เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ปลูกอ้อยอินทรีย์ ระบบน้ำหยด เทคนิคเพิ่มผลผลิต ของ บุญสืบ กันศิริ จ.สุพรรณบุรี
   
ปัญหา :
 
 
อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจดาวรุ่ง พุ่งแรง แซงหน้าพืชพลังงานชนิดอื่นๆ เพราะอ้อยมีระบบการซื้อขายผลผลิตที่แน่นอนในรูปโควต้า ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการหาตลาดรองรับผลผลิตเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น แถมอ้อยสามารถนำไปแปรรูปเป็นน้ำตาลทราย และแปรรูปเป็นก๊าซโซฮอล์ ปุ๋ยอินทรีย์ กระดาษได้เป็นอย่างดี ทำให้ใครๆ ก็อยากจะปลูกอ้อย

ในฉบับนี้จะขอแนะนำเทคนิคที่จะช่วยชาวไร่อ้อยให้สามารถเพิ่มผลผลิตของอ้อย ด้วยระบบการจัดการเป็นระบบคือ การปลูกอ้อยด้วยระบบน้ำหยด ที่เพิ่มพูนผลผลิตอ้อยจากเดิม ที่เคยได้ไร่ละ 8-10 ตัน ต่อไร่ ก็เพิ่มขึ้นเป็น 15-18 ตัน ต่อไร่

ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนรู้เทคนิคการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ของการปลูกอ้อยน้ำหยด จากเจ้าของไร่อ้อยใจดี คือ คุณบุญสืบ กันศิริ อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 177 หมู่ที่ 13 ตำบลหนองโอ่ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โทร. (086) 171-4899

คุณบุญสืบ บอกว่า โครงการปลูกอ้อยระบบน้ำหยด จัดอยู่ในประเภทวิสาหกิจชุมชน เพราะจะทำงานกันเป็นทีม เป็นกลุ่ม ปลูกอ้อยเพื่อส่งขายให้กับโรงงานน้ำตาลวังขนาย โดยได้รับการอบรมเรื่องการปลูกอ้อยระบบน้ำหยด และการผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้เองจากโรงงานน้ำตาลวังขนาย

คุณบุญสืบย้อนประวัติความเป็นมาของการเริ่มอาชีพปลูกอ้อยให้ฟังว่า เมื่อประมาณกว่า 30 ปีที่แล้ว ชาวไร่ขายอ้อยในราคาที่ถูกมาก เพียงตันละ 250 บาท การปลูกอ้อยจะใช้วิธีการปลูกแบบทยอยปลูกทีละ 100-200 ไร่ ต้นทุนต่อไร่ก็แพงโขอยู่ ประมาณ 8,000 บาท ต่อไร่ (รวมทุกอย่างตั้งแต่ ค่าเช่าพื้นที่ปลูก ค่าต้นพันธุ์ แรงงาน ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าจ้างตัด ค่าขนส่ง)

วันเวลาผ่านไปเร็วเหมือนโกหก ก็ต้องรออีกหลายสิบปี กว่าราคาอ้อยจะปรับตัวขึ้นมาจาก 600 บาท ต่อตัน มาเป็น 807 บาท ต่อตัน และในปี 2552 จะมีการปรับราคาสูงขึ้น ประมาณ 1,000-1,200 บาท ต่อตัน แต่อ้อยต้องมีคุณภาพ ทางโรงานน้ำตาลถึงจะยอมปรับราคาให้สูงขึ้น และคิดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ราคาของอ้อยจะขยับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสความต้องการพืชพลังงาน

กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยระบบน้ำหยด มีการรวมตัวเป็นกลุ่มย่อยๆ ในชื่อเรียกว่า กลุ่มอ้อยกับฝน มีสมาชิกทั้งหมด 7 คน พื้นปลูกอ้อยรวมกันทั้งหมด 600 ไร่ สมาชิกแต่ละคน มีพื้นที่ปลูกอ้อย คนละ 20-30 ไร่ มีเพียงตนคนเดียวที่มีพื้นที่ปลูก 400 ไร่ การปลูกอ้อยระบบน้ำหยด เป็นแปลงปลูกอ้อยแบบอินทรีย์และไม่อินทรีย์ แต่ช่วงระยะ 3 ปีหลัง มีการลดการใช้สารเคมีให้น้อยลงเรื่อยๆ แต่ผลผลิตก็ยังสามารถได้มากเท่าเดิม แม้จะไม่มีการใช้สารเคมีแล้ว เนื่องจากใช้วิธีการบริหารจัดการไร่อ้อย โดยเพิ่มผลผลิตในระบบน้ำหยด

คุณบุญสืบ บอกว่า การลงทุนปลูกอ้อยระบบน้ำหยดนั้น แม้นว่าจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงแต่ก็คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะผลผลิตที่ได้เพิ่มขึ้นจริงๆ คุณบุญสืบ บอกว่า แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้เพาะปลูกอ้อยแบบทั่วๆ ไป คือใช้น้ำจากบ่อบาดาล หรือบางแห่งก็ปลูกแบบให้เทวดาเลี้ยง ปลูกอ้อยแต่ละครั้ง ก็ต้องรอช่วงฤดูฝน ถึงจะลงปลูกอ้อย ผลิตผลที่ได้ประมาณ 8-9 ตัน ต่อไร่ ถ้าได้ถึง 10 ตัน ต่อไร่ ก็ถือว่าเก่งแล้ว

พอช่วงปี 2548 ทางกลุ่มโรงงานน้ำตาลวังขนาย มาส่งเสริมให้ปลูกอ้อยในระบบน้ำหยด และจัดทำแปลงทดลองสาธิตให้ดูก่อน ว่าปลูกแบบนี้จะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจริงๆ ที่สำคัญการปลูกอ้อยระบบน้ำหยดเป็นการปลูกอ้อยอินทรีย์ จะเริ่มค่อยๆ ลดการใช้สารเคมีลงทีละน้อย ลดลงไปเรื่อยๆ จนไม่มีการใช้สารเคมีเลย

ปรากฏว่า ภายหลังจากชาวไร่อ้อยใช้ระบบน้ำหยด ก็ได้ผลผลิตดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาทางกลุ่มวังขนาย ก็มาส่งเสริมให้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพใช้เอง ก็ช่วยเพิ่มผลผลิตและเป็นการลดต้นทุนการผลิตแบบยั่งยืนอย่างเห็นได้ชัด

การใช้ระบบน้ำหยดดีอย่างไร ต้นทุนเท่าไหร่ ผู้เขียนถาม

ได้รับคำตอบจากคุณบุญสืบว่า การลงทุนทำระบบน้ำหยด ช่วยเพิ่มผลผลิตได้มาก จากเดิมที่เคยได้ผลผลิตเฉลี่ย 9-10 ตัน ต่อไร่ พอหันมาใช้ระบบน้ำหยด ก็เพิ่มผลผลิตมาเป็น 15-18 ตัน ต่อไร่ ส่วนต้นทุนระบบน้ำหยด อยู่ที่ 60,000 บาท ต่อ 1 ชุด อายุการใช้งานของระบบน้ำหยดนานประมาณ 2-3 ปี (ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา)

ผู้เขียนถามถึงเรื่องต้นทุนต่อไร่เท่าไหร่ เพราะค่าระบบน้ำหยดก็จัดว่าแพงโขอยู่ คุณบุญสืบ บอกว่า ถึงจะแพงแต่ก็คุ้ม เพราะมีการรวมกลุ่มกันปลูก ปริมาณผลผลิตที่ได้มาก ราคาที่ได้แม้นไม่สูงมากแต่ก็พออยู่ได้ แต่จะไม่คุ้มถ้าใช้ระบบน้ำหยดกับไร่อ้อยขนาดเล็กๆ จึงต้องมีการรวมกลุ่มกันปลูกถึงจะดี

ต้นทุนต่อไร่ประมาณ 8,000 บาท ต่อไร่ (เป็นการรวมต้นทุนการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่ค่าต้นพันธุอ้อย ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรงงานทั้งหมด) ถ้าคิดให้ละเอียดลงไปอีก ก็จะมีค่าแรงงานไถหน้าดิน ตีดิน ครั้งละ 400 บาท ต่อไร่ ค่าต้นพันธุ์อ้อยไร่ละ 1,000 บาท ต่อไร่ ค่าแรงงานคนปลูก 10-30 คน เป็นงานเหมาทั้งหมดคิดเป็นตันละ 100 บาท ค่าตัดอ้อยตันละ 300 บาท และค่าจ้างแรงงานเหมาไร่ละ 700-1,000 บาท

ส่วนวิธีการปลูกอ้อยอินทรีย์นั้น คุณบุญสืบบอกว่า ก็เหมือนกับการปลูกอ้อยทั่วๆ ไปนั้นแหละ เพียงแต่เราดูแลเรื่องของระบบน้ำ ดินและปุ๋ยให้ดี อย่าให้อ้อยขาดน้ำ สำหรับการปลูกอ้อย ของ "กลุ่มอ้อยกับฝน" นั้น ปลูกแบบไม่เผาตอ แต่จะตัดและไว้ตอเก็บเอาไว้เป็นต้นใหม่ จะได้ไม่ต้องเปลืองค่าต้นพันธุ์อ้อย ที่สำคัญคือการลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีแต่หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพมากขึ้นเพื่อเป็นการรักษาสมดุลของดินที่ปลูกด้วย

การดูแลต้นอ้อยให้มีผลผลิตสูงด้วยปุ๋ยอินทรีชีวภาพคือ การลด ละ เลิกการใช้สารเคมี คุณบุญสืบบอกว่า การดูแลต้นอ้อยอินทรีย์ จะแบ่งแปลงทดลอง ค่อยๆ ปลูกไปก่อน แต่จะดูแลเป็นช่วงๆ ตามอายุของต้นอ้อย เริ่มตั้งแต่การปลูกไปจนถึงขั้นตอนการตัดเก็บเกี่ยวอ้อย

โดยทั่วไปจะใช้อ้อย 2 สายพันธุ์ คือ

1. อ้อยพันธุ์ LK-11 และ

2. อ้อยพันธุ์ K 84-200

คุณสมบัติเด่นของอ้อยทั้ง 2 สายพันธุ์ คือ แตกกอดี รสชาติหวาน ได้น้ำหนักกำลังดี ที่สำคัญ ทนแล้งได้ดี เวลาที่เหมาะสมในการปลูกอ้อยคือ ช่วงฤดูฝน ปลูกอ้อยได้ดีที่สุด อ้อยอินทรีย์จะไม่มีการเผาตอ เผาใบอ้อย แต่จะตัดอ้อยเพื่อไว้ตอตั้งแต่ 1-3-5 ตอ วิธีนี้จะสามารถเก็บผลผลิตได้นานถึง 2-3 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาเป็นหลัก

จากการปลูกอ้อยธรรมดาสู่การปลูกแบบอ้อยอินทรีย์นั้น ช่วงระยะแรกๆ ต้องค่อยๆ ลดการใช้สารเคมีลงทีละน้อย อย่างปุ๋ยที่ใส่ในแปลงปลูกอ้อย ปีละ 2 ครั้ง ช่วงที่ปลูกรองพื้นด้วย 16-20-0 จะใส่ช่วงที่มีการไถกลบร่อง อย่างพื้นที่ 1 ไร่ ต้องใส่ปุ๋ย 1 ลูก ปุ๋ยสูตรที่ 2 จะใช้ 21-0-0 และตามด้วยยูเรีย 46-0-0 จะใส่ช่วงที่อ้อยมีอายุตั้งแต่ 3-4 เดือน

ที่สำคัญไร่อ้อยที่ปลูกแบบเทวดาช่วยเลี้ยงต้องอาศัยปลูกช่วงฤดูฝนประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม ทำให้แต่ก่อนต้องใช้ปุ๋ยเคมีมากถึง 2 ลูก ต่อไร่ หรือ 100 กิโลกรัม ต่อไร่ เมื่อหันมาปลูกอ้อยอินทรีย์ก็ค่อยปรับสัดส่วนปุ๋ยเคมีลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพสัก 70% ปุ๋ยเคมี 30% และค่อยๆ ลดจนใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพทั้งหมด

การปลูกอ้อยอินทรีย์เริ่มทีละเล็กทีละน้อย โดยเริ่มทดลองปลูกไปก่อน 10 ไร่ เป็นการปลูกอ้อยช่วงตอ 2 ผลผลิตที่ได้ทำให้ชาวไร่ยิ้มออก เพราะจากเดิมเคยได้แค่ 9-12 ตัน ต่อไร่ ก็ได้ผลผลิตมากขึ้นเป็น 15-18 ตัน ต่อไร่ ในกรณีที่เป็นไร่อ้อยอินทรีย์ล้วนๆ

การปลูกอ้อยจะเป็นลักษณะของการวางท่อนพันธุ์อ้อย หลังจากที่มีการเตรียมดินเอาไว้แล้ว การปลูกจะเลือกปลูกให้ตรงกับช่วงฤดูฝนพอดีจะได้ไม่ต้องให้น้ำ แต่ถ้าช่วงฤดูฝนแล้ว ฝนไม่ตกจะให้น้ำ 1 วันเต็มๆ ให้น้ำเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง โดยจะให้น้ำแบบทยอยครั้งละ 5 ไร่ ด้วยวิธีการให้แบบสายน้ำหยด โดยจะวัดค่าความชื้นของดินก่อนให้น้ำทุกครั้ง

หรือถ้าดูแล้วว่าขาดน้ำจริงๆ ก็ 15 วัน ต่อครั้ง น้ำที่ใช้เป็นบ่อบาดาล สูบน้ำขึ้นมาใช้ก็ต้องผ่านระบบท่อกรองน้ำก่อนปล่อยน้ำเข้าสู่ไร่อ้อย

การตัดอ้อยขาย จะทำในช่วงที่ต้นอ้อยมีอายุ 8-10 เดือน ขึ้นไป โดยส่งไปยังโรงงานน้ำตาล ราคาที่ได้ ปัจจุบันนี้อยู่ที่ 807 บาท ต่อตัน ทางกลุ่มจะนำผลผลิตส่งให้กับกลุ่มน้ำตาลวังขนายประมาณ 5,000 ตัน ต่อครั้ง และบริษัทไทยอุตสาหกรรม จำกัด 1,000 ตัน ต่อครั้ง เมื่อปลูกด้วยระบบน้ำหยด เม็ดเงินที่ได้จะแบ่งปันในกลุ่มสมาชิกตามสัดส่วนพื้นที่ปลูก รายได้เฉลี่ยต่อปีละประมาณ 5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการปลูกอ้อยในระบบเดิมที่มีเม็ดเงินรายได้เพียงปีละ 3 ล้านบาทต้นๆ

ใครสนใจข้อมูลอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกอ้อยระบบน้ำหยด ก็สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมจากคุณบุญสืบได้ตามที่อยู่ข้างต้น ได้ตามสะดวก

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กรกฏาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 435
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM