เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ไทรสวย สวนสมหวัง ไทรดีๆ ที่บางใหญ่
   
ปัญหา :
 
 
ไทร เป็นไม้สง่างาม บ่งบอกถึงความมั่นคงแข็งแรง ที่ผ่านมามักจะเห็นไทรต้นใหญ่ๆ ขึ้นอยู่ตามป่าเขา มีขนาดมหึมา จนมีความรู้สึกว่า ไม่น่าจะนำมาประดับได้ ต่อมาวงการไม้ดอกไม้ประดับได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถย่อส่วนต้นไม้ให้เล็กลง การนำไม้ป่ามาปลูกประดับจึงสะดวก ไม้หลายชนิดได้รับการปัดฝุ่น นำมาใช้ประโยชน์เพื่อการปลูกประดับ

ไทร ก็อยู่ในข่ายที่ถูกพัฒนา จะเห็นได้ว่า นักปลูกเลี้ยงนิยมนำต้นไทรมาทำบอนไซ ทำได้สวยงามดี มีติดผลในกระถาง สายพันธุ์ของไทรก็มีความหลากหลาย ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับนักปลูกเลี้ยงต้นไม้ ที่นำสิ่งดีๆ จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ ทั้งนี้เพราะเรื่องของไทร มีอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกันมากมายในแง่ของไม้ประดับ

เฉพาะไทรอย่างเดียว เกิดอาชีพที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่คนขายปุ๋ย คนขายวัสดุปลูก ผู้ปลูกเลี้ยงไทร นักจัดสวน รวมทั้งเจ้าของกิจการบ้านเรือน ที่ได้ไม้สวยๆ มีความสุขทางด้านร่างกายและจิตใจ



ผู้ปลูกไทรเป็นอาชีพที่บางใหญ่

คุณสมหวัง ตั้งจิตรเจริญพร เกษตรกรอยู่บ้านเลขที่ 9/5 ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ถือว่าเป็นเกษตรกรที่เรียนรู้เรื่องไทร และผลิตไทรจำหน่ายเป็นอาชีพหลักได้ดีที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย

วงการไทร รู้จักดี หากเอ่ยชื่อ "สวนสมหวัง"

คุณสมหวังเล่าว่า ตนเองเกิดที่แปดริ้ว จากนั้นเตี่ยย้ายมาอยู่บางแค ทำสวนกุหลาบ เยอร์บีร่า เขาช่วยเตี่ยทำงานเกษตรมาตลอด ระยะหลัง ย้ายมาอยู่แถววัดขี้เหล็ก อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี อาชีพที่ทำคืองานเกษตรเช่นเดิม แต่เน้นปลูกกุหลาบ

"ญาติพี่น้องผม10 กว่าคน ทำกุหลาบทั้งหมด ปัจจุบันที่บางกรวยไม่ได้ทำแล้ว ผมย้ายมาอยู่ที่นี่ พื้นที่ 13 ไร่ มีไทรเป็นหลัก" คุณสมหวังเล่า

แปลงผลิตไทรของคุณสมหวัง อยู่ที่ตำบลบางแม่นาง เข้าไปไม่ยาก ใช้ถนนกาญจนาภิเษก มาจากตลิ่งชัน มุ่งหน้าจะไปสุพรรณบุรี ก่อนถึงบางใหญ่ จะมีซอยอยู่ซ้ายมือ เขียนว่า "วัดพระนอน" คนทั่วไปรู้จักกันดีว่าซอยวัดพระนอน เข้าไปตามซอยราว 2-3 กิโลเมตร ถนนไม่กว้างนัก แต่ก็สะดวกสบายดี ระหว่างทางจะพบเห็นแปลงปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ส่วนหนึ่งเริ่มมีสิ่งก่อสร้างมาแทนที่ เข้าไปไกลพอสมควร บริเวณนั้นเรียกว่าสามแยกบางไทร สวนคุณสมหวังอยู่ขวามือ ถามใครก็รู้จัก เพราะคุณสมหวังปลูกเลี้ยงไทรมานาน

เจ้าของบอกว่า ตนเองปลูกเลี้ยงไม้กลางแจ้งเป็นหลัก ที่ผลิตมากๆ และจำหน่ายได้ดีคือ ไทรไทเกอร์ ไทรคอมแพค ไทรอังกฤษ ไทรทอง ไทรด่าง ชาฮกเกี้ยน คริสติน่า ต้นแสงจันทร์ และอื่นๆ



ผลิตอย่างไร

จึงสวยงาม และจำหน่ายได้


จริงๆ แล้ว ไทรบางชนิดเป็นไม้ทั่วไป ที่รู้จักกันดี ถึงแม้เป็นไม้ต่างประเทศ แต่เข้ามาอยู่เมืองไทยนานแล้ว

ไม้ประดับหลายชนิด หากปลูกแบบปล่อยปละละเลย ก็คงไม่สวยงาม คุณค่าไม่มาก แต่หากรู้จักดัดแปลงเสริมแต่ง คุณค่าก็จะตามมา ผู้คนนิยม

ไทรหลายชนิดของคุณสมหวังก็เช่นกัน เขาปลูกเลี้ยง ตัดแต่งให้มีความสวยงาม จึงมีคุณค่า ขายได้ราคา

ไทรทุกชนิดขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่ง แต่ดูโดยทั่วไปแล้ว ไม่มีร่องรอยของงานขยายพันธุ์แต่อย่างใด

คุณสมหวังบอกว่า ตนเองตัดกิ่งไทรที่ต้องการ อย่างปี 2551 มีโครงการผลิตเท่านั้นเท่านี้ หรือมีกำลังผลิตเท่าไร ก็ตัดยอดไปให้เกษตรกรที่คลองสิบห้าปักชำให้ ที่คลองสิบห้าเกษตรกรเขามืออาชีพ ปักชำในกระโจม ใช้ระยะเวลาราว 2-3 เดือน ก็นำต้นกลับมาเลี้ยงต่อได้แล้ว

"ผมตัดยอดไปให้เขา แล้วซื้อกลับคืนมาหมด บางครั้งมีตายบ้างก็ได้ไม่ตามที่ตัดไป เราให้เขาทำสบายกว่า ต้องมีพลาสติคอบ เราที่ไม่พอ เปลืองที่ อยากได้เท่าไหร่ก็ตัดไปเท่านั้น แล้วซื้อคืนต้นละ 1 บาท" คุณสมหวังพูดถึงการขยายพันธุ์

เมื่อได้ต้นเล็กๆ มาแล้ว คุณสมหวังจะย้ายไทรลงกระถางขนาดเล็ก เลี้ยงดูอยู่พักหนึ่ง จากนั้นจึงย้ายใส่กระถาง ขนาด 14 นิ้ว ซึ่งถือว่าเป็นกระถางมาตรฐาน ส่วนใหญ่ใช้ขนาดนี้

วัสดุที่ใช้ปลูก ประกอบด้วยกาบมะพร้าวสับ 10 ส่วน และขุยมะพร้าว 4 ส่วน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ยุ่งยากสำหรับวัสดุปลูก ก่อนที่จะลงมือถ่ายกระถาง ก็เทกาบมะพร้าวสับ 10 กระสอบ และขุยมะพร้าว 4 กระสอบ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ส่วนดินนั้นเจ้าของบอกว่าไม่ใช้ วัสดุปลูกใช้กาบมะพร้าวสับอย่างเดียวไม่ดี การรักษาความชื้นจะไม่ดีนัก แต่หากใช้ขุยมะพร้าวอย่างเดียวจะแน่นเกินไป การระบายน้ำไม่ดี

ระหว่างที่ดูแลรักษาต้นไทรอยู่นั้น เรื่องปุ๋ยและน้ำสำคัญไม่น้อย

ปุ๋ย เจ้าของใส่ให้ 16 วันครั้งหนึ่ง ใส่สูตร 16-16-16 จำนวน 1 ช้อนแกง ต่อกระถาง เมื่อใส่ปุ๋ยต้องรดน้ำทันที

เรื่องของการให้น้ำ หากฝนไม่ตก จำเป็นต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนศัตรูพืช เขาฉีดพ่นให้ 2 สัปดาห์ ต่อครั้ง ป้องกันโรคและแมลง ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาน้อย เพราะต้นไม้มีความเคลื่อนไหวอยู่เป็นประจำ คือย้ายไปย้ายมา มีคนซื้ออยู่ไม่ขาด



ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

ไทร เป็นไม้กลางแจ้ง รวมทั้งชาฮกเกี้ยนก็เช่นกัน

ปัจจุบัน ทางสวนคุณสมหวังแต่งทรงต้นเป็น 3 รูปแบบ ด้วยกัน

รูปแบบแรก เป็นทรงพุ่ม ที่เห็นชัดเจนมากคือ ชาฮกเกี้ยน เจ้าของเลี้ยงต้นแล้วก็ตัดให้พุ่มกลม ไทรก็เช่นกัน แต่เจ้าของจะปล่อยให้ต้นสูงขึ้น แล้วแต่งให้กลมทีหลัง

รูปแบบที่สอง เป็นทรงแท่งไอติม

รูปแบบที่สาม รูปทรงเจดีย์ ตรงฐานจะใหญ่ ปลายเรียวแหลม

คุณสมหวังบอกว่า การดูแลรักษาไม้ประดับอย่างไทรไม่ยุ่งยาก มีคนดูแล รวมทั้งลูกๆ และคนงานมีราว 7 คน ส่วนหนึ่งรดน้ำใส่ปุ๋ย บางส่วนตัดแต่ง ขั้นตอนหนึ่งที่ต้องดูเป็นพิเศษ คือช่วงทำให้ทรงสูงขึ้น หมายถึงการขึ้นรูป สำหรับระยะเวลา ตั้งแต่นำต้นที่ตั้งตัวได้มาปลูกให้สวย จนกระทั่งจำหน่ายได้ ใช้เวลา 8-9 เดือน เรื่องของเวลาจะว่ามากก็มาก จะว่าน้อยก็น้อย

สนนราคาที่ขายอยู่นั้น คุณสมหวังบอกว่า กระถางหนึ่ง ราคามีตั้งแต่ 150-300 บาท สูงสุดกระถางละ 500 บาท

คุณสมหวังไม่มีแผงที่อื่น แต่วางตั้งอยู่กับบ้าน พ่อค้าแม่ค้าที่รู้ว่าไทรคุณภาพดี ต้อง "สวนสมหวัง" ก็จะไปซื้อและบอกกันปากต่อปาก ดังนั้น ผลผลิตไทรของสวนนี้จึงจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง

"ผมไม่มีแผงที่อื่น ริมถนนใหญ่ หากสั่งผมก็ไปส่งให้ ผู้ซื้อมาจากหลายๆ ที่ ทางอีสาน เหนือ ใต้" คุณสมหวังบอก

สำหรับการใช้ประโยชน์จากไทรนั้น ได้รับการบอกเล่าว่า ส่วนหนึ่งเขานำไปปลูกประดับตามสนามหญ้า ส่วนหนึ่งใช้ในการตกแต่งภายใน ยกเข้ายกออก บางอย่างใช้ภายนอกตลอด เช่น ต้นแสงจันทร์

เป็นงานที่น่าสนใจไม่น้อย ไทรบางอย่างที่มีอยู่ของสวนสมหวัง รู้จักกันดี แต่เพราะการดัดแปลง และดูแลได้สวยงาม มูลค่าจึงเพิ่มขึ้นหลายเท่า

มีไทรบางชนิดที่ไม่ค่อยคุ้นเคยนัก ถือว่าเป็นสินค้าใหม่ มีไว้เป็นทางเลือกให้กับผู้สนใจ

ผู้อ่านท่านใดแวะเวียนไปแถบนั้น อยากดูงาน หรืออุดหนุนผลงานเยี่ยมยอด ถามกันได้ตามที่อยู่ หรือ โทร. (081) 919-3035

รับรองสมหวังเหมือนชื่อสวนอย่างแน่นอน



ชนิดของไทรที่นิยมปลูกเป็นไม้มงคล

1. ไทรยอดทอง

2. ไทรย้อย (Weeping Fig)

3. ไทรใบเล็ก .

4. ไทรใบยาว (Ficus barteri)

5. ไทรสุวรรณ (Variegated Mini-rubber)

6. ไทรด่าง (Cleyera japonica)



ลักษณะทั่วไปของไทร

ไทร เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูงประมาณ 10-20 เมตร ลำต้นตรงแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทึบ บางชนิดก็เป็นพุ่มโปร่ง มีรากอากาศห้อยลงมาตามกิ่งก้านและลำต้น ผิวเปลือกเรียบสีขาวปนเทา ใบเป็นใบเดี่ยวแตกออกจากกิ่ง และส่วนยอดของลำต้น ใบออกเป็นคู่สลับกัน ลักษณะใบ ขนาดใบ และสีสันแตกต่างกันตามพันธุ์การดูแลรักษา



ไทร ไม้มงคล

คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นไทรไว้ประจำบ้านจะทำให้เกิดความร่มเย็น เพราะคนโบราณได้กล่าวว่า ร่มโพธิ์ ร่มไทร ช่วยทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข นอกจากนี้ ยังช่วยคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายทั้งปวง เพราะบางคนเชื่อว่าต้นไทรเป็นต้นไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีเทพารักษ์อาศัยอยู่คอยคุ้มครองพิทักษ์ปวงชนให้มีความอยู่เย็นเป็นสุข



ตำแหน่งที่ปลูก

เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นไทรไว้ทางทิศตะวันตก ผู้ปลูกควรปลูกในวันอังคารเพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาประโยชน์ทางใบให้ปลูกในวันอังคาร



วิธีปลูก

1. การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน โบราณนิยมปลูกไว้เพื่อประดับบริเวณสวน เพราะเป็นไม้ที่มีการแตกกิ่งก้านสาขาที่กว้างใหญ่ ขนาดหลุมปลูก 30x30x30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 2 ผสมดินปลูก

2. การปลูกในกระถางเพื่อประดับภายในและภายนอกอาคาร ควรใช้กระถางทรงสูง ขนาด 12-18 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : แกลบผุ : ดินร่วน อัตรา 1 : 1 : 1 ผสมดินปลูก ควรเปลี่ยนกระถาง 1-2 ปี ต่อครั้ง หรือแล้วแต่ความเหมาะสมของทรงพุ่ม ทั้งนี้ ก็เพราะการเจริญเติบโตของทรงพุ่มโตขึ้นและเพื่อต้องการเปลี่ยนดินปลูกใหม่ทดแทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไป

การปลูกทั้ง 2 วิธี ดังกล่าว สามารถตัดแต่งและบังคับรูปทรงของทรงพุ่มได้ตามความต้องการของผู้ปลูก นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ด้วยว่าพันธุ์ใดจะเหมาะสมกับวิธีการปลูกแบบใด ตามวัตถุประสงค์ผู้ปลูก



ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไทร

แสง ต้องการแสงแดดอ่อน จนถึงแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง

น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง จนถึงมาก

ดิน ชอบดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย ความชื้นปานกลาง

การขยายพันธุ์ การปักชำ การตอน การใช้เมล็ด วิธีที่นิยมและได้ผลดีคือ การตอน และการปักชำ

โรค ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะมีความทนทานต่อโรคได้ดี

ศัตรู เพลี้ยแป้ง (Mealy bugs)

อาการ กัดแทะใบ ทำให้ใบเป็นรู เป็นรอย ต่อมาใบจะเหลืองและแห้ง

การป้องกัน การรักษาความสะอาดบริเวณแปลงปลูก การกำจัดพาหะแพร่ระบาด พวกมดต่างๆ

การกำจัด ใช้ยาไดอาซินอน อัตราและคำแนะนำระบุไว้ตามฉลาก

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นนทบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 427
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM