กลายเป็นจุดสนใจของผู้ที่มาจับจ่ายซื้อของในย่านดังกล่าว

ร้านขายน้ำผลไม้ปั่นแห่งนี้ ได้มีการจัดวางด้วยผลสตรอเบอรี่สดจำนวนมาก เนื่องจากเป็นผลไม้ของฤดูกาลนี้ และเป็นผลไม้ที่มีผู้นิยมสั่งมากที่สุด โดยมี คุณมนัส พงษ์ธนดล หรือ คุณจู อายุ 46 ปี เป็นผู้ทำน้ำผลไม้ปั่นร่วมกับภรรยา ซึ่งได้จำหน่ายอยู่ย่านนี้มานานกว่า 5 ปีแล้ว

คุณมนัส กล่าวว่า การทำน้ำผลไม้ปั่นทุกชนิดจะต้องคัดเฉพาะผลไม้ที่ดี ไม่มีตำหนิ เพราะจะทำให้ได้น้ำผลไม้ปั่นที่อร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย อย่างน้ำสตรอเบอรี่จะคัดเฉพาะลูกสตรอเบอรี่ที่ดีไม่มีตำหนิ ซึ่งได้สั่งซื้อสตรอเบอรี่คัดเกรดเอ โดยใช้สตรอเบอรี่สดเฉลี่ยวันละ 5 ลัง หรือประมาณ 35 กิโลกรัม ส่วนน้ำเชื่อม ใช้น้ำเชื่อมฟรัคโทสที่ทำจากมันสำปะหลัง เพราะมีคุณสมบัติข้นเหนียวและหวานน้อย นอกจากนี้ จะใส่เกลือเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ

"น้ำผลไม้ปั่นที่นี่ ไม่แตกต่างจากร้านอื่นๆ ทั่วไป แต่ที่ร้านของเราจะใช้ของที่มีคุณภาพ และใส่ใจทำ เพื่อสุขภาพของลูกค้า โดยไม่เน้นกำไร ขอเพียงแค่ส่งลูกทั้ง 2 คน เรียนหนังสือ และมีต้นทุนขายน้ำผลไม้ปั่นต่อไปก็พอแล้ว" คุณมนัส กล่าว

ด้วยอัธยาศัยที่ดีของพ่อค้า ทำให้มีลูกค้าทั้งประจำและขาจร แวะเวียนมาซื้อน้ำผลไม้ปั่นของคุณจูอย่างต่อเนื่องทั้งวัน เนื่องจากได้ลิ้มรสความอร่อยของน้ำผลไม้ปั่นที่ราคาไม่แพง เพียงแก้วละ 20 บาท เท่านั้น พร้อมกันนี้ คุณมนัสกล่าวเสริมว่า ที่ร้านจะขายเฉพาะผลไม้ไทย หรือผลไม้ที่สามารถผลิตได้ในเมืองไทย เพื่อเป็นการสนับสนุนคนไทยด้วยกัน

เมื่อกล่าวถึงสตรอเบอรี่ก็อดที่จะเอ่ยถึงการปลูกสตรอเบอรี่ไม่ได้ ส่วนใหญ่จะมีการปลูกมากทางภาคเหนือ โดยโครงการหลวงเริ่มทดลองหาพันธุ์สตรอเบอรี่ที่ปลอดโรคเพื่อส่งเสริมเกษตรกร มีการผลิตต้นแม่พันธุ์และต้นไหลปลอดโรคด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องทดลอง ทุกปีมีการคัดและผสมพันธุ์จนได้พันธุ์พระราชทานเบอร์ต่างๆ

สตรอเบอรี่จัดเป็นพืชหลายปี แต่โดยทั่วไปจะปลูกปีเดียวแล้วจะมีการปลูกใหม่ในปีถัดไป ลักษณะการเจริญเติบโตจะแตกกอเป็นพุ่มเตี้ย สูงจากพื้นดิน 6-8 นิ้ว ทรงพุ่มกว้าง 8-12 นิ้ว ระบบรากส่วนใหญ่อยู่ระดับลึก ประมาณ 12 นิ้ว จากผิวดิน ลำต้นปกติยาว 1 นิ้ว ความยาวของก้านใบขึ้นอยู่กับพันธุ์ ขอบใบหยัก ใบส่วนใหญ่ประกอบด้วย 3 ใบย่อย ตาที่โคนของก้านใบจะพัฒนาเป็นตาดอก ลำต้นสาขา ไหล หรือพักตัว โดยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดอกจะออกเป็นช่อ มีกลีบรองดอกสีเขียว กลีบดอกสีขาวหรือชมพู เกสรตัวผู้สีเหลืองและเกสรตัวเมียเรียงอยู่บนฐานรองดอก ซึ่งฐานรองดอกนี้จะพัฒนาเป็นเนื้อของผล ส่วนเมล็ดอยู่ติดกับผิวนอกของผล ผลมีหลายรูปทรง เช่น ทรงกลม ทรงกลมแป้น ทรงกลมปลายแหลม ทรงแหลม ทรงแหลมยาว ทรงลิ่มยาว และทรงลิ่มสั้น มีหลายขนาดขึ้นอยู่กับพันธุ์ ผลจะมีสีเขียวในระยะแรก และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม รสเปรี้ยวอมหวาน กลิ่นหอมน่ารับประทาน

ดินที่ปลูกสตรอเบอรี่ควรเป็นดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี ถ้าน้ำขังจะทำให้รากเน่า ดินควรมีความเป็นกรดเล็กน้อย สภาพอากาศหนาวเย็นหรือฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิ 13-15 องศาเซลเซียส สตรอเบอรี่จะเริ่มสร้างตาดอก รวมทั้งในสภาพวันสั้นกว่า 12 ชั่วโมง สำหรับพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำตอนกลางคืนเป็นเวลาค่อนข้างยาวนาน หลังจากปลูกต้นสตรอเบอรี่ลงแปลงแล้ว จะทำให้มีความต่อเนื่องของการออกดอกชุดต่อๆ มามากขึ้น

พันธุ์สตรอเบอรี่ที่ใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์พระราชทานเบอร์ 16, 20, 50, 70 เนียวโฮ แลเซลวา เป็นต้น ซึ่งแต่ละพันธุ์มีลักษณะที่แตกต่างกัน สำหรับการผลิตเป็นการค้านั้น จะผลิตเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ในลักษณะของผลรับประทานสดและผลผลิตเพื่อส่งโรงงานแปรรูป

สำหรับการปลูกสตรอเบอรี่ ให้เตรียมดินโดยใส่ปูนขาวในอัตรา 60-80 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อปรับสภาพดินพร้อมการไถดะ ไถแปร และผึ่งดินไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช หลังจากนั้นหว่านปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกให้ทั่วแปลงในอัตรา 2-2.5 ตัน ต่อไร่ พร้อมการไถพรวน เตรียมแปลงปลูกแบบยกร่องให้ฐานแปลงกว้าง 75 เซนติเมตร สูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร และมีสันแปลงเหลือกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร เว้นทางเดินระหว่างแปลงไว้ประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อเป็นการช่วยรักษาความชื้นของดินในแปลงปลูก และช่วยในการควบคุมวัชพืชบนแปลง รวมทั้งป้องกันไม่ให้ผลสตรอเบอรี่เกิดการเสียหายเนื่องจากสัมผัสกับดิน ให้ใช้วัสดุคลุมแปลง ได้แก่ ฟางข้าว ใบหญ้าคา พลาสติค ใบตองเหียงหรือใบตองตึง คลุมแปลงปลูก

สำหรับระยะที่ใช้ปลูก จะใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 30-40 เซนติเมตร ระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร ปลูกแบบสลับฟันปลา โดยทั่วไปจะใช้ต้นไหลสำหรับปลูกประมาณ 8,000-10,000 ต้น ต่อพื้นที่ 1 ไร่

การปลูกสตรอเบอรี่ควรปลูกในเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม โดยต้นอ่อนหรือไหลที่จะปลูกควรมีแขนไหลที่มีข้อติดด้วย การเตรียมแปลงปลูกทำนองเดียวกับแปลงปลูกผักคือ การปลูกต้องใช้ส่วนโคนของลำต้นอยู่ในระดับดิน ถ้าปลูกลึกยอดจะเน่า ถ้าตื้นรากจะแห้งทำให้เจริญเติบโตช้า ใช้ส่วนแขนไหลจิ้มลงในดินเพื่อช่วยดูดน้ำในระยะแรกปลูกในขณะที่ไหลกำลังตั้งตัว ระยะปลูก 25x30 เซนติเมตร แปลงกว้าง 100 เซนติเมตร สูง 20 เซนติเมตร ยาวตามที่ต้องการ ทางกว้างประมาณ 40 เซนติเมตร ปลูก 3 แถว ในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้ไหลปลูกประมาณ 10,000-12,000 ต้น

ส่วนการให้น้ำสตรอเบอรี่ จะต้องพิจารณาเสียก่อนว่า น้ำที่จะให้มีคุณสมบัติเป็นกรดหรือด่าง ถ้าเป็นด่างไม่ควรใช้เพราะต้นสตรอเบอรี่จะไม่เจริญเติบโตในสภาพที่ดินเป็นด่าง วิธีการให้น้ำอาจใช้บัวรด ซึ่งรดทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ซึ่งวิธีนี้ประหยัดน้ำ แต่สิ้นเปลืองแรงงาน หรือจะให้น้ำแบบท่วมโดยปล่อยน้ำเข้าท่วมแปลง จนกระทั่งดินอิ่มตัวด้วยน้ำ ซึ่งประมาณ 5-10 เซนติเมตร แล้วแต่คุณสมบัติของดินและความชื้นอากาศ โดยใช้ระยะเวลา 7-10 วัน จึงปล่อยน้ำ 1 ครั้ง วิธีนี้ประหยัดแรงงาน แต่ใช้ได้เฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำ ทั้งนี้อย่าลืมว่าสตรอเบอรี่เป็นพืชที่ไม่ทนต่อความแห้งแล้ง เพราะฉะนั้นต้องระวังการให้น้ำเป็นพิเศษ การขาดแคลนน้ำนานๆ มีผลกระทบต่อผลผลิตของสตรอเบอรี่

ในการให้ปุ๋ยเพื่อต้องการผลนั้น ก่อนปลูกให้ขุดหลุมลึกประมาณ 5-6 นิ้ว แล้วใส่ปุ๋ยคอก 30 กรัม และปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟส 1 ช้อนชา รองก้นหลุมก่อนปลูก หลังจากนั้น 1 เดือน ใส่ปุ๋ย สูตร 6-24-24 (ใช้ในกรณีที่ปลูกเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) หรือปุ๋ย สูตร 13-13-21 (ในกรณีที่ปลูกเดือนกันยายน-ตุลาคม) หรือปุ๋ย สูตร 16-16-16 (ในกรณีที่ปลูกเดือนพฤศจิกายน-มกราคม) โดยใส่ 2 กรัม ต่อต้น โดยแบ่งให้ 4 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 7-10 วัน

เมื่ออุณหภูมิลดต่ำลง และช่วงแสงสั้นเข้าซึ่งประมาณเดือนพฤศจิกายน สตรอเบอรี่เริ่มติดดอกและผลจะสุกหลังจากติดดอก 21-25 วัน ผลสตรอเบอรี่ระยะแรกจะมีสีเขียว และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม มีรสเปรี้ยวปนหวาน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร

สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลการปลูกสตรอเบอรี่ สามารถสอบถามที่ กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. (02) 955-1555 หากต้องการลิ้มรสความอร่อยของน้ำสตรอเบอรี่ปั่นของคุณมนัส พงษ์ธนดล สอบถามเส้นทางที่ โทร. (084) 548-2827

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
---ไม่ระบุ---
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
---ไม่ระบุ---
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 427
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM